ไลฟ์สไตล์

5 ภาพยนตร์พาท่องพิพิธภัณฑ์ ย่องเข้าห้องสมุด

The Momentum
อัพเดต 20 ก.ย 2562 เวลา 17.43 น. • เผยแพร่ 20 ก.ย 2562 เวลา 17.43 น. • สิรินารถ อินทะพันธ์

In focus

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • The Square(2017) ภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลันด์ ที่พยายามตั้งคำถามและเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยได้อย่างแสบสัน ใครที่เกรงว่าจะดูไม่เข้าใจอยากให้ลองเปิดใจดูก่อน แล้วความตลกร้ายนี้แหละจะสร้างความบันเทิงให้กับคุณ
  • American Animals (2018) เรื่องจริงเกี่ยวกับนักศึกษาที่ขโมยหนังสือล้ำค่าจากมหาวิทยาลัยทรานซิลเวเนีย การลงมือปล้นของพวกเขาไม่ได้เท่เหมือนใน Ocean's Twelveไม่โชคดีเหมือน Logan Luckyและไม่ฉลาดเหมือนNow You See Meแต่มันได้เปลี่ยนชีวิตพวกเขาอย่างสิ้นเชิง
  • The Public (2018) เรื่องเกิดในห้องสมุดสาธารณะซินซินนาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นห้องสมุดแล้วมันยังเป็นสถานที่หลบภัยของคนจรจัดด้วย พอถึงช่วงฤดูหนาวอันแสนโหดร้าย คนจรจัดบางคนก็เสียชีวิตลงเพราะอากาศหนาว ดังนั้น คนจรจัดซึ่งนำโดยแจ็คสันจึงตัดสินใจที่จะไม่ออกจากห้องสมุด

 

เมื่อพูดถึงสถานที่สงบๆ คุณจะนึกถึงที่ไหนเป็นอันดับแรกๆ? เชื่อแน่ว่าหนึ่งในนั้นจะต้องมีพิพิธภัณฑ์หรือห้องสมุด สถานที่ซึ่งรวบรวมผลงานและประวัติศาสตร์ของยุคสมัยเอาไว้ เปรียบเสมือนแหล่งโอเอซิสทางปัญญา ซึ่งบรรจุหลากกาลเวลาไว้ในที่เดียว รอให้เราไปค้นพบหรือค้นคว้า โดยที่ไม่ปล่อยให้ทุกอย่างสูญเปล่าอยู่ตรงนั้น

สำหรับสัปดาห์นี้เราขอชวนเพลิดเพลินไปกับภาพยนตร์ 3 พิพิธภัณฑ์ 2 ห้องสมุด ตั้งแต่เรื่องราวสนุกๆ อย่างโดราเอมอน ไปจนถึงเรื่องราวเข้มๆ อย่างการปิดปรับปรุงพิพิธภัณฑ์นานสิบปี เมื่อชมจบแล้วบางทีเราอาจคว้ากระเป๋าออกไปหาสถานที่สงบๆ เหล่านี้บ้างก็ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Doraemon: Nobita’s Secret Gadget Museum (2013)

โนบิตะล่าโจรปริศนาในพิพิธภัณฑ์ของวิเศษ เป็นภาพยนตร์โดราเอมอนลำดับที่ 33 ซึ่งมียอดผู้เข้าชมกว่า 1.56 ล้านคนภายใน 2 สัปดาห์ และทำรายได้สูงสุดเป็นอันดับที่ 5 ของปีในประเทศญี่ปุ่น รวมถึงเป็นภาพยนตร์ภาคต่อที่มีผู้ชมมากที่สุดในประเทศ ยอดจำหน่ายตั๋วรวมกันเป็นจำนวน 100 ล้านใบ นับตั้งแต่เปิดตัวภาคแรกในปี 1980

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความอลหม่านในภาคนี้มีจุดเริ่มต้นในวันสงบๆ วันหนึ่ง โดราเอมอนกำลังนอนกลางวันเพื่อพักผ่อน แต่พอรู้สึกตัวอีกทีกระดิ่งห้อยคอของเขาก็ถูกขโมยไปแล้ว ซึ่งมันส่งผลให้โดราเอมอนกลายเป็นหุ่นยนต์ที่ทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพอย่างแต่ก่อน โนบิตะจึงเสนอตัวเป็นนักสืบโดยขอยืมอุปกรณ์จากกระเป๋าวิเศษเช่นเคย

