ไลฟ์สไตล์

บทบาทของ ‘ความเงียบ’ ในความสัมพันธ์... -สะบั้นรักได้ จริงๆ เหรอ? - เพจ Beautiful Madness by Mafuang

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 18 พ.ย. 2563 เวลา 04.08 น. • เพจ Beautiful Madness by Mafuang

 

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

*คนที่สนิทใจกันจริง ไม่ใช่คนที่มีเรื่องให้คุยให้หัวเราะกันได้ตลอดเวลา *

แต่คือคนที่ทำให้เรารู้สึกสบายใจได้ แม้จะอยู่ด้วยกันในความเงียบต่างหาก**

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นี่คือความรู้สึกที่เราใช้นิยาม คนที่มั่นใจว่าสนิทกับเราจริงๆ ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนหรือคู่รัก เพราะปกติเราเป็นคนไม่เก่งเมื่อต้องอยู่ในความเงียบ จะเคอะเขิน หรือกระอักกระอ่วนตลอด ใครก็ตามที่ทำให้เราทลายกำแพงความอัดอั้นในความเงียบ จนเปลี่ยนเป็นความอุ่นใจได้

คนนั้นแหละ ‘ตัวจริง’

 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

 

แต่บางครั้ง

แทนที่ ‘ความเงียบ’ จะใช้แทนตัวบ่งบอกว่า ‘เรารักกันแค่ไหน’

มันกลายเป็น ‘อาวุธ’ ที่หลายครั้งก็มาทำลายความสัมพันธ์เราได้ซะนี่

 

 

 

ในทางจิตวิทยาคู่รัก หรือจิตวิทยาความสัมพันธ์

ได้มีการคิดค้นศัพท์‘Silent Treatment’ (การปฎิบัติต่อคู่รักด้วยความเงียบ) ขึ้นมา

 

ลองคิดภาพตามว่า เมื่อคู่รักคู่หนึ่งทะเลาะกัน

แทนที่ทั้งคู่จะเปิดใจและสื่อสารกันโดยตรง ว่าไม่พอใจกันตรงไหน

กลับใช้วิธี ‘โยนความเงียบ’ เข้าหาอีกฝ่าย

  • ไม่ยอมฟังหรือพูดกับอีกฝ่าย ไม่ยอมรับรู้ถึงความเจ็บปวดใจของอีกฝ่าย (พูดง่ายๆ ว่าเทอีกฝ่ายไปเลย) ไม่พร้อมจะปรับความเข้าใจอะไรทั้งนั้น ทิ้งอีกฝ่ายให้ลอยเก้ออยู่ในเกาะร้างแห่งความเจ็บปวดอยู่คนเดียว พูดง่ายๆ ก็คือ ‘ลงโทษอีกฝ่ายด้วยความเงียบนั่นเอง’

 

‘การเมินเฉย’

บางครั้งมันทำร้ายคนที่เรารัก กว่าการตะโกนว่ากันซะอีก

ฟังดูสับสนใช่ไหม?

แต่อย่างน้อยการใช้โทนเสียงดังตะโกนคุยกันด้วยอารมณ์ มันได้มีการระบายสิ่งที่อยู่ข้างในออกมา เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจว่าตนนั้นไม่พอใจหรืออึดอัดตรงไหนบ้าง

แต่ ‘การเมินเฉย’ ทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถนั่งเทียนสัมผัสได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้นในหัวของคนๆ นั้น ยิ่งจะก่อความกลัว, กังวล, เครียดที่วนเวียนไม่รู้จบของอีกฝ่ายอย่างหาทางออกไม่ได้ มากไปกว่านั้น มีงานวิจัยบอกไว้ว่า เวลาที่เราโดนเมินเฉยให้ต้องรู้สึกโดดเดี่ยวแบบนี้ สมองมันจะทำงานกับความเจ็บปวดทางใจนี้ เหมือนกับที่ทำงานกับความเจ็บปวดทางกายเลย = เจ็บพอๆ กัน

การใช้ความเงียบเพื่อหวังจัดการปัญหาแบบนี้ ยังทำให้อีกฝ่ายรู้สึก ‘ไม่มีตัวตน’ ในความสัมพันธ์ และรู้สึกเหมือนถูกทิ้งคว้าง ‘เหงา ทั้งๆ ที่ยังมีคนรักอยู่ข้างๆ’ 

นานวันเข้า อาจเพิ่มความรู้สึกว่า ‘ทำไมตัวเองไร้ค่าจัง’ เข้าไปอีก

 

 

 

