ทั่วไป

กสถ.แจงปัญหาจัดสอบท้องถิ่น มุ่งแก้ระบบอุปถัมป์ ยึดหลักคุณธรรม-เสมอภาค

Thairath - ไทยรัฐออนไลน์
อัพเดต 17 ส.ค. 2562 เวลา 19.33 น. • เผยแพร่ 17 ส.ค. 2562 เวลา 20.07 น.
ภาพไฮไลต์

กสถ.แจงข้อสงสัยกรณีข้อวิจารณ์ข้อสอบท้องถิ่นรั่วไหล มีการเรียกรับเงินจากผู้สมัครสอบ ย้ำทุกการจัดสอบมุ่งแก้ไขปัญหาระบบอุปถัมภ์ หรือเรียกรับผลประโยชน์ ยึดระบบคุณธรรม-ความเสมอภาค

เมื่อวันที่ 17 ส.ค.62 รศ.อัษฎางค์ ปาณิกบุตร ประธานกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) เปิดเผยว่า ตามที่ปรากฏข่าวผู้สมัครสอบแข่งขันเพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ หรือพนักงานส่วนท้องถิ่น เรียกร้องให้กระทรวงมหาดไทยตรวจสอบข้อเท็จจริงในการสอบแข่งขัน เนื่องจากสงสัยว่ามีการรั่วไหลของข้อสอบ ทั้งยังพบบุคคลที่อ้างตัวสามารถฝากบรรจุเป็นข้าราชการส่วนท้องถิ่นได้นั้น กสถ.ขอชี้แจงข้อเท็จจริงว่า การดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ดำเนินการโดยคณะกรรมการกลางการสอบแข่งขันพนักงานส่วนท้องถิ่น (กสถ.) ซึ่งเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 8/2560 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ในการสอบแข่งขัน รวมถึงการเรียกรับผลประโยชน์ และเพื่อให้การสอบแข่งขันเกิดความเป็นธรรม และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยในการจัดการสอบแข่งขัน กสถ.ได้ให้มหาวิทยาลัยที่ได้รับการคัดเลือก เป็นผู้จัดการสอบแข่งขันภายใต้การกำกับดูแลของ กสถ.ซึ่งหากการดำเนินการสอบแข่งขันมหาวิทยาลัยไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงการจ้าง หรือเกิดความเสียหายจากการบกพร่อง ในการจัดการสอบของมหาวิทยาลัย ก็ได้มีการกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องเป็นผู้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนในกรณีที่เกิดขึ้นด้วย โดยในการดำเนินการสอบแข่งขันในครั้งนี้ กสถ.ได้มีการกำหนดมาตรการให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขัน ถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เช่น มีการกำหนดขอบเขตเนื้อหาวิชาเฉพาะเจาะจงที่จะใช้ เพื่อการทดสอบให้ได้บุคคลที่เหมาะสมกับการปฏิบัติงานใน อปท. ซึ่งหน่วยงานอื่นไม่มีการสอบในวิชาดังกล่าว หรือการออกข้อสอบ ได้มีการกำหนดคุณสมบัติของกรรมการออกข้อสอบ ต้องเป็นคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอนที่เกี่ยวข้องกับวิชา ที่จะออกข้อสอบและไม่เป็นติวเตอร์ (ผู้สอนพิเศษ) หรือผู้จัดทำเอกสารหรือคู่มือเตรียมสอบ ที่เกี่ยวข้องกับการสอบแข่งขัน เพื่อบรรจุบุคคลเป็นข้าราชการ โดยในแต่ละวิชาต้องให้คณาจารย์อย่างน้อย 3 คน เป็นผู้ออกข้อสอบด้วยวิธีการเขียนด้วยลายมือของผู้ออกข้อสอบ เพื่อป้องกันการคัดลอก (copy) และต้องออกข้อสอบจำนวนอย่างน้อย 5 เท่า ของจำนวนข้อที่ใช้ในสอบ ตลอดจนกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องตั้งคณะกรรมการคัดเลือกข้อสอบ ประกอบด้วยคณาจารย์ที่มีคุณวุฒิ ประสบการณ์การเรียนการสอน ที่เกี่ยวข้องกับวิชาที่จะใช้เป็นข้อสอบ และต้องมีความเชี่ยวชาญด้านการวัดผลการศึกษา เป็นผู้กลั่นกรองและคัดเลือก กำหนดมาตรการรักษาความปลอดภัย สถานที่ บุคคล อย่างรัดกุม เข้มงวด ซึ่งนอกจากกรรมการคัดเลือกข้อสอบ เจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบเป็นต้นฉบับแล้ว ห้ามมิให้บุคคลอื่นเข้าถึงข้อสอบโดยเด็ดขาด รวมทั้งกำหนดให้มหาวิทยาลัยต้องกำหนดมาตรการเก็บตัวกรรมการออกข้อสอบ กรรมการคัดเลือกข้อสอบ และเจ้าหน้าที่พิมพ์ข้อสอบ จนกว่าการสอบแข่งขันจะเสร็จสิ้น นอกจากนั้น กสถ.ยังมีการมอบหมายให้คณะอนุกรรมการป้องกันการทุจริต และคณะอนุกรรมการติดตามประเมินผล ได้ติดตามตรวจสอบ และแนะนำให้มหาวิทยาลัยให้ปฏิบัติตามมาตรการต่างๆ อย่างเคร่งครัดในทุกขั้นตอน

