ทั่วไป

ชายวัย 46 ไม่กินเหล้า-สูบบุหรี่ เจ็บหน้าอก หายใจลำบาก ก่อนตรวจเจอต้นเหตุ

ThaiNews - ไทยนิวส์ออนไลน์
อัพเดต 02 ธ.ค. 2565 เวลา 16.36 น. • เผยแพร่ 02 ธ.ค. 2565 เวลา 16.03 น.

"หมอมนูญ" ยกเคสตัวอย่างผู้ป่วยรายหนึ่ง ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ แต่เริ่มเจ็บหน้าอก

จากกรณีที่ "หมอมนูญ" นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ รพ.วิชัยยุทธ ได้ออกมาโพสต์ข้อความ โดยระบุว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โรคฝีในปอด (Lung abscess) บางรายเกิดจากเชื้อแบคทีเรียที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจน (anaerobic bacteria) อาศัยอยู่ในเหงือกและรากฟันที่อักเสบ ปนกับน้ำลาย ไหลลงไปในหลอดลม และทำให้เกิดฝีในปอด รักษาโดยการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอด และให้ยาปฏิชีวนะที่ครอบคลุมเชื้อชนิดนี้

ผู้ป่วยชายไทยอายุ 46 ปี ปกติแข็งแรงดี ไม่มีโรคประจำตัว ไม่กินเหล้า ไม่สูบบุหรี่ เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2565 เริ่มเจ็บหน้าอก ข้างซ้าย หายใจลำบาก ไม่ค่อยไอ แต่เวลาไอจะเจ็บหน้าอก ไม่มีไข้ เอกซเรย์ปอดวันนั้นปกติ วันที่ 9 พฤศจิกายน ยังเจ็บหน้าอก ไปทำเอกซเรย์ปอดซ้ำ ครั้งนี้พบฝ้าขาวในปอดด้านซ้าย ได้ยาปฏิชีวนะ azithromycin กินแล้วไม่ดีขึ้น มาปรึกษาวันที่ 17 พ.ย.หลังจากเจ็บหน้าอกข้างซ้าย 20 วัน เมื่อสอบถามผู้ป่วยยอมรับว่าเจ็บฟันข้างขวาล่างเล็กน้อยก่อนเจ็บหน้าอก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ตรวจร่างกายมีไข้ต่ำๆ 37.5 องศาเซลเซียส ฟังปอดข้างซ้ายได้ยินเสียงลดลง เอกซเรย์ปอดมีฝ้าขาวบริเวณปอดด้านซ้าย (ดูรูป) ได้ทำเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ปอดพบลักษณะคล้ายฝีในปอดข้างซ้าย (ดูรูป) เจาะเลือดเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง 12,530 ผู้ป่วยได้รับการใส่ท่อระบายหนองจากฝีในปอดข้างซ้าย พบหนองสีน้ำตาล 20 ซีซี ย้อมพบเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปร่างเป็นแท่ง (gram negative bacilli) ไม่พบเชื้อวัณโรค ไม่พบเชื้อรา เพาะเชื้อขึ้นแบคทีเรียที่เจริญได้ในภาวะที่ไม่มีออกซิเจนเท่านั้น (anaerobic bacteria) Fusobacterium nucleatum และเชื้อแบคทีเรียอีก1 ตัวไม่ทราบชื่อ

ผู้ป่วยได้รับยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด ceftriaxone และ clindamycin อาการเจ็บหน้าอกค่อยๆดีขึ้น สามารถถอดท่อระบายหนองออกจากฝีในปอดข้างซ้ายได้ใน 2 วัน

ได้ปรึกษาทันตแพทย์ตรวจช่องปากและฟัน ส่งเอกซเรย์รากฟัน พบติดเชื้อแบคทีเรียในรากฟัน ต้องถอนฟัน 2 ซี่ ได้ยาปฏิชีวนะทางเส้นเลือด 2 สัปดาห์ เอกซเรย์ปอดดีขึ้นช้าๆ (ดูรูป) ให้ยาปฏิชีวนะไปกินต่อที่บ้านอีก 4 สัปดาห์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขอบคุณข้อมูลจาก หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC

ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมที่ tnews

ดูข่าวต้นฉบับ