ระหว่างตักผักใบเขียวเข้าเคี้ยวในปาก ผมจับจ้องมองหม้อสุกี้ตรงหน้าแล้วคิดฉงนสงสัยว่าเหตุไฉนเราจึงปรารภถึง ‘หน้าหม้อ’ กันมากกว่า ‘หลังหม้อ’ แล้วหม้อตรงหน้านี้มีที่มาอย่างใด ยุคไหนสมัยใดที่มนุษย์เริ่มวางหม้อไว้ข้างหน้าตนเอง พวกเขาครื้นเครงกับอาหารกันรอบๆ หม้อเช่นนี้มาแต่แรกเลยหรือไม่
หม้อนับเป็นเครื่องครัวตัวเอก บี วิลสัน ผู้เขียนหนังสือ Consider the Fork: A History of How We Cook and Eat กล่าวว่า “ยากจะจินตนาการถึงครัวที่ไร้หม้อ” ทั้งยังชี้ให้เห็นว่า กำเนิดหม้อนับเป็นจุดเปลี่ยนในการทำอาหารของมนุษย์ เริ่มจากรู้จักใช้ไฟ จากนั้นเรากลายเป็นเผ่าพันธุ์ที่รักการปิ้งย่าง ใช้เวลาอีกเนิ่นนานจึงคิดค้นวิธีปรุงอาหารโดยไม่ต้องนำวัตถุซึ่งดิบไปจ่อไฟโดยตรง แต่ใช้วิธีต้มให้สุกแทน
นับเป็นเวลาหลายแสนปีมาแล้วที่บรรพบุรุษบรรพสตรีของเราใช้ไฟย่างอาหาร แต่วัฒนธรรม ‘หน้าหม้อ’ นั้นเพิ่งมีมาเมื่อราวๆ 10,000 ปีมานี้เอง ย่างนั้นไม่ต้องการอะไรมาก เสียบเนื้อสัตว์ ติดไฟ หมุนไปมา เป็นอันว่ากินได้ แต่ทันทีที่คิดถึงการ ‘ต้ม’ อุปกรณ์ใหม่ก็งอกขึ้นมาในหัว
เราจะใช้อะไรบรรจุข้าวของต่างๆ ที่จะปรุงอาหารกันเล่า แถมยังต้องแก้โจทย์ยากที่สุดคือ ถ้าจะต้มก็ต้องมีน้ำ แล้วน้ำกับไฟมันคือของตรงกันข้าม หยินกับหยาง จะนำสองสิ่งนี้มาพบเจอกันได้อย่างไร ลองจินตนาการถึงโลกก่อนมีหม้อดูสิ นี่นับเป็นโจทย์ที่มิอาจขบออกโดยง่าย
เป็นไปได้ว่าคนโบราณที่บ้านใกล้น้ำพุร้อนใช้วิธีจุ่มอาหารดิบลงไปในนั้นโดยผูกมันไว้กับกิ่งไม้หรือเชือก พอเนื้อเปื่อยยุ่ยก็อาจมีร่วงหล่นลงไปที่ก้นบ่อ อดกินกันอยู่บ้าง แต่ปัญหาใหญ่กว่านั้นคือ ผู้คนมิได้ตั้งรกรากกันใกล้น้ำพุร้อนเสมอไป จึงต้องมีภาชนะที่พร้อมจะต้มอาหารที่ไหนก็ได้
ไอเดีย ‘ภาชนะ’ ใส่อาหารอาจมีที่มาจากสัตว์บางชนิดที่มี ‘ภาชนะ’ ติดตัวมา อาทิ หอยหรือเต่าที่มี ‘ชาม’ ใส่อาหารมาเสร็จสรรพในรูปแบบเปลือกและกระดองของมัน ชาวอเมริกันพื้นเมืองใช้เปลือกหอยแทนช้อน แถมเอาไปลับให้คมเพื่อใช้เป็นมีดอีกต่างหาก นวัตกรรมเครื่องใช้ไม้สอยของมนุษย์เราก็เริ่มจากธรรมชาติใกล้ตัวเช่นนี้เอง
