ไลฟ์สไตล์

นพ.สุชาติ เจตนเสน : หมอผู้บุกเบิก ‘ระบาดวิทยา’ เมืองไทย - เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 18 เม.ย. 2563 เวลา 17.00 น. • เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา

วิกฤตโรคระบาด COVID-19 กำลังสร้างกระแสความตื่นกลัวไปทั่วสังคมไทย

ถึงขั้นต้องสั่งปิดห้าง ปิดโรงเรียน จำกัดเวลาห้ามออกนอกเคหสถาน คุมเข้มคนเข้า-ออกประเทศ และต้องทุ่มงบประมาณมหาศาล เพื่อจัดการไม่ให้ส่งผลกระทบในวงกว้าง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ความจริงไวรัสโคโรนา 2019 ไม่ใช่โรคระบาดแรกที่เราต้องเผชิญ เพราะถ้าย้อนประวัติศาสตร์ จะพบว่า เรื่องเหล่านี้มีบันทึกมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีแล้ว

แต่ระบบการบริหารจัดการเรื่องโรคระบาดของเมืองไทยเพิ่งเป็นรูปเป็นร่าง เมื่อปี 2503 นี่เอง 

เพราะแต่เดิมเมืองไทยยังไม่เข้าใจถึงความรุนแรงของโรคประเภทนี้ พอเจอโรคระบาดครั้งหนึ่งก็แก้ไปตามหน้างาน ไม่ได้มีแผนรองรับ ป้องกันที่ชัดเจน ไม่ได้สืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริง 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของนายแพทย์หนุ่มผู้หนึ่งซึ่งมองว่า การจัดการโรคระบาดต้องจริงจังและทำอย่างเป็นระบบ เขาจึงทุ่มเททุกอย่าง ทั้งกำลังกาย กำลังเงิน แม้แต้ความก้าวหน้าทางราชการ จนหยั่งรากวิชาระบาดวิทยาสู่สังคมได้สำเร็จ เกิดแพทย์ เกิดหน่วยงาน เกิดระบบจัดการที่ยั่งยืนถึงปัจจุบันนี้

ยอดมนุษย์..คนธรรมดา อยากขอพาทุกคนเรื่องราวการทำงานของชายผู้ปิดทองหลังพระ ผู้บุกเบิกงานระบาดวิทยาของเมืองไทย ผู้ค้นพบวงจรชีวิตของพยาธิใบไม้ในตับเป็นคนแรกของโลก มือปราบไข้เลือดออก ผู้พิชิตไข้ทรพิษ และอื่นๆ อีกมากมาย 

‘นพ.สุชาติ เจตนเสน’

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

01

มือปราบโรคติดต่อ

ย้อนกลับเมื่อ 70 กว่าปีก่อน ระบบสาธารณสุขในเมืองไทยยังไม่เจริญอย่างวันนี้

เคยมีการสำรวจในภาคอีสาน เรื่องอัตราการตายของทารก แม่บางคนมีลูกถึง 6 คน แต่มีชีวิตเหลือรอดเพียง 2 คน ที่สำคัญยังมีปัญหาเรื่องโรคติดต่อนับไม่ถ้วน ตั้งแต่ วัณโรค มาลาเรีย คุดทะราด กามโรค ริดสีดวงตา โดยแต่ละโรคมักจะมีฝรั่งผู้เชี่ยวชาญรับหน้าที่ดูแลแก้ปัญหา

หลังเรียนจบแพทย์ อาจารย์สุชาติไม่ได้ทำงานทำงานรักษาคนไข้ตามโรงพยาบาลเหมือนเพื่อนคนอื่น แต่เลือกทำงานในโครงการสำรวจพยาธิทั้งหมดทั่วประเทศ ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐอเมริกากับกระทรวงสาธารณสุข เพราะอยากทำอะไรที่รู้สึกท้าทายในชีวิต

“ผมชอบไปเห็นที่แปลก ๆ คนหน้าแปลก ๆ ได้เห็นอะไร ที่ไม่เคยเห็น ทั้งคนก็แปลก นิสัยคนก็แปลก กินก็แปลก อยู่ก็แปลก คนเรากินก็ไม่เหมือนกัน คนภายนอก อาจเห็นว่าเราไปเสี่ยง แต่ว่าเราสนุก เพราะได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็น กินอะไรที่ไม่เคยกิน”

