'หมอธีระวัฒน์' เผย ฝีดาษลิง-เริม-อีสุกอีใส มีตุ่มคล้ายกัน หากโผล่ในจุดลับและไปมีเซ็กซ์กัน อาจเป็นสาเหตุให้แพร่เชื้อ แนะตรวจพิสูจน์ให้ชัด ฝีดาษลิงหรือเริม
เมื่อวันที่ 28 พ.ค.65 ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ให้สัมภาษณ์ถึงลักษณะอาการที่แตกต่างระหว่างโรคฝีดาษลิง (Monkeypox) และโรคเริม ว่า ลักษณะผื่น ตุ่ม ที่ผิวหนังจากการเกิดโรคบางครั้งแยกยาก ที่แยกยากสุดคือ อีสุกอีใส
โรคเริม
อีกทั้งบางประเทศในแอฟฟริกา มีการศึกษาพบว่า คนในพื้นที่มีการติดเชื้อซ้ำสองตัวพร้อมกันคือ ทั้งอีสุกอีใสและฝีดาษลิงพบประมาณ 12.5% ดังนั้น อีสุกอีใสแยกยาก มิหนำซ้ำอาจจะเกิดพร้อมกับฝีดาษลิงได้ สำหรับประเทศไทยโอกาสที่จะเป็นอีสุกอีใสอาจจะน้อย เพราะเด็กได้รับการฉีดวัคซีนอีสุกอีใสแล้ว แต่ผู้สูงอายุที่เคยเป็นอีสุกอีใสตั้งแต่เด็ก
ขณะนี้เมื่อภูมิคุ้มกันลดลง ภาวะอีสุกอีใสก็จะออกมาจนกลายเป็นงูสวัด หากออกมาแล้วปะทุบางตำแหน่ง บางที่อาจจะทำให้ดูยาก และอาจเกิดความกังวลว่าเป็นฝีดาษลิง โดยเฉพาะงูสวัดที่แพร่ไปทั้งตัว ซึ่งเกิดได้ในคนที่ภูมิคุ้มกันต่ำ ก็จะอาจจะทำให้สับสนว่าเป็นฝีดาษลิงไปด้วย
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวต่อว่า สำหรับเริมอยู่ในตระกูลเดียวกับงูสวัด และอีสุกอีใส ลักษณะของเริมส่วนมากจะกระจุกอยู่เฉพาะที่ที่บริเวณริมฝีปาก อยู่ภายในปากบริเวณกระพุ้งแก้ม รวมถึงบริเวณอวัยวะเพศลงไปถึงก้น ดังนั้นจึงอาจจะเป็นที่กังวล เพราะจากสถานการณ์ฝีดาษลิงที่มีรายงานพบว่า คนที่ติดฝีดาษลิงบางรายไปมีเพศสัมพันธ์กัน
ซึ่งบังเอิญตุ่มหนองยังไม่ได้โผล่บริเวณอวัยวะภายนอกที่หน้า ลำตัว แขนขน แต่เกิดที่อวัยวะเพศ จึงไม่รู้ตัว และไปมีเพศสัมพันธ์กัน จนเป็นสาเหตุหนึ่งที่เกิดการติดเชื้อและแพร่ได้ ดังนั้นเริมก็มักชอบขึ้นที่อวัยะเพศจึงเป็นที่กังวลว่าจะเป็นฝีดาษลิงหรือไม่ ต้องพิสูจน์ให้แน่ชัดว่าจริงๆ เป็นฝีดาษลิงหรือเริม อย่างไรก็ตาม การสงสัยไว้ก่อนเพื่อกันพลาด เป็นสิ่งที่ดี
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ กล่าวถึงกรณีที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์กำลังตรวจวิเคราะห์ประสิทธิภาพวัคซีนฝีดาษที่แช่แข็งกว่า 40 ปี หากจะนำมาใช้ว่า วัคซีนฝีดาษ (Smallpox) ที่เคยใช้ในสมัยโบราณ โอกาสที่จะนำมาใช้ใหม่อาจจะมีข้อจำกัด อาจจะมีผลข้างเคียง ซึ่งอาจจะใช้ไม่ได้ในกลุ่มที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง
อย่างไรก็ตาม หากมีการระบาดเกิดขึ้นจริงทั้งโลกหรือทั้งประเทศ ตรงนั้นก็อาจจะเป็นทางเลือกทางหนึ่ง แต่ก็ต้องเสี่ยงค่อนข้างมาก ขณะเดียวกันหากจะไปใช้วัคซีนไข้ทรพิษกันฝีดาษลิงที่สหรัฐอเมริกาหรือในอังกฤษมีการใช้บางกลุ่ม ก็อาจจะต้องแย่งชิงกับประเทศอื่นหากมีการระบาดเกิดขึ้นจริง
ที่มา มติชนออนไลน์