ไลฟ์สไตล์

กีรติ ชลสิทธิ์ : ‘ดวงใจบิส’ ดีไซเนอร์ผู้สร้างแฟชั่นแห่งยุคร่วมสมัย - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 06 มิ.ย. 2563 เวลา 17.45 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

หากเปิดหนังสือแฟชั่นต่างๆ ยุคที่นิตยสารเมืองไทยยังเฟื่องฟู เชื่อเหลือเกินว่า คุณต้องเคยเห็นผ่านตาแฟชั่นจาก ‘DUANGJAI BIS - ดวงใจบิส’แบรนด์เสื้อระดับตำนานที่อยู่คู่เมืองไทยมานานกว่า 3 ทศวรรษ ซึ่งแจ้งเกิดนายแบบนางแบบมาแล้วนับไม่ถ้วน  

ด้วยสไตล์ที่โดดเด่น เน้นความเท่ โก้หรู สีสันสดๆ แต่แฝงไปด้วยลูกเล่นที่แปลกตาไม่เหมือนใคร รวมถึงรายละเอียดการตัดเย็บที่พิถีพิถัน ส่งผลให้เสื้อผ้าหลายคอลเลกชันจากห้องเสื้อแห่งนี้กลายเป็นภาพจำของยุค 80-90 ที่ถูกพูดถึงอยู่เสมอ และยังคงความร่วมสมัยจนถึงทุกวันนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากนี้อยู่เบื้องหลังภาพยนตร์ดังอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะ จักรยานสีแดง ซึ่งเขาสามารถคว้ารางวัลสุพรรณหงส์ สาขาเครื่องแต่งกายยอดเยี่ยม มาครองได้

ไม่แปลกที่ใครต่อคนพากันยกให้นักออกแบบผู้นี้ เป็นขุนพลดีไซเนอร์แห่งยุค ร่วมกับ ป้อม-ธีระพันธ์ วรรณรัตน์, โหน่ง-ปริญญา มุสิกมาศ, ป๋อง-องอาจ นิรมลและ เจี๊ยบ-พิจิตรา บุณยรัตพันธ์

แต่กว่าที่ดวงใจบิสจะมายืนบนจุดสูงสุดของวงการกลับไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะเขาต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย ทั้งการยอมรับของผู้คน กระแสแฟชั่นที่เปลี่ยนแปลงตลอด คู่แข่งที่เกิดขึ้นไม่เว้นวัน การเข้ามาของแบรนด์นอก รวมถึงความขัดแย้งกับหุ้นส่วนจนต้องแยกทางกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา จึงขอพาทุกคนไปสัมผัสเรื่องราวของดีไซเนอร์อัจฉริยะ หนึ่งในผู้บุกเบิกคนสำคัญของวงการแฟชั่นไทย 

ตั้ว-กีรติ ชลสิทธิ์

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

01

ชีวิตที่เลือกเอง

แม้จะเรียนจบจากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

แต่กีรติกลับไม่เคยมีความใฝ่ที่จะทำงานเกี่ยวกับการเงินหรือการธนาคารเลย เพราะโลกเดียวที่เขาหลงใหลมาตั้งแต่วัยเยาว์ คือการออกแบบเสื้อผ้า

กีรติผูกพันกับการตัดเย็บเสื้อผ้ามาตั้งแต่เด็ก เดิมทีแม่ของเขาเปิดห้องเสื้อชื่อ ‘ดวงใจ’ รับออกแบบ ตัดเย็บ รวมทั้งเป็นโรงเรียนสอนตัดเสื้อด้วย

ที่สำคัญคือเขารักการแต่งตัวมาก เวลาถูกใจผ้าชิ้นไหนของแม่ก็จะหยิบไปตัด เสื้อผ้าแบรนด์ดังๆ สวยๆ รสนิยมดี อย่างร้านบอดี้ช็อป ร้านอีฟ แถวสยามสแควร์ ก็ขวนขวายไปหาซื้อ

