ไลฟ์สไตล์

ศิลปะในการร่ำลา - อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

THINK TODAY
เผยแพร่ 10 ธ.ค. 2562 เวลา 10.15 น. • อุ๋ย นที เอกวิจิตร์

ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมามีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ป่วยมะเร็งหลายท่าน บางท่านก็เพิ่งได้รับการรักษา บางท่านก็อยู่ในระยะท้ายซึ่งปัจจุบันได้เสียชีวิตลงแล้ว ตัวผมได้เคยมีโอกาสเข้ารับการอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายและการเผชิญความตายอย่างสงบ ซึ่งก็ได้รับข้อมูลที่เป็นประโยชน์หลายอย่างในการเตรียมตัวสำหรับตัวเองและครอบครัว เพราะไม่ว่าเราจะเป็นใคร ในอนาคตข้างหน้า (ซึ่งไม่รู้ว่าใกล้หรือไกลแค่ไหน) เราก็จะต้องเจอกับความแก่ ความป่วย ความเจ็บความตาย ความพลัดพราก จากบุคคลและสิ่งของอันเป็นที่รัก ไม่ว่าคุณจะเป็นคนมีชื่อเสียงหรือ เป็นคนจน หรือเป็นคนรวยล้นฟ้า หรือเป็นคนดี หรือเป็นคนเลว ไม่ว่าใครหน้าไหนก็จะได้ พบกับสิ่งเหล่านี้เหมือนกันทุกคน  

การพูดคุยเพื่อให้กำลังใจผู้ป่วย เป็นศิลปะที่ น่าสนใจและมีประโยชน์สำหรับผม ตอนที่ได้ทดลองทำครั้งแรกคือเป็นเหตุการณ์จำลองขณะที่อยู่ในการอบรมการดูแลผู้ป่วยระยะท้าย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทำให้รู้ตัวว่ายังทำได้ไม่ค่อยดีนัก    

มีแต่ความต้องการของเราที่ต้องการให้ผู้ป่วยคลายทุกข์ใจคลายกังวล โดยที่มองข้ามความต้องการที่แท้จริงของผู้ป่วย  

การให้กำลังใจผู้ป่วยเป็นศิลปะแห่งการสื่อสารที่ไม่ได้ฟังด้วยหูอย่างเดียวเท่านั้นแต่ต้องฟังความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยด้วยใจ ผ่านทางตาด้วยการสังเกต ผ่านทางมือด้วยการสัมผัส ทำตัวเหมือนเป็นที่ว่าง เพื่อไปซึมซับความรู้สึกและความต้องการของผู้ป่วยก่อน เพื่อจะได้ตอบสนองให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผู้ป่วยแต่ละคนมีความรู้สึกและความต้องการที่แตกต่างกัน ผมชอบจะเผลอนำความหวังดีมอบให้ตามวิธีที่เราถนัด ซึ่งนั่นก็คือข้อคิดและหลักธรรมคำสอน แต่ไม่ใช่ผู้ป่วยทุกคนต้องการสิ่งนั้น 

ผู้ป่วยบางรายอาจจะมีกำแพงหนายากที่จะเข้าถึงได้ บางรายอาจจะอยากระบายความอัดอั้นหรืออยากเล่าประสบการณ์ชีวิตที่ผ่านมา เขาเพียงต้องการคนที่รับฟังอย่างตั้งใจจริงโดยที่ไม่มีการตัดสินว่าผิดหรือถูก แค่เค้าได้ระบายออกมาเค้าก็รู้สึกสบายใจขึ้นแล้ว 

ในบางรายแค่เพียงการสัมผัสมือและส่งความรู้สึกดีอย่างจริงใจเท่านั้นก็เพียงพอที่จะทำให้ผู้ป่วยรู้สึกดีขึ้น บางคนอยากอยู่เงียบๆ ได้พักผ่อนไม่ชอบรับแขกอันนี้ก็ต้องสอบถามญาติหรือลูกหลานก่อนจะไปเยี่ยม บางคนชอบให้มีเพื่อนฝูงญาติพี่น้องห้อมล้อมเสียงดังให้รู้สึกว่าตัวเองไม่เหงาไม่เดียวดาย 

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ทุกวันนี้ถ้ามีโอกาสได้ไปเยี่ยมผู้ป่วย ก็คิดว่านอกจากจะไปให้กำลังใจแล้ว ยังได้ไปรับประสบการณ์ ได้ข้อคิดเตือนสติตัวเอง ให้พร้อมรับมือในวันที่จะเกิดขึ้นกับเรา

ยามป่วยคือช่วงวิกฤตในชีวิตของหลายๆคน ที่ทำให้ทุกข์ทั้งกายและใจ แต่วิกฤตนี้ก็เป็นโอกาสทองเช่นกันที่จะทำให้ได้ทบทวนชีวิตและเรียนรู้ว่าอะไรคือสิ่งสำคัญ 

แต่เราไม่ต้องรอถึงวันที่เราป่วยก็ได้ ใช้โอกาสในการเยี่ยมผู้ป่วยนี้ ลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าถ้าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นกับเรา เราจะทำใจให้คลายกังวลได้มั้ย ที่เราไปให้กำลังใจเค้านั้น ถ้าเป็นเรา เราเองอยากได้แบบไหน 

แล้วถ้าเราจะตาย เราพร้อมรึยัง

ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่ผมเคารพท่านเล่าให้ฟังว่า ก่อนนอนทุกคืน ท่านจะหลับตาแล้วจินตนาการว่ากำลังล่ำลาลูกทีละคนและสามี โดยที่คิดว่าจะไม่ตื่นมาอีกแล้ว แรกๆ ที่ทำก็ใจหาย ทำไปเรื่อยๆ ก็รู้สึกชิน หมดห่วง 

