ทั่วไป

มูลนิธิตะวันฉายฯ จัดค่ายพัฒนาคุณภาพชีวิตน้องๆ ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่ในพื้นที่ขอนแก่น

Manager Online
อัพเดต 24 ส.ค. 2567 เวลา 15.38 น. • เผยแพร่ 24 ส.ค. 2567 เวลา 08.13 น. • MGR Online

ศูนย์ข่าวขอนแก่น - มูลนิธิตะวันฉายฯ จัด "โครงการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 12 ประจำปี2567" ระหว่างวันที่ 24-25 ส.ค. ที่ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์โฮเทล และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

วันนี้ (24 ส.ค.) ที่ห้องเรือนนภาลัย ราชาวดี รีสอร์ท แอนด์โฮเทล นายประสิทธิ์ ทองแท่งไทย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป็นประธานเปิด "โครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้าในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 12 ประจำปี 2567" โดยมี ศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี รองประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ นางชนิษฐา พินิจพาณิชย์ รองนายกเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น นางเครือวัลย์ ชาญนุวงศ์ กรรมการเหล่ากาชาดจังหวัดขอนแก่น และกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ ตลอดจนน้องตะวันฉายและครอบครัวร่วมงาน

ศ.ดร.เบญจมาศ พระธานี รองประธานกรรมการมูลนิธิตะวันฉายฯ กล่าวว่า การจัดโครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ปีงประมาณ 2567 ดำเนินงานโดยมูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า สนับสนุนโดยองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น เป้าหมายของการดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และความพิการแต่กำเนิดของใบหน้าและกะโหลกศีรษะ คือ การแก้ไขให้หายหรือใกล้เคียงความปกติ การฟื้นฟูสภาพทั้งด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยให้กลับมาสู่สภาพปกติให้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตและมีบทบาทในสังคมตามปกติดังเช่นบุคคลโดยทั่วไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ซึ่งในการส่งเสริมสุขภาพ การดูแลรักษาและฟื้นฟูสภาพผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่จำเป็นต้องอาศัยการรักษาและการติดตามผลเป็นระยะเวลายาวนานและต่อเนื่อง ตั้งแต่การให้คำปรึกษาก่อนการตั้งครรภ์ การปฏิบัติตนระหว่างการตั้งครรภ์ การดูแลตั้งแต่แรกเกิดจนเป็นผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์ เป็นการดูแลรักษาฟื้นฟูสภาพร่างกายและจิตใจแบบบูรณาการโดยทีมสหวิทยาการ รวมถึงการสร้างทีมการดูแลผู้ป่วยในระดับต่างๆ ตั้งแต่องค์กรระดับประเทศ เช่น สมาคมความพิการปากแหว่งเพดานโหวใบหน้าและศีรษะแห่งประเทศไทย การบริการสาธารณสุขทั้งระดับตติยภูมิ เช่น ศูนย์การดูแลผู้ป่วยเฉพาะทาง ระดับทุติยภูมิ เช่น โรงพยาบาลจังหวัด และระดับปฐมภูมิ รวมถึงองค์กรในชุมชน องค์กรสุขภาพ ใกล้บ้าน ครอบครัว และโรงเรียน

ศ.ดร.เบญจมาศ กล่าวอีกว่า จากการจัดโครงการทั้ง 11 ครั้งที่ผ่านมา ทำให้เห็นถึงปัญหาของผู้ป่วยปากแหว่งพดานโหว่หลายประการ เช่น ปัญหาด้านการแพทย์ เช่น การปวดแผลหลังการผ่าตัดและการดูแลบาดแผล การติดตามการรักษาทางคลินิกที่มีระยะเวลายาวนาน การคาดหวังผลลัพธ์ของการผ่าตัดที่อาจจะไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ปัญหาด้านการเงิน เช่น ค่าใช้จ่ายด้านการแพทย์ การเดินทาง และการขาดรายได้เพื่อมาติดตามการรักษา ปัญหาด้านการพูด เช่น การพูดเสียงขึ้นจมูก พูดไม่ชัด และความยากลำบากในการสื่อสาร ปัญหาด้านจิตวิทยาและสังคม