นั่นเองที่เป็นจุดเริ่มต้นของการยับยั้งโรคระบาดสำคัญของไทย อย่างโรคพยาธิใบไม้ในตับ

เพราะหลังจากทีมสำรวจลงไปพื้นที่ไปตรวจสอบตามภูมิภาคต่างๆ ก็พบว่า ภาคอีสานมีผู้เป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะนครพนมพบสูงถึง 80-90% ของประชากรทั้งจังหวัด

เวลานั้น อาจารย์ต้องรับภารกิจสำคัญ อย่างการจับปลาหาหอยตามแหล่งน้ำต่างๆ เพื่อทำวิจัยหาต้นตอของพยาธิใบไม้ในตับ

“สมัยก่อนยังไม่มีเขื่อน หมู่บ้านในอีสานจะมีชื่อหนองน้ำประจำหมู่บ้าน เพราะถ้าไปตั้งหมู่บ้าน อยู่ในที่ที่ไม่มีหนองน้ำ พอหน้าแล้งก็อดตายไม่มีน้ำกินน้ำใช้ แต่ปัญหาคือ พอเดือนพฤษภา ฝนแรกตกลงมาก็จะชะเอาไอ้ที่ขี้ไว้บนบกลงไปในหนองน้ำ ขี้เหล่านี้มีเชื้อสารพัดโรคทั้งโรคบิด ท้องร่วง และพยาธิต่างๆ แล้วมันไม่ได้อยู่ในอุจจาระคนอย่างเดียว มันอยู่ในขี้สุนัขก็ได้ ขี้แมวก็ได้.. 

“พยาธิใบไม้ในตับ มีเยอะหลายอย่าง แล้วมีคนไปเรียนเรื่องโรคพยาธิและโรคเขตร้อนกลับมาเมืองไทย มาเห็นเราทำเรื่องพยาธิที่เมืองไทย เขาก็สนใจอยากจะทำที่เรียกว่า วงจรชีวิตสมบูรณ์ คืออยากรู้ว่าวงจรมันละเอียดแค่ไหน เพราะไม่ใช่ปลาทุกชนิด หรือหอยทุกชนิดที่เป็นโฮสต์.. ตอนนั้นรู้แล้วว่ากินปลาดิบแล้วเป็นโรคพยาธิใบไม้ในตับ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นปลาชนิดไหน หอยชนิดไหน ผมก็นุ่งผ้าขาวม้าแล้วลงไปในหนองน้ำ กวาดๆ ดูช้อนดู เก็บหอยมาทุกชนิด จับปลาทุกชนิด ปลาเล็กปลาน้อยจับหมด แล้วแช่น้ำแข็งใส่กระติก แล้วส่งไปตรวจที่แล็บ..”

การค้นหาวงจรชีวิตพยาธิใบไม้ในตับเป็นโจทย์ที่ท้าทายมาก หนึ่งคือ ไม่มีใครในโลกที่รู้มาก่อน และสองคือ เมืองไทยมีผู้ป่วยจากพยาธินี้ถึง 6 ล้าน แถมบางรายรุนแรงจนกลายเป็นมะเร็งในตับ มะเร็งท่อน้ำดี เพราะฉะนั้นหากเจอคำตอบ ก็อาจช่วยคลี่คลายปัญหานี้ได้

อาจารย์สุชาติและทีมงาน ใช้เวลาตรวจสอบถึง 4-5 ปี กระทั่งทราบวัฏจักรชีวิตของพยาธิ จากนั้นก็ไปต่อยอดสู่วิธีรักษา พร้อมกับเกิดการรณรงค์ให้คนเลิกกินของดิบ ซึ่งทั้งหมดนี้ไม่เพียงช่วยชีวิตผู้ป่วยในเมืองไทยเท่านั้น แต่ยังต่ออายุคนนับล้านจากทุกมุมโลกที่เผชิญปัญหาเดียวกันด้วย

จากความสำเร็จเรื่องพยาธิใบไม้ในตับ อาจารย์สุชาติก็เข้ามาจับงานเรื่องโรคระบาดอย่างจริงจัง ด้วยการเป็นผู้ช่วยของ ขุนประเมินวิมลเวชช์ มือปราบโรคระบาดระดับตำนานของเมืองไทย