ในฐานะนักจิตบำบัดสำหรับคู่รัก หากความสัมพันธ์ของใครกำลังเผชิญภาวะ ‘ความเงียบ’ อันน่าหงุดหงิดนี้อยู่ เราอยากให้

 

  • อย่าคิดว่า การต้องพูดในสิ่งที่เราไม่สบายใจ คือการกระทบกระทั่ง

บางคนไม่ชอบการเผชิญหน้า เพราะไม่อยากให้เกิดความบาดหมางกับแฟน หรือบางคนอาจคิดว่า เรื่องที่ติดอยู่ในหัวเราเป็นเรื่องเล็กน้อย ไร้สาระ เลยไม่อยากบอกออกไป (เช่น นายเอ หึงที่แฟนของเขามีเพื่อนผู้ชายเยอะ แต่รู้สึกงี่เง่าถ้าจะบอกแฟนว่าตัวเองหึงด้วยเรื่องแค่นี้ เลยเลือกที่จะเงียบ) 

แต่จริงๆ แล้ว ทุกความสัมพันธ์ ควรมีส่วนประกอบคือการสื่อสารที่ดี เพื่อให้อีกฝ่ายเข้าใจอย่างลึกซึ้งว่าเรารู้สึกอย่างไร และเพื่อให้เราได้บอกสิ่งที่มันเป็นก้อนติดขัดอยู่ในใจเราด้วย

การพูดบางสิ่งบางอย่างออกไป ถึงแม้มันจะลำบากใจ แต่ยังดีกว่ามาก กับการไม่บอกให้อีกฝ่ายรู้ถึงความอึดอัดของเรา แล้วอีกฝ่ายนั้น ต้องมาอึดอัดซะเอง!

 

 

 

 2. อย่าปฎิเสธ เมื่ออีกฝ่ายหาว่าเราเมินเฉยต่อเขา 

แม้คนที่เงียบ จะไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองกำลังทำร้ายจิตใจอีกฝ่าย

แต่หากอีกฝ่ายได้เอ่ยปาก บอกความไม่พอใจที่ได้รับการเมินเฉยนี้ออกมา

อย่าไปปฏิเสธความรู้สึกเขา เพราะทุกอารมณ์ที่มันปะทุออกมา นั่นแปลว่ามันคือสิ่งจริงแท้ที่ข้างในเรารู้สึก อย่าไปบอกเขาว่า ‘คิดไปเองรึเปล่า’ ‘เว่อร์ไปรึเปล่า’

คนที่เจ็บปวดอยู่ แค่ต้องการให้อีกฝ่ายรับรู้บ้าง -ไม่ใช่มาซ้ำเติมเหมือนตัวเองเป็นคนผิดเอง ที่รู้สึกแบบนี้

 

 

 

3.  ‘ขอเวลานอก’ แทนได้ไหม?

เข้าใจว่าสำหรับแต่ละคน ‘ความเงียบ’ มันแปลความหมายไม่เหมือนกัน

หากใครคนหนึ่งในความสัมพันธ์ ไม่ได้มีเจตนา ‘เงียบ’ หรือเมินเฉยคนรักของตัวเองเพื่อไป ‘ทำโทษหัวใจ’ เขา -หากแค่ต้องการ ถอยออกมา เพื่อสงบสติอารมณ์ก่อน เหมือนเป็นการขอเวลานอก ก็ลองมาสื่อสารกันให้รู้เรื่องว่า ‘เงียบนานเท่าไหน’ ที่ทั้งสองฝ่ายพอจะอะลุ่มอล่วยกันได้ว่าเป็นระยะเวลาที่ทั้งคู่พอทำใจไหว

ทุกความสัมพันธ์ต้องมีการประนีประนอม เอาใจเขามาใส่ใจเราเสมอ

นอกจากจะมีการสื่อสารให้เข้าใจกันอย่างลึกซึ้งแล้ว

การปรับตัวเข้าหากัน ก็เป็นสิ่งสำคัญต่อใจเช่นกัน

 

 

มาลองค่อยๆ เปลี่ยน ‘ความเงียบ’ ที่ดูเหมือนเป็นอาวุธนี้

ให้กลายเป็นความสวยงามกันเถอะ

 

 

 

 

 

อ้างอิง

https://www.psychologytoday.com/us/blog/invisible-chains/202009/the-silent-treatment-tactic-abuse-and-control

 

https://www.heysigmund.com/the-silent-treatment/

อ่านบทความใหม่จาก เพจ Beautiful Madness by Mafuang ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY

ความเห็น 1
  • BabyBoss
    โดนแกล้งไม่ตลกนะคะpls
    18 พ.ย. 2563 เวลา 12.05 น.
ดูทั้งหมด