ไอที ธุรกิจ

เจาะลึก ความต่าง SSF ปกติ SSF พิเศษ ... ซื้ออย่างไรช่วยประหยัดภาษีได้คุ้มสุด

Finnomena
อัพเดต 04 พ.ย. 2564 เวลา 08.43 น. • เผยแพร่ 03 เม.ย. 2563 เวลา 04.29 น. • TISCO Advisory

Update: นักลงทุนสามารถซื้อกองทุน SSF-RMF กับ FINNOMENA ได้แล้ว อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมและเริ่มต้นลงทุนได้ที่ https://finno.me/tax-saving-fund1452

หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ผู้ลงทุนใน “SSF แบบพิเศษ” สามารถนำเงินที่ลงทุนมาลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มถึง 2 แสนบาท ก็คงสร้างความดีใจให้กับนักลงทุนหลายๆคน แต่ขณะเดียวกันนักลงทุนอีกส่วนหนึ่ง ก็น่าจะยังสงสัย และมีคำถามในใจอยู่ว่า “SSF แบบพิเศษ” จะต่างกับกองทุน “SSF แบบปกติ” อย่างไร… วันนี้เราจะมาไขข้อข้องใจ ในเรื่องนี้กัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ก่อนที่จะไปสู่เรื่องที่เกริ่นไว้ มาอัพเดทกันก่อนดีกว่า ว่าปัจจุบัน “กองทุนรวม” ที่ใช้สำหรับลดหย่อนภาษีได้นั้น มีแบบไหนบ้าง

1. กองทุนรวมที่ไม่สามารถซื้อลดหย่อนภาษีได้แล้ว

“กองทุนรวมหุ้นระยะยาว” (Long-Term Equity Fund) หรือ ที่เราเรียกกันสั้นๆว่า “LTF” ถือเป็นกองทุนที่ได้รับความนิยมอย่างมาก เนื่องจากมีระยะเวลาถือครองไม่นานนัก (7 ปีปฏิทิน) ประกอบกับ LTF ยังเป็นกองทุนที่เสนอขายต่อเนื่องมายาวนาน จึงทำให้นักลงทุนคุ้นเคยเป็นอย่างดี จนมีมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร ( Asset Under management : AUM) สูงถึง 3.5 แสนล้านบาท (ข้อมูล ณ เดือน ก.พ. 2563 )

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อย่างไรก็ตามปัจจุบัน เนื่องจากรัฐฯต้องการส่งเสริมให้เกิดการออมในระยะยาวยิ่งขึ้น จึงมีมติไม่ขยายระยะเวลาให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี กับนักลงทุนที่มาซื้อ LTF เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุน เข้าไปซื้อในกองทุนประเภทใหม่ ซึ่งก็คือ SSF นั่นเอง

2. กองทุนรวมที่สามารถซื้อเพื่อลดหย่อนภาษีได้

“กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ” (Retirement Mutual Fund) หรือ “RMF” เป็นกองทุนที่ยังคงสามารถใช้เพื่อลดหย่อนภาษีได้อยู่ และแน่นอนว่า หลายคนรู้จักกองทุนนี้เป็นอย่างดี ไม่แพ้กองทุน LTF

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ส่วน “กองทุนรวมเพื่อการออม” (Super Savings Fund) หรือ “SSF” นั้น ถือเป็นกองทุนน้องใหม่ ที่รัฐฯหวังว่า จะช่วยให้เกิดการออมในระยะยาวมากขึ้น และสามารถลงทุนเพื่อช่วยลดหย่อนภาษีได้

แม้ SSF จะเป็นกองทุนน้องใหม่ ที่ดูมีความน่าสนใจ แต่ก่อนจะซื้อกองทุน เราอยากให้คุณลองสำรวจใจตัวเองอีกนิดว่า คุณกำลังสนใจ “SSF แบบปกติ” หรือ “SSF แบบพิเศษ” กันแน่ …ว่าแต่กองทุน SSF สองแบบนี้ ต่างกันอย่างไรบ้าง ?