ภารกิจแรกที่ได้รับมอบหมาย คือการปราบโรคพยาธิลำไส้ทั่วภาคอีสาน อาจารย์ลงไปส่งเสริมการสร้างส้วม ขุดบ่อน้ำสำหรับสุขาภิบาลโดยเฉพาะ เพื่อไม่ให้ปะปนกับน้ำกินน้ำใช้ จนสถานการณ์โรคระบาดเริ่มคลี่คลาย จากนั้นอาจารย์ไปเรียนต่อด้านระบาดวิทยาที่มหาวิทยาลัยฮาวาร์ด

พอจบมาก็กลับไปประจำที่อุดรธานี ก่อนถูกเรียกตัวมารับตำแหน่ง หัวหน้าแผนกโรคติดต่อทั่วไป ช่วยปราบโรคไข้เลือดออกที่ระบาดไปทั่วกรุง ซึ่งคร่าชีวิตคนนับร้อย เมื่อปี 2501 

ครั้งนั้นมีการศึกษาพบว่า สาเหตุมาจากยุงลายตัวเมีย หากอยากคุมโรค ก็ต้องคุมยุงลายให้ได้

ตอนแรกอาจารย์ใช้วิธีตระเวนตามบ้าน พ่น DDT เพื่อฆ่าลูกน้ำ แต่พ่นเท่าไหร่ก็ไม่หมดสักที จนทีมงานสังเกตเห็นว่า ไข้เลือดออกมักเกิดตามหมู่บ้านเกิดใหม่ และพอสืบไปเรื่อยๆ ก็พบว่าชาวบ้านกลุ่มนี้ชอบซื้อตุ่มมาเก็บน้ำ ซึ่งภายในตุ่มก็มักมีโพรงอยู่ที่ก้น และตรงก้นก็มักมีน้ำติดอยู่ กลายเป็นช่องให้ยุงลายวางไข่ได้ และต่อให้น้ำแห้งแล้ว แต่ไข่ยุงลายก็ไม่ไปไหน พอเอาน้ำใส่ลงไปในตุ่ม ก็สามารถฟักตัวขึ้นมาใหม่ ไม่เพียงแค่ตุ่มเท่านั้น พวกยางรถยนต์เก่าๆ ที่ถูกทิ้งไว้ก็เป็นแหล่งเพาะพันธุ์อย่างดี 

อาจารย์จึงใช้วิธีป้องกันล่วงหน้าก่อนฤดูการระบาด ด้วยการใช้สารเคมีทำลายลูกน้ำยุงลายที่เรียกว่า ทรายอะเบท ควบคุมและกำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายในภาชนะใส่น้ำกินน้ำใช้ภายในบ้านเรือน ในอัตราส่วน 1 ต่อล้าน สามารถป้องกันลูกน้ำได้ 2-3 เดือน

นอกจากนั้นยังใช้มาตรการสื่อประชาสัมพันธ์ให้ความรู้เรื่องสุขศึกษา เพื่อให้ประชาชนรู้จักป้องกันตนเอง จนสามารถลดจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตลงได้

ไม่เพียงแค่นั้นอาจารย์ยังมีส่วนในการหยุดยั้งอหิวาตกโรค ในเขตเมืองหลวง ด้วยการใช้มาตรการเชิงรุก อย่างการตั้งด่านสกัดฉีดวัคซีนแก่ประชาชนตามเส้นทางสำคัญเข้ากรุงเทพฯ

“ตอนอหิวาต์ระบาด ผมต้องตระเวนไปทั่ว พอรู้ว่าคนไข้ที่เข้าโรงพยาบาลโรคติดต่อมาจากไหนปั๊บ เราก็สั่งรถ โรงพยาบาลตามไปบ้านคนไข้แม้ถึงบ้านดึกดื่นก็ต้องไป ไปล้างบ้าน ฉีดพ่นน้ำยาไลโซล ในส้วมในห้องน้ำ สั่งลูกน้องไปทำ เราก็ตามไปดูมั่งไปตรวจมั้ง แล้ววิธีป้องกันที่ได้ผลคือการตั้งด่านฉีดวัคซีน ตั้งสามด่าน คุมไม่ให้รถเข้ากรุงเทพฯ ด่านที่หนึ่งบางปู ด่านที่สองดอนเมือง ด่านที่สามบางแค ปิดสามทางนี้คนไม่มีทางเล็ดรอดเข้ามาจากต่างจังหวัดได้ 

