ทั่วไป

อัศจรรย์ในวรรณคดี (1) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

มติชนสุดสัปดาห์
อัพเดต 03 มี.ค. 2565 เวลา 09.15 น. • เผยแพร่ 08 มี.ค. 2565 เวลา 06.00 น.

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

อัศจรรย์ในวรรณคดี (1)

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

‘อัศจรรย์ในวรรณคดี’ คือ ‘เหตุอัศจรรย์’ มิใช่ ‘บทอัศจรรย์’ หรือการร่วมรักของตัวละคร

อัศจรรย์ คือ แปลก ประหลาด ไม่ปรกติ

‘อัศจรรย์ในวรรณคดี’ สื่อถึงความไม่ธรรมดา ยากหาสิ่งใดมาเทียบเคียง มาพร้อมกับความสำคัญของฐานะ และการกระทำของบุคคลผู้มีสภาพความเป็นอยู่ และการกระทำอันยิ่งใหญ่เหนือคนทั้งหลาย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กำเนิดของสองตัวละครเอกในพระราชนิพนธ์บทละครรำ เรื่อง “อิเหนา” รัชกาลที่ 2 ทรงพรรณนาถึงเหตุอัศจรรย์เมื่อประไหมสุหรีกุเรปันใกล้จะประสูติอิเหนาว่า

“พสุธาสะเทือนเลื่อนลั่น เป็นควันตระหลบทั้งเวหน

มืดมิดปิดแสงพระสุริยน ฟ้าลั่นอึงอลนภาลัย

แลบพรายเป็นสายอินทรธนู สักครู่ก็เกิดพายุใหญ่

ไม้ไหล้ลู่ล้มระทมไป แล้วฝนห่าใหญ่ตกลงมา

เปรี้ยงเปรี้ยงเสียงฟ้าฟาดสาย แต่มิได้อันตรายจักผ่า

เย็นทั่วฝูงราษฎร์ประชา ทั้งเจ็ดทิวาราตรี”

ในเวลานั้นแผ่นดินสั่นสะเทือนเลื่อนลั่น ฝุ่นควันฟุ้งตระหลบทั่วท้องฟ้า บดบังแสงอาทิตย์มืดมิด เสียงฟ้าร้องกึกก้อง สายฟ้าแลบแปลบปลาบไปทุกทิศ ตามติดด้วยพายุใหญ่พัดถล่มต้นไม้ทลายลงเกลื่อนกลาด ฝนห่าใหญ่พรั่งพรู แม้สายฟ้าจะฟาดเปรี้ยงๆ ไม่ขาดสาย ก็หาได้ผ่าลงมาทำอันตรายแก่ผู้คนไม่ บันดาลเพียงความฉ่ำเย็นแก่ปวงประชานานถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน

เหตุอัศจรรย์จากปรากฏการณ์ธรรมชาติแปลกประหลาด แสดงถึงพลังอำนาจของทารกแรกเกิดว่าจะเติบใหญ่เป็นผุ้นำที่ไร้เทียมทาน ดังที่โหรกราบทูลท้าวกุเรปันพระบิดาของอิเหนาว่า

“เพราะอานุภาพพระโอรส ให้ปรากฏแก่โลกทั้งหลาย

ซึ่งฟ้าร้องสนั่นลั่นแลบพราย บันดาลเป็นสายอินทรธนู

จะกึกก้องเกียรติยศทั้งทศทิศ เรืองฤทธิ์ไม่มีที่เคียงคู่

พระจะเที่ยวโรมรันพันตู ปราบหมู่อริราชทุกบุรี

อันเกิดพายุใหญ่ไม้ล้ม ระตูจะบังคมบทศรี

ซึ่งฝนตกเจ็ดวันเจ็ดราตรี บรรณาการจะมีเนืองมา”

 

เหตุอัศจรรย์ของอิเหนาแสดงถึงความแข็งแกร่งและความเป็นกษัตริย์นักสู้ผู้ยิ่งใหญ่ ศัตรูทั้งหลายแพ้พ่าย ตรงกันข้ามกับเหตุอัศจรรย์ของนางบุษบาที่ละเมียดละไมสมกับเป็นของผู้หญิง เป็นเวลาช่วงเช้ามืด มีเสียงไก่ขัน

“บังเกิดมหัศอัศจรรย์ กลิ่นสุคันธรสรวยริน

ดอกไม้ทุกพรรณก็บันดาล เบิกบานเกสรขจรกลิ่น

ภุมเรศร่อนร้องโบยบิน ประสานเสียงเพียงพิณพาทย์ฆ้อง

ดนตรีแตรสังข์ก็ดังเอง อัศจรรย์บรรเลงกึกก้อง

ครั้นอรุณรุ่งรางสร่างแสงทอง ดังแสงรุ้งเรืองรองอร่ามไป

สุรศรีดังสีธรรมชาติ เลื่อมพรายโอภาสผ่องใส

จึงประสูติธิดายาใจ งามวิไลล้ำเลิศเพริศพราย”

