ทั่วไป

เผยพันเอกแก่-นายพลเฒ่า มีนับร้อย ที่ยังพักบ้านราชการ (คลิป)

ไทยรัฐออนไลน์ - Politics
อัพเดต 19 ก.พ. 2563 เวลา 22.34 น. • เผยแพร่ 19 ก.พ. 2563 เวลา 22.25 น.
ภาพไฮไลต์

หลังเกษียณอายุ ทบ.ขีดเส้นตาย! มีนาคมต้องออก เผยนายกฯ 29 คน พลเรือนบ้านเอง ทหาร-บ้านหลวง

เปิดแล้วศูนย์คอลเซ็นเตอร์ “สายตรง ผบ.ทบ.” รับเรื่องราวร้องเรียนแก้ปัญหา คับข้องใจให้ทหารชั้นผู้น้อย “รอง ผบ.ทบ.” เผยมี “นายพล-พันเอกพิเศษ” เกษียณแล้วยังอยู่บ้านหลวงเกือบ 100 คน ขีดเส้นย้ายออก มี.ค.นี้ ระบุจะผ่อนผันให้เป็นกรณีๆ ตามเหตุจำเป็น ยันไม่ได้กระทบทหารชั้นประทวน ยอมรับ“บ้านสวัสดิการ” เป็นโครงการที่ดี แต่พร้อมทบทวน-ยกเลิกหากถูกมองว่าเป็นปัญหา ด้านนายกรัฐมนตรี นำคณะลงพื้นที่เยี่ยมปลอบขวัญญาติเหยื่อ “กราดยิงโคราช” พร้อมมอบเงินเยียวยาร่วม 35 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังเกิดโศกนาฏกรรมสลด จ.ส.อ.จักรพันธ์ ถมมา ทหารค่ายสุรธรรมพิทักษ์ จ.นครราชสีมา ยิงผู้บังคับบัญชาและเครือญาติเสียชีวิต เพราะโกรธแค้นเรื่องหนี้สินค่านายหน้าก่อสร้างบ้าน จากนั้นคลั่งสติแตกปล้นปืนสงครามในค่ายฯ ตระเวนกราดยิงผู้บริสุทธิ์ในวัดป่าศรัทธารวม และห้างเทอร์มินอล 21 โคราช กระทั่งถูกตำรวจวิสามัญฯ มีผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์นี้ 30 ศพ บาดเจ็บ 58 ราย ต่อมา พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ผบ.ทบ. ได้หลั่งน้ำตาขอโทษแสดงความเสียใจกับครอบครัวเหยื่อกระสุน อีกทั้งยังประกาศจะล้างบาง ธุรกิจสีเทาในค่ายทหาร และให้ทหารเกษียณออกจากบ้านหลวง พร้อมเซ็นย้ายทหารระดับนายพันเข้ากรุ แต่กระแสสังคมยังคงเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปกองทัพอย่างจริงจัง แก้ปัญหาผลประโยชน์แอบแฝงที่หมักหมมยาวนาน โดยเฉพาะการยึดครองบ้านหลวงของอดีตนายพลวัยเกษียณที่ยังครองอำนาจในแวดวงการเมือง จนเกิดแรงกระเพื่อมโถมใส่บรรดาอดีตแม่ทัพนายกอง ลุกลามไปถึงนายกรัฐมนตรี