เขาใฝ่ฝันจะเรียนต่อเรื่องดีไซน์ ตั้งแต่จบชั้นมัธยมปลายที่วชิราวุธวิทยาลัย แต่เนื่องจากพ่อกับแม่อยากให้ต่อมหาวิทยาลัย เป็นนายแบงก์ เป็นข้าราชการ จึงต้องทนเรียนทั้งที่ใจไม่ชอบเลย

กระทั่งขึ้นปี 2 เขาจึงมีโอกาสเริ่มต้นงานออกแบบเป็นครั้งแรก

“สมัยนั้นรู้สึกว่าเสื้อผ้าฝีมือแม่ตกลงไป ก็ติไปว่าไม่สวย แรกๆ แม่ฟังแล้วก็ยิ้มๆ ตอนหลังแม่ก็บอกว่า เอ้า! พูดมากนัก ติดีนักไหนลองทำเอง ก็นั่งสเก็ตช์ หาซื้อผ้าอะไรให้ พอดีช่วงนั้นมีแฟชั่นโชว์ เราก็ดูช่วยดู เสื้อมันแปลกไปอีกแบบเลย เสื้อที่ออกไปตอนแรกๆ ค่อนข้างจะเป็นเสื้อเด็ก สมัยก่อนเสื้อเด็กยังไม่ค่อยฮิต ตั้วใช้ผ้าสีกากีทำเป็นชุด Bangkok Post ลงเสื้อตั้วคนเดียวเต็มหน้าเลย แต่ไม่ได้ชมตั้ว ชมแม่ เพราะตอนนั้นไม่ได้บอกว่าตัวเองออกแบบ”

ความสำเร็จครั้งนั้น ทำให้เขาเริ่มเห็นพรสวรรค์ของตัวเอง พอดีว่าแม่เป็นเพื่อนกับสุวรรณี สุคนธา บรรณาธิการนิตยสารลลนา นิตยสารสุดเปรี้ยวแห่งยุค กีรติจึงขอโอกาสนักเขียนใหญ่ทำเสื้อผ้าให้นางแบบสวม เพราะอยากให้โอกาสคนรุ่นใหม่ สุวรรณีจึงไม่ขัดข้อง

กีรติออกแบบชุดให้ 2 นางแบบ คือ สุจิตรา นิยมศิริ บุตรสาวของเปี๊ยก โปสเตอร์ กับ ลลนา สุลาวัลย์ นางเอกหนังเรื่องวัยอลวน จนเรียกเสียงฮือฮาจากแฟนหนังสือได้ไม่น้อย

หากแต่กีรติกลับไม่ค่อยพอใจผลงานนั้นเท่าใดนัก เพราะรู้สึกว่ายังไม่มีเอกลักษณ์ชัดเจนพอ พอเรียนจบปริญญาตรี เขาตัดสินใจลัดฟ้าไปเรียนต่อด้านแฟชั่นที่สถาบัน Cours de Coupe Lainé ประเทศฝรั่งเศส แม้จะมีเสียงคัดค้านจากพ่อแม่ที่อยากให้ลูกชายคนโตทำงานธนาคารมากกว่าก็ตาม 

แต่กีรติก็ไม่ยอมแพ้ เพราะมั่นใจว่าทางที่เลือกแล้ว เป็นสิ่งที่เหมาะสมกับตัวเองที่สุด

“เขาไม่อยากให้เราลำบากอย่างเขา อีกอย่างคือการเป็นช่างเสื้อต้องคอยก้มๆ เงยๆ วัดตัว ให้ลูกค้า แม่มองว่าเป็นงานที่ไม่ค่อยมีเกียรติสักเท่าไหร่ แต่เขาก็ไม่ค้านนะ คงเห็นว่าฉุดอย่างไรก็ไม่อยู่ ที่สำคัญเราเองก็เห็นว่า อายุตั้ง 21 แล้ว ยังไม่ได้เริ่มต้นทำอะไรเลย”