“จากนั้นผมก็มากางเต้นท์อยู่หน้าโรงพยาบาลโรคติดต่อดินแดง ลากรถเทเลอร์มาอยู่ข้างเต้นท์เป็นห้องนอน กลางวันก็นอนเตียงพับผึ่งพุงนอน ช่วงนั้นก็มีหมอเทศบาลนครกรุงเทพฯ มาช่วย แต่ก่อนเทศบาลเขาไม่ค่อยมีเงินเท่าไหร่ งบประมาณไม่ได้มีเยอะเหมือนเดี๋ยวนี้ มีอะไรก็ต้องขอ ขอจากกระทรวงสาธารณสุข วัคซีนก็เอาจากกระทรวง ปูนคลอรีนก็มาเอาไป เราก็ให้เพราะต้องทำงานด้วยกัน เราทำงานแบบเป็นเพื่อนกันไม่มีเกี่ยง ช่วยกัน”

หลังสถานการณ์อหิวาต์คลี่คลาย อาจารย์ก็ลงใต้เพื่อปราบฝีดาษที่ยะลา ปัตตานี ไปส่งเสริมการปลูกฝี จนโรคสงบ แล้วก็ตามมาด้วยไข้ทรพิษ ซึ่งระบาดข้ามพรมแดนมาจากประเทศเพื่อนบ้าน กระทั่งเกิดการกำหนดให้เด็กเกิดใหม่ทุกคนต้องปลูกฝี จนเชื้อนี้หมดไปจากประเทศ

02

เปลี่ยนเชิงรับเป็นเชิงรุก

แต่ถึงจะประสบความสำเร็จในการคลี่คลายโรคระบาด อาจารย์สุชาติและทีมงานก็ตระหนักดีว่า ทั้งหมดที่ทำไม่ใช่วิธีที่ยั่งยืนเลย เนื่องจากเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ พอมีโรคก็รักษาไป

หากอยากต้องการวิธีควบคุมสถานการณ์ที่ยั่งยืน จะต้องมีการเตรียมพร้อมรับมือไว้ก่อน

“แต่ก่อนเราไม่รู้ว่าโรคมันอยู่ที่ไหนบ้าง เกิดขึ้นตั้งแต่เมื่อไร วิธีควบคุมโรคเมื่อก่อนเราทำเหมือนกับการไปรุมกันดับเพลิง คือพอเกิดเพลิงไหม้ก็รีบไปดับเพลิงก่อน ไม่มีเวลาไปสอบสวนว่าโรคเกิดมาจากไหนหรือคอยจดสถิติคนไข้รู้แต่ว่าต้องควบคุมโรคให้สงบโดยเร็ว ถ้าปราบโรคไม่สงบก็ไม่กลับบ้าน เหมือนคนดับเพลิงถ้าเพลิงไม่ดับก็ไม่กลับ

“อย่างตอนอหิวาต์ระบาด เราใช้วิธีตั้งเต็นท์ ตั้งเตียงเจาะรูให้คนไข้นอนขี้เอาถังรอง ถ้าตายก็เผากันตรงนั้นเลย มีค่าเผาศพให้เสร็จเขาเรียกโรงพยาบาลสนาม ผมเคยลงไปช่วยเขาทำ ก่อนนี้ก็ฉีดวัคซีนอหิวาต์ แต่ก่อนเชื่อว่าวัคซีนอหิวาต์ได้ผล แต่พวกเจ้านายถามผมว่า ‘เอ วัคซีนมันได้ผลดีจริงหรือเปล่า’ ผมก็บอกท่านไปว่า ผมไม่มีเวลาไปศึกษา เวลามีโรคติดต่ออะไรเกิดขึ้นเราต้องช่วยกันปราบมันให้สงบเสียก่อน ไม่มีเวลาไปนั่งถามนั่งจดข้อมูล"

อาจารย์สุชาติจึงเสนอให้ตั้งแผนกระบาดวิทยาขึ้นมา เพื่อทำหน้าสอบสวนการระบาดของโรคว่ามีต้นเหตุจากไหน พร้อมหาวิธีควบคุมป้องกัน และเฝ้าระวัง โดยอาจารย์รับหน้าที่เป็นหัวหน้าแผนก

แต่กว่าทำงานเวลานั้นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะค่านิยมในสังคมไทย ยังทุ่มไปกับการรักษามากกว่าการป้องกันโรค โดยช่วงแรกทั้งแผนกมีหมออยู่ 2 คน แต่อาจารย์ก็ยังทุ่มเต็มที่ ยอมทิ้งทุนปริญญาเอก และหันไปเลือกฝึกอบรมที่มหาวิทยาลัยเอดินบะระกับปรมาจารย์ระบาดวิทยาของโลก