เหตุอัศจรรย์ของนางบุษบามีแต่ความรื่นรมย์จากความงดงามของดอกไม้หลากสีพร้อมใจคลี่กลีบบาน กลิ่นหอมขจรขจายดึงดูดมวลแมลงทั้งหลายมาร่อนร้องโบยบิน ส่งเสียงประสานไพเราะประหนึ่งเสียงพิณพาทย์ฆ้อง อีกทั้งดนตรีแตรสังข์ก็ดังขึ้นเองบรรเลงเพลงกังวานก้อง แสงทองของดวงตะวันราวกับสีรุ้งเรืองรอง เป็นเวลาที่พระธิดาลืมตาดูโลก

เหตุอัศจรรย์ของอิเหนายุติลงเมื่องถึงเวลาประสูติ

“เมื่อนั้น โฉมยงองค์ประไหมสุหรี

ครั้นได้ฤกษ์พานาที เทวีก็ประสูติพระกุมาร

ชาวประโคมก็ประโคมแตรสังข์ พร้อมพรั่งจำเรียงเสียงประสาน

อันอัศจรรย์ซึ่งบันดาล ก็อันตรธานทันใด”

ตรงกันข้ามกับนางบุษบา แม้เหตุอัศจรรย์จะสิ้นสุด แต่บางสิ่งยังคงอยู่

“อันอัศจรรย์ที่บันดาล ก็อันตรธานสูญหาย

ยังแต่กลิ่นหอมรวยชวยชาย”

บรรดาเสียงดนตรีที่บังเกิดขึ้นเป็นเหตุอัศจรรย์ เมื่อพระธิดาประสูติแล้วก็พลันสูญสิ้น เหลือแต่กลิ่นหอมรวยรินของดอกไม้ ด้วยเหตุนี้นางจึงได้ชื่อว่า “บุษบาหนึ่งหรัด” บุษบา แปลว่า ดอกไม้ ตั้งชื่อตามเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

“จึงถวายพระนามตามเหตุนั้น

ชื่อระเด่นบุษบาหนึ่งหรัด ลออเอี่ยมเทียมทัดนางสวรรค์

ทั้งในธรณีไม่มีทัน ผิวพรรณผุดผ่องดังทองทา”

 

ทั้ง ‘อิเหนา’ และ ‘นางบุษบา’ เป็นตัวละครเอกของเรื่อง สืบเชื้อสายกษัตริย์วงศ์เทวา ชาติกำเนิดและสถานภาพทางสังคมล้วนสูงส่ง ฝ่ายชายเป็นพระโอรสท้าวกุเรปัน ฝ่ายหญิงเป็นพระธิดาท้าวดาหา เหตุอัศจรรย์วันประสูติมีขึ้นเพื่อรองรับฐานะทางสังคมของทั้งคู่ ตรงกันข้ามกับ ‘นางจินตะหรา’ ที่เป็น ‘รักสามเส้า’ ของอิเหนาและบุษบา แม้เกิดก่อนบุษบา แต่เป็นรองทุกด้าน ดังที่กวีบรรยายสั้นๆ ว่า

“เมื่อนั้น องค์ประไหมสุหรีหมันหยา

ทรงครรภ์ถ้วนทศมาสตรา ประสูติมาเป็นราชบุตรี

งามงอนอ่อนระทวยนวยแน่ง ดำแดงนวลเนื้อสองสี

ผ่องพักตร์ผิวพรรณดังจันทรี นางในธรณีไม่มีทัน”

เพราะมิใช่วงศ์เทวา เป็นเพียงธิดาระตูหมันหยา เหตุอัศจรรย์จึงไม่มี ต่อให้ไม่คิดถึงฐานะ แค่รูปลักษณ์ก็ยังห่างไกล

แม้จินตะหราจะงามคมขำผิวดำแดง ผิวพรรณผุดผ่องราวแสงจันทร์

แต่ก็งามระดับคนเท่านั้น คือ ‘นางในธานีไม่มีทัน’ หมายถึง งามกว่าสตรีทุกนางในเมืองหมันหยา

ในขณะที่นางบุษบางามกว่าคน งามระดับนางฟ้า ‘ทั้งในธรณีไม่มีทัน’ บอกให้รู้ว่า นางคือสุดยอดความงาม ไม่มีสตรีใดในโลกจะงามเทียบเท่า

จินตะหราแพ้มาแต่ในมุ้ง •

ดูข่าวต้นฉบับ