สตาร์ตอัพไทย ฝันไกลถึง ยูนิคอร์น ต้องพัฒนาองค์ความรู้ ด้านไหนเป็นอันดับแรก
แม้วิกฤต COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจไทยส่วนใหญ่ต้องหยุดชะงัก แต่ยังมีธุรกิจไทยในบางกลุ่ม ซึ่งได้แก่ ธุรกิจด้านระบบกระจายสินค้า (Logistics) หรือส่งสินค้า Delivery ที่สามารถเจริญเติบโตฝ่าฟันไปจนถึงระดับ “ยูนิคอร์น” จากการประเมินมูลค่าทางการตลาด 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 3 หมื่นล้านบาทไทยขึ้นไป
ขณะที่สตาร์ตอัพ หรือผู้ประกอบการธุรกิจรายใหม่ส่วนใหญ่ฝันไกล จะไปให้ถึง “ยูนิคอร์น” จะมีสักกี่รายที่ตระหนักในข้อเท็จจริงของ “ยูนิคอร์น” ว่าเป็นเพียง “การประเมิน” ตัวเลขทางการตลาดจากการลงทุนรอบล่าสุดเท่านั้น ที่ไม่ใช่ตัวเลข “การซื้อขายทั้งกิจการจริง” ซึ่งอาจมีมูลค่าไม่ถึงตามที่ประเมินเอาไว้ก็ได้
โดย “ยูนิคอร์น” จะเกิดขึ้นได้มากน้อยในประเทศใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยพื้นฐาน อาทิ ระบบเศรษฐกิจ ระบบกฎหมาย ระบบภาษี ค่านิยม และการมีอยู่ของนิเวศบ่มเพาะธุรกิจ และยังขึ้นกับการมุ่งพัฒนาเทคโนโลยีดิสรัปชั่นของสตาร์ตอัพเองด้วย
ผศ.ดร.ปิยภัสร ธาระวานิช หัวหน้าสาขาวิชาการเงิน วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล (CMMU) ผู้สอนหลักรายวิชาออนไลน์ “การระดมทุนของธุรกิจสตาร์ตอัพ” ทาง MUx กล่าวว่า หนึ่งในข้อจำกัดของการผลักดันสตาร์ตอัพสู่ “ยูนิคอร์น” คือ เรื่องของ mindset ซึ่งพบว่ายังเป็นอุปสรรคสำคัญของคนไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงมุ่งเน้นแต่การทำการตลาดภายในประเทศ โดยยังขาดการสร้างเทคโนโลยีใหม่ๆ ขึ้นมารองรับ ทำให้ยังไม่สามารถฝ่าฟันสู่ตลาดต่างประเทศได้มากเท่าที่ควร
นอกจากนี้ ปัญหาที่พบส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ตอัพ วางแผนการจัดสรรหุ้นในการระดมทุนในแต่ละรอบอย่างไม่เหมาะสม ซึ่งการเสียสัดส่วนหุ้นไปเป็นจำนวนมากในการระดมทุนเพียงรอบเดียว อาจเห็นกิจการประสบผลสำเร็จในช่วงแรก แต่จะไม่สามารถทำให้ธุรกิจสตาร์ตอัพเจริญเติบโตต่อไปได้อย่างมั่นคง
ผู้ประกอบการธุรกิจสตาร์ตอัพ จึงจำเป็นต้องมีความรอบรู้ทางการเงิน ซึ่งความรู้พื้นฐานด้านการระดมทุนของธุรกิจสตาร์ตอัพมีความสำคัญ โดยธุรกิจสตาร์ตอัพ ที่ประสบความสำเร็จ ต้องเริ่มต้นจากการมีผลิตภัณฑ์ที่ดี และการวางแผนการบริหารจัดการเงินลงทุนที่เหมาะสมและรัดกุม โดยจะต้องมีการระดมทุนตามลำดับ อย่างเหมาะสม
สิ่งที่ผู้เข้ารับการอบรมรายวิชาออนไลน์ “การระดมทุนของธุรกิจสตาร์ตอัพ” ทาง MUx จะได้รับ นอกจากการเรียนรู้ด้านการวางแผนการระดมทุนสำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพ และการประเมินมูลค่าของธุรกิจได้ในแต่ละขั้นตอนของการระดมทุนแล้ว ยังได้เรียนรู้การบริหารความเสี่ยงของธุรกิจให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม อีกทั้งได้เรียนรู้จากแบบจำลองทางธุรกิจ (Business Models) แบบต่างๆ สำหรับธุรกิจสตาร์ตอัพอีกด้วย
ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนอบรมรายวิชาออนไลน์ “การระดมทุนของธุรกิจสตาร์ตอัพ” ได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย พร้อมรับประกาศนียบัตรอิเล็กทรอนิกส์ (E-Certificate) จากมหาวิทยาลัยมหิดล ได้ที่ http://mux.mahidol.ac.th