ไอที ธุรกิจ

“กะเพรา” ปลูกง่าย ขายดีสุดยุคนี้ ตอบโจทย์ สมุนไพรต้านไวรัส โควิด-19

เทคโนโลยีชาวบ้าน
อัพเดต 12 ก.ย 2564 เวลา 15.37 น. • เผยแพร่ 12 ก.ย 2564 เวลา 15.25 น.

ยามนี้ ไม่มีข่าวสารใดที่ฟังแล้วเครียดไปกว่าการติดตามข่าวการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส โควิด-19 อีกแล้ว แต่ละคนพยายามดูแลรักษาสุขภาพตัวเองหลากหลายวิธี ตั้งแต่สวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลล้างมือ รักษาระยะห่างระหว่างบุคคล หยุดการสัญจรไปมาในสถานที่ต่างๆ ทำงานที่บ้าน รักษาสุขภาพให้แข็งแรง ด้วยการกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ พักผ่อนให้เพียงพอ วันละ 6-8 ชั่วโมง ออกกำลังกายเป็นประจำ เพื่อให้มีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง ลดจำนวนผู้ป่วย ไม่ให้เป็นภาระหนักแก่ทีมแพทย์พยาบาล

กะเพรา สมุนไพรต้านเชื้อไวรัส

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หากใครยังมีพื้นที่ว่างเหลือที่บ้าน อยากชวนมาดูแลตัวเอง ด้วยการปลูก “กะเพรา” สมุนไพรไทยต้านไวรัส เพื่อใช้เป็นอาหารบริโภคในครัวเรือน สร้างภูมิคุ้มกันให้กับทุกคนที่คุณรัก หากใครสนใจปลูกกะเพราเป็นอาชีพเสริมรายได้ ก็ถือเป็นเรื่องดีงาม มั่นใจได้เลยว่า อาชีพปลูกกะเพรา มีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ เพราะกะเพราเป็นพืชสวนครัวยอดนิยมที่ปลูกดูแลง่าย ขายดี ตลาดมีความต้องการใช้กะเพราตลอดทั้งปี

ยิ่งในยุคนี้ กะเพราขายดีสุดๆ เพราะกะเพรามีสารอาหารสำคัญ เรียกว่า โอเรียนทิน (orientin) ที่มีศักยภาพสูง ช่วยดูแลป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสเข้าสู่เซลล์ร่างกายมนุษย์ได้นั่นเอง ข้อมูลจากโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ระบุว่า ใบกะเพรา เป็นพืชล้มลุก ตระกูลเดียวกับโหระพาและฟ้าทลายโจร จัดเป็นพืชสมุนไพรที่มีฤทธิ์เสริมภูมิคุ้มกัน มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ มีฤทธิ์ต้านการอักเสบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กะเพรา มีสรรพคุณด้านสมุนไพรมากมาย ดังนี้ “ใบ” บำรุงธาตุไฟ ขับลมแก้ปวดท้อง แก้ลมตานซาง แก้จุกเสียด แก้คลื่นเหียนอาเจียน “เมล็ด” เมื่อนำไปแช่น้ำ เมล็ดจะพองตัวเป็นเมือกขาว ใช้พอกบริเวณตา เมื่อตามีผง หรือฝุ่นละอองเข้า ผงหรือฝุ่นละอองนั้นก็จะออกมา ซึ่งจะไม่ทำให้ตาเรานั้นช้ำอีกด้วย “ราก” ใช้รากที่แห้งแล้ว ชงหรือต้มกับน้ำร้อนดื่ม แก้โรคธาตุพิการ

ปู่ ย่า ตา ยาย ในบางท้องถิ่น สอนให้ลูกหลานใช้กะเพราเป็นสมุนไพรดูแลสุขภาพ เช่น นำใบสดหรือกิ่งสดมาขยี้ ใช้ไล่ยุง-แมลง และใช้ใบกะเพราตำผสมกับเหล้าขาว ช่วยแก้พิษจากแมลงสัตว์กัดต่อย ส่วนน้ำมันสกัดจากใบกะเพราสด ช่วยล่อแมลงวันทองบินให้มาติดกับดักได้อีก

