ตึกยาวหนึ่งในสัญลักษณ์ของ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัยเป็นอาคารเรียนที่ได้รับการขึ้นทะเบียนอาคารจากกรมศิลปกากรให้เป็น “โบราณสถานแห่งชาติ” และนับเป็นอาคารเรียนที่ยาวที่สุดในประเทศไทยอีกด้วย
การเกิดตึกยาว หรือ “ตึกหลังยาว” ต้องย้อนไปถึงกำเนิด โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย ประการแรก เมื่อ พ.ศ. 2424 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 มีพระราชดำริให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ หรือขณะนั้นคือ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร ตั้งโรงเรียนสำหรับฝึกสอนนายร้อย นายสิบ ในกรมทหารมหาดเล็ก
กรมพระยาดำรงฯ จึงตรวจดูสถานที่ในพระบรมมหาราชวัง พบว่า พระตำหนักสวนกุหลาบ ซึ่งเคยใช้เป็นคลังถูกปล่อยปละละเลยไม่เป็นอันใช้ประโยชน์ จึงกราบบังคมทูลขอให้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งโรงเรียนขึ้น ในชื่อ โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบก่อนจะขยายจากโรงเรียนสำหรับบ่มเพาะทหารมหาดเล็ก เป็นโรงเรียนสำหรับฝึกหัดข้าราชการด้วย
ประการที่สอง บรรดาโรงเรียนที่ตั้งขึ้นในพระบรมมหาราชวัง วัตถุประสงค์คือเพื่อให้พระบรมวงศานุวงศ์ได้เล่าเรียนไปเข้ารับราชการ ทั้งมีหลักสูตรภาษาอังกฤษที่เข้มข้น เพื่อเป็นพื้นฐานให้พระเจ้าลูกยาเธอไปต่อยอดหรือศึกษาในต่างประเทศต่อไป เนื่องจากรัชกาลที่ 5 ทรงมีพระราชประสงค์เร่งสร้างสถานศึกษาเพื่อผลิตทหารและพลเรือนเข้ารับราชการ เป็นกำลังในการปฏิรูปบ้านเมืองต่อไป โดยโรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ ก็เป็นหนึ่งในนั้น เรียกว่าเป็นโรงเรียนตะวันตกแบบ Public School
เมื่อมีหม่อมเจ้า หม่อมราชวงศ์ บุตรหลานข้าราชการเข้ามาเรียนมากขึ้น พ.ศ. 2436 โรงเรียนจึงขยายออกไปตั้งนอกพระบรมมหาราชวัง แล้วเรียกชื่อเป็น “โรงเรียนสวนกุหลาบ” มีการโยกย้ายหลายครั้งก่อนมาตั้งอยู่ที่ “ตึกแถวหลังยาววัดราชบุรณะ”
พ.ศ. 2452 กระทรวงธรรมการ หรือต่อมาคือกระทรวงศึกษาธิการ ได้มีหนังสือกราบบังคมทูลรัชกาลที่ 5 ทูลขอพระราชทานที่ตรงท้ายวัดราชบุรณะ อันเป็นที่ธรณีสงฆ์ เพื่อใช้ประโยชน์ด้านการศึกษา ตามประวัติแต่เดิมของพื้นที่ดังกล่าวทางวัดตั้งใจจะสร้างเป็นตึกแถวไว้เก็บค่าเช่า กระทรวงจึงขอเช่าตึกแถวที่ทางวัดสร้างไว้นั้นเป็นที่ตั้งของโรงเรียนสวนกุหลาบ โดยวัดเก็บค่าเช่าจากระทรวง 2,258.25 บาทต่อปี
รัชกาลที่ 5 ได้พระราชทานพระบรมราชานุญาต และให้สร้าง “ตึกยาว” ขึ้น เพื่อดำเนินการสอน โดยทรงมอบให้กรมโยธาธิการเป็นผู้ออกแบบ รูปทรงเป็นสถาปัตยกรรมยุโรปแบบนีโอคลาสสิค ผนังอาคารด้านติดถนนชั้นล่างเป็นแนวหน้าต่างโค้ง ส่วนชั้นบนถอยร่นผนังเข้าไปอยู่หลังแนวซุ้มโค้งที่เป็นทางเดิน ช่องทางเข้าสู่โรงเรียนเป็นหลังคาจั่ว ตกแต่งด้วยปัลลาเดียนโมทิฟ (Palladian) ตามแบบของวิลล่าที่ออกแบบโดยปัลลาดิโอ ผนังด้านในโรงเรียนเป็นแนวทางเดินซุ้มโค้งยาวตลอดทั้ง 2 ชั้น
