สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 วันนี้ไทยพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย เป็นผู้เดินทางกลับจากต่างประเทศเข้ากักตัวใน State Quarantine ส่วนผู้ป่วยรักษาหายเพิ่ม 1 ราย และอยู่ระหว่างรักษาในโรงพยาบาลอีก 59 ราย
วันที่ 26 พ.ค.2563 นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ประจำวันว่า วันนี้พบผู้ป่วยยืนยันเพิ่ม 3 ราย ยอดผู้ป่วยสะสมอยู่ที่ 3,045 ราย หายป่วยกลับบ้าน 1 ราย ยอดรักษาหายสะสม 2,929 ราย ผู้ป่วยยังรักษาอยู่ในโรงพยาบาลทั้งหมด 59 ราย วันนี้ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิต ยอดเสียชีวิตสะสมคงที่ 57 ราย
นพ.ทวีศิลป์ เปิดเผยรายละเอียดผู้ป่วย 3 รายที่พบวันนี้ว่า ทั้งหมดเดินทางกลับจากต่างประเทศอยู่ใน State Quarantine รายแรกเป็นหญิงไทย อายุ 51 ปี อาชีพพนักงานนวด เดินทางกลับมาจากประเทศรัสเซีย เมื่อวันที่ 12 พ.ค.2563 และเข้า State Quarantine ที่ จ.ชลบุรี และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563 ซึ่งไม่มีอาการ และอีก 2 ราย เป็นชายไทยอายุ 45 ปี กลับจากประเทศคูเวต เมื่อวันที่ 24 พ.ค.2563 และเข้า State Quarantine ที่ จ.สมุทรปราการ โดยทั้ง 2 รายมีอาการไอ และตรวจพบเชื้อเมื่อวันที่ 25 พ.ค.2563
ขณะที่กรมควบคุมโรค และศูนย์ปฏิบัติการด้านนวัตกรรมการแพทย์ และการวิจัยและพัฒนา สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษาฯ (อว.) รายงาน สัดส่วนผู้ป่วยโควิด-19 ตามพื้นที่คือ กรุงเทพมหานคร มีผู้ป่วยที่รับรักษาสะสมมากที่สุด (1,532 ราย) ตามด้วย ภูเก็ต (227), นนทบุรี (158), ยะลา (125), สมุทรปราการ (115), ชลบุรี (86), ปัตตานี (79), สงขลา (44), เชียงใหม่ (41) และ ปทุมธานี (39) โดยมีผู้ติดเชื้อที่อยู่ในระหว่าง state quarantine และในจังหวัดต่างๆ รวม 108 ราย
โฆษก ศบค. ชี้แจงประเด็นเกี่ยวกับยอดสะสมทั้งประเทศตั้งแต่ช่วงเริ่มต้น จากแผนที่แสดงให้เห็นว่าในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีสีเขียวที่แปลว่ามีจำนวนกว่า 65 จังหวัดที่ไม่มีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ และมีสีครีมคือมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อจำนวน 0-1 คน 10 จังหวัด ส่งผลให้จากชุดข้อมูลที่นำเสนอ จังหวัดที่เป็นสีแดงหรือมีผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ตั้งแต่ 5คน ขึ้นไป ไม่มีแล้ว สถานการณ์ที่ดีขึ้นเกิดจากความร่วมมือร่วมใจของประชาชนทุกคน
รวมทั้งได้เน้นย้ำว่า ขณะนี้เรากำลังเข้าสู่มาตรการผ่อนปรนจากระยะที่ 2 ไปสู่ระยะที่ 3 คาดว่ากิจการ/กิจกรรม ที่มีความเสี่ยงระดับปานกลางออกไประดับสูง จะได้รับการอนุญาตมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่สำคัญที่สุด คือการคำนึงถึงมาตรการหลัก 5 ข้อ ไม่ว่าจะเป็นการเว้นระยะห่าง ล้างมือบ่อยๆ ไม่รวมกลุ่มในที่แออัด เป็นมาตรการที่ได้แถลงบ่อยๆ ซ้ำๆ แม้กิจกรรมจะมีความเสี่ยง แต่หากปฏิบัติตาม มาตรการหลัก 5 ข้อนี้ จะเป็นการควบคุมและป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