ทั่วไป

เปิดข้อจำกัดชุดตรวจโควิด-19 Rapid Test

คมชัดลึกออนไลน์
อัพเดต 28 มี.ค. 2563 เวลา 13.26 น. • เผยแพร่ 28 มี.ค. 2563 เวลา 12.20 น.

นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวในเวทีเสวนาสื่อมวลชน เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2563 เรื่อง การเก็บตัวอย่าง / ชุดตรวจ Rapid Test / การพัฒนาศักยภาพขยายแล็บภูมิภาค

อ่านข่าว - หมอธีระวัฒน์ ย้ำ ตรวจว่องไวเจาะเลือดปลายนิ้ว จำกัดแพร่เชื้อไวรัสโรคโควิด-19

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นพ.โอภาส อธิบายว่า ขั้นตอนการตรวจในห้องปฏิบัติการ เริ่มจากเจ้าหน้าที่ซักประวัติ ตรวจร่างกายเบื้องต้น และตรวจทางห้องปฏิบัติการ ซึ่งมีวิธีการเก็บตัวอย่างเชื้อที่แตกต่างกันไป ซึ่งก่อนทำการตรวจทางห้องปฏิบัติการ สิ่งแรกที่ต้องรู้ก่อน คือ ธรรมชาติของการเกิดโรค โดยต้องรู้ว่ากระบวนการเกิดโรคนั้นเกิดจากอะไร กรณีโรคโควิด-19 ต้องไล่ย้อนเริ่มจากวันที่รับเชื้อไปจนถึงวันที่เริ่มมีอาการ โดยในช่วงเวลานี้เรียกว่า ระยะฟักตัวของโรค เป็นช่วงที่ไม่มีอาการแต่เชื้อกำลังแบ่งตัวในร่างกาย จนถึงขณะหนึ่งที่ร่างกายสู้ไม่ไหวจึงแสดงอาการออกมา เมื่อเริ่มมีอาการผู้ป่วยส่วนหนึ่งจะหายเองได้ แต่บางรายอาจโชคร้ายถึงขั้นเสียชีวิต โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ กระบวนการเหล่านี้เป็นธรรมชาติของการเกิดโรคโควิด-19

สำหรับวิธีการตรวจในห้องปฏิบัติการนั้น หลักๆ มีอยู่ 2 อย่าง คือ 1. ตรวจหาเชื้อไวรัสโดยตรง ซึ่งขณะนี้วิธีการตรวจที่ไวที่สุดคือ "การตรวจสารพันธุกรรม" (RT PCR) เป็นวิธีการหลักในการวินิจฉัยในปัจจุบัน และเป็นวิธีการที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ เพราะตรวจแล้วยืนยันผลได้ไวที่สุด สามารถตรวจหาเชื้อได้ตั้งแต่เริ่มมีอาการน้อยๆ ซึ่งเคสในประเทศไทยที่ขณะมีอยู่ 1,000 กว่าราย ใช้วิธีการนี้ตรวจทั้งสิ้น โดยปัจจุบันทั่วประเทศมีห้องปฏิบัติการ ที่สามารถตรวจวิธีการนี้ทั้งสิ้น 44 แห่ง แบ่งเป็นของภาครัฐ 39 แห่ง และเอกชน 5 แห่ง โดยศักยภาพการตรวจในพื้นที่ กทม. อยู่ที่ 10,000 ตัวอย่าง / วัน ขณะที่ต่างจังหวัดก็อยู่ที่ 10,000 ตัวอย่างต่อวัน หรือ 835 ตัวอย่าง / เขตสุขภาพ รองรับตามการประเมินว่า ณ วันที่ 15 เมษายน นี้ จะมีผู้ติดเชื้อในประเทศ 3 แสนราย ส่วนน้ำยาสำหรับตรวจวิเคราะห์ที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตอนนี้มีอยู่ 5 หมื่นเทส (26 มีนาคม 2563) ยังไม่รวมของ รพ.รามาฯ รพ.จุฬาฯ รพ.ศิริราช และภาคเอกชน คร่าวๆ รวมแล้วไม่น่าต่ำกว่า 1 แสนเทส และกำลังสั่งซื้อเข้ามาเพิ่มเติมจากประเทศจีน

และ 2. ตรวจโดยชุดตรวจ Rapid Test ซึ่งเป็นประเด็นที่คนสงสัยมาก แปลตรงตัว คือ การตรวจแบบเร็ว บางแห่งใช้เวลา 5 นาที หรือ 15 นาที โดยชุดตรวจ Rapid Test ที่เป็นข่าวตอนนี้ คือ "การตรวจหาภูมิคุ้มกัน" เมื่อร่างกายได้รับเชื้อเข้าไป จะสร้างภูมิคุ้มกันขึ้นมาต่อสู้กับเชื้อโรค ซึ่งจะใช้เวลาหลังจากรับเชื้อประมาณ 5 - 7 วัน ฉะนั้น การตรวจแบบนี้จะได้ผลเป็นบวกหรือลบ ต้องตรวจหลังรับเชื้อ 5 - 10 วันขึ้นไป กว่าจะรู้ผลยืนยันว่าติดเชื้อหรือไม่ต้องใช้เวลากว่า 10 วัน ที่สำคัญหากไปตรวจหลังเสี่ยงรับเชื้อวันที่ 1 หรือ 3 เมื่อได้ผลเป็นลบก็ยังยืนยันไม่ได้ว่าติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น การตรวจด้วยอุปกรณ์นี้ช่วงเวลาการตรวจจึงมีความสำคัญ ส่วนที่เร็วคือขั้นตอนการตรวจใช้เวลาแค่ 5 นาที เสร็จ แต่ในแง่ของการวินิจฉัยโรคถือว่าช้า จึงกล่าวได้ว่า "เร็วตอนตรวจแต่วินิจฉัยโรคได้ช้า"

