ไลฟ์สไตล์

"ขุนพันธ์" มือปราบ 7 ย่านน้ำในตำนาน เล่าเรื่องจับโจรแบบกัดมา ต้องกัดตอบ

ศิลปวัฒนธรรม
อัพเดต 20 ก.พ. 2566 เวลา 07.56 น. • เผยแพร่ 17 ก.พ. 2566 เวลา 17.18 น.
พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช

พลตำรวจตรี ขุนพันธรักษ์ราชเดช ชื่อเดิม บุตร พันธรักษ์ (18 กุมภาพันธ์ 2446 – 5 กรกฎาคม 2549) อดีตผู้บังคับการตำรวจภูธรเขต 8 นับเป็นมือปราบระดับพระกาฬในตำนาน บ้านเดิมอยู่บ้านอ้ายเขียว ท่าศาลา จังหวัดนครศรีธรรมราช มีประวัติการปราบ “เสือ” อย่างโชกโชน นับแต่จบหลักสูตรนายร้อยในปี พ.ศ.2472

ประวัติการทำงานของท่านที่ปรากฏเป็นข้อมูล คือ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พ.ศ. 2474 ตําแหน่งผู้บังคับหมวดกองเมืองพัทลุง ปราบเสือสังหรือเสือพุ่ม เสือร้ายแหกคุกมาจากเมืองตรัง ในปีถัดมาสําเร็จโทษเสือร้ายในพื้นที่อีก 16 คน

พ.ศ. 2479 ลงไปปราบ “อะแวสะดอตาเละ” โจรร้ายนราธิวาส และเสือสาย เสื้อเอิบ ที่พัทลุง

พ.ศ. 2486 ย้ายขึ้นพิจิตรปราบเสือโน้ม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พ.ศ. 2489 ย้ายลงมาเป็นผู้กํากับการตํารวจภูธรชัยนาท พร้อมทั้งได้รับการแต่งตั้งเป็นรองผู้อํานวยการกองปราบพิเศษของกรมตํารวจ ลุยปราบชุมโจรสุพรรณ อาทิ เสือฝ้าย เสือผ่อน เสือครึ้ม เสือปลั่ง เสือใบ เสืออ้วน เสือไหว เสือมเหศวร รวมถึงเสือไกรและเสือวันแห่งชุมโจรอําเภอพรานกระต่าย กระทั่งได้รับ ฉายาจากชุมเชื่อว่า “ขุนพันดาบแดง”

พ.ศ. 2491 ย้ายลงพัทลุงเพื่อกําราบชุมโจรเกิดใหม่ กระทั่งได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้บังคับการตํารวจภูธรเขต 8 ก่อนเกษียณ

ขุนพันธรักษ์ราชเดช นอกจากจะเป็นมือปราบแล้ว ยังเป็นนักประวัติศาสตร์ที่นอกจากจะสนใจเรื่องคติชนวิทยาแล้วยังให้ความสนใจเรื่องไสยศาสตร์เป็นพิเศษ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ฉายาดาบแดงนี้ก็มาจากดาบสองเล่ม ถุงแดง สายก็แดง ใช้ดาบแดงขู่โจรได้หมด

“กูมีดาบกูจะฟันหัวมึงแต่ไม่เคยฟัน…

ดาบเล่มหนึ่งได้จากทหารเป็นนายพัน ตอนไปเรียนดาบกับครูโป๋วกับครูริ้ว เป็นครูที่พุทไธสวรรค์ แต่ไปพบครูที่พิจิตร หวายที่มัดฝักดาบเป็นของเมียผู้จัดการเดินเรือซึ่งเป็นหลานของจอมสว่างเจ้าจอมในรัชกาลที่ 5 แต่รัชกาลที่ 6 ทําหวายนี้แจก เข้าพิธีในวัง อีกเล่มได้มาจากเสือพลอย ที่บ้านท่าระบาด สรรคบุรี เป็นดาบที่มียันต์พันด้วยหว้าตะคร้า ตอนที่เดินทางไปปราบไอ้ฝ้ายไปพักที่วัดมะขามเฒ่า ก็ให้อาจารย์ยังลงดาบให้ ลงอาคมที่กั่น”

ขุนพันธ์เล่าเรื่องจับโจรตอนหนึ่งที่ประทับใจว่า

“สนุกตอนไปจับโจรที่ห้วยกรวด มีนักเลงเก่าเป็นเพื่อนกับไอ้สังนำทาง แกบอกว่าเป็นนายร้อยเคยจับอะไรได้บ้าง อย่างนี้ต้องไปตามสิบตรีคลุ้ยเป็นหลานแกที่ควนขนุน แกว่าไอ้คลุ้ยมันแข็งแรงสู้ตัวต่อตัวได้ มันวิ่งเก่งขนาดไล่จับหมากลางทุ่งแกดูถูกมาไม่รู้ว่าเราแน่ ตัวเล็กก็จริงแต่จะจับให้ดู

ราวสามทุ่มกว่าก็ออกจากบ้านจะไปห้วยกรวด ไอ้เราไม่เคยไปกลัวเกิดเรื่องวิ่งหนีแล้วหลงทางได้ ตอนนั้นป่ามีเสือช้างต้องระวัง บอกพรรคพวกสัญญากันอย่าทิ้งกัน เดินตั้งสามทุ่มไปถึงบ้านห้วยกรวดตีห้า

ทีนี้ไล่ยิงกันจนลูกปืนหมด จะถอยหลัง แต่นึกขึ้นมาได้ ตอนเรียนนายร้อยเป็นครูมวย มันฟาดปืนมาปัดทีเดียวปืนก็หลุด ต่อยสวนตรงคางลงเลย เราเอาเข่าทับคร่อมมัน มันสู้กัดเราตรงหัวไหล่ ก็เอาบ้างซิ กัดมันบ้าง ฟันคมกว่าเลือดเต็มปากเลย กัดปล้ำกันไม่ปล่อย ทีนี้มันมีมีดชักมาจะแทง มือหนึ่งก็จับแขนมัน อีกมือควักตามันก็ไม่ปล่อยมีด เลยเอาตีนสอดใต้โสร่งหนีบของมันกดกับดิน แพ้เรา พอพวกตามมาเอาท้ายปืนตีหน้าผากมันสลบ นอนหมดแรงนะตอนนั้นลุกไม่ไหวพอหายเหนื่อยเหม็นขี้ ไม่รู้ขี้ใคร เปื้อนเต็มตัว คงหนีบจนขี้แตก”

อ่านเพิ่มเติม :

สำหรับผู้ชื่นชอบประวัติศาสตร์ ศิลปะ และวัฒนธรรม แง่มุมต่าง ๆ ทั้งอดีตและร่วมสมัย พลาดไม่ได้กับสิทธิพิเศษ เมื่อสมัครสมาชิกนิตยสารศิลปวัฒนธรรม12 ฉบับ (1 ปี) ส่งความรู้ถึงบ้านแล้ววันนี้!!สมัครสมาชิกคลิกที่นี่

หมายเหตุ : คัดเนื้อหาส่วนหนึ่งจากบทความ “พลตำรวจตรีขุนพันธรักษ์ราชเดช ขุนพันดาบแดง มือปราบ 7 ย่านน้ำ” ในศิลปวัฒนธรรม ฉบับพฤษภาคม 2540

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรกเมื่อ 24 สิงหาคม 2561

ดูข่าวต้นฉบับ