ทั่วไป

นักวิจัย มข.-กพร.เจ๋ง พัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน สำเร็จแห่งแรกในอาเซียน

MATICHON ONLINE
อัพเดต 18 พ.ย. 2565 เวลา 09.42 น. • เผยแพร่ 18 พ.ย. 2565 เวลา 09.41 น.

นักวิจัย มข.-กพร.เจ๋ง พัฒนาแบตเตอรี่โซเดียมไอออนจากแร่เกลือหิน สำเร็จแห่งแรกในอาเซียน

รศ.นพ.ชาญชัย พานทองวิริยะกุล อธิการบดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) กล่าวในการแถลงข่าวโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ ระหว่าง มข.ร่วมกับกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ (กพร.) กระทรวงอุตสาหกรรม ว่า ปัจจุบันการประชุมทั่วโลกได้กล่าวถึงการใช้พลังงานสะอาด หรือพลังงานทางเลือก โครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ นับเป็นความสำเร็จของ มข.จากการทำงานวิจัยอย่างหนักของทีมวิจัย นำทีมโดย รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง นักวิจัยโครงการฯ จนพัฒนาได้สำเร็จเป็นแห่งแรกในอาเซียน โดยแบตเตอรี่ตัวนี้ สามารถกักเก็บพลังงานทั้งจากแสงอาทิตย์ หรือจากกังหันลม แปลงมาเป็นกระแสไฟฟ้า แล้วเก็บในรูปแบบแบตเตอรี่ สิ่งนี้จะมาช่วยในชีวิตประจำวัน ซึ่งในอนาคตพลังงานแบตเตอรี่เหล่านี้จะถูกลง จะช่วยลดค่าใช้จ่ายของประชาชน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ดร.ธีรวุธ ตันนุกิจ ผู้แทนอธิบดี กพร.กล่าวว่า จากการสำรวจของกรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ พบว่า ไทยมีแหล่งแร่โปแตช หรือกลุ่มแร่ชนิดโซเดียม มักเกิดคู่กัน ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีปริมาณมากที่สุด และมีปริมาณสำรองแหล่งแร่เกลือหินในไทยมี 18 ล้านล้านตัน เป็นแหล่งแร่สำรองที่มีปริมาณมหาศาล แร่ชนิดดังกล่าวเป็นสารตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหิน โดยทีมนักวิจัย มข.และทีมนักวิจัยของชาติไทยพัฒนาเทคโนโลยีเอง ลดการพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และมีแหล่งแร่พลังงานมหาศาล

“โครงการนี้ถือเป็นความสำเร็จครั้งแรกในอาเซียน กระทรวงอุตสาหกรรมได้รับมอบหมายจากรัฐบาลให้ส่งเสริม และผลักดันเป้าหมายชาติต่อไปคือ ต้องการสร้างอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจร นำเกลือหินมาทำเป็นวัตถุดิบตั้งต้นในการผลิตแบตเตอรี่ อาจใช้ในยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็ก ใช้เป็นตัวพลังงานเพื่อทำสมาร์ทฟาร์มให้กับอุตสาหกรรมเกษตรต่อไป เป้าหมายของกระทรวงคือผลักดันอุตสาหกรรมแบตเตอรี่ครบวงจร สร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจให้ประเทศ ความสำเร็จเหล่านี้ส่งผลให้อุตสาหกรรมไทยมีขีดความสามารถในการแข่งขัน และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ซึ่งหนึ่งในกลุ่มเป้าหมายหลักคืออุตสาหกรรมการผลิตแบตเตอรี่แห่งอนาคต” ดร.ธีรวุธ กล่าว

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

รศ.ดร.นงลักษณ์ มีทอง นักวิจัย ผู้จัดการโครงการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจากแหล่งแร่เกลือหินเพื่อรองรับการพัฒนาอุตสาหกรรมศักยภาพ กล่าวว่า การพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตแบตเตอรี่ทางเลือก โดยใช้วัตถุดิบที่มีภายในประเทศทดแทนแบตเตอรี่ชนิดลิเธียมไอออน ให้มีประสิทธิภาพใกล้เคียงเทียบเท่าลิเธียมไอออน ในราคาที่ถูกลงกว่า 30-40% ในสเกลที่เท่ากัน แบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนจะเข้าไปเป็นตัวเสริมในบางแอพพลิเคชั่นได้ดีกว่าแบตเตอรี่ชนิดโซเดียมไอออนมีความปลอดภัยสูงกว่า

ดูข่าวต้นฉบับ