ที่กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) สวนรื่นฤดี เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 19 ก.พ. พล.อ.ณัฐพล นาคพาณิชย์ รอง ผบ.ทบ. ทำพิธีเปิดศูนย์คอลเซ็นเตอร์สายตรง แก้ไขปัญหาสำหรับกำลังพลกองทัพบก หรือ “สายตรง ผบ.ทบ.” พร้อมให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางแก้ไขปัญหาบ้านพักของกำลังพลชั้นผู้น้อยที่เกษียณไปแล้วแต่ยังเดือดร้อนเรื่องที่พักอาศัยว่า ต้องพิจารณาเป็นกรณีๆไป โดยจัดลำดับความเดือดร้อนทั้งคนที่อยู่ในราชการและเกษียณอายุราชการไปพร้อมๆกัน การแก้ปัญหาเรื่องบ้านพักของกำลังพลมี 3 แนวทาง 1.ต้องสร้างบ้านพักเพิ่ม แต่ทำอย่างไรก็ไม่เพียงพอและยังสิ้นเปลืองงบประมาณ 2.การเช่าบ้านตามสิทธิ์ของแต่ละคน และ 3.โครงการบ้านสวัสดิการ เดิมเป็นโครงการที่ดีสำหรับผู้ที่ไม่มีบ้านหลวง เพราะเป็นการออมเงินไปซื้อบ้านเป็นของตนเองอยู่ยาวไปจนถึงเกษียณ

“แต่ปัจจุบันเกิดปัญหาเรื่องนี้ขึ้นก็ต้องมาดูว่าเกิดจากอะไร เป็นที่คนหรือระบบ หากสามารถแก้ได้ ก็ต้องเดินหน้าต่อ แต่ถ้ากองทัพบกมองแล้วว่าเป็นปัญหาก็ต้องยกเลิก ความจริงโครงการนี้เป็นโครงการที่ดี ขอทำความเข้าใจว่าบางครั้งเรื่องที่ดีอาจจะเดินไม่ได้เพราะสังคมมองว่าเป็นเรื่องทุจริต โกง ผลประโยชน์ของนายทหารผู้ใหญ่ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น หลายโครงการเป็นโครงการที่ดีให้กำลังพลชั้นผู้น้อยมีบ้านเป็นของตัวเอง” พล.อ.ณัฐพลกล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อถามว่า มีทหารเกษียณอายุราชการที่อยู่บ้านหลวงจำนวนเท่าไหร่ พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า กำลังให้หน่วยสรุปเข้ามาว่ามีเท่าไหร่ ขีดเส้นว่าเดือน มี.ค.นี้ ต้องเรียบร้อย และแจ้งไปว่าขอให้ส่งคืนด้วย แต่ขอให้เข้าใจว่าสังคมไทยยืดหยุ่นได้ แต่ก็ต้องขีดเส้นเป็นระยะๆไป ในบางกรณีที่ต้องผ่อนผันก็ต้องมีกรอบเวลา ในอดีตยอมรับว่าได้ผ่อนผันกันหลายปี เช่นทหารที่ทำงานตามชายแดนเกษียณแล้วไม่มีบ้านพัก ต้องพิจารณาตามกรณี เพราะจำนวนบ้านพักทั้งหมดในส่วนกลางมีไม่เกิน 100 หลัง สำหรับระดับชั้นนายพลและพันเอกพิเศษ ในระหว่างดำเนินการคาดจะมีคนทยอยออกไปเพิ่มขึ้น ส่วนใหญ่ที่เกิดปัญหาคือทหารที่มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัดและเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ที่อยู่ในต่างจังหวัดไม่ค่อยมีปัญหาเพราะเขามีบ้านอยู่แล้ว ในส่วนของอดีตทหารที่เป็น สว.ยังไม่เห็นรายชื่อว่ามีอยู่เท่าไหร่

