ถือเป็นช่วงเวลา "ฉุกเฉิน" และ "บีบคั้น" มาก ๆ สำหรับใครหลายคนที่ต้องเข้าห้องน้ำ เพื่อทำธุระส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นธุระ "หนัก" หรือธุระ "เบา" ก็สร้างความไม่สบายตัวให้เราได้เสมอ หากอยู่ที่บ้านคงไม่ต้องห่วงเรื่องความสะอาดมากหนัก แต่หากอยู่นอกบ้านจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ
คงไม่ขออะไรมาก ขอแค่ไม่เหม็น และ ไม่มีสิ่งที่ไม่พึ่งประสงค์อยู่ในโถส้วม ขอบนั่งโถสะอาด ไม่มีรอยเท้า ประตูล็อกได้ เท่านั้นก็เพียงพอ ดีต่อใจ ช่วยผ่อนทุกข์ในเบื้องต้นได้แล้ว
อ่าน : ปวดท้องบ่อย อย่านิ่งนอนใจ สัญญาณเตือน "มะเร็งกระเพาะอาหาร"
แต่ไม่ว่าจะเป็น ห้องน้ำ ห้องส้วม ที่บ้าน หรือ ที่สาธารณะจึงควรมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ เพราะต้องไม่ลืมว่า ใช่ร่วมกันหลายคน จึงเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค และเชื้อแบคทีเรียได้ง่าย เชื้อโรคหลายอย่างมาจากห้องที่ใช้ขับถ่ายอย่างห้องส้วม ดังนั้นควรใช้โถส้วมอย่างระมัดระวัง เพื่อลดเสี่ยงติดเชื้อโรค
นักจุลชีววิทยา จากห้องปฏิบัติการแห่งชาติอิลลินอยด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา "แจ็ค กิลเบิร์ต" ผู้เชี่ยวชาญที่เคยทำงานวิจัยเกี่ยวกับปริมาณและชนิดของแบคทีเรียในห้องน้ำสาธารณะ ให้ข้อมูลไว้ว่า ห้องน้ำที่สะอาดสะอ้าน เย็น แห้ง ทำให้แบคทีเรียส่วนใหญ่ไม่สามารถเจริญเติบโตได้นาน ต่างกับห้องน้ำที่มีอากาศชื้น และอุ่น รวมทั้งสิ่งสกปรกตกอยู่ ตามพื้นจำนวนมาก ซึ่งเป็นเหตุให้แบคทีเรียเจริญเติบโตได้ดีและมีชีวิตได้นานกว่า
สอดคล้องกับ ศ.พญ.สฤกพรรณ วิไลลักษณ์ รองคณบดีฝ่ายวิชาการและวัฒนธรรม คณะแพทย์ศาสตร์ รพ.รามาธิบดี ได้อธิบายไว้ว่า เพื่อสุขภาพที่ดีควรที่จะแยกส่วนที่เปียกกับส่วนที่แห้งเพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อโรคทั้งแบคทีเรียและไวรัส เพราะความชื้นหรือน้ำจะเป็นตัวที่ทำให้แบคทีเรียและไวรัสปนเปื้อนแพร่ได้ นอกเหนือไปกว่าการระมัดระวังในเรื่องความปลอดภัย เช่น ลื่นหกล้ม และอื่น ๆ
จากข้อความที่ยกมาข้างต้น เห็นได้ว่าในห้องน้ำมีเชื้อโรคแฝงอยู่จำนวนมาก ซึ่งเชื้อโรคนั้นเกิดจากการปนเปื้อนของสิ่งปฎิกูล เช่น อุจจาระ ดังนั้นการประเมินความสะอาดของห้องน้ำ โดยการสังเกตจากความสกปรก จึงไม่สามารถยืนยันความปลอดภัยได้เต็มร้อย แล้วในห้องน้ำเรามักพบเชื้อโรคอะไรบ้างนั้น ยกตัวอย่างมาได้ดังนี้
อ่าน : วันนอนหลับโลก คนไทย 19 ล้านคนเผชิญภาวะ "นอนไม่หลับ"
เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำ
เชื้อโรคที่มักพบในห้องน้ำ และสามารถก่อให้เกิดผลต่อร่างกาย ต่าง ๆ
เชื้ออีโคไล (Escherichia coli)ก่อให้เกิดอาการท้องเสีย ท้องร่วง
เชื้อโรคกลุ่มสแตปฟิโลคอคคัส ออเรียส (Staphylococcus aureus) ก่อโรคทางผิวหนัง หรือสร้างสารพิษที่ทำให้เกิดอาหารเป็นพิษ
เชื้อเอ็มอาร์เอสเอ Methicilin Resistant Staphylococcus Aureus (MRSA) ก่อให้เกิดอาการดื้อยา
เชื้อฟีคัลโคลิฟอร์ม (Faecal coliform bacteria) แบคทีเรียกลุ่มนี้อาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ ถ้าเข้าสู่ร่างกายอาจทำให้เกิดอาการถ่ายเป็นน้ำ เป็นมูกเลือด
เชื้อเคล็บซีเอลลา นิวโมเนีย (Klebsiella pneumoniae) เป็นสาเหตุของโรคติดเชื้อในส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น โรคติดเชื้อในปอด ติดเชื้อในกระแสเลือด
เชื้อมัยโคแบคทีเรีย (Mycobacteria avium) เชื้อชนิดนี้จะเป็นอันตรายต่อผู้ที่มีโรคทางพันธุกรรมที่ก่อให้เกิดโรคในปอด ทางเดินอาหารและผู้ป่วยที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
เชื้อคลอสไทรเดียม ดิฟิซายล์ (Clostridium difficile) ทำให้ท้องร่วง และลำไส้อักเสบ