“SSF แบบปกติ” มีลักษณะดังนี้

  • ช่วงเวลาลงทุน : ปี 2563-2567
  • เงื่อนไขการลงทุน : 1.ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 30% ของเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี แต่ไม่เกิน 200,000 บาท (นับรวมกับกองเกษียณอายุอื่นๆ ไม่เกิน 500,000 บาท) 2.เริ่มลงทุนได้ตั้งแต่ปี 2563-2567 และต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
  • ลงทุนหลักทรัพย์ได้ทุกประเภท
  • ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

“SSF แบบพิเศษ” มีลักษณะดังนี้

  • ช่วงเวลาลงทุน : 1 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2563
  • เงื่อนไขการลงทุน : ลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 200,000 บาท (ไม่มีข้อจำกัดเรื่องเงินได้ และไม่นับรวมกับกองเกษียณอายุอื่นๆ)
  • ลงทุนได้เฉพาะช่วง 1 เม.ย.- 30 มิ.ย. 2563 เท่านั้น และต้องถือครองอย่างน้อย 10 ปีนับจากวันที่ซื้อ
  • ลงทุนหุ้นไทย ไม่น้อยกว่า 65% ของNAV
  • ไม่ต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี

สำหรับคนที่ยังนึกภาพไม่ออก เราได้ลองยกตัวอย่าง “เงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี (“เงินได้”)” ให้เห็น 3 รูปแบบ ให้ลองพิจารณาดังนี้ค่ะ

กรณีเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 700,000 บาท

ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท)  : 200,000 บาท

ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท

ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 105,000 บาท

ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 195,000 บาท

รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท

กรณีเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 1,000,000 บาท

ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท) : 200,000 บาท

ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท

ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 150,000 บาท

ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 150,000 บาท

รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท

กรณีเงินได้พึงประเมินที่ต้องเสียภาษี 1,500,000 บาท

ลงทุน SSF พิเศษ (สูงสุด 200,000 บาท) : 200,000 บาท

ลงทุน SSF ปกติ (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 200,000 บาท) : 200,000 บาท

ลงทุน PVD หรือกองทุนเกษียณอื่นๆ (สูงสุด 15% ของค่าจ้าง) : 225,000 บาท

ลงทุน RMF (สูงสุด 30% ของเงินได้ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท) : 75,000 บาท

รวมได้สิทธิลดหย่อนกลุ่มเกษียณ 500,000 บาท และหากรวมกับ SSF แบบพิเศษ จะลดหย่อนได้สูงสุดถึง 700,000 บาท

**ข้อมูลข้างต้น เป็นการยกตัวอย่างเท่านั้น ตามตัวอย่างนี้ผู้ลงทุนไม่ได้ใช้สิทธิในการซื้อประกันบำนาญ ทั้งนี้ ผู้ลงทุนควรทำความเข้าใจลักษณะสินค้า เงื่อนไขผลตอบแทน ความเสี่ยง และศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ระบุไว้ในคู่มือการลงทุนของกองทุนรวม SSF ก่อนตัดสินใจลงทุน*

มาถึงตรงนี้ บางคนอาจอยากรู้ต่อไปอีกว่า แล้วถ้าเทียบระหว่างการซื้อ SSF กับการลงทุน RMF ล่ะ ควรจะลงทุนอะไรดีกว่ากัน

บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ทิสโก้ แนะนำว่า ประเด็นนี้ให้นักลงทุนโฟกัสไปที่ “วัตถุประสงค์และความต่อเนื่อง” ของการลงทุนเป็นหลัก

เน้นการออมแต่ไม่ต่อเนื่อง : ให้เลือก SSF เพราะจะช่วยให้คุณสามารถเก็บเงินระยะยาวได้ตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป แต่ไม่จำเป็นต้องลงทุนต่อเนื่องทุกปี สามารถเลือกลงทุนในปีที่ต้องการใช้สิทธิลดหย่อนได้

เน้นลงทุนต่อเนื่องเพื่อการเกษียณ : ให้เลือก RMF เพราะมีนโยบายกองทุนให้เลือกอย่างหลากหลาย ซึ่งนักลงทุนสามารถใช้สำหรับบริหารความเสี่ยงให้ตรงกับสไตล์ของแต่ละคนได้ และต้องลงทุนต่อเนื่องเพื่อเก็บออมเป็นเงินก้อนโตไว้ใช้ยามเกษียณได้ด้วย

ข้อมูลทั้งหมดนี้ น่าจะช่วยให้คุณตัดสินใจได้ดีขึ้นแล้วว่า ควรลงทุน SSF หรือไม่และ SSF แบบไหนที่เหมาะกับคุณ

TISCO Advisory

--------------------

ที่มา : https://www.tisco.co.th/th/advisory/ssf-vs-ssfx.html

ดูข่าวต้นฉบับ