ส่วนการตั้งคำถามของสังคมว่า เหตุใดนายทหารระดับสูงที่มีเงินเดือนสูงกลับไม่มีกำลังทรัพย์ซื้อบ้านของตนเอง แต่มาอยู่บ้านหลวง พล.อ.ณัฐพลกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องส่วนตัว ต้องไปถามแต่ละคน อาจมองได้ว่ายังมีงานที่ต้องรับใช้ประเทศชาติอยู่ อยากฝากสื่อมวลชนว่าไม่ต้องเป็นห่วง เพราะนายพลที่ยังอยู่บ้านหลวง ก็กระทบกับบ้านของชั้นนายพลด้วยกัน ไม่ใช่นายพลจะไปอยู่บ้านนายสิบ จนทำให้ทหารชั้นผู้น้อยไม่มีบ้านอยู่ เป็นคนละส่วนกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่รัฐสภา มีการประชุมสภาผู้แทนราษฎร นายศุภชัย โพธิ์สุ รองประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำหน้าที่ประธานการประชุมพิจารณาขอให้สภาฯศึกษาการกราดยิงใน จ.นครราชสีมา เสนอแนะให้รัฐบาลพิจารณาหาทางแก้ไขไม่ให้เกิดเหตุขึ้นอีกต่อเนื่องจากสัปดาห์ที่แล้ว โดยนางอมรรัตน์ โชคปมิตต์กุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ อภิปรายว่า ขอเรียกร้องความรับผิดชอบจาก ผบ.ทบ.ให้ลาออกเพราะการกราดยิงเป็นโศกนาฏกรรมที่ร้ายแรงที่สุด หากกองทัพสกัดเหตุได้ทัน มีคนในค่ายทหารออกมาติดตามคนร้ายอย่างทันท่วงที ความเสียหายคงไม่มากขนาดนี้ ขณะนี้สังคมมีฉันทามติร่วมกันต้องปฏิรูปกองทัพจริงจัง วัฒนธรรมเจ้าขุนมูลนายทำให้เกิดการกดขี่ละเมิดสิทธิมนุษยชนในกองทัพ ส่วนการบริจาคเงินช่วยเหลือนั้น ควรเป็นกองทัพรับผิดชอบเพียงฝ่ายเดียว เพราะกระทรวงกลาโหมได้งบฯ เพิ่มขึ้นทุกปี

ขณะที่นายคารม พลพรกลาง ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคอนาคตใหม่ กล่าวว่า หากกองทัพยังไม่มีการ บริหารจัดการที่ดี เหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา จะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย ถ้าเรื่องนี้เกิดขึ้นที่ต่างประเทศ เชื่อว่า กองทัพบก แม่ทัพภาคที่ 2 และนายกรัฐมนตรีถูกฟ้องไปแล้ว แม้จะบอกว่า ทำเต็มที่แล้ว แต่ถ้าทำได้แค่นี้จะดูแลประชาชนได้อย่างไร ด้านนายสมคิด เชื้อคง ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า เป็นไปได้อย่างไรที่ในกองทัพไม่มีระบบดูแลความปลอดภัยเรื่องการเก็บรักษาอาวุธในค่ายทหารชัดเจน ถือว่ากองทัพหละหลวม ไม่มีการแจ้งตำรวจหรือหน่วยสกัดกั้นภายหลังที่ถูกปล้นอาวุธออกไป วันนี้กองทัพต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ อย่าอายตัวเอง ผู้นำกองทัพควรปรับปรุงแก้ไขการบริหารงานในกองทัพ ต้องสร้างทหารให้มีศักดิ์ศรี ไม่ใช่เป็นทหารรับใช้ไปกดขี่กัน ต้องเป็นทหารอาชีพ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากการสืบค้นข้อมูลพบว่า ประเทศไทยมีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 29 คน ในอดีตผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี มีทั้งที่พักอาศัยอยู่ในบ้านหลวงและบ้านพักส่วนตัว โดยรายนามนายกรัฐมนตรี ประกอบด้วย 1.พระยามโนปกรณ์นิติธาดา (ดำรงตำแหน่ง พ.ศ.2475-2476) พักอาศัยบ้านส่วนตัว 2.พระยาพหลพลพยุหเสนา (2476-2481) ไม่พบข้อมูล 3.จอมพลแปลก พิบูลสงคราม (2481-2487, 2491-2500) พักบ้านหลวงรวมทั้งทำเนียบรัฐบาล 4.นายควง อภัยวงศ์ (2487-2488, 2490- 2491) พักบ้านส่วนตัวหน้าสนามกีฬา 5.นายทวี บุณย–เกตุ (2488) พักบ้านส่วนตัว 6.ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช (2488,2518,2519) พักบ้านส่วนตัวซอยเอกมัย 7.นายปรีดี พนมยงค์ (2489) นายกฯ และผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ พักทำเนียบท่าช้าง 8.พล.ร.ต.ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ (2489-2490) พักบ้านส่วนตัว 9.นายพจน์ สารสิน (2500) พักบ้านส่วนตัว

