คนดีเป็นอย่างไร..การเป็นคนดีในสายตาของแต่ละคนคงไม่เหมือนกัน แต่ความหมายโดยรวมแล้ว คนดี คือคนที่ประกอบกรรมดีทั้งกาย วาจา และใจ ประพฤติตนอยู่ในศีลในธรรมอย่างต่อเนื่อง
ฉะนั้นตามความหมายแล้ว จะเป็น “คนดี” ได้ คือต้องทำดี ที่สำคัญต้องแยกให้ออกระหว่าง “ทำดี” กับ “ทำบุญ” เพราะการเข้าวัด ทำบุญไม่ใช่ว่าจะเป็นคนดีเสมอไป และการทำบุญกับการทำความดี บางครั้งก็เป็นคนละเรื่องกัน
อย่างที่บอกว่าการเป็นคนดีคือคนที่ประกอบกรรมดี เพราะฉะนั้นกรรมดีในที่นี้จึงไม่ได้หมายถึงการทำบุญทำทานเพียงอย่างเดียว แต่หมายรวมถึงการทำดีอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการกตัญญูกตเวที การมีเมตตากรุณา การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ฯลฯ ซึ่งเมื่อมีสิ่งเหล่านี้จึงจะเรียกว่าเป็น “คนดี”
ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป
เดิมที่เรามีสุภาษิตที่ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” แต่เดี๋ยวนี้บางคนจำได้แต่ “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป” อาจเพราะคนสมัยนี้ไม่ค่อยเชื่อมั่นในการทำความดีอีกแล้ว แถมคนทำชั่วได้ดีก็มีให้เห็นในทุกอาชีพ ทำให้หลายคนกังขาว่าถ้าทำความดีแล้วจะได้ดียังไง จริงไหม และเมื่อไหร่
เห็นได้จากผลสำรวจคุณธรรมจริยธรรมในสายตาเด็กและเยาวชน โดยกลุ่มตัวอย่างเป็นเด็กอายุ 12–24 ปี ซึ่งกำลังเป็นอนาคตของชาติที่เราต้องส่งเสริมเรื่องการทำความดี แต่ในสายตาของเด็กเหล่านี้เมื่อเปรียบเทียบกับประโยคที่ว่า “คนดีมีที่ยืน” กับ “คนดีไม่มีที่ยืน” เด็กร้อยละ 80.1 คิดว่า สังคมไทยปัจจุบันเป็นแบบ "คนดีไม่มีที่ยืน"
ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าเด็กและเยาวชนปัจจุบันไม่ค่อยเชื่อมั่นในการทำความดีแล้วจะได้ดี อาจเพราะเห็นตัวอย่างที่ไม่ดีในสังคม คนทุจริตคอรัปชันกลับได้รับการยอมรับนับถือจากผู้คนในสังคม มีเงิน มีทอง มีเกียรติ และมีอำนาจ เมื่อทำความผิดก็ไม่ถูกดำเนินคดี ไม่โดนถูกลงโทษทางกฎหมาย
ในขณะที่คนดี ช่วยเหลือผู้คนมากมายแต่กลับไม่ได้มีเงิน มีทอง มีอำนาจ หรือหากมีเงินก็มักจะอยู่อย่างพอเพียง ไม่แสวงหาอำนาจ ไม่ใช้เงินเป็นเครื่องมือในการดึงดูดความศรัทธาเลื่อมใส เผลอ ๆ แทบไม่มีคนรู้จักด้วยซ้ำ เมื่อเป็นแบบนี้คนดีจึงมักทำดีอยู่เงียบ ๆ ไม่มีอำนาจ และไม่ได้ถูกนับหน้าถือตาในสังคม
ตัวอย่างทั้งสองแบบนี้มีให้เห็นมากมายในสังคม จึงไม่แปลกที่หลายคนจะเห็นว่า “คนดีไม่มีที่ยืน” และ “ทำดีได้ดีมีที่ไหน ทำชั่วได้ดีมีถมไป”
"คนธรรมดา" ไม่เท่ากับ "คนดี"
บางคนไม่รู้ว่า “คนดี” เป็นอย่างไร คิดแค่ว่าไม่ได้ทำชั่ว ก็คือเราเป็นคนดี ซึ่งเป็นการเข้าใจที่ผิดไปจากความจริงค่อนข้างมาก เพราะถ้าคุณไม่ได้ทำดี นั่นแปลว่าคุณเป็นคนธรรมดาแค่นั้นเอง ไม่ใช่คนดี!!