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

กะเพรา ปลูกง่าย โตไว

ปัจจุบัน กะเพรา ยังไม่มีการศึกษาปรับปรุงพันธุ์หรือคัดเลือกพันธุ์อย่างจริงจังทางวิชาการ กะเพราที่นิยมใช้กันทั่วไปได้แก่ กะเพราขาว และ กะเพราแดง โดยเรียกชื่อตามสีของก้านใบและก้านดอก “กะเพราขาว” มีลักษณะกิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอกสีเขียว นิยมใช้ประกอบอาหาร “กะเพราแดง” มีลักษณะกิ่ง ก้าน ใบ และช่อดอกสีม่วงแดง กะเพราแดงมีสรรพคุณทางยาออกฤทธิ์แรง กลิ่นหอม และเผ็ดร้อนกว่ากะเพราขาว นิยมนำมาใช้ทำยาสมุนไพร เช่น แก้อาการจุกเสียดแน่นท้อง บำรุงธาตุไฟ เป็นต้น ส่วน “กะเพราเกษตร” ที่นิยมปลูกเชิงการค้านั้น ลักษณะเด่นคือ ใบใหญ่ โตเร็ว ใบเยอะ กลิ่นไม่ฉุน “กะเพราป่า หรือ กะเพราบ้าน” มีลักษณะคล้ายกัน แต่ขนาดเล็กและมีกลิ่นฉุนกว่า

กะเพรา เป็นพืชที่ปลูกดูแลง่าย นิยมปลูก 3 รูปแบบ คือ

1. ปลูกโดยหว่านเมล็ด ลงในแปลงที่เตรียมไว้ ใช้ฟางกลบ โรยปุ๋ยคอกและรดน้ำตาม รอแค่ 7 วัน เมล็ดกะเพราจะงอกเป็นต้นกล้า เมื่อต้นกล้าอายุครบ 1 เดือน ถอนแยกให้ได้ระยะระหว่าง 20×20 เซนติเมตร เมื่อต้นกะเพราโตเต็มที่ก็เด็ดใบมารับประทานได้

2. ปลูกแบบปักชำ โดยใช้ลำต้นและกิ่งแก่ วิธีนี้ ทำให้ได้ผลผลิตเร็ว แต่กิ่งและยอดที่แตกออกมาใหม่มักไม่สวย ลำต้นโทรมและตายเร็ว หากต้องการปลูกวิธีนี้ แนะนำให้เลือกกิ่งแก่กลางอ่อน ที่มีอายุมากกว่า 8 เดือน ความยาวกิ่ง 5-10 เซนติเมตร เด็ดยอดและใบออก นำไปปักชำในแปลงปลูกที่เตรียมไว้ ปลูกในระยะห่าง 20×20 เซนติเมตร เมื่อนำกิ่งไปปักดิน ต้องให้ลำต้นเฉียงสัก 45 องศา จากนั้นใช้ดินกลบ คลุมด้วยฟางแช่น้ำ รดน้ำให้ชุ่มก็เสร็จเรียบร้อย

3. ปลูกโดยใช้ต้นกล้า เป็นวิธีปลูกที่นิยมใช้อย่างแพร่หลาย เพราะง่ายต่อการดูแลจัดการ แถมได้ผลผลิตสูงอีกต่างหาก เริ่มจากเพาะกล้าในแปลงเพาะ จนต้นกล้ามีอายุ 20-25 วัน จึงถอนต้นกล้าออกมาเด็ดยอดออก และขุดหลุมปลูกในระยะห่าง 20×20 เซนติเมตร ใช้เศษฟางคลุมแปลงปลูก ควรรดน้ำให้ชุ่มทุกวัน เช้า-เย็น เพราะกะเพราเป็นพืชที่ต้องการความชื้นสูงและสม่ำเสมอ

หลังปลูก 30-35 วัน ก็สามารถตัดลำต้นออกขายได้ เมื่อต้นกะเพราแตกยอดและกิ่งก้านใหม่ออกมา จะเก็บผลผลิตออกขายได้ทุกๆ 15 วัน ตลอดระยะเวลา 7-8 เดือน หลังจากนั้น ผลผลิตจะลดลงเรื่อยๆ ควรรื้อแปลงปลูกทิ้ง ก่อนปลูกกะเพรารอบใหม่

