ทั่วไป

วาระซ่อมกรุงเทพฯ: 1 เดือนกับการซ่อมสร้าง แก้น้ำรอระบายพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม “ขุดลอกท่อ-ซ่อมสถานีสูบ”

ไทยพับลิก้า
อัพเดต 27 มิ.ย. 2565 เวลา 23.37 น. • เผยแพร่ 24 มิ.ย. 2565 เวลา 22.06 น.

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ภารกิจเร่งด่วนแก้ปัญหาการระบายน้ำ ภายใต้แนวคิดซ่อมสร้าง เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ เดือนเดียวลุยแก้ปัญหาจุดเสี่ยงน้ำท่วม ถนนสุขุมวิท คลองลาดพร้าว ห้วยขวาง เตรียมรับมือฝนตกหนักต่อเนื่อง

เกือบหนึ่งเดือนหลังได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการในตำแหน่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร อาจจะกล่าวทีมงานพร้อมปฏิบัติการ ลุยลงมือทำทันที เป็นผลจากการเก็บข้อมูลทำการบ้านในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ไม่ต้องใช้เวลาเรียนรู้ศึกษางาน จากสโลแกน “ทำงาน ทำงาน ทำงาน” โดยเฉพาะการบริหารจัดการเรื่องน้ำ ที่นำทีมโดยนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี อดีตที่ปรึกษาผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (สมัยพลตำรวจเอก อัศวิน ขวัญเมือง) ซึ่งลาออกก่อนครบวาระ ได้กลับมาร่วมงานเป็นที่ปรึกษาด้านการบริหารจัดการน้ำอีกครั้ง สามารถสานงานต่อได้ทันที พร้อมรู้จุดแข็งจุดอ่อน และปัญหาต่างๆ ที่สะสมว่าจะต้องสะสางอย่างไร

ดังนั้น หนึ่งในภารกิจเร่งด่วนที่นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ประกาศในวันทำงานวันแรก คือ ปัญหาการระบายน้ำ ทำให้นับจากวันแรกของการทำงาน ทั้งชัชชาติและนายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี ที่ปรึกษาของผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ซึ่งดูแลเรื่องการบริหารจัดการน้ำกรุงเทพฯ ทั้งน้ำท่วม น้ำแล้ง น้ำรอระบาย น้ำหนุน น้ำเสีย เริ่มตะลุยทำงานทั้งกลางวันและกลางคืน แข่งกับเวลาเพื่อเตรียมรับมือกับฤดูฝนที่เริ่มแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แนวทางการทำงานนายอรรถเศรษฐ์ ยังคงเน้นซ่อมสิ่งที่มีอยู่ก่อน ทำสิ่งที่มีอยู่ให้ทำงานเต็มประสิทธิภาพ ไม่ต้องไปลงทุนโครงสร้างขนาดใหญ่ ตั้งแต่ตรวจสอบประสิทธิภาพสถานีระบายน้ำ ขุดลอกท่อระบายน้ำที่มีความยาวกว่า 6,000 กิโลเมตรและคูคลองอีกประมาณ 2,600 กิโลเมตร นี่คือเป้าหมายแรกของการแก้ปัญหาน้ำรอระบาย (นาน) หรือน้ำท่วมซ้ำซากใน กทม. เนื่องจากที่ผ่านมามีการลอกคลองประมาณ 10% ต่อปี ลอกท่อระบายน้ำได้ไม่มาก ดังนั้นจึงต้องเอาจริงเอาจังเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยท่อระบายน้ำใน กทม. ควรลอกอย่างน้อยปีละ 3,000 กิโลเมตร

การก่อสร้างปรับปรุงสถานีสูบน้ำสุขุมวิท

ภารกิจแรกในการทำงานด้านการระบายน้ำ จึงเริ่มจากการตรวจสอบสถานีระบายน้ำว่าสามารถทำงานได้เต็มประสิทธิภาพหรือไม่ โดยเริ่มจากจุดเสี่ยงน้ำท่วมซ้ำซาก เช่น สถานีสูบน้ำสุขุมวิท 39, สุขุมวิท 49, สุขุมวิท 55, สุขุมวิท 71 ซึ่งอยู่ระหว่างการก่อสร้างปรับปรุงสถานีสูบน้ำ ต้องแก้ไขปัญหาการระบายน้ำชั่วคราว เพื่อลดปัญหาน้ำรอระบายในย่านสุขุมวิทซอยคี่ทั้งหมด ซึ่งสามารถช่วยไม่ให้น้ำท่วมขังได้

