วิกฤติ! “วัยรุ่นไทย” ทำทุกอย่างเพื่อให้ได้เป็น “เน็ตไอดอล”
จากข่าวที่อยู่ดี ๆ ก็มีเจ้าของคลิปไวรัล ‘เพลงที่มีงูออกมา’ ที่มีคนกดแชร์แบบถล่มทลาย วันต่อมา คน ๆ นั้นก็ถูกเรียกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ไปแบบไม่ทราบสาเหตุ แล้วล่าสุด เราก็มีข่าวอีกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ที่ควรเป็นคำเรียกของคนที่มีความประพฤติน่าเอาเป็นแบบอย่าง กลายเป็นผู้ต้องสงสัยในคดีค้ายาเสพติดล็อตใหญ่ขึ้นมา
และถ้าย้อนกลับไปก่อนหน้านั้น ที่มีคนที่ถูกเรียกว่าเป็น ‘เน็ตไอดอล’ แก้ผ้าขี่มอเตอร์ไซต์จนถูกจับ, เน็ตไอดอลถูกจับในคดีทำร้ายร่างกาย, เล่นการพนัน, ค้ายาเสพติด, สร้างความวุ่นวายบนท้องถนน ฯลฯ เกิดขึ้นให้ได้ยินมาตลอดช่วงเวลาหลายปีที่โซเชียลมีเดียบูมถึงขีดสุด
อาจเป็นเวลาสำคัญที่เราจะต้องมาย้อนมองคำว่า ‘เน็ตไอดอล’ กันอีกครั้ง ว่าเรากำลังให้ ‘คุณค่า’ กับใครอยู่ และคนเหล่านี้ได้สร้าง ‘คุณค่า’ ที่คู่ควรให้กับสังคมตามที่ควรจะได้รับคำยกย่องจริง ๆ หรือเปล่า
**หมายเหตุ** ผู้เขียนเชื่อว่า ‘เน็ตไอดอล’ ที่ประพฤติตัวเหมาะสมนั้นมีอยู่เป็นจำนวนมาก เพราะฉะนั้นที่พูดถึงในบทความนี้ จึงเป็นเพียงส่วนหนึ่งที่มีพฤติกรรมเข้าข่าย ‘น่าสงสัย’ เพียงเท่านั้น
จากตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาสู่รูปเคารพที่บูชาได้ด้วยยอดไลก์
เดิมคำว่า idol เป็นเรื่องทางศาสนา หมายถึงภาพหรือวัตถุใด ๆ ที่เป็นตัวแทนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คล้าย ๆ รูปเคารพที่เอาไว้ชื่นชม บูชา และกราบไหว้อุทิศตนให้ ดังนั้นความหมายหลัก ๆ ของไอดอลคือการเป็นตัวแทนของสิ่งที่สูงส่งให้บูชา
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สังคมเริ่มเปลี่ยนแปลงและขับเคลื่อนไปมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่พัฒนาขึ้นแบบก้าวกระโดด ที่เพิ่มทางเลือกให้เวลาต้องการสิ่งยึดเหนี่ยวหรือแรงบันดาลใจต่าง ๆ ก็สามารถเปิดโซเชียลมีเดียขึ้นมา แล้วหาที่เราคิดหรือเข้าใจไปเองว่า เขาน่าจะมอบสิ่งเหล่านั้นให้เราได้ แล้วสถาปนาให้เขาเป็นแบบอย่าง โดยเปลี่ยนสิ่งของกราบไหว้จากธูป เทียน เป็น การกดไลก์ คอมเมนต์ แชร์ แทนพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ที่เคยมีมาแต่โบราณ
จาก ไอดอลเฉย ๆ ก็เพิ่มคำว่า "เน็ต" เข้าไปนำหน้า เพื่อให้เข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปมากขึ้น
พื้นฐานของเน็ตไอดอลยุคก่อนคือ ‘ดีและควรเอาเป็นแบบอย่าง’