ไม่นานมานี้ได้ไปกราบท่าน ไพศาล วิสาโล ท่านเป็นพระสงฆ์ที่รณรงค์ให้สังคมตื่นตัวกับเรื่องการตายอย่างสงบ และ มรณานุสติ ทราบมาว่าท่านเคยไปส่ง ผู้ป่วยก่อนเสียชีวิตมาแล้วหลายราย เลยถามท่านว่า ถ้ามีผู้ป่วยกำลังจะเสียชีวิต มีคลิปเสียงของท่านที่ช่วยพูดให้ผู้ป่วยปล่อยวางหรือไม่ ท่านบอกว่าเคยทำเอาไว้ 

คืนนั้นก่อนนอนก็เปิดคลิปเสียงนี้ฟัง และจินตนาการว่าเรากำลังจะตาย มีคนรักและครอบครัวนั่งกันอยู่นอกห้อง อย่างที่เราเคยสั่งเสียไว้ มีเรานอนอยู่คนเดียว 

ทำให้เห็นเลยว่า ใจเรายังกังวลว่าคนรักและครอบครัวจะทุกข์ใจกับการจากไปของเรา ห่วงกันไปมาแบบนี้ จากไปอย่างไม่สงบแน่ๆ 

ทำให้คิดขึ้นมาว่า ถ้าเราจะตายก็อยากให้คนที่ยังอยู่ ยิ้มแย้มสบายใจ เราก็จะสบายใจไปด้วย วินวินกันทุกฝ่าย ซึ่งเป็นเรื่องที่ทำได้ยาก แต่ถ้าเข้าใจและพยายามเตรียมตัว ก็จะทำได้ดีกว่าไม่เตรียมตัวเลย 

ถ้าอยากจะจบดีๆ Happy Ending เรื่องที่ค้างคาใจ ความโกรธ ความเกลียด ที่ยังไม่ได้อภัยก็สำคัญ ถ้ามีโอกาสได้สะสางสิ่งที่ค้างคาใจก่อนตายก็ดี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะได้รับโอกาสนั้น เพราะฉนั้นถ้าเรามีโอกาสเคลียรฺสิ่งที่ค้างคาใจได้ตั้งแต่วันนี้ ก็เป็นการเตรียมพร้อมที่ดีเหมือนกัน

ศิลปะแห่งการร่ำลา

เป็นวิชาที่น่าฝึก

โดยเฉพาะบั้นปลายชีวิต ที่ต้องร่ำลาจากทุกสิ่งที่สะสมมาทั้งชีวิต 

เงินทอง บ้าน รถ ของรัก

ครอบครัว 

คนรัก

รวมทั้งตัวตน

เราทุกคน ต้องเจอ 

เกียมตัวนะฮะ ! ไป ไป ไป(เสียงดีเจวิว🤣)

นำทางสู่ความตาย สำหรับผู้ปฎิบัติธรรม

นำทางสู่ความตายสำหรับคนทั่วไป

นำทางสู่ความตายสำหรับผู้สนใจธรรม

ความเห็น 13
  • Tui of Earth
    หากโลกหลังความตายไม่มีวิญญาณ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ของเราจะใช้การไม่ได้แล้ว สื่อสัมผัสต่างๆก็ใช้การไม่ได้ เราจะนิพพานโดยอัตโนมัติ กลับกันถ้าโลกหลังความตายมีวิญญาณ เราจะรับข้อมูลอะไรเข้าไปในดวงจิตไม่ได้อีก เพราะตัวรับ รูป รส กลิ่น เสียง ใช้การไม่มีแล้ว เหลือก็เฉพาะความรู้สึกเท่านั้น หากเรายังห่วงทรัพย์ ลูกหลานหรืออะไรก็แล้วแต่ เราจะทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากเสียใจ การปล่อยวางจึงจำเป็นมากในตอนนี้ อยากจะอธิบายให้เห็นภาพมากกว่านี้ แต่คอมเม้นจำกัดแค่ 500 ตัวอักษร บทความนี้เป็นบทความที่ดี
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 16.38 น.
  • การไม่ยึดติดย่อมไม่ทำให้เป็นทุกข์ เพราะทุกสิ่งล้วนแล้วก็ย่อมที่จะต้องเป็นไปตามสัจจะธรรม.
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 21.57 น.
  • Rainny L.(อิมกึมบี)🌦
    แม้ในการหลับพระพุทธเจ้ายังให้มีสติ แล้วในความตายเล่าก็ควรที่จะตายอย่างมีสติ อันการมีสติแม้ในเวลาตาย จะทำให้จิตไม่ตกไปอยู่ที่ภพภูมิต่ำ ระลึกรู้เสมอแม้ในขณะที่จิตกำลังจะลาลับดับลงไป
    11 ธ.ค. 2562 เวลา 12.18 น.
  • Pradit.n
    อยากให้เขียนบทความเลิกเป็นสลิ่มเลิกเป็นควายแดง
    10 ธ.ค. 2562 เวลา 13.09 น.
  • เห็นด้วยด้วยครับ คนเราประมาทความตายไม่ได้เลย. บางทีคนเกิดก่อนตายก่อนคนทีหลังก็มีเยอะแยะมากมาย
    12 ธ.ค. 2562 เวลา 13.13 น.
ดูทั้งหมด