เมื่อกลับมา อาจารย์ได้นำความรู้และประสบการณ์มาวางระบบการทำงาน พร้อมกับค่อยๆ รวบรวมทีมงาน โดยหนึ่งในผลงานสำคัญ คือการนำเครื่องมือทางสถิติ และการรายงานโรคอย่างละเอียดเข้ามาใช้อย่างจริงจัง จากเดิมที่รายงานเฉพาะโรคติดต่อตามกฎหมายกำหนดเพียง 5 โรค คือ กาฬโรค อหิวาต์ ไข้ทรพิษ ไข้เหลือง และไข้กลับซ้ำ ก็ขยายไปสู่โรคอื่นๆ ที่มีความเสี่ยง และเสริมด้วยมาตรการเชิงรุกอย่างการเฝ้าระวัง สอบสวนข้อมูลเชิงลึก เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ละเอียดและแม่นยำที่สุด

“เราอยากปรับปรุงระบบการรายงานโรคว่า แต่ละช่วงเวลามีผู้ป่วยเท่าไร ตำบลไหน อำเภอไหน จังหวัดไหน ที่ไหนมีมากน้อย อายุ เพศ กระจายอย่างไร การกระจายตามเวลา ตามสถานที่ ตามคนเป็นอย่างไรบ้าง จังหวัดที่อยู่ชายเขาเป็นยังไง จังหวัดที่อยู่ริมน้ำเป็นยังไง พื้นที่ อาชีพของคนเป็นยังไง ตรงนี้ต้องมีรายละเอียด เราถึงจะวางแผนป้องกันโรคด้วยวิธีใด ต้องใช้วัคซีน ใช้ทรายอะเบท หรือใช้อะไร

“ส่วนแบบรายงานผู้ป่วย ครั้งแรกก็พิมพ์กระดาษโรเนียวเป็นตาราง ต่อมาก็มีความคิดว่าน่าจะส่งรายงานเป็นไปรษณียบัตรถึงกันได้ง่ายๆ ผมก็เอาไปรษณียบัตรมาเขียนเป็นบัตรรายงานโรค ตอนนั้นมีโรคหลักๆ อยู่ 9-10 โรค แล้วก็มีแถมเรื่องอื่นเพิ่มเข้ามา มีโรคพิษสุนัขบ้า มีมาลาเรีย มีคุดทะราด ขยับเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตอนนั้นบัตรรายงานเป็นแผ่นเท่าโปสการ์ด เราจ้างเขาพิมพ์เลย พิมพ์ชื่อคนไข้ อายุเท่านี้ บ้านอยู่ที่นี่ ป่วยวันที่เท่าไหร่ พอทำแบบบัตรโปสการ์ด เราก็ไปขอไปรษณีย์ เขาก็โอเคไม่ต้องเสียสตางค์”

ด้วยระบบเช่นนี้เอง ทำให้การรายงานและจัดการโรคเป็นไปด้วยความรวดเร็ว และที่สำคัญยังทำให้คนรับรู้ถึงอันตรายของโรคบางโรคที่ไม่เคยตระหนักมาก่อน

“สมัยก่อนคนไม่กลัวโรคหัด บอกกินยาเขียวก็หายแล้ว แต่จากการตามสืบค้นข้อมูล  เราพบว่า คนที่เสียชีวิตไม่ได้ถูกรายงานว่าเสียชีวิตจากหัด แต่ถูกรายงานว่าเป็นปอดบวม หรือ ท้องเสีย รวมได้เป็นพันราย เราจึงเสนอให้ฉีดวัคซีน และยังมีอีกหลายโรคที่กวาดล้างได้สำเร็จ เช่นโรคฝีดาษ โปลิโอ”

การพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่า งานระบาดวิทยาเป็นหัวใจของการควบคุมโรค ทำให้ในปี 2515 แผนกเล็กๆ แห่งนี้จึงถูกยกระดับเป็น กองระบาดวิทยา เพื่อการทำงานประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

“แต่ก่อนมีหน่วยงานระบาดวิทยา เขาก็มีการทำรายงาน แต่เป็นรายงานเก๊ๆ เพราะไม่มีใครไปสอบสวนหรอกว่าตัวเลขนี้มาจากไหน ถูกต้องหรือเปล่า บางทีเขารายงานตัวเลขผู้ป่วยมา 10 ราย แต่อาจเป็นแค่ตัวเลขผู้ป่วยที่มาโรงพยาบาล ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่านั้น ผู้ป่วยที่บ้านยังมีอีกเท่าไร ซึ่งกว่าจะนั่งเกวียนไปสอบสวนที่บ้านต้องใช้เวลาอีกครึ่งค่อนวัน พอไปถึงคนไข้ตายไปแล้วก็มี 