ชีวิตที่ฝรั่งเศส กีรติเรียนรู้ทุกอย่างเกี่ยวกับเสื้อผ้า ทั้งการออกแบบ การตัดเย็บ หากแต่สิ่งหนึ่งที่เขาพบว่าสำคัญที่สุด  คือทักษะในการเปลี่ยนภาคทฤษฎีไปเป็นการปฏิบัติ

“การตัดเย็บอยู่ที่ประสบการณ์โดยตรง เพราะมันไม่ใช่เย็บเสื้อตุ๊กตา คนร้อยคนก็ร้อยโครงสร้าง มันต้องมีพื้นฐานการตัดเย็บ แต่การออกแบบขึ้นอยู่กับพรสวรรค์และการฝึกหัดมากกว่า วาดรูปต่อให้สวยแค่ไหน แต่สุดท้ายเสื้อผ้าชุดนั้นจะออกมาสวยหรือไม่สวยเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

“อาจจะดูเข้าข้างตัวเอง เพราะเป็นคนวาดรูปไม่เก่ง วาดแต่โครงสร้าง แต่จะให้ดีเทลเยอะ ปกตรงนี้ 2 นิ้ว กระเป๋านี้ลงมาจากไหล่ 4 นิ้ว ตะเข็บต้องเย็บกุ๊น ต้องซับในตรงนั้น กระดุมต้องเม็ดนี้เท่านั้น เจาะรังดุมแค่ไหน ทั้งหมดเป็นเรื่องที่สอนกันได้ แต่จะมาประยุกต์ใช้ได้แค่ไหน เพราะแฟชั่นเป็นอะไรที่เปลี่ยนแปลงเหมือนวงกลม อย่างกระเป๋าควรจะอยู่ตรงอกกับตรงชายเสื้อ แต่เขาเอามาไว้ตรงแขน คือมันเป็นเรื่องของ Talent อยู่ที่กึ๋นของแต่ละคนทำอะไรที่แปลกใหม่มากกว่าคนอื่น”

กีรติทั้งเรียนทั้งทำงานอยู่ที่ปารีสนานถึง 4 ปี ก่อนจะกลับมาปักหลักที่บ้านเกิด เมื่อปี 2523 พร้อมเพื่อนชาวฝรั่งเศส เพื่อเริ่มต้นแบรนด์เสื้อผ้าของตัวเอง 

นั่นเองที่เป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นสำคัญของวงการแฟชั่นยุค 80

02

กว่าจะเป็น ‘ดวงใจบิส’

แต่ก่อนกระแสแฟชั่นในเมืองไทยยังไม่ได้มีมากนัก ส่วนใหญ่จะกระจุกอยู่ในวงสังคมชั้นสูง ห้องเสื้อแต่ละแห่งจะรับตัดแบบ Made-to-measure แบบเดียวสำหรับคนๆ เดียว เพราะฉะนั้นเสื้อผ้าที่คนทั่วไปใส่จึงมักเป็นเสื้อการ์เม้นต์จากโรงงาน หรือเสื้อโหลตามตลาดนัด

กระทั่งในยุค 70 อุตสาหกรรมเสื้อผ้าเริ่มขยายตัว เกิดเสื้อผ้าประเภท Ready-to-Wear หรือเสื้อผ้าสำเร็จรูป นักออกแบบมือดีที่เรียนจบจากเมืองนอกก็เริ่มมาเปิดร้านตามถนนสุรศักดิ์ เพลินจิตต์ ราชดำริ สยามสแควร์ ร้านที่ดังมากๆ ก็อย่างเช่น Kai Boutique ของ ไข่-สมชาย แก้วทอง

