ไลฟ์สไตล์

ตั้งเป้าที่ ‘วาว!’ เสมอ - วินทร์ เลียววาริณ

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 28 มิ.ย. 2563 เวลา 17.22 น. • วินทร์ เลียววาริณ

ไม่กี่วันก่อน มีข่าวนักออกแบบกราฟิกชาวอเมริกันคนหนึ่งเสียชีวิต เขาชื่อ มิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) คนส่วนมากคงไม่เคยได้ยินชื่อเขา แต่ต้องเคยเห็นผลงานของเขาแน่

ชาวโลกคุ้นเคยกับงานออกแบบ ‘I heart New York’(I Love New York) เป็นตัวหนังสือธรรมดา ‘heart’ เป็นกราฟิกรูปหัวใจสีแดง มันเป็นงานออกแบบที่ถูกดัดแปลงมากที่สุดชิ้นหนึ่งในประวัติศาสตร์ เรามี ‘I heart Bangkok’ ‘I heart London’ และสารพัด ‘I heart’ นับไม่ถ้วน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผลงานชิ้นนี้เป็นของปรมาจารย์นักออกแบบกราฟิกนาม มิลตัน เกลเซอร์ (Milton Glaser) ผู้เพิ่งล่วงลับ

เกลเซอร์เกิดที่ย่านเดอะ บรองซ์ นิวยอร์กซิตี ในปี 1929 หลงรักงานออกแบบตั้งแต่เด็ก เขาเรียนศิลปะที่ Cooper Union ในแมนฮัตตัน ต่อมาก็ไปเรียนต่อด้านจิตรกรรมที่อิตาลี เมื่อกลับมาจากอิตาลี ก็ก่อตั้งสำนักออกแบบพร้อมกับเพื่อนเรียนหลายคน ในปี 1954 ชื่อ Push Pin Studios

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

พวกเขาตั้งใจทำงานสร้างสรรค์งานด้านพาณิชย์ศิลป์ โดยใช้ภาษาภาพที่ไร้ข้อจำกัด พวกเขาปฏิเสธงานออกแบบตามขนบ ปรัชญาการทำงานของสตูดิโอนี้เปลี่ยนทัศนคติเดิมของการออกแบบกราฟิก และขยายขอบเขตออกไปเลยเส้นขอบฟ้า

ผลงานของเกลเซอร์ในสำนักนี้ซึ่งเป็นที่จดจำได้มากที่สุดน่าจะคืองานโปสเตอร์ให้ บ็อบ ดิแลน ในงานอัลบั้ม Greatest Hits ในปี 1966 เป็นงานออกแบบโปสเตอร์ชิ้นแรก ๆ ในชีวิตของเขา

ภาพนั้นเป็นงานกราฟิกใบหน้าด้านข้างที่เป็นเงาดำ (silhouette) ของดิแลน เส้นผมเป็นกราฟิกลอนคลื่นสีสันสดใส งานชิ้นนี้ได้รับอิทธิพลจากงาน Self-Portrait ของ Marcel Duchamp’s (1957) แต่พัฒนาไปอีกขั้นหนึ่ง ผสมกับงานอาร์ต นูโว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

มันกลายเป็นงานฮิต พิสูจน์ให้เห็นว่างานกราฟิกก็ทรงพลังและสร้างแรงสะเทือนในงานพาณิชย์สายดนตรีได้

ในปี 1968 เกลเซอร์ร่วมก่อตั้งนิตยสาร New York magazine รับหน้าที่ด้านออกแบบ พวกเขาเป็นทีมคนหนุ่มสาว จับกลุ่มทำงานสร้างสรรค์ ทำเรื่องธรรมดาให้ไม่ธรรมดา

หกปีต่อมา เขาก็ก่อตั้งสำนักออกแบบของตนเองขึ้น ที่นี่เองเป็นที่กำเนิดไอเดีย ‘I heart New York’

ในปี 1977 รัฐนิวยอร์กจ้างเอเจนซีโฆษณาสองแห่งให้ทำงานโครงการกู้ภาพลักษณ์ของนิวยอร์ก เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวเนื่องจากเมืองนิวยอร์กเต็มไปด้วยอาชญากรรม