“แม้แต่หมอผู้ใหญ่ที่เป็นอธิบดีเองท่านก็มักจะใช้ความเห็นเป็นใหญ่ บอกว่า ‘ฉันเคยเห็นมาอย่างนี้ ฉันเห็นมาเยอะ ฉันเคยรักษามาอย่างนี้ รักษาหายหมดตั้งเป็นร้อยแล้ว’ แต่ก่อนเขาใช้ความเห็นใช้ประสบการณ์ เราก็ต้องเชื่อ แต่พอเรามีงานระบาดวิทยา ต้องมีหลักฐานจากการสอบสวนว่าปีที่แล้วป่วยกี่ราย ทำไมเดือนนี้ถึงมีผู้ป่วยมากกว่าเดือนนั้น ทำไมตอนหน้าแล้งมันหายไปไหนหมด พอฝนตกลงมากี่วันจึงมีโรคระบาด นี่แหละคือหลักฐานทางระบาดวิทยา”

03

งานนอกสายตา

แม้เป็นหนึ่งในหัวใจของระบบสุขภาพ แต่คนในวงการต่างทราบกันดีว่า งานแขนงนี้มักถูกมองข้าม จนถูกล้อเลียนว่าเป็นกองละบาท หรือกองลำบากบ้าง เพราะไม่ค่อยมีใครเข้าใจหรือเห็นสำคัญ เว้นแต่เวลาเกิดเหตุด่วนเหตุร้ายขึ้นมา

ปัญหาหลักที่กองระบาดวิทยาต้องเผชิญ คือคนน้อย เงินน้อย เรื่องเงิน อาจารย์ใช้วิธีดึงงบสนับสนุนจากองค์กรนานาชาติ ส่วนเรื่องคนนั้น ใช้วิธีคนเดียวรับหลายตำแหน่ง ดูแลงานหลายพื้นที่

“เดิมใช้หมอและเจ้าหน้าที่จากโครงการคุดทะราด เพราะตอนนั้นไม่มีโรคนี้แล้ว เราก็โอนเข้ามาอบรม แต่ส่วนใหญ่มักอาวุโสแล้ว ไม่นานนักก็ทยอยเกษียณออกไป ไม่มีหมอมาสมัครใหม่ คนไม่รู้จักความสำคัญ ไม่เคยมีคอร์สฝึกอบรมแพทย์ด้วย เราก็เลยหาคนแทนไม่ได้ แล้วหมอส่วนใหญ่ชอบไปอยู่โรงพยาบาลเพราะก้าวหน้ากว่า ได้ทำคลินิกหาสตางค์ดีกว่า เราขาดแคลนหมอมาก”

กระทั่งในปี 2523 อาจารย์จึงประยุกต์หลักสูตรของศูนย์ควบคุมโรคแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ให้เหมาะกับบ้านเรา เรียกว่า Field Epidemiology Training Program (FETP) หรือโครงการศึกษาและฝึกอบรมในสาขาระบาดวิทยา ทำให้เกิดนักระบาดวิทยารุ่นใหม่นับร้อยชีวิต

ในสหรัฐอเมริกามีโครงการชื่อว่า EIS Program โดยให้ส่งคนมาอบรมที่ส่วนกลาง เป็นเวลา 1 เดือน จากนั้นคนเหล่านี้ก็จะกระจายไปอยู่ตามหน่วยงานสาธารณสุขของรัฐต่างๆ ซึ่งจะมีนักระบาดวิทยาประจำอยู่คอยทำหน้าที่พี่เลี้ยง แต่เมืองไทยทำแบบนั้นไม่ได้ เพราะสาธารณสุขจังหวัดบ้านเรา มีคนค่อนข้างจำกัด พอกลับพื้นที่ไปก็ไม่มีผู้ดูแลให้คำปรึกษา