ปฏิบัติการยอดนักสืบจึงถือกำเนิด ซึ่งประกอบไปด้วยเหล่าผองเพื่อนเจ้าประจำ พวกเขาสืบเสาะไปจนถึงเบาะแสสำคัญ และเดินทางไปสู่โลกอนาคตอันเป็นที่ซ่อนของกระดิ่งห้อยคอ แล้วทั้งหมดก็มาอยู่ที่พิพิธภัณฑ์ของวิเศษ ซึ่งเป็นสถานที่รวบรวมของวิเศษตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และที่นี่ก็เป็นหนึ่งในจุดหมายตาของจอมโจรเดอลุกซ์เช่นกัน แก๊งโนบิตะจึงร่วมมือกับเคิร์ต เด็กหนุ่มนักประดิษฐ์และสารวัตรมัสตาร์ด เพื่อหยุดยั้งอาชญากรรมครั้งนี้ รวมถึงทวงคืนกระดิ่งที่ขอโมยไป ซึ่งหากไม่ทันการณ์โดราเอมอนก็จะมีอาการทรุดลงเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นจะมัวชักช้าอยู่ไม่ได้แม้แต่วินาทีเดียว!

The New Rijksmuseum – The Film (2014)

พิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ หรือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติแห่งอัมสเตอร์ดัมมีอายุมายาวนานกว่า 200 ปี โดยแรกเริ่มนั้นก่อตั้งขึ้นในกรุงเฮก แล้วจึงย้ายมาเปิดที่กรุงอัมสเตอร์ดัมในปี 1808 ซึ่งเปิดให้เข้าชมเมื่อปี 1885 ที่นี่นับเป็นพื้นที่จัดเก็บและจัดแสดงผลงานชิ้นสำคัญๆ มากมาย ผลงานบางส่วนถูกคัดสรรมาจัดแสดงเพียง 8,000 ชิ้น จากทั้งหมดราวหนึ่งล้านชิ้น

สารคดีเรื่องนี้ไม่ได้จะพาเราเดินชมผลงานอันควรค่าเพียงอย่างเดียว แต่ยังเล่าถึงช่วงเวลาของการปิดปรับปรุงครั้งใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ไรจ์คส์ ซึ่งตามแผนการบูรณะครั้งนี้จะใช้ระยะเวลา 5 ปี แต่กลับยืดเยื้อไปอีกเท่าตัว กว่าพิพิธภัณฑ์จะเปิดขึ้นอีกครั้งก็ในปี 2013 และใช้งบไปมากเกือบ 400 ล้านยูโร

เบื้องหลังของการทำงานครั้งนี้ไม่ราบรื่นอย่างแผนที่วางเอาไว้ ปัญหาค่อยๆ งอกออกมาทีละน้อย เริ่มตั้งแต่การเงิน การแย่งชิงตำแหน่ง การแก้แบบ การประมูลงานศิลปะ ไปจนถึงการประท้วงของกลุ่มคน เช่น ผู้ใช้จักรยานและคนพิการซึ่งนำไปสู่การต้องวางแผนใหม่ในการปรับปรุง แต่นอกเหนือไปจากการจัดการปัญหาเหล่านี้ เราก็จะได้เพลิดเพลินไปกับงานศิลปะทั้งหลาย ได้เห็นถึงขั้นตอนในการบูรณะภาพสำคัญๆ สีสันที่ค่อยๆ เผยตัวให้เห็นจากคราบความเก่า และผลลัพธ์ที่ได้มาก็ช่างคุ้มค่ากับเรี่ยวแรงที่สูญเสียไป ไม่ต่างจากการปรับปรุงของพิพิธภัณฑ์ ที่ถึงแม้ระหว่างทางมันจะเกิดปัญหาวายป่วงไปบ้าง แต่ท้ายที่สุดสิ่งที่ได้รับกลับมาก็คู่ควรแก่การรอคอย ทุกคนต่างปลาบปลื้มกับความสำเร็จ เปรียบเสมือนความภาคภูมิใจของชาติ และอีกหนึ่งอย่างที่การันตีความสำเร็จนี้ก็คือสถิติผู้เยี่ยมชมที่มากขึ้นถึง 2.47 ล้านคนในปี 2014

The Square (2017)

ภาพยนตร์ของผู้กำกับชาวสวีเดน รูเบน ออสต์ลันด์ ที่พยายามตั้งคำถามและเสียดสีวงการศิลปะร่วมสมัยได้อย่างแสบสัน ใครที่ได้ดูคงจะต้องมีความรู้สึกแสบๆ คันๆ กันบ้าง รวมถึงมวลความอึดอัดบางอย่างที่จะเข้ามากระแทกซ้ำ