ตึกยาวเมื่อเริ่มแรกสร้าง มิได้มีความยาวตามปรากฏในปัจจุบัน ดัง ขุนวิจิตรมาตรา เขียนเล่าไว้ว่า
ต่อจากโรงพักไปก็เป็นตึกแถว ไปจดถนนพาหุรัด ข้ามถนนพาหุรัดไปเป็นตึกแถวราวสักสี่ห้าห้อง ถึงโรงเรียนเพาะช่างซึ่งดูเหมือนจะเพิ่มตั้งใหม่ ๆ ยังเป็นโรงเรียนเล็กอยู่ ต่อจากโรงเรียนเพาะช่างเป็นห้องแถวไม้ชั้นเดียวทาสีแดง ๆ เรื่อยไปสัก 9 ประตู หรือ 10 ห้อง เป็นประตูเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย
ต่อจากประตูเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบเป็นรั้วอย่างดีเรื่อยไปยาวจนถึงตึกสองชั้นเป็นห้องเรียนไปจดถนนจักรเพชร เมื่อแรกข้าพเจ้าเข้าโรงเรียนสวนกุหลาบ ตึกห้องเรียนตามถนนตรีเพชรมีไม่กี่ห้อง แล้วจึงค่อย ๆ ต่อให้เป็นรูปเดียวกันเรื่อยมาจนถึงประตูเข้า”
เมื่อกระทรวงธรรมการขอเช่าที่จากวัดราชบุรณะ ครั้งแรกสร้างจึงมีหลวงราชายาสาธก มรรคทายกวัดราชบุรณะเป็นผู้ลงนามในใบสัญญาว่าจ้าง และนายเอง เลียงหยง เป็นผู้รับเหมาก่อสร้าง ใช้งบประมาณก่อสร้างทั้งสิ้น 30,110 บาท
ส่วนรั้วที่ยาวไปจรดถนนจักรเพชร ตามที่ขุนวิจิตรมาตรากล่าวไว้นั้น จากหลักฐานพบว่า รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงสร้างพระบรมราชานุสาวรีย์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยดฟ้าจุฬาโลกมหาราช และสะพานพุทธ มีการขยายถนนตรีเพชร จึงได้ตัดรั้วโรงเรียนด้านติดถนนออก ปรับส่วนที่เป็นบันไดออก แล้วฉาบปูนให้เรียบ
ตึกยาวจึงกลายเป็นกำแพงของโรงเรียนด้านถนนตรีเพชร ส่วนด้านหลังที่เคยหันหน้าเข้าสนาม ก็กลายเป็นด้านหน้าของตึกเรียนแทน
ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2488 ตึกยาว ถูกระเบิดเสียหายเป็นบางส่วน และได้รับการบูรณะใหญ่ใน พ.ศ. 2517 ให้กลับสู่สภาพเดิม
ปัจจุบัน ตึกยาว มีความกว้าง 11.35 เมตร ความยาว 198.35 เมตร ตัวอาคารมี 37 ห้อง ชั้นบน 19 ห้อง ชั้นล่าง 18 ห้อง ประตู 164 บาน หน้าต่าง 166 บาน บันได 12 แห่ง ช่องลูกกรงไม้ 54 แห่ง โดยสมาคมสถาปนิกสยามได้ยกย่องให้ “ตึกยาว” เป็นอาคารอนุรักษ์ดีเด่นเมื่อ พ.ศ. 2543
ตึกยาว ยังปรากฏในเนื้อเพลงของ “เด็กสวน” อีกด้วย เช่น เพลงฟ้า-ชมพูคู่ใจ ในท่อนที่ว่า…
“เห็นเรือนเหลืองยาว ช่างงามอะคร้าวเด่นดูเหมือนดาวพราวสุกใส เห็นกุหลาบซาบซึ้งซ่าน ถึงธารฤทัย ชมพูคู่ใจฟ้าเอย”
อ่านเพิ่มเติม :
- “กรุงเทพคริสเตียนวิทยาลัย” โรงเรียนมิชชันนารีชายแห่งแรกของสยาม
- ทำไม “สวนกุหลาบฯ” ร.ร.ชายล้วนตั้งชื่อเป็นดอกไม้? แล้วยังเคยปลูกดอกไม้อื่นแทน
- ทำไมเรียก “อัสสัมชัญ”? เผยสาเหตุบาทหลวงตั้งโรงเรียนย่านบางรัก-ร.5 พระราชทานทุน
อ้างอิง :
ยุวดี ศิริ. (2557). ตึกเก่า-โรงเรียนเดิม. กรุงเทพฯ : มติชน.
เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 29 พฤศจิกายน 2566