จริง ๆ พื้นฐานการพยายามเป็นใครสักคนที่ว่านั้นเกิดขึ้นมานานแล้ว จากที่เราเห็นได้จากดารา ศิลปิน นักกีฬา คนมีชื่อเสียงที่ประสบความสำเร็จ ไปจนถึงบรรดาเจ้าลัทธิที่มีแนวคิดบางอย่างยึดโยงผู้คนให้รวมเป็นกลุ่มก้อนเดียวกันได้
แต่ใช่ว่าทุกคนจะสามารถไปถึงจุดนั้นได้ แถมเมื่อไปถึงก็ไม่มีพื้นที่ให้คนรู้จักได้เท่าที่ควร เพราะต้องรอให้สื่อหลักมองเห็นความสำคัญและรายงานข่าวออกมาก่อน เราถึงจะมีโอกาสได้รู้จักคน ๆ นั้นมากขึ้น
ซึ่งโลกที่เปิดกว้างมากขึ้นจากการมาถึงของอินเตอร์เน็ต ทำให้คนธรรมดาสามารถมองหา ‘ไอดอล’ ของตัวเองได้ง่ายขึ้น ย้อนไปเมื่อประมาณ 15 ปี ก่อนจากเว็บบอร์ด Dek-D ที่มีคนเอารูปคนหน้าตาดีมาโพสต์ จนเริ่มเป็นที่รู้จัก และเราได้เห็นนักแสดงอย่าง เต้ย-จรินทร์พร, แต้ว ณัฐพร, เบเบ้ -ธันย์ชนก ฯลฯ ที่กลายเป็นเน็ตไอดอลรุ่นแรก ซึ่งมาจนถึงวันนี้ ทุกคนก็มีพฤติกรรมที่ดี ควรค่ากับการเอาเป็นแบบอย่างไม่เปลี่ยนแปลง
สร้างตัวตนโดยไม่สนว่าจะสิ่งนั้นถูกต้องจริงหรือเปล่า
ทีนี้เน็ตไอดอลก็มีการเปลี่ยนผ่านไปทีละน้อยตามกาลเวลา โซเชียลมีเดียเปิดพื้นที่ให้ทุกคนมีพื้นที่ในการนำเสนอ ‘ตัวตน’ ของตัวเองได้โดยไม่ต้องรอให้ใครมองเห็น เราเลยเห็นบรรดาบล็อกเกอร์, ยูทูบเบอร์, สตีมเมอร์, อินฟลูเอ็นเซอร์, ไลฟ์โค้ช ฯลฯ ผุดขึ้นมาเป็นดอกเห็ด โดยคอนเทนต์ในช่วงแรก ๆ ก็ยังเน้นไปที่เรื่องดี ๆ สนุกสนาน ให้กำลังใจ กันตามที่ควรจะเป็น
แต่เมื่อคนผลิตคอนเทนต์มีจำนวนมากขึ้น เราเลยเริ่มเห็น ‘คอนเทนต์’ บางประเภท ที่ใช้ความรุนแรง สะใจ มาเป็นจุดขาย เพราะเนื้อหาแบบนี้สร้างขึ้นได้ง่าย ไม่ต้องลงทุนลงแรงคิดให้เสียเวลา บางคนเพียงแค่ออกมาพูด ด่า ใครต่อใครไปเรื่อย ๆ แล้วมีคำพูดบางอย่างไปโดนใจคนดู หรือมีเพียงหนึ่งคลิปที่โด่งดังกลายเป็นไวรัลขึ้นมา คนดูก็พร้อมสถาปนาตัวเองเป็นแฟนคลับและเรียกคน ๆ นั้นว่า ‘เน็ตไอดอล’ ได้ไม่ยาก
พฤติกรรมต้องสงสัยของเน็ตไอดอล
ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานที่เริ่มจากการโชว์ความสวย หล่อ น่ารักของคน ๆ นั้นผ่านพื้นที่โซเชียลมีเดีย ที่เมื่อมีจำนวนคนแบบนั้นมากขึ้น เลยเริ่มมีคนนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ด้วยการเพิ่มความหวาบหวิว เซ็กซี่ มากขึ้นเรื่อย ๆ ยิ่งช่วงหลังมีพื้นที่ในแอพพลิเคชั่นใต้ดิน ที่เปิดช่องให้มีการ ‘โชว์’ วาบหวิวได้แบบอันเซ็นเซอร์ไม่มีการควบคุม ก็ยิ่งทำให้เน็ตไอดอลสายโชว์มีมากขึ้นตามไปด้วย ซ้ำร้ายที่สุด คือเมื่อมีคลิปหลุดการมีเพศสัมพันธ์ของบางคนออกมา ผ่านไปหนึ่งวัน คน ๆ นั้นก็ถูกเรียกว่า ‘เน็ตไอดอล’ ไปด้วยอีกหนึ่งราย!