แรงบันดาลใจที่ถูกหยิบมาใส่ในภาพยนตร์มีที่มาจากหลากหลายผลงาน อาทิ งานของโรเบิร์ต สมิธสัน ศิลปินแลนด์อาร์ต, งานของเทรซี เอมิน ศิลปินร่วมสมัยชาวอังกฤษ, งานของโอเล็ก คูลิค ศิลปินชาวรัสเซีย 

The Squareเป็นเรื่องราวที่ว่าด้วยพิพิธภัณฑ์ศิลปะร่วมสมัยแห่งหนึ่ง โดยมีตัวละครสำคัญคือ คริสเตียน ภัณฑารักษ์หนุ่มใหญ่ที่กำลังประสบกับความวุ่นวาย ทั้งในแง่ชีวิตและการงาน เหตุการณ์รายล้อมที่เกิดขึ้นกับตัวคริสเตียนจะล้อไปกับแนวคิดของงานศิลปะ เมื่อดูไปมันจะเกิดคำถามตามรายทางเสมอๆ ในขณะเดียวกันก็เห็นด้านที่ไม่ค่อยงดงามนักของธุรกิจในวงการศิลปะ รวมถึงความเหลื่อมล้ำของสังคมที่ใส่มาอย่างไม่ปิดบัง

เรื่องมันยิ่งชวนหัวมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่การทำกระเป๋าตังค์หายของคริสเตียน การที่เขาหลับนอนกับนักข่าวสาว การประชาสัมพันธ์งานศิลปะชิ้นใหม่ที่ออกมาพังพินาศ และไฮไลท์ที่โจษจั่นในงานเลี้ยงอาหาร การแสดงเพอร์ฟอร์แมนซ์อาร์ตของศิลปินที่สวมบทบาทลิง ซึ่งคุกคามทั้งแขกผู้เกียรติและผู้ชมอย่างเราๆ

สิ่งที่ภาพยนตร์กำลังจะบอกไม่ได้จำกัดอยู่แค่วงการศิลปะ แต่เป็นอะไรที่ง่ายและเข้าถึงคนได้มากกว่านั้น เช่น อิสรภาพทางการสื่อสาร ศีลธรรมของมนุษย์ การตีกรอบและให้ค่า รวมถึงความเท่าเทียม ใครที่เกรงว่าจะดูไม่เข้าใจอยากให้ลองเปิดใจดูก่อน แล้วความตลกร้ายนี้แหละจะสร้างความบันเทิงให้กับคุณ

American Animals (2018)

ผลงานการกำกับภาพยนตร์เรื่องแรกของบาร์ต เลย์ตัน ที่ก่อนหน้านี้เคยชิมลางมาจากการกำกับสารคดี ภาพยนตร์เรื่องนี้เขาหยิบเหตุการณ์จริงมาเล่า (ไม่ใช่แค่เค้าโครงมาจากเรื่องจริง แต่ทั้งหมดนี้คือเรื่องจริง!) ดังนั้น มันจึงมีกลิ่นความเป็นสารคดีนิดๆ สอดแทรกเข้ามาด้วยในตอนที่สัมภาษณ์บุคคลต้นเรื่อง

นี่เป็นเรื่องจริงเกี่ยวกับนักศึกษาที่ขโมยหนังสือล้ำค่าจากมหาวิทยาลัยทรานซิลเวเนียซึ่งตั้งอยู่ในเมืองเล็กซิงตัน รัฐเคนทักกี แม้ว่าจะถ่ายทำในนอร์ทแคโรไลนา และในระหว่างการถ่ายทำนักแสดงจะไม่ได้รับอนุญาตให้พบกับบุคคลที่เขาสวมบทบาทอยู่เลย เพราะผู้กำกับเกรงว่านั่นอาจจะไม่ใช่ผลดีเท่าไร

การลงมือปล้นของพวกเขาไม่ได้เท่เหมือนใน Ocean’s Twelveไม่โชคดีเหมือน Logan Luckyและไม่ฉลาดเหมือนNow You See Meแต่ทั้งสี่คนก็คิดว่าตัวเองน่าจะมีฝีมือมากพอกับปฎิบัติการครั้งนี้ สิ่งที่พวกเขาหมายตาคือหนังสือหายากมูลค่า 12 ล้านเหรียญซึ่งถ้าปล่อยขายแล้วก็จะนำเงินมาแบ่งกัน แผนการถูกวางขึ้นโดยศึกษาจากภาพยนตร์อื่นๆ มีการวางหมากอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร และก่อนลงมือก็สำรวจห้องสมุดไว้ด้วยว่ามีพนักงานกี่คน แต่ละคนทำหน้าที่อะไร แปลนห้องสมุดมีทางหนีทีไล่ตรงไหนบ้าง

