ต่างประเทศ

ประวัติศาสตร์การก่อตั้ง “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ที่มา “วันชาติจีน” 1 ตุลาคม

ประชาชาติธุรกิจ
อัพเดต 02 ต.ค. 2566 เวลา 18.14 น. • เผยแพร่ 30 ก.ย 2566 เวลา 23.45 น.
บรรยากาศการเฉลิมฉลองวันชาติ ที่จตุรัสเทียนอันเหมิน ปี 2022 (ภาพโดย Noel CELIS / AFP)

วันที่ 1 ตุลาคม เป็น “วันชาติ” ของสาธารณรัฐประชาชนจีน หรือจีนแผ่นดินใหญ่

แต่ก่อนที่จะมีวันชาติจีนเป็นวันที่ 1 ตุลาคม ชาวจีนในจีนแผ่นดินใหญ่เคยมีวันชาติเป็นวันที่ 10 ตุลาคม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องนี้มีความเป็นมาอย่างไร “ประชาชาติธุรกิจ” ถือโอกาสวันชาติจีนปีนี้เล่าเรื่องราวประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ฉบับย่อ ๆ ที่จะบอกทั้งความเป็นมาของประเทศจีนและวันชาติของจีน

ประวัติศาสตร์จีนสมัยใหม่ฉบับย่อ เริ่มต้นจาก ดร.ซุนยัตเซ็นชาวจีนผู้ซึ่งได้รับการศึกษาสมัยใหม่และเคยใช้ชีวิตอยู่ต่างประเทศ ได้รวบรวมสมัครพรรคพวกที่เป็นนักเรียนนอก ปัญญาชน และทหารจำนวนหนึ่งเพื่อก่อการปฏิวัติล้มล้างการปกครองระบอบกษัตริย์

ซุนยัตเซ็นได้เดินทางไปเรี่ยไรเงินจากชาวจีนโพ้นทะเลเพื่อเป็นทุนในการก่อการปฏิวัติ หนึ่งในแหล่งเงินทุนสำคัญก็คือประเทศไทย (ในเวลานั้นยังเป็น “สยาม”) ซึ่งมีชาวจีนข้ามน้ำข้ามทะเลเข้ามาตั้งรกรากอยู่เป็นจำนวนมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์แรกของการปฏิวัติโค่นล้มราชวงศ์ชิงเกิดขึ้นในวันที่ 10 ตุลาคม ค.ศ. 1911

ในวันนั้น ทางการจีนประหารชีวิตนายทหารช่างสามคนในเขตอู่ชาง เมืองอู่ฮั่น มณฑลเจ้อเจียงที่อยู่ในขบวนการปฏิวัติ พร้อมกับสั่งปิดเมืองอู่ฮั่นและกวาดล้างผู้ก่อการปฏิวัติ

ค่ำวันนั้นจึงเกิดการลุกขึ้นสู้ของกองพันทหารช่างที่ 8 ในกองพลที่ 8 แห่งกองทหารแผนใหม่ในเขตอู่ชาง เมืองอู่ฮั่น ซึ่งการลุกขึ้นสู้นี้เรียกว่า “การก่อการกำเริบอู่ชาง”เป็นเหตุการณ์สำคัญที่นำไปสู่การปฏิวัติจีนเพื่อโค่นล้มราชวงศ์ชิง ที่เรียกอีกชื่อว่า“การปฏิวัติซินไฮ่” ซึ่งมีทหาร แรงงาน และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมจำนวนมาก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หลังการปฏิวัติสำเร็จ จีนได้เริ่มต้นการปกครองประเทศแบบ “สาธารณรัฐ” โดยก่อตั้งประเทศขึ้นในวันที่ 1 มกราคม 1912 ภายใต้ชื่อ “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) พร้อมกับยกเอาวันที่ 10 ตุลาคม เป็น “วันชาติสาธารณรัฐจีน”

ในวันที่ 12 กุมภาพันธ์ปีนั้น จักรพรรดิผู่อี๋ จักรพรรดิองค์สุดท้ายของราชวงศ์ชิงก็ต้องจำยอมสละราชบัลลังก์ เป็นการสิ้นสุดระบอบกษัตริย์ที่ครองอำนาจเหนือแผ่นดินจีนมายาวนาน 2,000 ปี