กีรติเองก็เป็นหนึ่งในดีไซเนอร์รุ่นใหม่ที่เข้าสู่วงการในยุคนั้น

“ตอนกลับมา แม่มีโรงเรียนสอนตัดเสื้ออยู่แล้ว จึงอยากให้กลับมาสอนหนังสือ แล้วเปิดร้านทีมันใช้ทุนมาก อยากให้ช่วยทำโรงเรียนต่อ แต่ตั้วรู้ว่าเป็นครูไม่ได้ ก็รบเร้าขอเปิดร้านจนพ่อแม่ยอม

“อีกเหตุผลหนึ่งคือดีไซเนอร์ในเมืองไทยตอนนั้น เกือบทุกคนเย็บอยู่ที่บ้าน มีพี่ไข่อยู่ศูนย์การค้าคนเดียว แต่เราอยากเปิดร้าน อยากมีโชว์รูม และพูดตรงๆ ณ ขณะนั้นเราอยากออกมาจากอ้อมอกแม่” 

เขากับแฟนหนุ่มที่ชื่อ แพทริค บูยาเก้ ร่วมกันเปิดร้านใหม่ที่โอเรียนเต็ลพลาซ่า ศูนย์การค้าดังที่มีจุดขายอยู่ที่ไดอาน่า ดิสโก้เธค เมื่อวันเสาร์ที่ 9 สิงหาคม 2523 ในชื่อ ‘ดวงใจบิส’ โดยเขารับหน้าที่เป็นดีไซเนอร์ ส่วนแพทริค ดูแลเรื่องตัดเย็บ 

เดิมทีกีรติตั้งใจใช้ชื่อว่า ห้องเสือ ‘กีรติ’ แต่เพราะต้องการให้เกียรติหุ้นส่วน จึงเลือกชื่อที่เป็นกลาง รวมทั้งต้องการต่อยอดจากห้องเสื้อของแม่ โดยคำว่า ‘บิส’ ได้แรงบันดาลใจมาจากชื่อซอยย่อยๆ ในฝรั่งเศส ที่แทนจะเรียกว่า 1/1 แบบบ้านเรา กลับใช้คำว่า 1-Bis แทน

“เหตุผลที่ใช้ชื่อดวงใจบิสเพราะแม่เลี้ยงเรามาจนโตด้วยชื่อโรงเรียนสอนตัดเสื้อดวงใจ ถึงแม้จะไม่ได้เลี้ยงลูกแบบที่คนรวยเขาเลี้ยงกัน แต่ตั้วก็ภูมิใจที่เกิดเป็นลูกแม่ ไม่อยากทิ้งอะไรของแม่”

แต่ถึงร้านจะตั้งอยู่ในใจกลางเมือง ช่วงแรกดวงใจบิสกลับไม่เป็นที่รู้จักเท่าใดนัก เพราะยังหาเอกลักษณ์ไม่เจอ ทำให้เขาต้องกลับมานั่งคิดว่าควรทำอย่างไรให้งานดูแปลกและเด่น

หลังลองผิดลองถูกอยู่พักใหญ่ กีรติจึงเริ่มใช้ผ้าลินินปักทอง บวกกับกระดุมหุ้มผ้า กลายเป็นดีไซน์ที่สวยแปลกตา แถมยังทำให้ลูกค้าสวมชุดสีทองตอนกลางวันได้ จนเกิดกระแสปากต่อปาก และทำให้แบรนด์น้องใหม่เป็นที่รู้จักขึ้นมากขึ้น

นอกจากนี้ เขายังสอดแทรกไอเดียที่ทำให้ผู้สวมใส่ดูโดดเด่น แต่ไม่แปลกแยก เพราะสิ่งหนึ่งที่กีรตินึกถึงเสมอ คือ เสื้อผ้าต้องตอบโจทย์เรื่องประโยชน์ใช้สอย และใช้ในชีวิตประจำวันได้ 