10.จอมพลถนอม กิตติขจร (2501,2506-2516) พักบ้านหลวงเกษะโกมล 11.จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ (2502-2506) พักบ้านสี่เสาเทเวศร์และบ้านหลังกองพลที่ 1 12.นายสัญญา ธรรมศักดิ์ (2516-2518) พักบ้านส่วนตัว 13.ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช (2518-2519) พักบ้านส่วนตัวในซอยสวนพลู 14.นายธานินทร์ กรัยวิเชียร (2519-2520) พักบ้านส่วนตัว 15.พล.อ.เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ (2520-2523) พักบ้านส่วนตัวย่านบางเขน 16.พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ (2523-2531) พักบ้านสี่เสาเทเวศร์จนถึงแก่อสัญกรรม 17.พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ (2531-2534) พักบ้านส่วนตัวในซอยราชครู 18.นายอานันท์ ปันยารชุน (2 มี.ค.2534-6 เม.ย.2535, 10 มิ.ย.2535-22 ก.ย.2535) พักบ้านส่วนตัว 19.พล.อ.สุจินดา คราประยูร (7 เม.ย.2535-24 พ.ค.2535) พักบ้านหลวงบ้าง บ้านส่วนตัวในซอยระนอง 1 บ้าง 20.นายชวน หลีกภัย (23 ก.ย.2535-19 พ.ค.2538, 9 พ.ย.2540-16 ก.พ.2544) พักบ้านส่วนตัวในซอยหมอเหล็ง

21.นายบรรหาร ศิลปอาชา (18 ก.พ.2538-29 พ.ย.2539) พักบ้านส่วนตัวริมถนนจรัลสนิทวงศ์ 22.พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ (29 พ.ย.2539-6 พ.ย.2540) พักบ้านส่วนตัวซอยปิ่นประภาคม ย่านสนามบินน้ำ 23.พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร (17 ก.พ.2544-19 ก.ย.2549) พักบ้านจันทร์ส่องหล้า ย่านบางพลัด 24.พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ (1 ต.ค.2549-29 ม.ค.2551) พักบ้านส่วนตัวบ้าง บ้านหลวงบ้าง 25.นายสมัคร สุนทรเวช (29 ม.ค.2551-9 ก.ย.2551) พักบ้านส่วนตัวในหมู่บ้านโอฬาร ย่านถนนนวมินทร์ 26.นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ (18 ก.ย.2551-2 ธ.ค.2551) พักบ้านส่วนตัวในหมู่บ้านเบเวอรี่ ฮิลล์ ถนนแจ้งวัฒนะ 27.นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (17 ธ.ค.2551-4 ส.ค.2554) พักบ้านส่วนตัวย่านสุขุมวิท 28 น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร (5 ส.ค.2554-7 ส.ค.2557) พักบ้านส่วนตัวในซอยโยธินพัฒนา 3 ถนนประดิษฐ์มนูธรรม และ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา (24 ส.ค.2557-ปัจจุบัน) พักบ้านหลวงในกรมทหารราบที่ 11

สรุปว่าอดีตนายกรัฐมนตรีของไทย พักบ้านส่วนตัวขณะดำรงตำแหน่ง 20 คน ที่เหลือเป็นผู้ที่พักบ้านของทางราชการ คือบ้านพักทหาร ทั้งๆที่ในยุคหลังๆ มีการกำหนดให้บ้านพิษณุโลก เป็นบ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ไม่มีนายกรัฐมนตรีคนใดไปพักอาศัยอยู่อย่างจริงจัง

