ไอที ธุรกิจ

นักวิชาการเตือน'คกก.'วัตถุอันตรายอย่ารับเงินแลกหนุนสารพิษ

ไทยโพสต์
อัพเดต 20 ต.ค. 2562 เวลา 01.09 น. • เผยแพร่ 20 ต.ค. 2562 เวลา 01.09 น. • ไทยโพสต์

20 ตค. 2562 นายยุทธพร อิสรชัย อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ ม.สุโขทัยธรรมาธิราช กล่าวถึงกระแสเรื่องแบนสารพิษ พาราควอต ไกรโฟเซต คลอร์ไพรีฟอส ว่า ตามข่าวคือคณะกรรมการวัตถุอันตรายจะโหวตเรื่องดังกล่าวในช่วงปลายเดือนนี้ ซึ่งส่วนผสมของคณะกรรมข้างต้น ส่วนใหญ่เป็นข้าราชการ ก็น่าจะโหวตตามจุดยืนของรัฐมนตรีเจ้ากระทรวง แต่ถ้าโหวตสวนขึ้นมา ก็เป็นสิทธิ์ของท่าน คงจะไปโยกย้ายกันไม่ได้ เพราะจะขัดกฎหมาย เป็นการแทรกแซงข้าราชการยกเว้นว่า มีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ถ้าพบหลักฐานสามารถสั่งสอบได้เลย

ส่วนการเกิดขึ้นของฝ่านหนุนสารเคมี ไม่มองว่าเป็นขบวนการ แต่เป็นเรื่องปกติของสังคมประชาธิปไตย ที่มันจะมีทั้งเห็นด้วยและเห็นต่าง แต่ขอให้สู้กันด้วยข้อมูล อย่างไรก็ตาม ตอนนี้สังคมได้เดินมาไกลแล้ว คนที่กลัวสารเคมี เป็นสิทธิ์ของเขา อย่าไปปรามาสว่ารู้น้อย ไม่หาข้อมูล เพราะหากจะเปลี่ยนใจ ก็ต้องให้ข้อมูลแก่อีกฝ่าย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เมื่อถามว่า หากผลการโหวตของคณะกรรมการวัตุอันตราย ออกมาว่าให้ใช้สารพิษต่อ จำเป็นต้องมีผู้รับผิดชอบหรือไม่ นายยุทธพร กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องให้ใครมารับผิดชอบ เพราะฝ่ายที่เขาสนับสนุนให้ยกเลิกก็ทำเต็มที่ และเหตุผลก็น่าฟัง เป็นเรื่องของสุขภาพคนไทย ทั้งนี้ควรจะกลับมาหารือกัน ว่าทำไมถึงให้ใช้ต่อ รวมทั้งไปมองว่า ถ้าให้ใช้ต่อ จะใช้อย่างไร ถึงจะปลอดภัยที่สุด 

ขณะที่นายสุขุม นวลสกุล อดีตอธิการบดี ม.รามคำแหง ให้ความเห็นเกี่ยวกับความขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่หนุน และฝ่ายที่ต้องการแบนสารพิษทางการเกษตรว่า  เรื่องแบนสารเคมี น่าจะแบนได้ วิเคราะห์จากการให้ข่าวของทั้ง 2 ฝ่าย ฝ่ายหนึ่งบอกว่ามีอันตรายต่อชีวิต ทำให้เกิดโรค ทำให้เกิดผลกระทบต่างๆ ต่อสุขภาพของผู้ใช้ และผู้บริโภค 

ขณะที่อีกฝ่าย มาพูดเรื่องราคาถูก แต่ไม่ได้ประกันเรื่องสุขภาพให้กับประชาชนเลย จะเห็นว่าข้อมูลของฝ่ายแบน มีเหตุผลดีกว่า  เรื่องสุขภาพ มันไม่สมควรจะเอาอะไรมาต่อรองทั้งสิ้น ของบางอย่างต้องกลบฝังดินเลย ไม่ใช่ว่าเหลือแล้วต้องใช้ให้หมด เรื่องนี้ ถ้าภาครัฐไปโอนอ่อนผ่อนตาม กลับไปบอกว่าให้แบนอย่างค่อยเป็นค่อยไป ยิ่งจะโดนสั่งคมวิพากษ์วิจารณ์ โดนตั้งคำถามว่าเห็นชีวิตคนเป็นอะไร 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