“ตอนกลับมาใหม่ๆ ทำเสื้อตามใจตัวเองพอสมควร เสื้อเรียบ เสื้อเชิร์ต จะไม่ยอมทำเด็ดขาด แต่ตอนนี้รู้แล้วว่า ถ้าเราจะยึดตัวเองโดยไม่คำนึงถึงลูกค้า มันก็จะประสบความสำเร็จในด้านความพอใจของจิตเราเท่านั้น แต่ถ้าเรื่องธุรกิจแล้วก็จะแย่

“เราเลยเปลี่ยนมาเน้นทำชุดให้คนใส่ได้ แต่ต้องสะดุดตา ไม่คลาสสิกมากเกินไป  เสื้อของตั้วส่วนมาก ลูกค้าชอบเพราะใส่แล้วดูอ่อนกว่าอายุและผอมกว่าความเป็นจริง หรืออย่างชุดเสื้อเจ้าสาว ตั้วชอบให้เดินออกมาแล้วสะดุดตา ดูเซ็กซี่นิดๆ ไม่จำเป็นต้องมีหน้าอกก็เซ็กซี่ได้ ก็จะทำเสื้อเปิดลงไปเลย กระโปรงผ่า หรือป้าย เปิดหลัง เน้นรูปร่าง ไม่จำเป็นต้องโป๊ โดยเจ้าสาวที่มาตัดเสื้อกับเรา ขั้นแรกคงต้องขอดูรูปร่างเขาก่อน ช่างจะวัดตัว ตั้วถือว่าการลองเสื้อนี่สำคัญกว่าการวัดตัว ตั้้วจะออกแบบเสื้อให้ตามรูปร่าง ลักษณะงาน และงบประมาณของลูกค้า รวมทั้งแนะนำเรื่องการแต่งหน้า ทำผม เครื่องประดับ รองเท้าให้เหมาะกับชุดด้วย”

เพราะสำหรับกีรติแล้ว การเข้าใจลูกค้าเป็นสิ่งสำคัญ อย่างเรื่องเวลาจะผิดพลาดไม่ได้เป็นอันขาด เพราะงานตัดเย็บเสื้อผ้าสัมพันธ์กับกำหนดการ พลาดไปวันเดียวอาจไม่ได้ใช้ชุดนั้นอีกเลย ฉะนั้นหากตัดทันเขาก็บอกไปเลยว่าได้ แต่ถ้าไม่ทันก็จะบอกไปตรงๆ ว่าไม่ได้ ด้วยการทำงานแบบนี้เอง ทำให้ลูกค้าเกิดความไว้วางใจ และมาใช้บริการอย่างต่อเนื่อง

ส่วนกลุ่มลูกค้าของดวงใจบิสก็มีหลากหลาย ตั้งแต่วัยรุ่นที่นิยมเสื้อผ้าแฟชั่น เนื่องจากกีรติใช้วิธีให้ดารามาเป็นเดินแฟชั่นโชว์แทนที่จะเป็นนางแบบทั่วไป ไปจนถึงเจ้านายและเซเลบคนดัง อาทิ สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาภรณฯ, พระองค์เจ้าโสมสวลี หรือ ท่านผู้หญิงบุญเรือน ชุณหะวัณ ซึ่งไม่ว่าจะเป็นงานแบบไหน เขาก็ทำยิ่งพิถีพิถัน เพราะถือว่าทำด้วยหัวใจ

อย่างไรก็ดี ก็ใช่ว่าชีวิตเขาจะไม่มีอุปสรรคเลย อย่างเมื่อปี 2529 กีรติมีปัญหากับแพทริค จนถึงขั้นแฟนหนุ่มแยกไปทำห้องเสื้อเอง ครั้งนั้นกีรติยอมรับว่า รู้สึกท้อไม่น้อย แต่โชคดีที่มีคุณแม่และครอบครัวเป็นกำลังใจ จนฝ่าวิกฤตและกลับมาแถวหน้าของดีไซเนอร์ไทยได้อีกครั้ง

