ไลฟ์สไตล์

“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” อาชีพ ร.๙ พระราชทาน สู่แหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรทรงคุณค่า

Manager Online
อัพเดต 15 ต.ค. 2560 เวลา 05.15 น. • เผยแพร่ 15 ต.ค. 2560 เวลา 05.15 น. • MGR Online
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

Facebook :Travel @ Manager

ในปี พ.ศ.2503 เมื่อครั้งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เสด็จประพาสประเทศเดนมาร์ค ทรงสนพระทัยในกิจการโคนมของชาวเดนมาร์คเป็นอย่างมาก จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ และการริเริ่มของ “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” ด้วยทรงเล็งเห็นว่าอาชีพการเลี้ยงโคนมจะช่วยให้ชาวไทยได้บริโถคอาหารที่มีคุณค่า ทั้งยังช่วยให้เกษตรกรไทยได้มีอาชีพที่มั่นคงและเป็นหลักแหล่ง ไม่ต้องบุกรุกทำไร่เลื่อนลอยอีกต่อไป

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ต่อมาในปี พ.ศ.2505 รัฐบาลเดนมาร์คและสมาคมเกษตรกรโคนมเดนมาร์ค ได้น้อมเกล้าฯ ถวายโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนมขึ้นที่ อ.มวกเหล็ก จ.สระบุรี โดยร่วมมือกับรัฐบาลไทยจัดตั้งฟาร์มโคนมขึ้น ก่อนจะโอนกิจการทั้งหมดให้รัฐบาลไทย และจัดตั้งเป็น “องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” ขึ้นมา

“องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)” หรือที่เรารู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” และยิ่งคุ้นเคยกันดีกับผลิตภัณฑ์นมยูเอชที “นมไทย-เดนมาร์ค” หรือ “นมวัวแดง” ซึ่งผลิตและจำหน่ายอยู่ที่ฟาร์มแห่งนี้นี่เอง

การผลิตนมยูเอชที (U.H.T.) ของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คนั้น ก็เป็นการผลิตที่ได้รับการรับรองตามมาตรฐาน โดยนมยูเอชทีคือนมที่ผ่านกรรมวิธีการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนที่อุณหภูมิเกินกว่า 133 องศาเซลเซียส ไม่น้อยกว่า 1 วินาที ซึ่งเป็นอุณหภูมิที่สามารถทำลายเชื้อแบคทีเรียที่ทำมห้เกิดโรคได้ทั้งหมด รวมทั้งสปอร์ของแบคทีเรียที่ทนความร้อนสูง นอกจากนี้ก็ต้องบรรจุในภาชนะและสภาวะที่ปราศจากเชื้อและต้องผ่านกรรมวิธีทำให้เป็นเนื้อเดียวกัน

สำหรับขั้นตอนการผลิตเริ่มจากการรับน้ำนมดิบ ซึ่งจะถูกตรวจสอบคุณภาพตามมาตรฐาน จากนั้นจะเป็นขั้นตอนการเทอร์ไมเซชั่น โดยฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเบื้องต้น แล้วถูกทำให้เย็นลง จากนั้นก็เข้าสู่ขั้นตอนการโฮโมจีไนส์เซชั่น เพื่อทำให้ขนาดอนุภาคของไขมันในนมมีขนาดเล็กลง แล้วจึงฆ่าเชื้อด้วยความร้อนแบบยูเอชที สุดท้ายจึงนำไปบรรจุในกล่องภายใต้สภาวะปลอดเชื้อ

บนกล่องนมของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค มีสัญลักษณ์เป็นรูปวัวแดง ซึ่งก็คือ “โคนมพันธุ์เรดเดน” ซึ่งเป็นโคนมสายพันธุ์แรกที่ถูกนำมาเลี้ยงที่ฟาร์มโคนมแห่งนี้ เป็นโคนมที่มีถิ่นกำเนิดในประเทศเดนมาร์ค ลักษณะมีสีน้ำตาลแดงเลือดหมูทั้งตัว จึงได้นำโคนมพันธุ์นี้มาเป็นตามสัญลักษณ์ของฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค

นอกจากนมไทย-เดนมาร์คแบบยูเอชที ที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค ก็ยังมีผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกด้วย คือ นมพาสเจอร์ไรส์ โยเกิร์ต และไอศกรีม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นผลิตภัณฑ์พัฒนาขึ้นมาจากความสนพระราชหฤหัยของพระบิดาแห่งการโคนมไทย และพระราชทานอาชีพเลี้ยงโคนมให้กับเกษตรกรไทย ได้อยู่ดีกินดีจนถึงทุกวันนี้ อีกทั้งสถานที่แห่งนี้ได้เพิ่มคุณค่าเป็นแหล่งเรียนรู้เชิงเกษตรที่ควรค่าแก่การไปสัมผัส