เมื่อครั้งเดินทางไปถ่ายสารคดีที่เอธิโอเปีย ผมได้เห็นผู้คนในชนเผ่าเดินตากแดดแล้วใช้น้ำเต้าครอบกะโหลกตัวเองไว้เพื่อกันความร้อนจากแดด แล้วพอมาถึงตลาดพวกเขาก็หงายมันขึ้นมา เทเครื่องดื่มใส่ลงไป ดื่มเสร็จสะบัดสามที แล้วคว่ำกลับไปเป็นหมวกตามเดิม
นอกจากเปลือก กระดอง และน้ำเต้า ภาชนะอีกอย่างที่มนุษย์ใช้ในการปรุงอาหารก็คือกระเพาะสัตว์ซึ่งกันน้ำและทนความร้อนได้ดีระดับหนึ่ง บางครั้งคนโบราณจึงใส่เนื้อหรือเครื่องในสัตว์ลงในกระเพาะของมันเองแล้วนำไปจ่อไฟโดยใช้กระเพาะนั้นแทนหม้อ
พนักงานร้านสุกี้เดินมาหรี่ไฟ แล้วถามว่า “รับอะไรเพิ่มไหมคะ” ผมมองหมูนุ่ม หมูนิ่ม และหมูน่วมในหม้อก่อนตอบไปว่า “ยังไม่รับครับ” แล้วจึงคิดได้ว่า การควบคุมไฟไม่ใช่สิ่งที่จะทำได้ง่ายนักในยุคโบราณ เอาแค่ว่าจะ ‘ต้ม’ น้ำสักทีก็เลือดตาแทบกระเด็น เลือดยายแทบกระดอนกันแล้ว
มนุษย์ในยุค ‘ก่อนหม้อ’ ต้องลงแรงขุดหลุมขนาดใหญ่แล้วกรุหินที่ผิวหลุมจนทั่วมิให้รั่วซึม พอมั่นใจจึงเทน้ำใส่จนเต็มหลุม พอมีน้ำในหม้อ เอ้ย! ในหลุมแล้วก็วิ่งไปหาหินก้อนใหญ่ๆ มาเผาไฟแรงจัดๆ ให้ร้อนขนาด 500 องศาเซลเซียส (ไปรู้มาได้ไง)
แล้วจึงใช้คีมคีบหินร้อนพวกนี้ไปหย่อนลงในน้ำ หลายก้อนเข้าน้ำซึ่งเย็นก็เริ่มเดือดปุดๆ จากนั้นจึงใส่อาหารลงไป แล้วก็ปิดฝาหลุมด้วยวัสดุที่เป็นฉนวน อาทิ หญ้า ใบไม้ หนังสัตว์ หรือดิน ถ้าอุณหภูมิของน้ำลดลง พนักงานที่ต้องการเร่งไฟก็จะใส่หินร้อนลงไปอีกและอีก ทำแบบนี้จนกระทั่งอาหารสุก ลองคิดดูสิว่า การจะล้อมวงกินสุกี้ของบรรพชนเรานับเป็นงานช้างขนาดไหน
ผมส่งยิ้มให้พนักงานในร้านด้วยความรู้สึกว่าตนเองช่างมีบุญที่ได้เกิดมาในยุคสมัยที่เราสามารถเร่งหรือหรี่ไฟได้ด้วยการใช้แค่ปลายนิ้ว
การต้มและหลุมหินทำให้มนุษย์สามารถกินสิ่งที่เคยกินไม่ได้มาก่อน พืชป่าหลายชนิดที่เคยถูกมองข้ามกลายร่างเป็นอาหารเมื่อมนุษย์ ‘ต้ม’ มันได้ ทันทีที่มีหม้อ มนุษย์ก็เริ่มเขมือบพืชพรรณธัญญาหารได้กว้างขวางกว่าเดิม
และแล้วก็มาถึงวันใดวันหนึ่งในประวัติศาสตร์ที่มนุษย์มือซนไปหยิบดินเหนียวขึ้นมาขยำไปมาจนค้นพบว่า “เฮ้ย! มันปั้นได้นี่หว่า” การปั้นที่เราทำกันเหมือนปอกกล้วยทุกวันนี้ แต่ก่อนไม่ได้ง่ายดายอย่างที่เป็น กว่าจะรู้ว่าดินแบบไหนใช้ปั้นได้ ต้องเหนียวแค่ไหน แฉะไปหรือเปล่า