ฉะนั้นเห็นได้ว่า ห้องน้ำที่ดี จึงต้องมีการทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรมีกลิ่นเหม็น และสิ่งสกปรกปรากฎให้เห็น ดังเช่นจุดที่เสี่ยงและอาจมีเชื้อโรคอยู่ได้
จุดอันตรายที่มักพบเชื้อโรค ในห้องน้ำ
"ห้องน้ำ" ในบ้านความสะอาดอาจเป็นสิ่งที่เราควบคุมดูแลได้ แต่กรณีจำเป็นต้องใช้ห้องน้ำสาธารณะ สิ่งที่ต้องระวัง คือ เชื้อโรคที่มองไม่เห็น แล้วมีจุดไหนบ้างที่เราต้องระวัง
กลอนประตู หรือ ลูกบิดประตู
ที่จับสายฉีด
บริเวณพื้นห้องส้อม
ที่รองนั่งโถส้อม
ที่กดโถส้อม
ที่กดโถปัสสาวะ
ที่เปิดก๊อกอ่างล้างมือ
อ่าน : "ออปเพนไฮเมอร์" ผู้มอบอำนาจการทำลายล้างให้ "มนุษย์"
แนะวิธีหลีกเลี่ยง - ป้องกัน เชื้อโรคต่าง ๆ ในห้องน้ำ
ปิดฝาครอบก่อนกดน้ำชำระล้างโถส้วม เพื่อป้องกันการฟุ้งกระจายของจุลินทรีย์
หลีกเลี่ยงการสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆโดยตรง เช่น ลูกบิด กลอนประตู ปุ่มกดชักโครก
ใช้กระดาษเช็ดมือแบบใช้แล้วทิ้ง
ควรเก็บเครื่องใช้ส่วนตัวเช่น โทรศัพท์มือถือในกระเป๋าเมื่อต้องเข้าห้องน้ำโดยวางให้ห่างจากโถส้วม หรือเก็บไว้ในภาชนะที่ปิดมิดชิด เพื่อลดการปนเปื้อนของเชื้อจากห้องน้ำสู่เครื่องใช้ส่วนตัว
หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องเป่ามือ โดยใช้กระดาษชำระเช็ดมือแทน
ทำความสะอาดห้องน้ำและอุปกรณ์ต่างๆ อย่างสม่ำเสมอ ด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดที่เหมาะสม เช่น ผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนประกอบของสารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ เป็นต้น
ใช้ห้องน้ำสาธารณะทุกครั้ง ทุกคนควรช่วยกันรักษาความสะอาด
ล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังการเข้าห้องน้ำทุกครั้ง เนื่องจากการสัมผัสอุปกรณ์ต่าง ๆ ในห้องน้ำทำให้มือปนเปื้อนเชื้อจากห้องน้ำมากกว่าอวัยวะส่วนอื่น
ล้างมือให้สะอาด (ตั้งแต่มือ แขน และไม่ลืมที่จะทำความสะอาดหลังมือทั้งสองข้าง การถูฝ่ามือก็ไม่ลืมที่จะทำความสะอาดซอกเล็บ ข้อนิ้ว และง่ามมือด้วยสบู่ ล้างน้ำให้สะอาดทุกครั้ง)
ควรปิดฝาครอบ ก่อนกดชัดโครก
จากข้อแนะนำ ให้ปิดฝาชักโครก ทุกครั้งที่กดชักโครก หลายคนอาจสงสัยหรือตั้งข้อสังเกตว่า จะช่วยลดเสี่ยงแพร่กระจายเชื้อโรค ได้จริงหรือไม่ นั้น มีคำอธิบายจาก บทความของ คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่า การกดชักโครกเป็นอีกสาเหตุหนึ่งในการแพร่กระจายจุลินทรีย์ โดยในปี ค.ศ. 2012 Best และคณะ ได้ตีพิมพ์บทความถึงการกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบ ทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการแพร่กระจายแบคทีเรีย Clostridium difficile ที่ก่อให้เกิดโรคท้องร่วง และอาจนำไปสู่การอักเสบในลำไส้ได้
นอกจากนี้ยังพบว่า การกดชักโครกโดยไม่ปิดฝาครอบทำให้จุลินทรีย์ฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศบริเวณรอบๆ ทำให้เชื้อสะสมอยู่ตามตำแหน่งต่างๆได้ ดังนั้น การปิดฝาครอบก่อนการกดชักโครกจึงสามารถช่วยให้ผู้ใช้สุขาและผู้ที่ต้องใช้สุขารายต่อๆไปลดความเสี่ยงหรือป้องกันการได้รับจุลินทรีย์ที่ไม่พึงประสงค์เหล่านั้นได้
สุดท้ายการล้างมือเป็นประจำ โดยเฉพาะช่วงที่มีการระบาดของโรคต่าง ๆ เป็นสิ่งที่ควรทำสม่ำเสมอ นั้นเพื่อสุขอนามัยที่ดี ไม่ให้เกิดการเจ็บป่วยตามมา และอย่าลืมหันหลังไปเช็กความสะอาดที่โถส้วมก่อนออกจากห้องน้ำด้วยนะ คนต่อไปเข้ามาจะได้สบายใจ ไม่พึมพำในใจว่าเราไม่ใส่ใจความสะอาด
อ้างอิงข้อมูลจาก : โรงพยาบาลคามิลเลียน, กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, มหาวิทยาลัยมหิดล
อ่านข่าวอื่น ๆ
จ่อพ้นนิติบุคคล 8,221 บริษัท กรมพัฒน์ฯ ขีดเส้น 29 พ.ค.นี้
ลุ้นภารกิจจับ "พลายซัน" ติดปลอกคอแจ้งเตือนชาวบ้าน-ศึกษาการใช้ชีวิต