อาจารย์จึงคิดว่า แทนจะดึงแพทย์มาทั่วประเทศมาเข้าอบรม ก็หันใช้วิธีรับแพทย์รุ่นใหม่ไฟแรงกลุ่มเล็กๆ 4-5 คนมาอบรมภาคทฤษฎี จากนั้นก็ไปลงพื้นที่ต่างๆ สืบสวนโรค พร้อมทำวิจัยอีกราว 1 ปี โดยระหว่างนั้นก็จะมีหมอพี่เลี้ยง 4-5 คน คอยดูแลให้คำแนะนำ เพื่อผู้เข้าร่วมโครงการมีประสบการณ์และสามารถรับมือกับปัญหาได้อย่างฉับไว

“เราคิดว่า ถ้าเราทำโครงการ FETP ภายใน 2 ปี เราก็จะมีหมอที่มีความสามารถที่จะเป็นผู้ดูแล หรือพี่เลี้ยงได้ เราก็จะสามารถกระจายนักระบาดได้ทั่วประเทศ แต่เอาเข้าจริงก็ไม่ทั่วนัก เพราะเราอบรมได้ปีละ 5 คน ที่อบรมได้น้อย เพราะเราเรียนแบบ Learning by Doing คือเรียนจากการทำงาน ต้องมีเจ้าหน้าที่ของโครงการคอยประกบดูแลอีกที ถ้าเรียนมากก็อาจดูแลไม่ทั่วถึง” 

แต่กว่าที่ FETP นี้จะปักหลักมาถึงปัจจุบัน ก็ต้องยอมรับว่าไม่ใช่ง่ายเลย ส่วนหนึ่งเป็นผู้คนสมัครเข้าร่วมน้อย และอีกส่วนเป็นผู้บริหารส่วนใหญ่ไม่เห็นความสำคัญ เพราะทั่วโลกมีแค่สหรัฐอเมริกากับแคนาดาที่ทำโครงการแบบนี้

 แต่อาจารย์และทีมงานก็ไม่เคยถอย เดินหน้าผลักดันจนเกิดนวัตกรรมการดูแลการดูแลสุขอนามัยตามมาอีกมากมาย โดยเฉพาะการใช้ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ทั้งเอดส์ หนองใน กามโรค และที่สำคัญ หลักสูตรนี้เองที่ทำให้แพทย์ไทยสามารถรับมือโรคระบาดอุบัติใหม่ อย่าง ซาร์ส ไข้หวัดนก หรือไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ H1N1 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

หากแต่เป้าหมายสูงสุดของโครงการ FETP หาใช่การผลิตนักระบาดวิทยามืออาชีพเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการปลูกจิตสำนึกเรื่องการป้องกันและควบคุมโรคให้เกิดขึ้นในสังคมไทย เพราะโรคระบาดเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา และหากเราไม่เตรียมตัวให้ดี บางครั้งก็อาจจะสายเกินแก้แล้ว 

“คนเราเปลี่ยนได้ สิ่งมีชีวิตทุกอย่างเปลี่ยนได้ นิสัยคนเปลี่ยนได้ นิสัยโลกก็เปลี่ยนได้ เราถึงต้องติดตามเฝ้าระวัง สอบสวนและรู้ให้ทัน รู้ทันโลก รู้ทันโรค”

04 

ระบาด = ความจริง

อาจารย์สุชาติรั้งตำแหน่งหัวหน้างานระบาดวิทยานานกว่า 2 ทศวรรษ จนมั่นใจว่าวิชาแขนงนี้สามารถหยัดยืนในวงการสาธารณสุขได้มั่นคงแล้ว จึงขยับไปเป็นนายแพทย์ใหญ่ กรมควบคุมโรค เพื่อเปิดโอกาสให้น้องๆ ได้เติบโตในสายงานราชการบ้าง

ก่อนอีก 2 ปีต่อมาจะลาออกจากราชการไปเป็นที่ปรึกษาองค์การอนามัยโลก แต่ถึงอย่างนั้นอาจารย์ก็ไม่ทิ้งระบาดวิทยา และคอยเป็นที่ปรึกษาแก่คนรุ่นหลัง แม้อายุจะแตะเลข 9 แล้วก็ตาม

สิ่งหนึ่งอาจารย์ย้ำเสมอ คืองานระบาดวิทยา ต้องอยู่บนพื้นฐานของความจริง แม้บางครั้งที่ความจริงที่ว่าอาจกระทบต่อความเชื่อถือของรัฐบาล หรือทำให้เศรษฐกิจเสียหายบ้างก็ตาม

แต่คนทำงานก็ต้องหยัดยืน เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ สุขภาพที่ดีของประชาชน 

“การเปิดข้อมูลต้องเปิดให้ดี อย่างฮ่องกงมีการรายงานทุกวัน เช่นว่าวันนี้มีคนติดโรคหนึ่งราย เขาไม่ได้ให้ความสำคัญในประเด็นคนติดโรคหนึ่งราย เท่ากับการให้การศึกษากับสาธารณะ วิธีป้องกันโรคต้องทำอย่างไร เขาเน้นทุกครั้ง..