รศ.อัษฎางค์ กล่าวต่อว่า สำหรับเรื่องงบประมาณที่ใช้ในการสอบแข่งขันนั้น ได้ใช้จากเงินค่าธรรมเนียมการสมัครสอบ ในอัตราคนละ 300 บาท ไม่มีการตั้งงบประมาณจากส่วนราชการสนับสนุนหรืออุดหนุน ซึ่งเงินค่าธรรมเนียมดังกล่าวจะใช้ตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมการสอบ ขั้นตอนการดำเนินการสอบภาค ก สอบภาค ข สอบภาค ค จนถึงขั้นตอนการบรรจุผู้สอบแข่งขันได้เป็นข้าราชการหรือพนักงานส่วนท้องถิ่น และการใช้จ่ายต้องเป็นไปตามพระราชบัญญัติการจัดซื้อจัดจ้าง และการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ.2560 กฎหมาย ระเบียบ และหนังสือสั่งการที่เกี่ยวข้อง และใช้จ่ายได้เฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับการดำเนินการสอบแข่งขันเท่านั้น ในการสอบครั้งนี้ได้มีหนังสือการเชิญชวนมหาวิทยาลัยของรัฐ เข้ายื่นข้อเสนอเพื่อเป็นหน่วยงานรับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขัน จำนวนถึง 63 มหาวิทยาลัย ซึ่งมหาวิทยาลัยของรัฐที่ยื่นข้อเสนอด้านเทคนิคครบถ้วน ถูกต้อง ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ และมีข้อเสนอด้านราคาต่ำสุดที่ได้รับการจ้างให้จัดการสอบในครั้งนี้ เสนออัตราค่าจ้าง 230 บาท ต่อผู้มีสิทธิเข้าสอบหนึ่งคน โดยการใช้จ่ายเงินดังกล่าวจะถูกตรวจสอบจากหน่วยงานต่างๆ เช่นเดียวกับการใช้จ่ายงบประมาณของหน่วยงานราชการอื่น เช่น กรมบัญชีกลาง สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เป็นต้น สำและเมื่อดำเนินการสอบแข่งขันเสร็จสิ้น งบประมาณที่เหลือจากการใช้จ่ายในการสอบแข่งขันทั้งหมด จะต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดิน โดยที่ผ่านมาได้มีการนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินไปแล้ว ไม่ต่ำกว่า 50 สิบล้านบาท

ส่วนกรณีที่มีข่าวเกี่ยวกับการเรียกรับเงินผู้สมัครสอบนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกครั้งที่มีการสอบ ไม่ว่าจะเป็นการสอบของหน่วยงานใด ซึ่งในเรื่องนี้ กสถ.ได้มีประกาศแจ้งเตือนเกี่ยวกับการทุจริตในการสอบ การแอบอ้างหรือหลอกลวงผู้สมัครสอบ เพื่อไม่ให้ผู้สมัครสอบหลงเชื่อและตกเป็นเหยื่อของผู้แอบอ้าง โดยเมื่อมีการแจ้งเบาะแสมา ได้มีการขอความร่วมมือจากตำรวจสันติบาลตรวจสอบข้อมูล ที่มีผู้แจ้งเบาะแสทุกราย เช่น กรณีผู้ที่ใช้ชื่อว่า "รองโจ" เรียกรับเงินผู้สมัครสอบเพื่อช่วยให้สอบแข่งขันได้นั้น ในเบื้องต้นทราบว่าเป็นพนักงานส่วนท้องถิ่น อยู่ในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ก็ได้ให้สำนักงานส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นจังหวัด และตำรวจสันติบาลตรวจสอบข้อเท็จจริงในเรื่องดังกล่าว โดยมีการประสานกับสำนักงาน ป.ป.ช.ประจำจังหวัด เพื่อดำเนินการในเรื่องดังกล่าวด้วยแล้ว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