03

เทรนด์แฟชั่นแห่งยุคสมัย

แต่ถึงดวงใจบิสจะเป็นแบรนด์ในใจใครหลายคน แต่สิ่งที่ทำให้ที่นี่อยู่ในความทรงจำคนหมู่มาก ก็เนื่องมาจากกีรติ คือดีไซเนอร์ที่ออกแบบชุดให้นายแบบและนางแบบในนิตยสารต่างๆ มาแล้วนับไม่ถ้วน

โดยเล่มที่ถือเป็นหมุดหมายสำคัญสุด คือ ลลนา ปักษ์แรกเดือนสิงหาคม 2524 ซึ่งได้ เผ่าทอง ทองเจือ นักศึกษาหนุ่มจากคณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร มาขึ้นปก เนื่องจากยุคนั้นเผ่าทองเป็นนายแบบที่หล่อคมเข้ม ต่างจากพิมพ์นิยมของวงการยุคนั้นที่ส่วนใหญ่มีแต่ลูกครึ่ง

จากนั้นเขาก็มีผลงานในลลนาต่อเนื่อง รวมถึงนิตยสารสายแฟชั่นอีกหลายเล่ม อาทิ แพรว, ดิฉัน, เปรียว, ผู้หญิง, พลอยแกมเพชร หรือแม้แต่ The Boy และมีคนดังที่เคยร่วมงานด้วยเต็มไปหมด ทั้ง ธงไชย แมคอินไตย์, ลลิตา ปัญโญภาส, บุษกร พรวรรณะศิริเวช, เมทินี กิ่งโพยม, สินจัย หงษ์ไทย, คัทลียา แมคอินทอช, มาช่า วัฒนพานิช, เฌอมาลย์ บุญยศักดิ์, บงกช คงมาลัย, ไปรยา ลุนด์เบิร์ก ฯลฯ 

จุดเด่นของดวงใจบีส คือการใช้แฟชั่นดึงเสน่ห์ของนายแบบนางแบบแต่ละคนออกมาได้มากที่สุด ตั้งแต่สีสัน แพตเทิร์น ลวดลายต่างๆ เช่นลายขวาง หรือลายตาราง รวมถึงการตัดเย็บที่ลงตัวและพิถีพิถัน ทำให้ผู้สวมใส่ยิ่งดูมีมิติ และมีความงามเฉพาะตัว ที่สำคัญสุดคือความร่วมสมัย เพราะแม้จะผ่านไปนานสักเพียงใด แต่งานของเขาก็ไม่เคยเชย หรือตกรุ่นเลย 

สำหรับกีรติแล้ว เขามองว่า ที่ผ่านมา วงการแฟชั่นบ้านเรายังไม่ค่อยเติบโตเท่าที่ควร ส่วนหนึ่งมาจากค่านิยมของคนไทยจำนวนไม่น้อยที่สนใจแต่ของนอก จนละเลยของดีๆ ในเมืองไทย

“ตอนผมเข้าวงการมาใหม่ๆ เสื้อเกาะอกผู้หญิงไทยไม่กล้าใส่เลย ชุดดำเป็นชุดที่ขายยากที่สุด สูทเป็นเรื่องยากมากสำหรับคนไทย ผ่านมา 20 ปี ตอนนี้ทุกคนใส่สูทกันหมด ทั้งที่ไม่เหมาะกับอากาศบ้านเราเลย แต่ก็ต้องใส่กัน ผมไม่รู้ว่าทำไมเขาต้องมองแฟชั่นเมืองนอกเป็นแม่แบบ อย่างเดินเข้ามาในร้านต้องถามว่า เมืองนอกปีนี้สีอะไร กระโปรงสั้นหรือกระโปรงยาวดี ซึ่งเราตอบไม่ได้ เพราะตอนนี้มันหลากหลายมาก ทั้ง ญี่ปุ่น อังกฤษ ฝรั่งเศส อิตาลี อเมริกา.

