สุขภาพ

แพทย์ผิวหนัง ชี้ โรคตุ่มน้ำพองใส ‘วินัย ไกรบุตร’ ไม่ใช่โรคติดต่อ

TODAY
อัพเดต 26 มิ.ย. 2562 เวลา 11.34 น. • เผยแพร่ 26 มิ.ย. 2562 เวลา 11.34 น. • Workpoint News

สถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ชี้โรคเพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) หรือ โรคตุ่มน้ำพองใส ไม่ใช่โรคติดต่อ สามารถสัมผัสและอยู่ใกล้ชิดผู้ป่วยได้ตามปกติิ แนะ ผู้ป่วยให้มาพบแพทย์สม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้อาการดีขึ้นเร็ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ เปิดเผยว่า จากกรณีการเสนอข่าว นักแสดงชื่อดัง เมฆ วินัย ไกรบุตร ป่วยเป็นโรคผิวหนังชนิดหนึ่ง มีอาการแสบ ร้อน คันไปทั่ว ตุ่มขึ้นทุกที่ทั่วร่างกาย แม้กระทั่งในปาก ทำให้ทานอะไรแทบไม่ได้ จากข้อมูลดังกล่าว พบว่า มีอาการของโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองคือ เพมฟิกอยด์ (Bullous pemphigoid) เป็นโรคในกลุ่มตุ่มน้ำพองทางผิวหนังที่พบบ่อยและมีอาการคล้ายคลึงกับโรคเพมฟิกัส ที่เกิดจากความผิดปกติในการทำงานของระบบภูมิคุ้มกัน ทำให้เกิดการทำลายโปรตีนที่ยึดผิวหนังในชั้นหนังกำพร้าและหนังแท้ไว้ด้วยกัน  ผิวหนังจึงแยกตัวจากกันโดยง่าย เกิดเป็นตุ่มพองตามร่างกาย

พญ.มิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้ ที่ต่างจากเพมฟิกัส คือ 1.ตุ่มพองจะเต่งตึงแตกได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวของผิวอยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส 2.มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก 3.พบโรคนี้ได้บ่อยในคนสูงอายุ  ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการและการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม

สำหรับยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาทาสเตียรอยด์ จะใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ กรณีที่ตุ่มน้ำกระจายทั่ว  ร่างกาย การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือร่วมกับยากดภูมิต้านทาน จะช่วยควบคุมโรคได้ โดยหากเปรียบเทียบกับโรคเพมฟิกัสแล้ว  โรคเพมฟิกอยด์จะใช้ยากดภูมิในขนาดที่น้อยกว่า และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพมฟิกัส ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นๆ หายๆ ในระยะเวลา 2-3 ปี และสามารถหายเป็นปกติได้ และในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ดี มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากดภูมิต้านทานชนิดรับประทา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยมีคำแนะนำในการปฏิบัติตัวเมื่อเป็นโรค ดังนี้

  • ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน
  • ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • ผู้ป่วยที่มีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ
  • ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัด เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด
  • เลี่ยงความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ

ทั้งนี้ ผู้ป่วยต้องมารักษาต่อเนื่อง มาตามแพทย์นัดอย่างสม่ำเสมอ ทานยาต่อเนื่อง อย่าลดหรือเพิ่มยาเอง  ดูแลแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้ผู้ป่วยสามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

(ขอบคุณภาพจาก Facebook วินัย ไกรบุตร)

 

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • CrowZ
    ผมก็เป็นนะ แต่น่าจะเพราะเบาหวาน มันขึ้นฝ่าเท้า พอน้ำตาล ลงสู้ระดับปกติ หาย เองหมดเลย หายไวๆคับ
    27 มิ.ย. 2562 เวลา 04.19 น.
ดูทั้งหมด