ทั่วไป

ม.ขอนแก่น เปิดวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มุ่งผลิตคนเก่ง AI ขั้นสูง

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 18 ก.ค. 2565 เวลา 11.14 น. • เผยแพร่ 18 ก.ค. 2565 เวลา 11.14 น.

มหาวิทยาลัยขอนแก่น เปิดวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ เน้นผลิตบัณฑิตเก่งการคำนวณคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ขั้นสูง

วันที่ 18 กรกฎาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้จัดงาน Grand Opening College of Computing เปิดตัว “วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์” เพื่อเตรียมผลิตบัณฑิตยุคใหม่เก่งการแก้ปัญหาด้วยการคำนวณคอมพิวเตอร์ขั้นสูง (computing) สอดคล้องกับการผลิตคนด้านปัญญาประดิษฐ์ ความเชี่ยวชาญด้านดิจิทัล ฯลฯ ซึ่งเปิดสอนทั้งหมด 8 หลักสูตรในระดับปริญญาตรี โท และเอก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดย รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่า วิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (College of Computing, Khon Kaen University) ยกฐานะจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ และได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา ณ วันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 โดยกำหนดวิสัยทัศน์ว่า

“วิทยาลัยชั้นนำเพื่อผลิตบัณฑิต วิจัย และบริการวิชาการ ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ขั้นสูง (Advanced Computing) ระดับสากล” มีพันธกิจและนโยบายเพื่อเป็นส่วนงานใหม่ที่มีความเฉพาะด้าน Computing ขั้นสูง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ด้าน รศ.ดร.สิรภัทร เชี่ยวชาญวัฒนา รักษาการแทนคณบดีวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวเสริมว่าวิทยาลัยการคอมพิวเตอร์ พื้นฐานเดิมมาจากสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์ ซึ่งก่อตั้งเป็นภาควิชาเมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2537 โดยได้ผลิตบัณฑิตระดับปริญญาตรีมาแล้ว 25 รุ่น และปริญญาโท ปริญญาเอก มามากกว่า 10 รุ่น

โดยมีวิสัยทัศน์ พันธกิจ และนโยบายเพื่อเป็นส่วนงานใหม่ที่มีความเฉพาะด้าน Computing ขั้นสูง เปิดสอนหลักสูตรทั้งระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก รวมทั้งสิ้น 8 หลักสูตร และมีแผนการจะเปิดหลักสูตรใหม่ 2 หลักสูตร ในปี พ.ศ. 2566 คือหลักสูตรปัญญาประดิษฐ์ และหลักสูตรความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ซึ่งเป็นหลักสูตรที่มีความต้องการสูงสำหรับตลาดงานด้าน Computing

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะที่ ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี นายกสภามหาวิทยาลัยขอนแก่น กล่าวว่าปัจจุบันการคำนวณคอมพิวเตอร์ หรือ Computing เป็นสิ่งที่เป็นความท้าทาย และเป็นแนวโน้มที่สำคัญของโลก ทางมหาวิทยาลัยขอนแก่นได้คำนึงถึง 4 ประเด็นหลัก ได้แก่

ประเด็นที่หนึ่ง Computing แนวโน้มของมหาวิทยาลัยนานาชาติในการให้ความสำคัญในการจัดตั้งส่วนงานที่มีความเฉพาะด้าน Computing ที่มีเพิ่มมากขึ้น เพื่อผลิตบัณฑิตที่เป็นความต้องการของโลก และให้การสนับสนุนทรัพยากรต่างๆ จากภาคเอกชนหรือภาคอุตสาหกรรม

ประเด็นที่สองคือ แนวโน้มใหม่ในการคำนวณคอมพิวเตอร์ ที่จะเป็นกระแสคลื่นด้านเทคโนโลยีที่สำคัญในสองทศวรรษถัดไป เช่น ปัญญาประดิษฐ์ และความมั่นคงและความปลอดภัยไซเบอร์ และอื่น ๆ

ประเด็นที่สาม คือ บริบททางด้านการเมือง สังคม และเศรษฐกิจ ซึ่งการคำนวณคอมพิวเตอร์จะมีผลกระทบต่อการปรับเปลี่ยนทั้งในปัจจุบันและอนาคตอันใกล้

ประเด็นที่สี่ คือการดำเนินตาม วิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยขอนแก่น ในการเป็น “มหาวิทยาลัยวิจัยและพัฒนาชั้นนำระดับโลก” มีหน้าที่ในการผลิตกำลังคนที่มีคุณภาพ เพื่อการพัฒนาประเทศ การสร้างองค์ความรู้ในระดับโลก และเป็นส่วนหนึ่งของชุมชมและสังคมนั้น

ซึ่งศาสตร์ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ จึงถือว่าเป็นแนวโน้มของโลก (Global Mega Trend) และสามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศที่สำคัญมาก ไม่ว่าจะเป็นด้านความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์, ด้านปัญญาประดิษฐ์ , ด้านเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตและประมวลผล Cloud Computing, Blockchain, Def, NFT, โลกเสมือน Metaverse

นอกจากนั้น ยังมีการบูรณาการศาสตร์ Computing เพื่อประยุกต์ในการสร้างความเป็น Intelligence ให้กับศาสตร์อื่นๆ อาทิเช่น ด้านการแพทย์ การเกษตร สถาปัตยกรรม สังคม ศิลปะ และต่างๆ ได้อีกมาก นับเป็นก้าวกระโดดที่สำคัญในการดำเนินการเชิงรุก ในการนำไปสู่การกำหนดทิศทางของศาสตร์ด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์

“ฉะนั้นการสนับสนุนให้เยาวชนในประเทศมีพื้นฐานที่สำคัญด้านการออกแบบ การแก้ปัญหาด้วยการคำนวณคอมพิวเตอร์ การสร้างความรู้ความเข้าใจในดิจิทัล การคำนวณคอมพิวเตอร์และปัญญาประดิษฐ์สำหรับบุคคลทั่วไป รวมไปถึงการผลิตบัณฑิต และพัฒนาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถสูงด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ที่สามารถตอบสนองภาครัฐ ภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรมได้

การวิจัยด้านการคำนวณขั้นสูงในระดับแนวหน้า (Frontier Research) การสร้างนวัตกรรมด้านการคำนวณคอมพิวเตอร์ และปัญญาประดิษฐ์ (Computing & AI Innovation) ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Cybersecurity) ศาสตร์คอมพิวเตอร์ที่สำคัญอื่นๆ จะสามารถยกระดับและช่วยเหลือสังคมและเศรษฐกิจของประเทศ ก่อให้เกิดทักษะอาชีพใหม่ ที่สามารถรองรับกับสังคมในยุคเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ สอดคล้องและตอบรับการเปลี่ยนแปลงของโลกในยุคอุตสาหกรรม 5.0 เกิดการสร้างและมีเทคโนโลยีของตนเองให้เป็นที่ประจักษ์ในระดับนานาชาติได้ต่อไป”

ดูข่าวต้นฉบับ