ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อภัยภูเบศร สกัดสารจากกัญชา ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ได้เอง

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 27 มิ.ย. 2562 เวลา 06.26 น. • เผยแพร่ 27 มิ.ย. 2562 เวลา 04.49 น.

อีกไม่นาน “กัญชา” กำลังจะกลับมาเป็นฮีโร่ให้กับวงการแพทย์แผนไทย ทั้งที่ กัญชาก็เป็นสมุนไพรชนิดหนึ่งที่ใช้ในครัวเรือนเป็นปกติในอดีตมาตลอด ไม่ได้มีบทบาทอะไรเด่นชัด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ปัจจุบัน กัญชา จึงเป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนควรทำความเข้าใจถึงการใช้ประโยชน์ให้ถ่องแท้

ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อธิบายถึงเส้นทางการใช้ประโยชน์กัญชา ในมุมของเภสัชกรที่คร่ำหวอดในวงการสมุนไพรไทย ว่า สมัยโบราณกัญชาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของชุมชน ถูกนำไปใช้ในครัวเรือนเป็นเรื่องปกติ นำส่วนต่างๆ ของกัญชา เช่น ใบ ดอก ราก เป็นส่วนประกอบในการปรุงอาหาร เพิ่มรสชาติ ปรับสมดุลในร่างกาย ทำให้เจริญอาหาร เรียกเป็นชื่อยาหมูพี แทนชื่อกัญชา ในภาคเหนือ และเรียกยาหมูอ้วน แทนชื่อกัญชา ในภาคกลาง แสดงให้เห็นว่ามีผลต่อผู้บริโภคทำให้อ้วนแบบแข็งแรง หรือ ไม่ป่วยง่าย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“กัญชาเป็นส่วนหนึ่งในวิถีของชุมชน แต่คนในอดีตจะทราบว่า ใช้มากน้อยแค่ไหน ถึงจะเกิดคุณเกิดโทษ ในตำรับยาพื้นบ้านก็มีส่วนประกอบของกัญชา แม้แต่ตำรับยาไทยก็มีชื่อปรากฎในตำรับยา ซึ่งมีการจารึกในแพทย์แผนไทย เมื่อนำไปใช้ในสัตว์ก็สามารถรักษาสัตว์ที่ป่วยด้วยโรคอหิวาต์ ด้วยการต้มหรือนำน้ำกัญหาให้กิน ในคนก็เป็นยาพื้นบ้าน ช่วยให้นอนหลับ แก้ปวดฟัน โรคผิวหนัง ลดความดัน แก้ปวดหัว กองลม เวียนหัว ได้ทั้งหมด แต่ถึงอย่างไรเราก็ต้องทำความรู้จักกัญชาให้มากกว่า ที่จะนำมาสกัดให้ได้ น้ำมันกัญชา”

ในส่วนของโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้หยิบเอาเฉพาะสรรพคุณที่มีประโยชน์ของกัญชา นำมาเพื่อการรักษา โดยเบื้องต้นทางอภัยภูเบศร จะพัฒนาโรงเรือนเป็นโรงเรือนเพื่อการเรียนรู้การปลูกกัญชา โดยทดลองปลูกในตู้คอนเทนเนอร์ จำนวน 16 ต้นต่อตู้คอนเทนเนอร์ เป็นการปลูกเพื่อคำนวนต้นทุนการปลูก และปลูกโดยปลอดสาร เพื่อให้กัญชาที่ได้มีประสิทธิภาพและปลอดภัย สำหรับนำไปพัฒนาเรื่องการแพทย์ และประชาชนได้ประโยชน์จากสารสกัดกัญชา และมีระบบการควบคุมไม่ให้เล็ดรอดออกไปใช้ในรูปแบบของยาเสพติด และจำนวน 16 ต้นในตู้คอนเทนเนอร์ สามารถนำมาสกัดเป็นน้ำมันกัญชาได้มากถึง 900 ขวด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

“อภัยภูเบศร จะเป็นต้นแบบการปลูกกัญชาแบบรากลอยเพื่อทำต้น และรากจมเพื่อทำดอก รวมถึงระบบกรีนเฮาส์ที่เกษตรกรสามารถนำไปปลูกเองได้ด้วย”

กัญชาที่ถูกยึดเป็นของกลาง จากสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) ทั้งหมด 22 ตัน ถูกส่งมอบให้กับอภัยภูเบศร เพื่อใช้ในการผลิตสารสกัดนำไปใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ ซึ่งในจำนวนนี้ ยังพบสารปนเปื้อนที่จำเป็นต้องสกัดออก ก่อนจะนำไปผลิตเป็นยานำกลับมาใช้ ซึ่งใช้ระยะเวลา 6-7 เดือน หลังจากนี้

ภก.ดร.สุภาภรณ์ อธิบายบทบาทของกัญชาในมุมของสมุนไพร ว่า เป็นตัวแทนของสมุนไพรที่จะช่วยยกระดับการเกษตรสมัยใหม่ เป็นการยกระดับความรู้ของเกษตรกรให้ทราบถึงธรรมชาติของพืช การกินอาหารของพืช การนำอาหารไปใช้ของพืช ดังนั้นการที่เกษตรกรจะอยู่ในโลกนี้ได้ ต้องรู้จักยกระดับตนเอง และกัญชาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้เกษตรกรพัฒนาตนเอง ยกระดับศักยภาพ สร้างจากสมุนไพรที่ปลูกเอง ลดต้นทุนได้ แต่มีระบบการจัดการที่ดี มีวิทยาศาสตร์รองรับ

รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวสรุปสถานการณ์การผลิตน้ำมันกัญชา เพื่อใช้เป็นยาในโรงพยาบาลว่า ขณะนี้มีกัญชาที่ได้รับมาจากป.ป.ส. มีสารทีซีบีเด่น ซึ่งสามารถใช้รักษาผู้ป่วยมะเร็งระยะที่ 4 และโรคปลายประสาทที่ไม่ตอบสนองการรักษา โดยคาดว่าอีก 2 เดือนจะสามารถสกัดออกมาได้ จึงเป็นเรื่องน่ายินดีที่โรงพยาบาลจะส่งต่อองค์ความรู้ออกมาในรูปของยา เพื่อใช้ในทางการแพทย์ต่อไป

ภก.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวว่า แม้ปัจจุบัน กัญชาจะอยู่ในความสนใจของประชาชน และนำไปใช้ในทางการแพทย์พื้นบ้านอยู่บ้าน แต่ก็ยังถือว่าผิดกฎหมาย เพราะเป็นยาเสพติด ประเภท 5 ดังนั้น โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร จะเน้นย้ำและชี้ให้เห็นถึงประโยชน์ของกัญชาและการพัฒนาทางการแพทย์แผนไทยที่ชัดเจน ภายใต้กรอบของกฎหมาย ภายในงาน “เฮลท์แคร์ เรียนรู้ สู้โรค 2019” ที่อิมแพค เมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 27-30 มิถุนายนนี้

ทั้งนี้ ภายในงาน “เฮลท์แคร์ เรียนรู้ สู้โรค 2019” ที่อิมแพค เมืองทองธานี จะเป็นเวทีการพูดคุยครั้งแรกของ ภก.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร รองผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์แผนไทยและสมุนไพร โรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร บนเวทีใหญ่ระดับประเทศ ภายนอกโรงพยาบาล ทั้งยังมีทีมแพทย์แผนปัจจุบันพร้อมให้ความรู้เรื่องยาจากน้ำมันกัญชาอีกด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