ทั่วไป

ไม่ต้องตระหนก ‘หมอยง’ แจง ‘ฝีดาษวานร’ ไม่ใช่โรคใหม่ ความรุนแรงน้อยกว่าฝีดาษมาก

ไทยโพสต์
อัพเดต 20 พ.ค. 2565 เวลา 07.35 น. • เผยแพร่ 20 พ.ค. 2565 เวลา 00.34 น.

'หมอยง' แจง 'ฝีดาษวานร'ไม่ใช่โรคใหม่ พบในคนตั้งแต่ 2513 ในแอฟริกา ความรุนแรง และ การแพร่ระบาดได้น้อยกว่าผีดาษมาก เชื่อวัคซีนป้องกันฝีดาษ ป้องกันโรคนี้ได้ ยันไม่เคยพบในไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก

20พ.ค.2565-ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความ เรื่อง ฝีดาษวานร มีเนื้อหาดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การเรียกชื่อ “ฝีดาษวานร” อยากให้เป็นเกียรติ และระลึกถึงท่านศาสตราจารย์นายแพทย์ประเสริฐ ทองเจริญ ผู้ตั้งชื่อโรคนี้ในประเทศไทย

ฝีดาษวานร ไม่ใช่โรคใหม่ พบครั้งแรกในลิงปี 2501 และพบในคนตั้งแต่ปีพศ 2513 ในแอฟริกาตอนกลาง และแอฟริกาตะวันตก

ฝีดาษวานร คล้ายกับโรคฝีดาษในมนุษย์ แต่ความรุนแรง และ การแพร่ระบาดได้น้อยกว่าผีดาษมาก
การติดต่อทราบกันดีว่า คนจะติดมาจากสัตว์ เช่นลิง สัตว์ตระกูลฟันแทะ กลุ่มหนูในแอฟริกาและกระรอก
แหล่งระบาดจะอยู่ในแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

การพบนอกแอฟริกา ส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากแอฟริกา และหรือสัมผัสกับสัตว์ที่นำมาจากแอฟริกา
การติดต่อระหว่าง คนสู่คนเป็นไปได้ แต่ต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด เช่นสัมผัสกับ น้ำใส ตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่ง ใช้เสื้อผ้าร่วมกัน นอนเตียงเดียวกัน การเลี้ยงสัตว์ต่างถิ่นที่เป็นพาหะโรคนี้อยู่

ในอดีตที่ผ่านมายังไม่พบการระบาดใหญ่ พบเป็นกลุ่มในแอฟริกา และพบเป็นรายราย ในยุโรปและอเมริกา เคยมีรายงานผู้ป่วยในสิงคโปร์

ในอังกฤษครั้งนี้ มีการตั้งข้อสงสัยการติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ยังต้องรอการยืนยัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เชื้อไวรัสเป็นกลุ่มเดียวกับโรคฝีดาษ จึงเชื่อว่าวัคซีนป้องกันฝีดาษ น่าจะป้องกันโรคนี้ได้ คงต้องรอการพิสูจน์
การปลูกฝี มีประสิทธิภาพในการป้องกันฝีดาษสูงมาก จึงทำให้โรคฝีดาษหมดไป และประเทศไทยเลิกปลูกฝีตั้งแต่ปีพศ 2517 ใครที่เกิดก่อนปี 2517 จะมีแผลเป็นจากการปลูกฝี ผมเองก็มี

ฝีดาษวานร ไม่เคยพบในประเทศไทย ไม่มีอะไรต้องตื่นตระหนก การติดต่อแพร่กระจายต้องสัมผัสอย่างใกล้ชิด
การเฝ้าระวังเป็นสิ่งจำเป็น โดยเฉพาะผู้ที่เดินทางมาจากแอฟริกาตะวันตก และแอฟริกากลาง รวมทั้งการนำสัตว์ต่างถิ่นเข้าสู่ประเทศไทย

ดูข่าวต้นฉบับ