เมื่อมาถึงวันปล้น แผนที่วางไว้ก็พังไม่เป็นท่า ทั้งจากความลนลานและสิ่งไม่คาดคิด แต่อย่างน้อยๆ หนังสือเล่มนั้นก็มาอยู่ในมือพวกเขาจริงๆ เราอาจเรียกว่ามันประสบความสำเร็จได้ หากมองในแง่ของผลลัพธ์ แต่ผลกระทบจากความรู้เท่าไม่ถึงการณ์นี้ก็สั่งสอนพวกเขาหนักพอดู อนาคตที่เคยมีดับวูบ สูญเสียช่วงเวลาสำคัญในชีวิต แทนที่จะก้าวไปทางที่ดีกลับก้าวไปในทางที่พลาด บทเรียนครั้งนี้ราคาแพงจริงๆ

The Public (2018)

เอมิลิโอ เอสเตเวซ ชายที่เข้ามาโลดแล่นในวงการภาพยนตร์ด้วยบทบาทนักแสดงในทีแรก ก่อนที่จะขยับมาเป็นนักเขียนบทและผู้กำกับ เขาเป็นที่รู้จักดีในฐานะสมาชิกของ Brat Pack (กลุ่มนักแสดงรุ่นใหม่ที่ปรากฎตัวในภาพยนตร์วัยรุ่นยุค 80s) ซึ่งเอมิลิโอมีผลงานหลากหลายเรื่องในช่วงเวลานั้น อาทิ The Outsiders (1983), The Breakfast Club(1985) และ St. Elmo’s Fire(1985)

สำหรับแรงบันดาลใจของภาพยนตร์เรื่องนี้ เอมิลิโอ อ้างถึงบทความของ Chip Ward ในปี 2007 หัวข้อ “What They Didn’t Teach Us in Library School: The Public Library as an Asylum for the Homeless”   ซึ่งพูดถึงห้องสมุดสาธารณะในฐานะที่ลี้ภัยสำหรับคนจรจัด

ห้องสมุดสาธารณะเป็นสถานที่ที่ใครก็สามารถไปใช้บริการได้แล้ว ทั้งยังมีสิ่งอำนายความสะดวกที่สามารถเข้าถึงได้มากมาย ไม่ว่าจะเป็นอินเทอร์เน็ต คอมพิวเตอร์ หรือห้องน้ำ จุดสำคัญคือมันทั้งสงบและปลอดภัย เมื่อเข้าไปก็ไม่ต้องกังวลว่าจะมีใครมาไล่หากยังไม่ถึงเวลาปิดบริการ

สจวร์ต กู๊ดสัน ทำงานเป็นบรรณารักษ์ในห้องสมุดสาธารณะซินซินนาติ ซึ่งนอกจากจะเป็นห้องสมุดแล้วมันยังเป็นสถานที่หลบภัยของคนจรจัดด้วย พวกเขามักรออยู่ข้างนอกทุกเช้า เมื่อถึงเวลาเปิดก็รีบเข้ามาและใช้เวลาอยู่ที่นี่ทั้งวัน แล้วพอถึงช่วงฤดูหนาวอันแสนโหดร้าย คนจรจัดบางคนก็เสียชีวิตลงเพราะอากาศหนาว ดังนั้น คนจรจัดซึ่งนำโดยแจ็คสันจึงตัดสินใจที่จะไม่ออกจากห้องสมุดซึ่งกู๊ดสันก็ยอมรับอย่างไม่มีทางเลือก แต่แน่นอนว่ามันนำไปสู่ความขัดแย้งอย่างรวดเร็ว ระหว่างกลุ่มคนจรจัดกับตำรวจและนักการเมือง แล้วเหตุการณ์ก็ค่อยๆ บานปลายขึ้นทุกขณะ จนเกิดการจลาจลและการต่อสู้ทางกฎหมายระหว่างคนสองกลุ่ม

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • 📣 ขออนุญาตฝากประกาศ ต้องการรับคนเพิ่ม!! (รับอายุ 18-60 ปี) **อยู่กรุงเทพและปริมณฑลรับพิจารณาเป็นพิเศษ** ช่วยคอนเฟิร์มออเดอร์สินค้าให้ลูกค้า (ทำเวลาไหนก็ได้ หลังเรียน หลังเลิกงาน) 💰รายได้สัปดาห์ละ 2000-6000 บาท💰 สนใจงานติดต่อโดยตรงที่👇🏻 👤Line ID: @gmt9811n (พิม @ ด้วย) (เจ้าหน้าที่จะติดต่อกลับไปให้รายละเอียดงานตามคิว)
    20 ก.ย 2562 เวลา 19.06 น.
ดูทั้งหมด