แล้วกว่าจะรู้ว่าต้องเอาไปเผาไฟ กว่าจะรู้ว่าต้องไฟแรงขนาดไหนถึงเผาแล้วไม่แตกหรือไม่อ่อนจนเกินไป กว่าจะสร้างหม้อดินเผาใบแรกขึ้นมา มหาทวดของเราต้องตีหม้อแตกกันไปไม่รู้กี่ร้อยกี่พันใบ
เราไม่รู้ว่า วันหม้อแห่งชาติหรือวันหม้อสากลเกิดขึ้นในวันใดกันแน่ แต่แล้วจู่ๆ ราว 10,000 ปีก่อนคริสตกาล หม้อก็กลายเป็นของที่มีใช้กันทั่วไปในอเมริกาใต้ อเมริกาเหนือ รวมไปถึงดินแดนที่ปัจจุบันคือญี่ปุ่น ไม่นานนักก็มีใช้กันทั่วโลก แถบบ้านเราก็ยังมีหม้อบ้านเชียงเลย
เวลาเดินตามพิพิธภัณฑ์ทั้งหลาย เราจะพบเศษซากของหม้อในอารยธรรมต่างๆ มากมาย อันที่จริงจะยกมือไหว้ชิ้นส่วนหม้อเหล่านั้นก็ไม่น่าเกลียดแต่อย่างใด เพราะหม้อวันนั้นทำให้มีเราในวันนี้ เครื่องปั้นดินเผานานาชนิดที่ทวดของทวดของทวดของเราขยันปั้นกันขึ้นมาค่อยๆ เปลี่ยนชีวิตของสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าคน
พอมีหม้อ ก็มีกระทะ ถาด ไห ขวด ถ้วย กระบวย และอะไรต่อมิอะไรตามมา หมายความว่ามนุษย์เริ่มสร้างสรรค์รูปทรงต่างๆ สำหรับใช้งานที่เหมาะสมต่อกิจกรรมต่างๆ กันได้แล้ว ไม่ต้องใช้วิธีเดินไปเก็บนู่นนี่จากธรรมชาติมาใช้งานตามที่ทำมาตลอด
และก็เป็นหม้อดินนี่เองที่เปลี่ยนธัญพืชต่างๆ ให้กลายเป็นอาหารหลักของมนุษย์ ข้าวสาลี ข้าวโพด ข้าวสารถูกนำมากรอกใส่ในหม้อ ต้มได้ กินได้ มนุษย์ซึ่งเคยล่าสัตว์เก็บของป่าเป็นอาหารค่อยๆ กลายร่างมาเป็นเกษตรกรผู้เพาะปลูกพืชพรรณต่างๆ ไว้กินเอง ไม่ง้อไม่รอธรรมชาติอีกต่อไป
ถ้าไม่มีหม้อ เราอาจยังไม่ได้กินข้าว
เช่นนี้แล้ว จะบอกว่า ‘หม้อเปลี่ยนโลก’ ก็ไม่ผิดอะไรนัก
หากจะตีขลุมต่อไปอีกหน่อย หม้อนับเป็นสิ่งประดิษฐ์แรกๆ ของมนุษย์ที่ทำให้เผ่าพันธุ์ของเรากลายเป็นผู้จัดการโลกให้เป็นอย่างใจ ไม่ใช่ปรับใจให้เป็นไปตามโลก หรือปรับตัวตามโลกเพื่ออยู่รอดอย่างสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น เราเริ่มสร้างสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติขึ้นมารับใช้ตัวเอง ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมกับการกินอยู่ และนั่นคือจุดเริ่มต้นของการยึดครองโลกทีละน้อย ทีละน้อย