เช่น การขาดความมั่นใจ ปัญหาของภาพลักษณ์ส่วนตัว การแยกตัวการเกิดปมด้อย การสร้างความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ความแปรปรวนทางอารมณ์ และความยากลำบากในการหางานทำ เป็นต้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จากปัญหาด้านต่างๆ มูลนิธิตะวันฉายฯ จึงจัดโครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบเพื่อการดูแลผู้ป่วยภาวะปากแหว่ง เพดานโหว่ และความพิการแต่กำเนิดของศีรษะและใบหน้า ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น ครั้งที่ 12 โดยการสนับสนุนจากองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น มูลนิธิตะวันฉายเพื่อผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่ และพิการทางศีรษะและใบหน้า เจ้าของโครงการ ร่วมกับโรงพยาบาลศรีนครินทร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยชอนแก่น ภายใต้การดำเนินงานของศูนย์ตะวันฉายและทีมสหวิทยาการ

โดยมีเป้าประสงค์สำคัญของการจัดโครงการต่อเนื่องครั้งที่ 12 คือ คุณภาพชีวิตที่ดีของผู้ป่วยปากแหว่ง เพดานโหว่และพิการทางศีรษะและใบหน้า ที่โด้รับการดูแลอย่างครอบคลุมทั้ง 5 ด้าน คือ ด้านสุขภาพ ด้านการศึกษา ด้านการดำรงชีวิต ด้านสังคม และด้านการเสริมสร้างพลังอำนาจ ซึ่งจะส่งผลให้การดูแลผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่เป็นไปอย่างสมบูรณ์แบบมากที่สุดในระดับเขต ระดับภูมิภาค และระดับประเทศ เพื่อมุ่งหวังให้ผู้ป่วยและครอบครัวมีคุณภาพชีวิตที่ดี ดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ซึ่งในอนาคตโครงการนี้อาจเป็นต้นแบบที่ดีในการสร้างเครือข่ายที่เข้มแข็งให้แก่การดูแลรักษาในกลุ่มโรคอื่นๆ ได้เป็นอย่างดีต่อไป

ด้านนายประสิทธิ์ ทองแท่งไทย รองนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น กล่าวว่า องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่นมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มีส่วนร่วมและสนับสนุนโครงการอันเป็นประโยชน์อย่างมากต่อน้องๆ ที่มีภาวะปากแหว่งเพดานโหว่ ครอบครัว และเพื่อนๆ ของน้องๆ ด้วย อีกทั้งยังสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติที่ 4 เรื่องการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม แผนแม่บทที่ 13 ต้องขอชื่นชมมูลนิธิตะวันฉายฯ ที่มุ่งมั่นตั้งใจมอบโอกาสให้น้องๆ

ทั้งด้านร่างกายและจิตสังคม ในสุขภาพ สังคม การศึกษา การดำรงชีวิต และการเสริมสร้างพลังอำนาจ เพื่อให้ผู้ป่วยมีสุขภาพกายและจิตที่ดี สามารถดำรงชีวิตได้อย่างปกติสุข และสามารถตอบแทนคืนสู่สังคมได้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะสัมฤทธิผลตามวัตถุประสงค์ ผู้ป่วยและครอบครัว จะนำเอาทักษะ ความรู้จากการฝึกอบรมในโครงการนี้ไปปฏิบัติเพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ในชีวิตจริง

“รวมทั้งแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ดีๆ ให้แก่คนรอบข้าง ขอขอบคุณมูลนิธิตะวันฉายฯ และทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมมือร่วมใจกัน จัดโครงการการบริการที่สมบูรณ์แบบนี้ องค์การบริหารส่วนจังหวัดขอนแก่น ยินดีที่จะให้การสนับสนุนโครงการดีๆ เช่นนี้ตลอดไป” นายประสิทธิ์ กล่าว

website : mgronline.com
facebook : MGRonlineLive
twitter : @MGROnlineLive
instagram : mgronline
line : MGROnline
youtube : MGR Online VDO

ดูข่าวต้นฉบับ