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
เปิดข้อจำกัดชุดตรวจโควิด-19 Rapid Test

"เมื่อมีวิธีการตรวจใหม่ๆ สิ่งที่ต้องคิดเสมอ คือวิธีการตรวจเหล่านั้นได้ผล มีความเที่ยงตรงแม่นยำ และได้มาตรฐานหรือไม่ จากข่าวที่ปรากฏจะเห็นว่ามีวิธีการมากมาย ขณะนี้บางแห่งมีการพัฒนาหรือกำลังพัฒนาวิธีตรวจ แต่ต้องคำนึงต่อไปพร้อมกับประเมินว่า สามารถใช้ได้จริงหรือไม่ด้วย เพราะการตรวจแต่ละวิธีนั้น มีขั้นตอนที่ต้องทำให้เหมาะสมกับสถานการณ์และช่วงเวลาใด เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการวินิจฉัยโรค" นพ.โอภาส กล่าว

นพ.อาชวินทร์ โรจนวิวัฒน์ ผู้อำนวยการสถาบันชีววิทยาศาสตร์ทางการแพทย์ กล่าวเสริมถึงกรณีการตรวจแบบไดร์ฟทรู (Drive-thru) ระบุว่า เป็นการดำเนินการในลักษณะรถโมบายเคลื่อนที่หาผู้ป่วย ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับ พ.ร.บ.สถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องกับรถโมบายเคลื่อนที่ โดยในกรณีของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวข้องในส่วนของตัวบุคคลที่เป็นผู้เก็บตัวอย่าง จะขึ้นกับ พ.ร.บ.วิชาชีพเทคนิคการแพทย์ ซึ่งอนุญาตให้ทำได้เฉพาะบุคคลที่ผ่านการฝึกอบรม หรือมีใบประกอบวิชาชีพแล้วเท่านั้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ขณะเดียวกัน ยังเกี่ยวข้องกับ พ.ร.บ.เชื้อโรค ซึ่งเน้นไปตรงจุดสำคัญที่การขนส่งตัวอย่างอย่างถูกต้องถูกวิธีเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา ซึ่งในกรณีของ หมอแล็บแพนด้า ที่จะมีการไปเก็บตัวอย่างถึงบ้านนั้น สามารถทำได้ตามวิชาชีพเป็นลักษณะการเก็บสิ่งส่งตรวจไปยังห้องปฏิบัติการ แต่จะถูกต้องตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล หรือไม่ ต้องตรวจสอบกันอีกที ส่วนที่มีข่าวว่าขณะนี้หลายคนไปหาซื้อชุดตรวจมาตรวจเอง ส่วนใหญ่จะเป็นวิธีเจาะเลือดปลายนิ้วหรือจากเส้นเลือดดำนั้น สิ่งสำคัญคือต้องทำความเข้าใจก่อนว่าการแปรผลตรวจต้องเป็นแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถสรุปผลว่าติดหรือไม่ติดได้ด้วยตนเอง

เปิดข้อจำกัดชุดตรวจโควิด-19 Rapid Test
เปิดข้อจำกัดชุดตรวจโควิด-19 Rapid Test
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 10
  • pongpipat
    มันคนละมุมมอง นพ จากกรมวิทยาศาสตการแพทย์ มองว่า ชุดตรวจโควิด ต้องสมบูรณ์ชัดแจ้ง ถึงจะใช้ตัดสินได้ว่าติดหรือไม่ติดเชื้อ แต่ท่านลืมไปว่า ชุดตรวจที่สมบูรณ์นั้น มีราคาแพง คนทั่วไปเข้าไม่ถึง และใข้เวลานานกว่าจะรู้ผล ทำให้การคัดแยกผู้ติดเชื้อในสังคม ทำได้ข้า ในขณะที่ชุด rapid test ใช้หาคนมีผลเลือดเป็นลบ ถ้าตรวจแล้วไม่ลบ ค่อยไปตรวจชุดสมบูรณ์อีกที แบบนี้จะเร็วกว่า เป็นการหาผู้ไม่ติดเชื้อก่อน เมิ่อรู้ผู้ไม่ติดเขื้อก็จะหาเจอผู้ติดเชื้อได้เร็ว แถมมีราคาถูกกว่าเยอะ ทำได้เร็วด้วย คนละมุมมอง
    28 มี.ค. 2563 เวลา 14.52 น.
  • Phong 4659
    ชุดตรวจง่ายๆแบบตรวจท้อง ถ้ามันได้ผล จีนคงไมต้องกักบริเวณ 14 วัน
    28 มี.ค. 2563 เวลา 14.51 น.
  • saree
    งงครับ
    28 มี.ค. 2563 เวลา 14.45 น.
  • THE_JACKs
    ตรวจเองแล้วผลเป็นลบ มันจะทำให้คนชะล่าใจ ทั้งที่จริงๆ อาจมีเชื้อแต่มันปริมาณยังมีไม่มากพอที่จะทำให้ตรวจด้วยวิธีนี้ได้ การตรวจด้วยวิธีนี้คือการตรวจหาสารภูมิต้านทานต่อเชื้อ (Antibody) ซึ่งตรวจเจอช้ากว่าการตรวจหาเชื้อ ((Antigen) โดยตรง
    28 มี.ค. 2563 เวลา 14.41 น.
  • Angkh.onk
    ฟังเอาเลยค่ะ คนพิมพ์คงเรียบเรียงไม่ทัน
    28 มี.ค. 2563 เวลา 14.45 น.
ดูทั้งหมด