“ล่าสุดผมดูช่องแฟชั่น อินเดียก็เข้ามาแล้ว ซึ่งประเทศเขายากจนกว่าเราอีก แต่ทำไมเขาถึงโกอินเตอร์ได้ แต่เรายังไม่ไปสักที ส่วนหนึ่งผมคิดว่าเพราะเสื้อผ้าเขามีเอกลักษณ์ และยังได้เปรียบเรื่องจำนวนประชากร ทำให้มีชอยส์เลือกเยอะ ที่สำคัญคือเราถูกปลูกฝังมาตั้งแต่เด็กว่า อะไรที่ไม่ได้ทำให้เมืองไทยดีหมด ส่วนอะไรที่ทำในไทยคือไม่ดี ยิ่งช่วงที่รัฐบาลหนึ่งอนุญาตให้ลดภาษียี่ห้อแบรนด์เนม ทำให้นักออกแบบไทยหลายคนแย่ลงมาก เพราะแต่ก่อนคนไทยต้องบินไปซื้อที่เมืองนอก แต่ตอนนี้เดินไปซื้อตามห้างใหญ่ๆ ได้แล้ว ยอมจ่ายแพงกว่าเมืองนอกหน่อย ซึ่งการเปิดตลาดสู่สังคมต้องคิดถึงคนที่อยู่ใน Local ด้วยว่าจะได้รับผลกระทบแค่ไหน”

เพราะฉะนั้นเกือบ 4 ทศวรรษในวงการ กีรติจึงมีพยายามมีผลงานออกมาอย่างสม่ำเสมอ แม้วงการนิตยสารบ้านเราจะซบเซาลงมาก็ตาม ที่สำคัญเขายังมีส่วนผลักดันบุคลากรที่มีฝีมือให้เข้ามาในวงการ เช่น อมาตย์ นิมิตภาคย์ ช่างภาพรุ่นใหญ่แห่ง IMAGE ที่บอกว่า ‘มีวันนี้ได้เพราะพี่ตั้วจัดสรรให้’ ตลอดจนร่วมกับดีไซเนอร์ร่วมยุค จัดกิจกรรมแฟชั่นโชว์ระดับประเทศมานับไม่ถ้วน

และนี่คงเป็นเหตุผลว่าใครต่อใคร จึงยกให้เขาเป็นหนึ่งในปรมาจารย์คนสำคัญของแฟชั่นไทย

04

ความทรงจำที่ไม่มีวันตาย

ท่ามกลางยุคสมัยที่เสื้อผ้าแฟชั่นกลายเป็นของง่าย แบรนด์ดังจากเมืองนอก ทั้งถูกและแพงเข้ามาตีตลาดเต็มไปหมด แต่กีรติก็ยังคงเดินหน้าดวงใจบิสไม่เปลี่ยนแปลง เนื่องจากยังมีลูกค้าประจำที่อุดหนุนต่อเนื่องกันมาเป็นสิบปี

กีรติบอกว่า ชีวิตเขาไขว่คว้าน้อยลง ไม่ทะเยอทะยาน ไม่อยากเปิดสาขาเยอะๆ ไม่แม้กระทั่งจะโกอินเตอร์ด้วยซ้ำ สิ่งเดียวที่เขาอยากทำคือ ทำงานออกมาให้ดีที่สุดเพื่อให้ลูกค้าพึงพอใจ

“ตั้วไม่เคยคิดจะแข่งกับใคร แต่แข่งกับตัวเอง อะไรที่ทำไปแล้วจะพยายามแข่งเพื่อให้งานดีขึ้นเท่านั้นพอ ตั้วสอนเด็กที่ทำงานเสมอว่า อิจฉาได้แต่อย่าริษยา เพราะอิจฉาแล้วจะทำให้เราทะเยอทะยาน มีพลังที่จะต่อสู้ อยากเป็นโน่นเป็นนี่ คนเราต้องมีความหวัง ความฝัน ต้องมีความมุ่งมั่น มีอนาคต แต่ถ้าริษยาเมื่อไร นั่นหมายถึงว่าเรากำลังจ้องจะทำร้ายเขา ซึ่งถ้าเป็นอย่างนั้นเราไม่มีวันมีความสุขได้เลย”