ปัจจุบัน “ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” เปิดให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้นักท่องเที่ยวได้เข้าไปศึกษาวิธีการผลิตนมในขั้นตอนต่าง ๆ ตั้งแต่การเลี้ยงโคนม การนำน้ำนมไปแปรรูป จนกระทั่งออกมาเป็นผลิตภัณฑ์หลากหลายรูปแบบ และนอกจากจะได้ความสนุกสนานแล้ว ภายในฟาร์มยังมีทิวทัศน์ที่สวยงาม เหมาะสำหรับเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ

เริ่มต้นกันที่ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติ เรียนรู้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ รู้จักพืชพันธุ์สมุนไพรไทย และชมการสาธิตการทำปุ๋ยนม จากนั้นไป ชมวิดีทัศน์ เพิ่มความรู้ด้านข้อมูลประวัติความเป็นมาของอ.ส.ค และ ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คจากอดีตจนถึงปัจจุบัน

จุดไฮไลท์ที่พลาดไม่ได้ของที่นี่ คือการรีดนมวัว โดยวิทยากรจะให้ความรู้เกี่ยวกับการรีดนมวัวทีละขั้นตอน ตั้งแต่การสอนชาวบ้านเลี้ยงวัวนม ขั้นตอนก่อนรีด วิธีการรีด และหลังจากรีดนมวัว อาทิ การนำไปตรวจสอบคุณภาพ ขั้นตอนการคัดกรองนมต่าง ๆ ไปจนถึงการกำหนดราคารับซื้อ การรับซื้อน้ำนมเข้าโรงงาน รวมไปถึงเกร็ดความรู้เกี่ยวการเก็บรักษานมแต่ละชนิด ซึ่งในจุดรีดนมวัวเปิดโอกาสให้นักท่องเที่ยวสามารถรีดนมวัวได้ โดยจะมีการสาธิตวิธีการรีดนมวัวที่ถูกต้องจากผู้เชี่ยวชาญ เรียกได้ว่านอกจากจะได้รีดนมวัวด้วยตัวเองแล้ว ยังได้รับความรู้กันอย่างครบถ้วน

จากนั้นไปสร้างเสริมประสบการณ์กันต่อที่ จุดป้อนนมลูกโค หลังจากรีดนมแม่โคแล้ว ก็มาให้นมลูกโค พร้อมชื่นชมความน่ารักของลูกโคตัวน้อยหลากสายพันธุ์ ที่นี่นอกจากจะมีแม่วัว และลูกวัวที่น่ารักแล้ว บริเวณใกล้กันยังมี สวนสัตว์ไทย-เดนมาร์ค ที่จะได้เพลิดเพลินกับสัตว์น่ารัก อาทิ นกกระจอกเทศ อูฐ และกวาง ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถป้อนหญ้าให้กับสัตว์เหล่านี้ได้ หลังจากชื่นชมวิวทิวทัศน์ สัมผัสวิถีชีวิตเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมแล้ว ก็ไปตื่นเต้นเร้าใจกันต่อกับการแสดงคาวบอย และการแสดงม้า ชื่นชมความน่ารักของม้าแคระเต้นลีลาศที่ถูกใจถูกใจนักท่องเที่ยวที่มาเยือน

“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” ถือว่าเป็นอีกหนึ่งอาชีพพระราชทานจากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ที่ทรงมีต่อเกษตรกรชาวไทยให้มีอาชีพที่มั่นคง การมาเยือนฟาร์มโคนมนี้ นอกจากจะได้รับความสนุกสนานเพลิดเพลินจากกิจกรรมต่าง ๆ ที่ทางฟาร์มจัดไว้ให้ ยังได้รับประสบการณ์ตรงจากการไปดู และลงมือทำ เข้าไปสัมผัสเรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ การใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรด้วยตนเอง อีกทั้งยังเป็นการกระจายรายได้สู่เกษตรกรอีกด้วย

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

“ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์ค” ตั้งอยู่ที่ 160 ถนนมิตรภาพ ตำบลมิตรภาพ อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี ผู้ที่สนใจการท่องเที่ยวเชิงเกษตรสามารถมาเที่ยวที่ฟาร์มโคนมไทย-เดนมาร์คได้ทุกวัน เวลา 9.00 - 15.00 น. และเปิดขายนม เวลา 8.30 - 17.00 น. สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายท่องเที่ยวเชิงเกษตร องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย โทร. 0-3634-4926 และ www.facebook.com/Farmkonom

สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com หรือติดตามเพิ่มเติมได้ที่ Facebook :Travel @ Manager

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • TRE
    วิธี ชีวิตเกื่อกูลกัน ที่อยู่ คู่เรามาเกือบจะเเทบทุกวัน ในสังคม เป็น คู่ ขนาน แต่ไม่พร้อมจะว่างที่จะรู้จักกัน
    15 ต.ค. 2560 เวลา 18.19 น.
ดูทั้งหมด