หน้าที่ของเกลเซอร์คือออกแบบโลโก้

ไอเดียหนึ่งผุดขึ้นขณะที่เขาโดยสารแท็กซี่คันหนึ่ง เขาควักซองจดหมายมาขีดเขียน 

ไอเดียคือคำง่าย ๆ ส่งสารตรง ๆ แต่ในความตรงซ่อนดีไซน์ที่จับใจได้ทันที

I love New York

ดีไซน์นี้ใช้ฟอนต์ American Typewriter เป็นสัญลักษณ์แทนนิวยอร์ก

ดีไซน์ชิ้นนี้เป็นจุดเปลี่ยนหลายอย่างในชีวิต และอาจบางทีของโลกด้วย โลโก้นี้กลายเป็นไฟป่า เป็นงานที่ถูกลอกเลียนและดัดแปลงมากที่สุดในประวัติศาสตร์

มันสร้างรอยเท้าลึกให้วงการพาณิชย์ศิลป์

เกลเซอร์กล่าวภายหลังว่า “ใครจะเคยคิดว่า งานเล็ก ๆ ‘ไม่มีอะไร’ ชิ้นนี้จะกลายเป็นภาพที่แพร่หลายที่สุดภาพหนึ่งในศตวรรษที่ 20”

ปัจจุบันเศษซองที่เขียนบนแท็กซี่นี้อยู่ในพิพิธภัณฑ์ และโลโก้ชิ้นนี้ยังทำเงินให้รัฐนิวยอร์กถึงปีละ 30 ล้านเหรียญ มันปรากฏบนเสื้อยืด หมวก และอื่น ๆ สารพัด


มิลตัน เกลเซอร์ ออกแบบงานมากมาย เป็นโปสเตอร์มากกว่า 400 ชิ้น ได้รับรางวัลต่าง ๆ

เขาลุ่มหลงการออกแบบ ชีวิตเขาไม่มีงานอดิเรก เขามีแต่งานออกแบบ

เขาได้รับอิทธิพลจากศิลปินสองคน หนึ่งคือ พาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) อีกคนหนึ่งคือ จิออร์จิโอ โมแรนดี (Giorgio Morandi จิตรกรและนักภาพพิมพ์ชาวอิตาเลียน) เขาบอกว่า “ปิกัสโซเป็นคนที่ต้องการทุกอย่าง ผู้หญิงทุกคน ชื่อเสียงทั้งหมด เงินทั้งหมด ความสำเร็จทั้งหมด ทุก ๆ อย่าง ส่วนโมแรนดีไม่ต้องการอะไรเลย”

งานของปิกัสโซโฉบเฉี่ยว สีสันจัดจ้าน ส่วนงานของโมแรนดีเรียบง่าย สีสันทึบทึม และเห็นชัดว่าเกลเซอร์สามารถผสมผสานส่วนดีที่สุดของทั้งสองเข้าด้วยกัน

ตลอดหลายสิบปีในวงการออกแบบ ไอเดียต่าง ๆ พรั่งพรูออกมาเหมือนสายน้ำเชี่ยว 

ทำได้อย่างไร ?

เพราะเขาเชื่อว่า ไอเดียไม่มีวันหมด มันหลั่งไหลมาได้เรื่อย ๆ เพราะเขามีทัศนคติว่าความคิดสร้างสรรค์เป็นตาน้ำที่ไม่มีวันหยุด

เขากล่าวว่า “ถ้าคุณมองว่าจักรวาลเป็นจักรวาลแห่งความมากล้น มันก็เป็นอย่างนั้น ถ้าคุณคิดว่ามันเป็นจักรวาลแห่งความน้อยนิด มันก็เป็นอย่างนั้น ผมมักคิดเสมอว่ามีสิ่งต่าง ๆ มากมายพอที่จะให้ใช้”

มีไอเดียมากพอในจักรวาล

เขาเห็นว่าจะออกแบบงานที่ดี ผู้ออกแบบจำเป็นต้องมีทัศนคติที่ดีด้วย

เกลเซอร์เคยบอกว่า เขารู้สึกว่าตนเองรู้สึกประหลาดใจและมองสิ่งรอบตัวเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์ นี่เป็นเรื่องน่ายินดี เพราะเขาเห็นว่ามันดีต่อการทำงานสายศิลปะ ซึ่งเป็นสายที่การเรียนรู้ไม่มีวันจบ

เขาเพียงแต่รู้สึกเสียดายที่หลายคนหยุดฟังเสียงภายในของตนเอง และ “สูญสิ้นการเข้าถึงความสามารถพิเศษที่จะสร้างสรรค์บทกวี”