หลังการปฏิวัติและก่อตั้งประเทศ ดร.ซุนยัตเซ็น ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนแรกของสาธารณรัฐจีนเพียงชั่วคราว แล้วเมื่อราชวงศ์ชิงยอมสละบัลลังก์ ซุนยัตเซ็นก็ต้องมอบอำนาจให้ นายพลหยวนซื่อไข่ผู้กุมอำนาจในกองทัพซึ่งมีกำลังในการบีบให้ราชวงศ์ชิงสละราชบัลลังก์ ตามที่ยื่นข้อเสนอแลกเปลี่ยนไว้ตอนที่ซุนยัตเซ็นชวนหยวนซื่อไข่มาอยู่ฝั่งปฏิวัติ

นายพลหยวนซื่อไข่ไม่ได้มีอุดมการณ์ที่จะสร้างสาธารณรัฐ และไม่ได้สนใจการปกครองระบอบประชาธิปไตยแต่อย่างใด เขาเข้าร่วมปฏิวัติเพียงเพราะต้องการแย่งอำนาจจากราชวงศ์ชิงมาอยู่ในมือของตนเองเท่านั้น ดังนั้น แม้สิ้นสุดระบอบกษัตริย์แล้วชาวจีนก็ต้องอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการของผู้นำทหารแทนที่จะได้เปลี่ยนสู่ระบอบประชาธิปไตยที่ “อำนาจเป็นของประชาชน” อย่างที่ซุนยัตเซนประกาศไว้ก่อนปฏิวัติ

ส่วนกลุ่มแกนนำการปฏิวัติสายซุนยัตเซ็นก็อยู่ไม่ได้ ต้องลี้ภัยออกนอกประเทศไป

หยวนซื่อไข่ครองอำนาจอยู่ 4 ปีก็เสียชีวิตในปี 1916 เมื่อสิ้นหยวนซื่อไข่แล้วก็ไม่มีใครมีบารมีพอที่จะสามารถปกครองแผ่นดินจีนทั้งประเทศได้ จึงเกิดการแบ่งแยกอำนาจของแต่ละท้องถิ่นซึ่งมีผู้มีอำนาจภายในเมืองภายในมณฑลของตนเอง

จากนั้นในปี 1919 ซุนยัตเซ็นกับชาวคณะพรรคก๊กมินตั๋งของเขาจึงกลับเข้าไปตั้งรัฐบาลใหม่ที่มณฑลกวางตุ้ง พร้อมก่อตั้งกองทัพของพรรคและก่อตั้งโรงเรียนทหารขึ้นมา เพื่อให้พรรคมีความเข้มแข็ง

แต่เนื่องจากแผ่นดินจีนนั้นกว้างใหญ่ไพศาล การจะรวมดินแดนทั้งประเทศให้เข้ามาเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้ระบอบใหม่และรัฐบาลใหม่จึงเป็นเรื่องยาก

ซุนยัตเซ็นจึงขอความช่วยเหลือจาก โจเซฟ สตาลิน (Joseph Stalin) ผู้นำสหภาพโซเวียตในขณะนั้น ซึ่งสตาลินให้ซุนยัตเซ็นรับพรรคคอมมิวนิสต์จีนเข้าเป็นแนวร่วมการรวมชาติ แลกกับการให้คำแนะนำในการสร้างชาติพร้อมกับให้ความช่วยเหลือด้านการเงิน

การรวมแผ่นดินยังไม่ทันสำเร็จ ซุนยัตเซ็นก็เสียชีวิตไปก่อนในปี 1925 หลังจากนั้นลูกน้องของเขาได้เดินหน้าพยายามรวบรวมดินแดนให้เข้ามาอยู่ภายใต้อำนาจการปกครองของรัฐบาล แล้วทำได้สำเร็จในปี 1927

หลังจากรวมประเทศได้สำเร็จก็เกิดการแตกแยกกันเองภายในพรรคก๊กมินตั๋ง นายพลเจียงไคเช็กผู้กุมกำลังทหารเป็นฝ่ายชนะ ได้ขึ้นเป็นผู้นำพรรคและเป็น “ประธานาธิบดีจีน”