สายวันเดียวกัน ที่สนามบินกองบิน 1 ต.ปรุใหญ่ อ.เมืองนครราชสีมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี พร้อมคณะเดินทางลงพื้นที่ จ.นครราชสีมา เพื่อมอบเงินเยียวยาให้กับญาติ ผู้เสียชีวิตจากเหตุกราดยิงโคราช ทันทีที่ลงจากเครื่องบิน นายกฯเดินทางต่อด้วยรถตู้โตโยต้า อัลพาร์ด ทะเบียน กย 1111 นครราชสีมา ไปสักการะอนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี (ย่าโม) จากนั้นเดินทางไปยังหอประชุมเปรมติณสูลานนท์ ศาลากลางจังหวัดนครราชสีมา มอบเงินช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บและครอบครัวผู้เสียชีวิต เป็นเงินจากกองทุนผู้ประสบสาธารณภัยสำนักนายกรัฐมนตรี รวมทั้งสิ้น 34.8 ล้านบาท มอบให้ครอบครัวผู้เสียชีวิต 24 ราย จากทั้งหมด 27 ราย รายละ 1 ล้านบาท ผู้ได้รับบาดเจ็บสาหัส 19 ราย จาก 21 ราย รายละ 2 แสนบาท และผู้ได้รับบาดเจ็บไม่สาหัส 32 ราย จากทั้งหมด 36 ราย รายละ 1 แสนบาท ส่วนผู้ที่ไม่ได้มารับในวันนี้จะประสานจ่ายเงินให้ตามภูมิลำเนา

ต่อมาเวลา 10.00 น. นายกฯและคณะ เดินทางไปยังศูนย์การค้าเทอร์มินอล 21 โคราช ต.ในเมือง อ.เมืองนครราชสีมา ตรวจพื้นที่และเยี่ยมเยียนผู้ประกอบการร้านค้าและประชาชน พล.อ.ประยุทธ์ ได้ไปยังชั้น LG และชั้น G บริเวณที่ประชาชนใช้หลบภัยช่วงเกิดเหตุกราดยิง พูดคุยกับผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์ ชื่นชมพลเมืองดี ระบุจะทำประกาศนียบัตรให้เพื่อเป็นเกียรติ และให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่มาปฏิบัติงาน และอุดหนุนสินค้าในร้านค้าต่างๆ เช่น ร้านโดนัทที่ ผบ.ตร. ได้อุดหนุนในช่วงปฏิบัติภารกิจเข้าจับกุมคนร้าย

ระหว่างนั้นมีประชาชนหลายคนกล่าวถึงเหตุการณ์ที่ยังรู้สึกสะเทือนใจและมีน้ำตาคลอ พล.อ.ประยุทธ์กล่าวว่า ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ ร้านค้า เจ้าของห้างสรรพสินค้า และได้รับปากจะจัดโปรโมชันให้ประชาชน พร้อมเขียนข้อความให้กำลังใจติดบนกระดานรวมดวงใจก้าวไปด้วยกันว่า “ขอเป็นกำลังใจให้ทุกคน ทุกภาคส่วนต่อไปด้วยกัน ด้วยพลังแห่งรัก แห่งความสามัคคี รัฐบาล นายกรัฐมนตรี คณะรัฐมนตรี จะทำงานอย่างเต็มกำลังสติปัญญาในการขับเคลื่อนไปข้างหน้าและเราจะต้องไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ร่วมกันนำพาประเทศชาติ ประชาชนไทยไปข้างหน้า เพื่อผ่านพ้นวิกฤติต่างๆไปด้วยกัน ขอบคุณภาคเอกชน หอการค้าอุตสาหกรรม ทุกภาคส่วน ขอให้ทุกคนประสบความสำเร็จทุกประการ ด้วยรักและห่วงใยเสมอ” จากนั้นคณะของนายกรัฐมนตรีได้เดินทางกลับ กทม.

นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม กล่าวว่า ในที่ประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มอบหมายให้กระทรวงวัฒนธรรม (วธ.) จัดทำหนังสือจดหมายเหตุเหตุการณ์ที่ จ.นครราชสีมา ลักษณะคล้ายกับการบันทึกประวัติศาสตร์เหตุการณ์ช่วยชีวิต 13 หมูป่า ออกจากวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ให้เน้นในด้านสิ่งดีๆ การช่วยเหลือของสังคม การบริจาค จิตอาสา โดยเฉพาะพระมหากรุณาธิคุณ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงรับทั้ง 27 ศพ ไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ และพระราชทานเพลิงศพ มุ่งหมายให้เป็นเครื่องเตือนใจ แสดงความมีน้ำใจของคนไทย ตนสั่งการให้สำนักหอจดหมายเหตุ กรมศิลปากร รับไปดำเนินการ ให้รวบรวมลำดับเหตุการณ์ ตั้งแต่เริ่มเกิดเหตุ จะเก็บรวบรวมทั้งภาพ บันทึกเหตุการณ์ จากสื่อมวลชนแขนงต่างๆ เรื่องเล่า และการสัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากบุคคลที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย นอกจากนี้ รัฐบาลยังได้จัดทำประกาศเกียรติคุณยกย่องบุคคลที่อยู่เบื้องหลังด้วย

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 23
  • สุนทร
    ในอีกมุมหนึ่งต้องขอบคุณจ่าที่ยอมตายเพื่อให้เรื่องมันออกสู่สาธารณะชนให้ทราบ
    20 ก.พ. 2563 เวลา 00.17 น.
  • ขุนเงิน ขุนทอง
    นายพล นายพัน ที่เกษียณแล้ว แต่ไม่ยอมย้ายออกเพราะ 1.สบายไม่ต้องจ่ายค่าน้ำค่าไฟ 2.มีทหานเกณฑ์คอยรับใช้รองมือรองตีน 3.ความปลอดภัยสูง 4.เห็นแก่ตัว
    20 ก.พ. 2563 เวลา 00.18 น.
  • mon
    นาฬิกาลุงตู่ลุงป้อม เรือนเดียว ก็ซื้อบ้านได้เป็นหลังล่ะ
    20 ก.พ. 2563 เวลา 00.08 น.
  • ADTAPON.K
    อ้างว่าทำงานชายแดนยังไม่มีบ้านพัก ไม่ใช่หรอกครับ ก่อนเกษียณคุณต้องหาซื้อบ้านแล้วครับ ส่วนกรมสวัสดิการก้ออลุ่มอล่วยเกิ้น มีอะไรจ้องบังคับสิครับ ไม่งั้นกฏระเบียบที่กรมสวัสดิการจะออกมาเพื่ออะไร มันมีระเบียบว่าอยู่ต่อได้ไม่เกิน 6 เดือน บางคนล่อไปเป็นปี แล้วมาอ้างมันใช่เหรอ???? ถ้าเป็นชั้นประทวนหรือมาจากจ่า คงโดนตะเพิ่ดออกไปแทบไม่ทันแล้ว มันคือความไม่เท่าเทียม ความไม่เสมอภาคของทหารทุกวันนี้ เรื้อรังอาการหนักจนต้องมีการผ่าตัดครั้งใหญ่
    20 ก.พ. 2563 เวลา 00.04 น.
  • chayut สว.กก.สส.1
    มันเกิดจ่ากการกดขี่กันชัดๆเห็นอยุ่ต้องแก้ที่ระบบไม่ใช่บ้านพักคือแบบว่าเวลาผู้น้อยร้องมีหลักฐานนายพลก็ต้องติดคุกได้เหมือนต่างประเทศนะทา่น
    20 ก.พ. 2563 เวลา 00.13 น.
ดูทั้งหมด