ต้นกะเพราโดยทั่วไป มักมีลำต้นเตี้ยๆ เมื่อออกดอกแล้ว ต้นกะเพราจะเฉาตายในที่สุด อาจารย์กมล สุวุฒโท อดีตอธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนศิลป์ แนะนำเคล็ดวิธีปลูกกะเพราให้ต้นสูงใหญ่และอายุยืนข้ามปี โดยใช้วิธีเด็ดยอดใบทุกวัน ไม่ให้ต้นกะเพราออกดอก ดังนั้น หากช่วงไหนยังไม่มีผู้รับซื้อ เกษตรกรสามารถชะลอการตัดลำต้นกะเพราออกไปได้โดยเด็ดยอดที่มีดอกทิ้ง วิธีนี้จะช่วยให้ต้นกะเพราที่ปลูกในบ้านมีอายุการเก็บเกี่ยวยาวนานข้ามปีได้เช่นกัน

เกษตรกรต้นแบบ “ปลูกกะเพรา”

สร้างรายได้ เดือนละ 4-5 หมื่นบาท

คุณสมคิด พานทอง เกษตรกรมืออาชีพ ที่เป็นต้นแบบด้านการปลูกกะเพราป่ากว่า 15 ไร่ ในพื้นที่อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี ส่งขาย บริษัท ซีพีแรม จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทหนึ่งในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอาหารพร้อมรับประทาน) เฉลี่ยสัปดาห์ละ 700 กิโลกรัม รวมกับกะเพราเกษตรและโหระพา หักต้นทุนแล้ว มีผลกำไรเดือนละ 4-5 หมื่นบาท

ปัจจุบัน คุณสมคิด อาศัยอยู่ บ้านเลขที่ 19/4 หมู่ที่ 5 ตำบลหน้าไม้ อำเภอลาดหลุมแก้ว จังหวัดปทุมธานี (โ่ทร.085-665-1789 )คุณสมคิดยึดอาชีพปลูกกะเพรามานานกว่า 10 ปี เดิมเขาใช้สารเคมีในการเพาะปลูก แม้จะมีรายได้ดี แต่เสี่ยงต่อปัญหาสารเคมีตกค้างในร่างกาย คุณสมคิดจึงปรับมาปลูกพืชแบบปลอดภัย โดยใช้สารชีวภาพหรือจุลินทรีย์ในการดูแลแปลงเพาะปลูกตามหลัก จีเอพี (GAP : Good Agricultural Practices) ซึ่งเป็นแนวทางการเพาะปลูกอย่างยั่งยืน ปลอดภัย ต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม และได้ผลผลิตที่ปลอดภัยป้อนตลาดในประเทศและส่งออก

การปลูกกะเพราเชิงการค้าของคุณสมคิดมีระบบการบริหารจัดการแปลงอย่างเป็นระบบ เขาเตรียมพื้นที่เพาะปลูกโดยตากแปลงอย่างน้อย 7 วัน เตรียมพื้นที่ย้ายกล้าพันธุ์กะเพราป่า อายุ 25-30 วัน ลงแปลงที่รดน้ำจนชุ่ม เพาะปลูกโดยตากแปลงอย่างน้อย 7 วัน หลังปลูกเขาดูแลรดน้ำทุกวัน ในช่วงเช้า และใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 24-7-7 ทุกสัปดาห์

หลังจากย้ายกล้า 30 วัน จะสามารถเก็บเกี่ยวได้โดยใช้มีดในการเก็บเกี่ยว และเว้นยอดอ่อนไว้ 2-3 ยอด เพื่อให้แตกยอดใหม่ หลังจากนั้น จะขนย้ายผลผลิตไปยังพื้นที่ตัดแต่ง แรงงานจะทำหน้าที่ตัดและแต่งต้นกะเพราให้ได้มาตรฐานที่ผู้ซื้อต้องการ ก่อนบรรจุสินค้าลงในตะกร้า ใช้ผ้าชุบน้ำคลุมตะกร้าก่อนขนขึ้นรถเพื่อจัดส่งให้ถึงโรงงาน