“ส่วนของเราก็อยากให้เป็นแบบนั้น แต่ฝ่ายประชาสัมพันธ์มักประชาสัมพันธ์เพื่อเจ้านาย เช่น มีไข้เลือดออก ก็มีข่าวไปตรวจเยี่ยม มีภาพการพ่นหมอกควัน ทำให้ประชาชนเข้าใจผิดทาง มัวไปตั้งความหวังว่า พอมีไข้เลือดออกจะมีคนมาพ่นควันให้เขา แต่เขาไม่ปิดฝาโอ่งน้ำ ไม่ลุกขึ้นมาทำเอง ข่าวที่ประชาสัมพันธ์ออกไปจึงมีแต่วันนี้ท่านไปเยี่ยมที่นั่นที่นี่ แต่ตัวประโยชน์จริงๆ ที่จะบอกให้คนรู้ไม่มี”อาจารย์สุชาติฉายภาพโรคระบาดหนึ่งที่เคยเกิดขึ้นเมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว 

เพราะฉะนั้นการหยุดยั้งโรคระบาด จึงต้องอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ในการฉายภาพความจริงของประชาชนเข้าใจอย่างถ่องแท้ และมีสติในการรับมืออย่างถูกต้อง ซึ่งนั่นจะเป็นทางออกเดียวที่จะพาทุกคนก้าวข้ามจากสถานการณ์อันเลวร้ายได้ด้วยกัน

ติดตามบทความใหม่ๆ จาก เพจยอดมนุษย์..คนธรรมดา ได้บน LINE TODAY ทุกวันอาทิตย์

เรียบเรียงและภาพประกอบ

  • หนังสือหนึ่งในร้อย ผู้บุกเบิกระบาดวิทยาไทย นายแพทย์สุชาติ เจตนเสน โดย สันติสุข โสภณสิริ
  • หนังสือหลังประติมาสาธารณสุข บรรณาธิการโดย นพ.พงศธร พอกเพิ่มดี
  • เอกสารพิธีมอบรางวัลเกียรติยศ เหรียญ 'ขุนปประเมินวิมลเวชช์' ประจำปี 2559 แด่ นายแพทย์สุชาติ เจตนเสน
  • เอกสาร 100 ปีการสาธารณสุขไทย : จากแผนกระบาดวิทยา มาสู่ สำนักระบาดวิทยาในปัจจุบัน
ความเห็น 14
  • S’MART
    ขอบคุณอาจารย์สุชาติครับเพราะมีท่านที่เป็นผู้สร้างกำแพงป้องกันโรคให้คนไทย ไทยทุกคนจึงอยู่อย่างผาสุกร่มเย็นจวบกระทั่งปัจจุบันนี้ ขอขอบคุณครับ
    19 เม.ย. 2563 เวลา 10.50 น.
  • Sopita
    กว่าจะเห็นคุณค่าและผลงานอันใหญ่หลวงของคนๆหนึ่งใช้เวลาถึง90ปี โชคดีของคนไทยในวันนี้ขอให้ท่านมีอายุยืนถึง120ปีเทอญ
    19 เม.ย. 2563 เวลา 10.49 น.
  • Demon
    ชีวิตที่มีค่าเพราะค่าของคนอยู่ที่ผลของงาน แต่เมื่อค่าของคนอยู่ที่ผลของเงิน..ชีวิตก็ไร้ค่า เพราะกลายเป็นวัตถุนิยม ชื่นชมวัตถุมากกว่าความดีงามของคน
    18 เม.ย. 2563 เวลา 19.17 น.
  • Joopพธาตุพนม🥰🏝🌴
    ขอแสดงความนับถืออย่างสูงคะ
    19 เม.ย. 2563 เวลา 10.51 น.
  • kwan
    ขอขอบคุณอ.หมอที่ปิดทองหลังพระเพื่อคนไทยและมวลหมู่มนุษยชาติค่ะ
    19 เม.ย. 2563 เวลา 10.48 น.
ดูทั้งหมด