งานออกแบบกราฟิกก็เหมือนการสร้างสรรค์บทกวี

น่าเสียดายที่บ้านเรามองไม่ค่อยเห็นคุณค่าของงานกราฟิก มันเป็นงานที่ดูจะทำง่าย แต่ยาก มันซ่อนตัวอยู่ในที่ที่เราไม่ค่อยสังเกต ป้ายในอาคาร สลากบนสินค้า ฯลฯ

เป็นเรื่องปกติที่คนไม่เข้าใจงานที่สร้างสรรค์ เขาบอกว่า ความคิดที่จะต้องพยายามอธิบายว่า ทำไมคุณออกแบบอย่างนี้เป็นเรื่องไร้เหตุผล


เราวัดงานดีเลิศอย่างไร ? ในมุมมองของเกลเซอร์ เขาบอกว่า “งานออกแบบชิ้นหนึ่งจะมีปฏิกิริยาสามแบบ ‘ใช่’ ‘ไม่ใช่’ และ ‘วาว !’ 

เขาตั้งเป้าที่ ‘วาว !’ เสมอ

สำหรับปรัชญา ‘น้อยคือมาก’ ของนักออกแบบ เขากล่าวว่า “Less isn’t more; just enough is more.”

เขามองงานออกแบบที่ดีคืองานเรียบง่าย ไม่มีเทคนิคมาก เขาบอกว่า “ถ้าคุณเห็นงานพิมพ์ 16 สี ทำพื้นนูน พิมพ์ทองเค ได-คัต พับแบบพิสดาร พิมพ์บนกระดาษทำมือ ดูให้ดีว่ามันเป็นงานไอเดียพื้น ๆ ที่พยายามจะสอบผ่านเป็นงานดีหรือเปล่า”

หลังเกิดเหตุนิวยอร์กถูกถล่มในวันที่ 11 กันยายน งาน I Love New York ถูกนำมาใช้เพื่อสมานสามัคคีของชาวนิวยอร์ก มันถูกปรับเป็น “I Love New York More than Ever” หัวใจสีแดงปรากฏจุดดำเล็ก ๆ เป็นสัญลักษณ์ของการถูกทำร้าย

งานกราฟิกดีไซน์แบบ ‘วาว !’ ทรงพลังเสมอ

มันจับหัวใจคนได้ 


วินทร์ เลียววาริณ

winbookclub.com

เฟซบุ๊ก https://www.facebook.com/winlyovarin/

ความเห็น 7
  • srijit
    กำลังดูข่าวสุชาติ สุชาติสวัสดิ์ศรี ดูอยู่ๆ หลุดออกไปจาก หน้าจอ ทำไม ทำไม
    30 มิ.ย. 2563 เวลา 15.06 น.
  • ผมคิดว่าไม่ว่าจะเป็นงามในด้านใดก็ตาม ถ้าหากว่าคนเรานั้นมีความตั่งใจทำจริงกับในสิ่งที่ตนเองถนัดแล้ว ก็ย่อมที่จะช่วยทำให้ประสบกับในความสำเร็จได้เช่นกันนะครับ.
    29 มิ.ย. 2563 เวลา 14.16 น.
  • BThee
    วาว!
    29 มิ.ย. 2563 เวลา 10.18 น.
  • คุณวินทร์ จะให้ไทยเป็น ด้วยรึเปล่าครับ ? ก็น่าลองออกแบบ %% i L. cov19. ...อันนี้ไม่น่าใช่ มีโดนกันเยอะ TT คิดไม่ออกจริง แนวศิลปะแนวออกแบบ ยอมเลยดีกว่า
    29 มิ.ย. 2563 เวลา 07.01 น.
  • *dao*
    👅ประกาศค่ะ 👅 👤รับสมัครคนตอบแชท ผ่านเฟส/ไลน์ 📱ทำผ่านมือถือได้📱 🍓รายได้สัปดาห์ละ 4000-5000 บาท รับอายุ18 ปีขึ้นไป 🍄รับทุกจังหวัด (ต่างประเทศก็รับค่ะ)🔸 👉สนใจงานแอด 👇 📱LINE ID : @260madvt (ใส่@ด้วยค่ะ) 👅👅👅👅👅👅👅👅👅👅👅👅👅👅
    29 มิ.ย. 2563 เวลา 04.32 น.
ดูทั้งหมด