ลงพื้นที่แก้ไขจุดน้ำรอระบายที่ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ซอย 21-39
นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี (เสื้อสีน้ำเงิน) ตรวจสอบการทำงานของสถานีสูบน้ำคลองจิกและคลองจิกมิตรมหาดไทย

ในช่วงที่ผ่านมานายอรรถเศรษฐ์ พร้อมด้วยนายสมศักดิ์ มีอุดมศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักระบายน้ำ ลงพื้นที่แก้ไขจุดน้ำรอระบายที่ถนนรามคำแหง ตั้งแต่ซอย 21-39 พบปัญหาน้ำขังผิวจราจร ไม่ไหลลงท่อระบายน้ำ จากการตรวจสอบพบว่าระดับน้ำในคลองยังต่ำมาก จึงสันนิฐานได้ว่าการก่อสร้างรถไฟฟ้าอาจทำให้ท่อระบายน้ำเสียหาย พร้อมตรวจสอบการทำงานของสถานีสูบน้ำคลองจิกและคลองจิกมิตรมหาดไทย ที่เป็นสถานีสำคัญในการระบายน้ำถนนรามคำแหง

ส่วนคลองลาดพร้าว ต้องปิดทางน้ำไหลคลองลาดพร้าวภายในหนึ่งสัปดาห์เพื่อขุดลอกคลอง โดยเริ่มปฏิบัติการขนเครื่องจักร เริ่มเปิดขุดลอกคลองทันที

ส่วนปัญหาการระบายน้ำในฝั่งแยกถนนจันทน์ เซ็นหลุยส์ซอย 3 ถนนสาธุประดิษฐ์ ตั้งแต่สถานีสูบน้ำลงเจ้าพระยาตอนคลองกรวย เจริญกรุง 66 ที่เป็นสถานีหลักที่สำคัญในการลำเลียงน้ำออกจากพื้นที่ ได้เปิดใช้งาน pipe jacking ถนนจันทน์ เพื่อเตรียมความพร้อมเร่งการระบายน้ำได้เร็วขึ้นจากเดิม

ส่วนบริเวณถนนพระราม 4 ตัดถนนเกษมราษฎร์ ที่จุดนี้จะรับน้ำจากซอยสุขุมวิทฝั่งเลขคู่ 26 ถึงแยกกล้วยน้ำไทย ปัญหาที่ผ่านมาคือมวลน้ำทั้งหมดจะไหลไปรวมที่ลงคลองหัวลำโพง (คลองเตย) ขณะที่สถานีสูบน้ำคลองเตยที่มีกำลังการสูบที่ 30 ลบ.ม./วินาทีในการสูบออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งทำงานมานานกว่า 30 ปี จึงได้เพิ่มการบายพาสระบายน้ำให้มากขึ้น โดยให้ผู้รับจ้างเร่งเปิดทางน้ำให้เร็วที่สุด

นายอรรถเศรษฐ์ให้ข้อมูลว่า “จุดคลองหัวลำโพงเป็นจุดที่น่าเป็นห่วงที่สุด เพราะจะมีผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งเขตคลองเตยและเขตวัฒนา จึงได้สั่งผู้รับเหมาให้ทำบายพาส ระบายน้ำให้เร็วขึ้น”

นอกจากนี้ สั่งให้สำนักระบายน้ำเข้าดำเนินการดูดเลน ถนนช่างอากาศอุทิศ บริเวณซอย 16 เขตดอนเมือง ทำความสะอาดท่อระบายน้ำตลอดทั้งเส้น รวมทั้งขุดลอกดินเลน ปากคลองคูน้ำวิภาวดี ขณะนี้หน้าสถานีสูบน้ำรัชวิภาดำเนินการแล้วเสร็จ

การติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก

ขณะที่กองเครื่องจักรกล ร่วมกับกองระบบท่อระบายน้ำ และสำนักงานเขตดอนเมือง ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิค ขนาด 16 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่บ่อสูบน้ำถนนช่างอากาศอุทิศ บริเวณสะพานข้ามคลองเปรมประชากร ได้ดำเนินการติดตั้งพร้อมทดสอบการใช้งานเครื่องสูบน้ำแล้วเสร็จและเดินท่อส่งน้ำผ้าใบ เครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ลงคลองเปรมประชากรเป็นที่เรียบร้อย