ลองถามตัวเองให้แน่ใจว่าคุณเป็น “คนดี” หรือ “คนธรรมดา”
สถานะ “คนดี” ไม่ได้ติดตัวไปตลอด
การเป็นคนดีไม่ได้ถูกส่งต่อผ่านพันธุกรรม การมีพ่อ แม่ ปู่ ย่า ตา ยาย เป็นคนดี ไม่ได้การันตีว่าคุณจะต้องเป็นคนดี บรรพบุรุษทำได้เพียงช่วยให้คุณเข้าใกล้การเป็นคนดีให้มากที่สุดเท่านั้นเอง แต่ที่เหลือเป็นเรื่องของการประกอบกรรมดีด้วยตัวเองล้วน ๆ
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ การทำดีไม่ได้ทำครั้งเดียวแล้วจบ แต่เป็นการสะสมแต้มความดีต่อเนื่องไปเรื่อย ๆ เมื่อถึงจุดหนึ่งคุณก็จะกลายเป็น “คนดี” แต่สถานะ “คนดี” ไม่ได้ติดตัวคุณไปตลอด เมื่อใดก็ตามที่ทำความชั่ว ทำเรื่องไม่ดี การเป็น “คนดี” ก็จะหายไปทันที
เดี๋ยวนี้มีสิ่งยั่วยุมากมายที่จะทำให้คุณหลุดกรอบกลายเป็นคนไม่ดีได้ง่าย ๆ ฉะนั้นต้องหมั่นสะสมความดี ทำดีอย่างต่อเนื่อง และตั้งคำถามกับตัวเองให้บ่อยแล้วว่า “เราเป็นคนดีจริงหรือเปล่า” โฟกัสให้ชัดว่าคุณจะเป็นคนดี ซึ่งถ้าทำได้เมื่อไหร่ คนดีจะมีพื้นที่ในสังคมนี้อีกมาก สุดท้ายพอมีแต่คนดี ทุกอย่างก็จะดีขึ้นเองโดยอัตโนมัติ
คนดี .. มีที่ยืนเสมอ.. อยู่ที่ว่าเราให้คำจำกัดความว่า ที่ยืนสำหรับคนดี เป็นอย่างไร.? หรือ แบบไหน.? แล้วเราพอใจไหม? ถ้าเราพอใจ เรายืนอยู่ได้..นั่นก็คือ..ที่ยืนของเรา..
15 ม.ค. 2561 เวลา 12.56 น.
เขียนเหมือนว่า "ที่ยืน" คือได้มีได้เป็น
จนแต่เป็นคนดีก็ได้รึเปล่า
ดีจริงก็ไม่เห็นต้องหวังเลยว่าจะมีจะเป็นอะไร
อยู่อย่างสงบสุขพอเพียงก็พอแล้ว
คนดี ไม่ใช่คนโง่
15 ม.ค. 2561 เวลา 14.16 น.
CherryFirst เขียนได้ดีค่ะ ชอบค่ะ บรรยายได้มุมมองที่น่าสนใจค่ะ
15 ม.ค. 2561 เวลา 11.33 น.
อยุ่ให้เป็น อยุ่ที่ไหนก็อยุ่ได้ #ถ้าไม่เข้าใจให้กลับไปอ่านอีกหลายๆรอบ !!!
15 ม.ค. 2561 เวลา 12.04 น.
rujee ธรรม ย่อมคุ้มครองผู้ประพฤติธรรม เพราะไม่เคยปฎิบัติธรรมเลยไม่เข้าใจผลของกรรม
15 ม.ค. 2561 เวลา 22.33 น.
ดูทั้งหมด