ยุค ‘นักเลงไซเบอร์’ ที่เปลี่ยนจากการนัดชกกันแบบซึ่ง ๆ หน้า กลายเป็นการอัดคลิปวิดีโอท้าตีท้าต่อย ทั้งนักเลงแก๊ง ‘วัด’ แก๊ง ‘เสี่ย’ แก๊งนู่นแก๊งนี่ ที่ใช้ยอดไลก์ของแฟนคลับ แทนอาวุธหมัดเท้าเข่าศอก ยิ่งบางคนมีอารมณ์คมคายมากเท่าไหร่ ยิ่งกวนประสาทคู่ต่อสู้มากเท่าไหร่ ยิ่งดูเหมือนเป็นคน ‘เก่ง’ และมีคนติดตามขอเป็นแฟนคลับมากขึ้นเท่านั้น แต่สิ่งที่น่าเศร้าคือ เกือบ 90% ที่มีการท้าตีกันโลกออนไลน์ นั้นแทบไม่เคยเกิดขึ้นในโลกแห่งความเป็นจริง
‘ยิ่งห่าม ยิ่งด่าแรง ยิ่งเป็นที่นิยม’ นี่คือพฤติกรรมการสร้างตัวของเน็ตไอดอลยุคใหม่ที่เกิดขึ้นมากที่สุด เพราะแทบไม่ต้องลงทุน ลงแรงอะไรให้เสียเวลา แค่ด่า ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ให้หยาบคายที่สุด ให้มีคนแชร์ไปด่าต่อให้มากที่สุด โดยไม่ต้องสนใจว่ากระแสที่ได้กลับมาจะดีหรือแย่ เพราะเพียงแค่เป็นที่รู้จัก ก็จะได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘เน็ตไอดอล’ เรียบร้อย อย่างที่เราเห็นเกมเมอร์เจ้าของวลี ‘สวยพี่สวย’ ที่เล่นเกมไม่ต้องเก่งมาก แต่มีจุดขายที่แอ็คชั่นรุนแรงเวลาเล่นเกม บางคนอาจมองว่านี่เป็นเพียงตัวตลกบนโลกออนไลน์ แต่กลายเป็นว่าทุกคลิปที่เขาลงมีคนติดตามเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ถึงขนาดมีสปอนเซอร์มาสนับสนุนให้ช่วยขายของเป็นที่เรียบร้อย แถมยังมีผู้กำกับบางคนที่มักจะหา ‘เน็ตไอดอล’ สายนี้ไปเล่นหนังอยู่เป็นประจำ ก็ยิ่งทำให้บางคนมองว่านี่คือทางลัดสู่วงการบันเทิงไปอีก
‘แกล้งกันไปแกล้งกันมา’ อีกหนึ่งเทรนด์ที่เริ่มเป็นนิยมมากขึ้นเรื่อย ๆ จากจุดเริ่มต้นของคลิปแนว Jack Ass และแก๊งเฟดเฟ่ ที่มาจากการแกล้งกันตลก ๆ ตอนหลังเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบที่หนักข้อขึ้น เพราะการได้เห็นใครสักคนถูกแกล้งยิ่งหนักมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเพิ่มความสะใจของคนดูที่ไม่อยู่ร่วมเหตุการณ์มากขึ้นเท่านั้น บางคนยอมที่จะเผาของรักของเพื่อน บางคนก็วางยาเพื่อนจนท้องเสียเกือบตาย เพียงเพื่อจะแลกกับความสะใจเพียงชั่วไม่กี่นาทีในคลิปเท่านั้น หรือบางกลุ่มก็ออกไปป่วนเมืองสร้างความเดือดร้อนจนโดนจับมาปรับทัศนคติก็มีให้เห็นอยู่บ่อย ๆ