นอกจากนี้กองเครื่องจักรกล ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิคขนาด 16 นิ้วจำนวน 1 เครื่อง ที่คลองวัดหลักสี่ วิภาวดีขาเข้า (ฝั่งใต้ ) เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วม ถนนวิภาวดีขาเข้า บริเวณปั๊ม ปตท. ถึงแยกถนนวิภาวดีตัดถนนแจ้งวัฒนะ ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ รวมทั้งได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำเครื่องยนต์ขนาด 10 นิ้ว จำนวน 1 เครื่อง ที่คูน้ำวิภาวดีขาออก บริเวณหน้าสนามกีฬากองทัพบก เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาน้ำท่วมถนนวิภาวดี ขาออก บริเวณหน้า ร.1 รอ. ได้ดำเนินการติดตั้งแล้วเสร็จ

“ประตูระบายน้ำลาดพร้าว 56 ที่มีปัญหาเรื่องเครื่องสูบน้ำ ตอนนี้ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮดรอลิก 30 นิ้ว จำนวน 2 เครื่อง เพื่อรองรับการระบายน้ำคลองลาดพร้าวเรียบร้อยแล้ว” นายอรรถเศรษฐ์กล่าว

คลองเปรมประชากรหลังขุดลอกดินแล้วเสร็จ

ขณะเดียวกันได้เร่งผู้รับจ้างนำเครื่องจักรลงพื้นที่วัดดอนเมือง เขตดอนเมือง เพื่อดำเนินการในส่วนสิ่งปลูกสร้างริมคลองเปรมประชากร บ้านรุกล้ำ หลังจากดำเนินการแล้วเสร็จจะนำเครื่องจักร เปิดร่องน้ำคลองเปรมประชากร และอีกจุดคือโครงการก่อสร้างเขื่อน คลองเปรมประชากรช่วงที่ 4 ได้ดำเนินการขุดลอกดินคลองเปรมประชากรช่วงบริษัทปตท. ก่อนถึงคลองบางเขน เพื่อเปิดทางน้ำไหล

**[

  • “อรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี” ที่ปรึกษาผู้ว่า กทม. ชวนแกะรอยปัญหา “น้ำท่วมกรุงเทพฯ” จาก “ท่อระบายน้ำ” ถึง “แม่น้ำเจ้าพระยา” ](https://thaipublica.org/2019/06/atthaseth-petmeesri-bangkok-flood-problem/)**

**[

  • เปิดแผนแม่บท การบริหารจัดการน้ำ 20 ปีกรุงเทพมหานคร ที่ควรลำดับความสำคัญเสียใหม่ ](https://thaipublica.org/2021/09/atthaseth-petchmeesri05/)**

**[

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 1): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด” ](https://thaipublica.org/2022/04/bangkok-agenda01-2565/)**

**[

  • “วาระซ่อมกรุงเทพฯ” ให้เป็นเมืองน่าอยู่ น่าเที่ยว (ตอนที่ 2): ต้อง “อัปเดต” ไม่ใช่ “อัปเกรด” ](https://thaipublica.org/2022/04/bangkok-agenda02-2565/)**

**[

  • วาระซ่อมกรุงเทพฯ : จะทำให้คลองกรุงเทพฯ ใสสะอาด ยั่งยืน ได้อย่างไร? ](https://thaipublica.org/2022/05/bangkok-agenda05-2565/)**

ส่วนการขุดลอกท่อ ได้ร่วมมือกับกรมราชทัณฑ์ ซึ่งได้ส่งผู้ต้องขังชั้นดีลงมาช่วยลอกท่อระยะทางรวม 3,390 กม. ที่ กทม. จะดำเนินงานภายในปีงบประมาณปี 2565 ซึ่งดำเนินการภายใน 2-3 เดือนนี้

นายอรรถเศรษฐ์เล่าว่า “โดยวันแรกของการขุดลอกท่อระบายน้ำที่ตลาดห้วยขวาง พบว่ายังมีปัญหาขยะและไขมันอุดตัน โดยเฉพาะหน้าตลาดสดที่ทำให้น้ำระบายได้ไม่ดี หากมีมาตรการในการทำบ่อดักไขมัน เชื่อว่าจะช่วยลดปัญหาน้ำท่วมขังดีขึ้น”

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ (ซ้าย) นายอรรถเศรษฐ์ เพชรมีศรี (ขวา)

“โดยสรุป ภารกิจ 1 เดือนในการแก้ปัญหาระบายน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ต้องทำงานแข่งกับเวลา เนื่องจากเป็นฤดูฝน หากไม่เร่งดำเนินการน้ำจะท่วมขัง หรือมีน้ำรอระบายนาน สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจและการดำเนินชีวิตประจำวันของคนกรุงเทพฯ” นายอรรถเศรษฐกล่าว

ภาพตอนสั่งให้รีบดำเนินการขยะหน้าสกรีนออก สถานีสูบน้ำห้วยขวาง
ภาพหลังสั่งการ
ดูข่าวต้นฉบับ