หลังจากเปิดร้านตัดเสื้อมานานถึง 36 ปี ในที่สุดกีรติก็ตัดสินใจปิดฉากดวงใจบิส เพื่อกลับไปดูแลมารดาวัย 90 ปีเต็มตัว สำหรับเขาแล้ว นี่ไม่ใช่เรื่องน่าเสียดายเลย เมื่อเทียบกับการทำให้ผู้มีพระคุณที่สุดมีความสุขในช่วงสุดท้ายของชีวต

กีรติจากไปเมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2563 ด้วยอาการหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน สร้างความเสียดายแก่พี่น้องในวงการแฟชั่นอย่างยิ่ง หากแต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยหายไปไหน คือผลงานและความทรงจำดีๆ ว่าครั้งหนึ่งเมืองไทยก็เคยมีห้องเสื้อในตำนานที่ชื่อ ‘ดวงใจบิส’ 

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

ข้อมูลและภาพประกอบการเรียบเรียง

  • นิตยสารสกุลไทย ปีที่ 33 ฉบับที่ 1705 วันที่ 23 มิถุนายน 2530
  • นิตยสาร Looks ปีที่ 4 ฉบับที่ 44 เดือนมิถุนายน 2530
  • นิตยสารดิฉัน ปีที่ 13 ฉบับที่ 290 วันที่ 31 มีนาคม 2532
  • นิตยสารแพรว ปีที่ 18 ฉบับที่ 413 เดือนพฤศจิกายน 2539
  • นิตยสารขวัญเรือน ปีที่ 32 ฉบับที่ 692 ปักษ์หลัง เดือนกันยายน 2543
  • หนังสือสุดยอดศิลปะร่วมสมัยไทยในรัชกาลที่ ๙ สาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย
  • https://www.thirdworldtoday.com/post/duangjaibis
  • https://www.vogue.co.th/fashion/article/duangjaibis
  • Facebook : Kerati Chollasit
  • IG : Koko Nichakul Kitayanubhongse
ความเห็น 11
  • คนเราถ้ามีความตั่งใจทำกับในสิ่งที่ใจชอบแล้ว ก็ย่อมที่จะทำให้ประสบกับในความสำเร็จได้เสมอ.
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 01.38 น.
  • m.pongsak
    สุดยอด ของวงการ คนนึง ในยุคนั้น สมัยนั้น นะ..
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 05.33 น.
  • Tuang🎼
    ขอแสดงความอาลัยแด่เพื่อนด้วย ป.6-7เราเคยอยู่คณะเด็กเล็ก1ที่วชิราวุธด้วยกัน คุณแม่ของผมก็ตัดเสื้อที่ร้านดวงใจเป็นประจำ ก่อนเพื่อนเสียไม่นานพวกเราก็ให้ตั้วออกแบบเสื้อรุ่นให้ ขอให้ดวงวิญญาณของเพื่อนไปสู่สุคตินะครับ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 03.01 น.
  • N 🚥🚦🚥 C
    ชีวิตคนก็เท่านี้ ตายไปแล้วมีแต่บุญบาปที่นำติดตัวไปได้ นอกนั้นต้องทิ้งไว้ให้คนข้างหลังทั้งหมด สั่งสมบุญเป็นเสบียงเดินทางไปโลกหน้า ให้มาก ๆ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 00.12 น.
  • Elvis,Aaron,Presley
    เพื่อนผม อุ๋ย ทุกวันนี้ก็เปนเจ้าของ peter kelly สยามแสควร์ แบบเดียวกะคุณ ตั้ว เลย ชอบคำเดียว จบ
    07 มิ.ย. 2563 เวลา 12.25 น.
ดูทั้งหมด