จุดจบสุดท้ายคือถูกจับเพราะพฤติกรรมล้ำเส้น
ถ้าดูจากพฤติกรรมข้ามต้น จะเห็นว่าหลายพฤติกรรมสุ่มเสี่ยงต่อการทำผิดกฎหมายมาก ๆ หากตัวเน็ตไอดอลคนนั้น ‘ล้ำเส้น’ บางอย่างขึ้นมา ตั้งแต่ข้อหาอนาจารจากการโชว์เรือนร่างวาบหวิวที่ต้องโป๊เปลือยมากขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองคนดูที่อยากเห็นอะไรมากขึ้นกว่าที่เคย
การเล่นพนันออนไลน์ ปล่อยเงินกู้ ท้าตีท้าต่อย การใช้ถ้อยคำหยาบคายด่าคนอื่น ป่วนเมือง แกล้งเพื่อน ก็ล้วนเป็นพฤติกรรมที่สุ่มเสียงต่อการถูกจับมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนอกจากเราจะกลับมามองที่นิยามของคำว่า ‘เน็ตไอดอล’ กันใหม่แล้ว เราอาจจะต้องมาพูดถึงมาตรการควบคุมและจัดการที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อรักษาความสงบและป้องกันไม่ให้เด็ก ๆ ที่ขาดวุฒิภาวะและมองว่าบุคคลเหล่านี้เป็น ‘ไอดอล’ ประพฤติตัวตามแบบนั้น
ไม่ใช่แค่เมื่อกระทำผิด ก็ออกมาเปิดการ์ด ‘รู้เท่าไม่ถึงการณ์’ แล้วก็ลอยตัวกลับไปทำพฤติกรรมซ้ำ ๆ โดยที่ไม่มีอะไรดีขึ้นมา
Kampol เน็ตไอดอลไร้สมอง
ในทางที่ไม่ดี
15 ม.ค. 2562 เวลา 13.05 น.
วิกฤติพอๆกับฝุ่นตอนนี้สินะ กะลาจริงๆ
15 ม.ค. 2562 เวลา 13.06 น.
Jin เดี๋ยวเน็ตไอดอลรุ่นใหม่ส่วนใหญ่ขายตัวอวดของแบรนด์เนม เด็กมัธยมควงเสี่ย หนุ่มต่างชาติ โพสต์รูปอวด น้องเอ้ยไม่คิดถึงอนาคตบ้างรึ
15 ม.ค. 2562 เวลา 13.28 น.
Chinna Ozone มีแต่อยากเด่นอยากดังตามโฮโมนเพศ เป็นภาพสะท้อนถึงความคิด สังคม คุณภาพการศึกษา สิ่งแวดล้อม ค่านิยม ของประเทศที่เป็นอยู่ และพ่อแม่คงได้แต่ทำงานหาเงิน ไม่มีเวลามาใส่ใจลูก เฮ้อคงพัฒนาชาติได้มั้งคะ 5555
15 ม.ค. 2562 เวลา 13.42 น.
somtom เน็ตไอbad
15 ม.ค. 2562 เวลา 13.19 น.
ดูทั้งหมด