"การดำเนินการสอบแข่งขันที่ผ่านมาจะเห็นว่า ไม่มีการร้องเรียนเกี่ยวกับเรื่องการทุจริตการสอบแข่งขัน แต่มีประเด็นที่ผู้เข้าสอบมีข้อสงสัยเกี่ยวกับข้อสอบบางข้อ ที่มีข้อความเหมือนกับในหนังสือเตรียมตัวสอบของบางสถาบัน หรือข้อสอบบางข้อมีความผิดพลาดในการพิมพ์ เป็นต้น ซึ่งในเรื่องนี้ กสถ.ได้มีการแจ้งให้มหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบการจัดการสอบแข่งขัน ได้ตรวจสอบก่อนที่จะมีการตรวจให้คะแนน โดยมหาวิทยาลัยก็ได้มีการรายงานว่า ได้มีการตรวจสอบและดำเนินการตรวจให้คะแนน ตามหลักวิชาการในการให้คะแนนข้อสอบปรนัย ส่วนการขอดูคะแนนผลการสอบ กสถ.ก็ได้มีการประชาสัมพันธ์ให้ผู้เข้าสอบได้ทราบโดยทั่วกันว่า คะแนนสอบภาค ก และภาค ข ในขณะนี้ยังไม่สามารถที่จะเปิดเผยได้ เนื่องจากกระบวนการสอบแข่งขันยังไม่เสร็จสิ้น จะต้องมีการสอบใน ภาค ค ในวันที่ 25 สิงหาคม 2562 เพราะจะมีผลกระทบกับกระบวนการสอบแข่งขันในขั้นตอนการสอบดังกล่าว โดยเมื่อได้มีการประกาศขึ้นบัญชีผู้สอบแข่งขันได้แล้ว กสถ.จะได้มีการประกาศให้ผู้เข้าสอบแข่งขันสามารถขอทราบข้อมูลคะแนนผลการสอบของตนเองได้ โดยจะมีการอำนวยความสะดวกให้สามารถขอข้อมูลได้ทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และจะได้ดำเนินการให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของทางราชการ พ.ศ.2540 เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในระบบการสอบแข่งขันในครั้งนี้ ที่มีวัตถุประสงค์จะแก้ไขปัญหาการใช้ระบบอุปถัมภ์ หรือการเรียกรับผลประโยชน์จากการสอบแข่งขัน และปฏิรูปการบริหารงานบุคคลส่วนท้องถิ่น ให้เป็นไปตามระบบคุณธรรม ความเสมอภาคในโอกาส และเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ" รศ.อัษฎางค์ กล่าว

ข่าวอื่นที่เกี่ยวข้อง

ตามข่าวก่อนใครได้ที่
- Website : www.thairath.co.th
- LINE Official : Thairath

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 6
  • peera th.
    ยากตราบใด นายก อบต. ใหญ่ กดขี่ ขรก. ...สั่งทำทุกอย่าง ใครไม่สนอง อยู่ไม่ได้
    18 ส.ค. 2562 เวลา 00.04 น.
  • ยากครับ.....ถึงยากที่สุด...ที่แก้ไข..ครับ
    17 ส.ค. 2562 เวลา 23.39 น.
  • คนพลัดถิ่น
    มั่นใจว่ามุ่งแก้ระบบอุปถัมพูดไม่คิด แล้วไอ้ที่ลือกันมันมีมูลไม่ใช่ แก้อุปถัมหรือแก้ราคากันแน่
    17 ส.ค. 2562 เวลา 23.38 น.
  • Sky2365
    เป็นมานานแล้ว แก้ไม่ได้หรอก
    17 ส.ค. 2562 เวลา 23.36 น.
  • ตอ๋งคับตอ๋ง
    ถามจริง... ทอ้งถิ่น..จะสอบเอา ไปทำอะไร นักหนา.. อบต.เทศบาล อบจ. กทม. พัทยา.. มีคน มากกว่า งาน.. กรมที่ดิน.เอ่ย สาสุข.เอ่ย ฯลฯ. หน่วยงาน อื่นๆ ที่ คนนอ้ย หรือ ไม่เพียงพอ ทำไมไม่ ดำเนินการ เฮ้ออออ
    17 ส.ค. 2562 เวลา 23.23 น.
ดูทั้งหมด