เมื่อกะเพราที่ปลูกในแปลงเริ่มแก่ เริ่มให้ผลผลิตน้อยลง เขาจะรื้อแปลงเก่าทิ้ง และปลูกพืชอื่นหมุนเวียนแทน เป็นการพักแปลงปลูกก่อนการเพาะปลูกในรอบถัดไป ทำให้ได้ผลผลิตที่ดีและไม่มีปัญหาเรื่องโรคและแมลงรบกวน

คุณสมคิด บอกว่า ตลาดต้องการกะเพราตลอดทั้งปี โดยเฉพาะกะเพราป่า เนื่องจากมีกลิ่นหอมกว่ากะเพราพันธุ์อื่น การปลูกกะเพราเป็นเรื่องง่าย ที่ใครๆ ทำได้ แค่มีการดูแลจัดการที่ดีและเป็นระบบ เกษตรกรทุกคนก็จะมีโอกาสสร้างรายได้ที่มั่นคงได้ไม่ยาก

กินอาหารเป็นยา สู้โรค

ปัจจุบัน หลายคนเลือก “กินผลไม้พืชผักสมุนไพรเป็นยา” เพื่อเสริมภูมิต้านทานของร่างกาย สู้โรค “ไวรัส โควิด-19” ตามคำแนะนำของ นายแพทย์มรุต จิรเศรษฐศิริ อธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก ดังนี้
1. กลุ่มเสริมภูมิคุ้มกัน ได้แก่ พลูคาว หรือ ผักคาวตอง ตระกูลเห็ดที่มีสารสำคัญคือ เบต้ากลูแคน (เห็ดหอม เห็ดนางฟ้า เห็ดออรินจิ เห็ดหลินจือ) สมุนไพรตรีผลา (สมอไทย สมอพิเภก มะขามป้อม) รับประทานในรูปน้ำต้มดื่ม

2. กลุ่มพืชสมุนไพรผลไม้ที่มีวิตามินซีและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ได้แก่ ดอกขี้เหล็ก ยอดมะยม ใบเหลียง ยอดสะเดา ฟักข้าว มะระขี้นก ผักเชียงดา คะน้า มะรุม ผักแพว มะขามป้อม นอกจากนี้ ยังมีพืชสมุนไพรอื่นๆ ที่มีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระสูง เนื่องจากมีสารกลุ่มแอนโทไซยานิน ซึ่งเป็นสารฟลาโวนอยด์ เสริมการทำงานของเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันร่างกาย เช่น ผลหม่อนสด ผักผลไม้หลากสี (ผักใบเขียว ผักผลไม้สีส้ม สีม่วง สีแดง)

3. กลุ่มผักผลไม้ที่มีสารสำคัญ สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส โควิด-19 ได้แก่

3.1 กลุ่มสารเฮสเพอริดิน (hesperidin) และ รูติน (rutin) สูง เช่น พืชตระกูลส้ม (ส้ม มะนาว มะกรูด ส้มซ่า)

3.2 กลุ่มที่มีสารเคอร์ซีติน (quercetin) สูง ได้แก่ พลูคาว หรือผักคาวตอง หอมแดง หอมหัวใหญ่ มะรุม ใบหม่อน แอปเปิ้ล

3.3 พืชที่มีสารสำคัญ “โอเรียนทิน (orientin)” ที่มีศักยภาพดูแลป้องกันไม่ให้ไวรัสเข้าเซลล์ คือ กะเพรา พืชสมุนไพรคู่ครัวไทยนั่นเอง

 

เผยแพร่ในระบบออนไลน์ครั้งแรก เมื่อเผยแพร่ครั้งแรกเมื่อ 23 เมษายน 2563

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 2
  • ที่บ้านก็ปลูกค่ะ ต้นทุนน้อย แต่ได้กำไรตลอดถ้าขยันตัดส่ง และเป็นอาชีพที่พอเพียงค่ะ
    23 เม.ย. 2563 เวลา 13.35 น.
  • tad 🏖 4 U
    ดูเกษตรกรยิ้มแล้วชื่นใจแทน ขอแบบใบสีแดงนะครับ อร่อยมาก กว่าใบสีขาวเยอะเลย หากินยากมากครับ ถ้าได้กินนี่ถือว่ามีบุญเลยครับ แบบใบสีแดง
    23 เม.ย. 2563 เวลา 09.50 น.
ดูทั้งหมด