แน่นอนว่า ในแง่หนึ่งเราก็มีชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้นเรื่อยๆ แต่อีกแง่หนึ่งเราก็รุกรานเพื่อนบ้านร่วมโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน ระหว่างเคี้ยวปวยเล้งที่ผสมผสานกับผักบุ้งอยู่ในปาก ผมนึกถึงเรื่องราว ‘หลังหม้อ’ เหล่านี้ขึ้นมาแล้วอยากพนมมือขึ้นบูชาพระคุณของหม้อที่พาพวกเรามาถึงทุกวันนี้ แต่ก็กลัวพนักงานจะตกใจแล้วคิดว่าผมเห็นอะไรที่เขาไม่เห็น จึงได้แต่ก้มหัวแล้วไหว้หม้ออยู่ในใจ
พร้อมกันนั้นก็นึกภาพเพื่อนที่ชอบโมโหโกรธาเวลาถูกเรียกว่า “ไอ้หน้าหม้อ” อันที่จริงไม่จำเป็นต้องโกรธเลยแม้แต่น้อย ควรยืดอกรับด้วยความภาคภูมิใจด้วยซ้ำไป อาจหันไปบอกคนที่ใช้คำนั้นมาด่าได้ด้วยซ้ำว่า “ไม่มีหม้อ มึงไม่มีวันนี้นะเว้ย”
หม้อก็อาจจะเหมือนอีกหลายอย่างในโลก พอเราไม่สนข้างหลังของมันก็เลยไม่เห็นความสำคัญ
ผมตักข้าวในชามเข้าปาก ระหว่างนั้นก็เกิดสำนึกขึ้นฉับพลันว่า ใครกันล่ะที่หุงข้าวให้กินอยู่ทุกวันนี้
หม้อหุงข้าว!
ผู้สนใจอ่านเรื่องหม้อโดยละเอียดสามารถอ่านได้อีกใน ‘ประวัติศาสตร์ก้นครัว’ โดย บี วิลสัน แปลโดย พลอยแสง เอกญาติ สนพ.openworlds
Rainny L.(อิมกึมบี)🌦 ก็แค่วิวัฒนาการ กับการคิดเพ้อเจ้อเหลวไหล
18 ก.ย 2562 เวลา 01.48 น.
🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻
⁉️⁉️⁉️ประกาศครับ⁉️⁉️⁉️
👤รับสมัครคนช่วยงานตอบแชทลูกค้าผ่านเฟส/ไลน์
รายได้สัปดาห์ละ 4000-5000 บาท📱ทำผ่านมือถือได้📱
รับอายุ18 ปีขึ้นไป 🔸อยู่กรุงเทพปริมณฑลรับเป็นพิเศษ🔸
สนใจงานแอด📱LINE ID : @gmt9811n (ใส่@ด้วยครับ)
🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻🔺🔻
17 ก.ย 2562 เวลา 23.34 น.
ความคิดย่อมสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงในบางสิ่ง เพื่อให้เกิดเป็นประโยชน์กับในสิ่งที่จำเป็นและต้องการได้อยู่เสมอ.
17 ก.ย 2562 เวลา 13.56 น.
หม้อสำคัญก็จริง แต่คุยเรื่องอื่นดีกว่านะ
17 ก.ย 2562 เวลา 12.45 น.
Korn ดีมากครับ
17 ก.ย 2562 เวลา 11.34 น.
ดูทั้งหมด