เมื่อเจียงไคเช็กขึ้นมาเป็นผู้นำ เขาได้ปราบปรามกวาดล้างพรรคคอมมิวนิสต์จีน ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์ต้องล่าถอยออกจากเมืองไปอยู่พื้นที่ชนบทนานราว 10 ปี ซึ่งในช่วงเวลานั้น พรรคคอมมิวนิสต์ถือโอกาสทำคะแนนตามชนบท รวบรวมกำลังพลได้จนแข็งแกร่งขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋ง ที่เรียกว่า “รัฐบาลคณะชาติ” อ่อนกำลังลงจากการต่อสู้กับญี่ปุ่น

ปี 1937 จีนคณะชาติและจีนคอมมิวนิสต์ได้จัดตั้งแนวร่วมต่อต้านญี่ปุ่น โดยที่ยังคงหวาดระแวงกัน แม้ว่าตามข้อตกลง กองทัพแดงของพรรคคอมมิวนิสต์อยู่ใต้บังคับบัญชาของรัฐบาลคณะชาติ แต่ในความเป็นจริง พรรคคอมมิวนิสต์จีนได้กลายเป็นรัฐบาลในภาคเหนือที่ค่อย ๆ ขยายอิทธิพลมากขึ้นเรื่อยๆ

หลังญี่ปุ่นแพ้แล้วถอนกำลังออกจากจีน จีนคณะชาติกับพรรคคอมมิวนิสต์ก็กลับมาสู้กันเอง เกิดเป็นสงครามกลางเมือง ทั้งนี้ แต่ละฝ่ายมีผู้สนับสนุนเป็นชาติมหาอำนาจของโลก โดยฝั่งคณะชาติได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐ ขณะที่ฝั่งพรรคคอมมิวนิสต์ได้รับการสนับสนุนจากโซเวียต

ในที่สุดแล้วพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะ รัฐบาลพรรคก๊กมินตั๋งที่สูญเสียอำนาจการปกครองในจีนแผ่นดินใหญ่ได้อพยพไปตั้งรัฐบาลที่เกาะไต้หวันในปี 1949 แล้วไม่มีโอกาสได้กลับไปมีอำนาจในจีนแผ่นดินใหญ่อีกเลย

วันที่ 1 ตุลาคม 1949 พรรคคอมมิวนิสต์จีน นำโดยเหมาเจ๋อตง สถาปนา “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ขึ้นมาบนจีนแผ่นดินใหญ่ โดยประกาศต่อหน้าประชาชนกว่า 3 แสนคน ณ จตุรัสเทียนอันเหมิน กรุงปักกิ่ง พร้อมกับเปลี่ยนวันชาติของจีนแผ่นดินใหญ่มาเป็นวันที่ 1 ตุลาคม แทนวันที่ 10 ตุลาคม ที่คณะปฏิวัติล้มล้างราชวงศ์ชิงตั้งไว้

ชื่อ “สาธารณรัฐจีน” ซึ่งก่อตั้งขึ้นในจีนแผ่นดินใหญ่เมื่อปี 1912 จึงกลายเป็นชื่อที่ใช้ได้เฉพาะในไต้หวัน เช่นกันกับวันที่ 10 ตุลาคม ที่ยังคงเป็นวันชาติของ “สาธารณรัฐจีน” ซึ่งมีการเฉลิมฉลองในไต้หวันเท่านั้น

เรื่องราวนี้ นอกจากเป็นที่มาของวันชาติจีนแล้วยังเป็นเรื่องเดียวกันกับที่มาของกรณีพิพาทและสถานะความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งจีนยึดหลักการ “จีนเดียว” ที่ว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน ขณะที่ในไต้หวันมีทั้งคนที่มองว่าไต้หวันเป็นหนึ่งเดียวกับจีน แต่ต้องการจีนที่ปกครองระบอบประชาธิปไตย และคนที่มองว่าไต้หวันกับจีนไม่ใช่ประเทศเดียวกัน ควรต่างคนต่างอยู่-เป็นประเทศของตนเอง

อ้างอิง :

อ่านเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง

ดูข่าวต้นฉบับ