ทั่วไป

ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้ายา แอนติบอดี ค็อกเทล และกระจายให้รพ.รักษาผู้ป่วยโควิด ไม่ให้อาการหนัก

JS100
อัพเดต 22 ก.ย 2564 เวลา 08.59 น. • เผยแพร่ 21 ก.ย 2564 เวลา 05.19 น. • JS100:จส.100
ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เตรียมนำเข้ายา แอนติบอดี ค็อกเทล และกระจายให้รพ.รักษาผู้ป่วยโควิด ไม่ให้อาการหนัก

         ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ แถลงข่าวออนไลน์ เรื่องการรับมือสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในปัจจุบันและอนาคต และแผนการใช้ยาแอนติบอดี ค็อกเทล เพื่อรักษาผู้ป่วยในประเทศไทยที่มีอาการน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงสูงที่อาการจะลุกลามไปสู่ระดับรุนแรง

         ศ.นพ.นิธิ มหานนท์ เลขาธิการราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ เปิดเผยถึงบทบาทและความร่วมมือในการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด-19 ว่าทำงานประสานกับทุกหน่วยงาน ในช่วงที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และศูนย์บริหารสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19(ศบค.) กำหนดให้ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จัดหายาที่ยังไม่ผ่านการอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) และ วัคซีนทางเลือก เพื่อช่วยในการจัดหาวัคซีนโควิด-19 มาฉีดให้กับคนไทย ในช่วงที่ไทยยังไม่มียาและวัคซีน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

         นอกจากการใช้วัคซีนในการป้องกันแล้ว ยังต้องมีการตรวจที่รวดเร็วและง่าย รวมถึง การพัฒนายารักษาโรค ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ นำยาฟาวิพิราเวียร์ มาใช้ตั้งแต่แรก จากนั้นร่วมกับคณะเภสัชศาสตร์ จุฬา ฯหาตำรับยาที่เป็นยาน้ำเชื่อม ทำให้เด็กที่ติดเชื้อโควิด-19 ได้รับการรักษา และในขณะนี้กำลังดำเนินการฉีดวัคซีนทางเลือกซิโนฟาร์มให้กับกลุ่มเด็กเพื่อที่จะให้เด็กกลับไปเรียนหนังสือได้

         สิ่งที่ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ กำลังดำเนินการ คือ การนำเข้ายาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ค็อกเทล และจะกระจายให้กับโรงพยาบาลต่างๆ ซึ่งจะใช้ช่วยรักษาดูแลอาการคนไข้ที่มีอาการน้อย แต่มีแนวโน้มที่อาการจะหนักและมีความเสี่ยงถึงขั้นจะเสียชีวิตได้ เพื่อช่วยลดผู้ป่วยที่จะเข้าไปรักษาในโรงพยาบาลและไอซียู จะทำให้การดูแลคนไข้อื่นทำได้ง่ายขึ้น ขณะเดียวกัน ตั้งแต่เดือนเม.ย. ได้ใช้วิธีการรักษาผู้ป่วยในระบบการกักตัวที่บ้าน โดยมีหมอและพยาบาล ติดตามดูแลอาการ  

         ศ.นพ.นิธิ ให้ความสำคัญเรื่องการดูแลทางสังคม โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน เพื่อทำให้คนมั่นใจ กลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ รวมทั้งเรื่องการจัดระบบการรักษา เนื่องจาก โควิด-19 จะอยู่กับเราไปอีกนาน และขอให้ปรับความคิด และความเข้าใจ เนื่องจาก ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลง จนกว่าจะเป็นเหมือนโรคไข้หวัด นอกจากนี้ ขอให้มีความมั่นใจในวิทยาการทางด้านการแพทย์ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่องเพื่อสู้กับโควิด-19 และในวันหนึ่งเราจะกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ   

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

          ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เปิดเผยว่า ในต่างประเทศมีการพัฒนายาชนิดใหม่ๆ ในการรักษา เพื่อลดความรุนแรง ลดการป่วยหนักและลดอัตราการเสียชีวิต  โดยเฉพาะในกลุ่มโมโนโคลนอลแอนติบอดี ซึ่งเป็นกลุ่มยาที่ไม่แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยที่รักษาอาการช้า รักษาอาการเลย 10 วัน หรือ สัปดาห์ที่สองและสาม พร้อมทั้งอธิบายสิ่งบ่งชี้ที่ระบุว่าคนไข้ที่ควรจะได้รับยาตัวนี้ คือ คนที่มีโรคเรื้อรัง โรคอ้วน ผู้สูงอายุ และ ในอนาคต อาจจะใช้กับหญิงตั้งครรภ์  และในกลุ่มเด็ก

          การพัฒนาวิจัยยาตัวใหม่ๆ จะทำให้การรักษาคนไข้โควิด-19 มีความคืบหน้า จะมีทั้งยาฉีดและยากิน จะเป็นทั้งยาที่ใช้รักษาและป้องกัน  

         ส่วนแนวทางการจัดการวิกฤตเตียงเต็ม ผศ.นพ.โอภาส กล่าวว่า จากการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ก่อนที่จะเกิดโรคโควิด-19 เมื่อ 2 ปีก่อน ทำให้สามารถรับมือกับการติดเชื้อระลอกแรกได้ พอมาช่วงหลังจนถึงปัจจุบัน คนไข้เพิ่มมากขึ้นจนล้นศักยภาพ ทำให้ต้องเพิ่มมาตรการต่างๆ มีการขยายเตียงรับคนไข้ เช่น เตียงที่ดูแลผู้ป่วยอาการไม่หนัก และผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในห้องไอซียู และเพิ่มเตียงนอกโรงพยาบาล ด้วยการดูแลผู้ป่วยในระบบ Home Isolation Community Isolation และ Hospitel  

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

          สิ่งสำคัญที่จะทำให้การบริหารจัดการเตียงมีประสิทธิภาพ ต้องแยกคนไข้ให้ดี แบ่งเป็นกลุ่มกระจายคนไข้ในแต่ละกลุ่มเข้าไปในสถานที่ที่ดูแลได้และคุมคุณภาพได้

         ด้านผศ.นพ.กำธร มาลาธรรม นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย เปิดเผยถึงการรับมือวิกฤตผู้ป่วยว่าในช่วงนี้จะเห็นได้ว่าจำนวนผู้ป่วยลดลง ก็สบายใจได้ในระดับหนึ่ง แต่เราก็ต้องมีแนวทางในการป้องกัน เนื่องจาก มองว่า กลางเดือน ต.ค.64 จะเห็นคนไข้เพิ่มมากขึ้น หลังจากที่เราเปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่หวังว่ากราฟจะไม่ชันเหมือนการระบาดรอบแรกๆ  ขอให้ทุกฝ่ายทั้งรัฐบาลและประชาชนร่วมมือกันในการช่วยกันลดผู้ป่วยติดเชื้อ แต่ก็ต้องยอมรับว่ามีรูรั่ว ที่ทำให้มีผู้ติดเชื้อ

         ผศ.นพ.กำธร เปิดเผยว่า เรามีอาวุธหลายชนิด ทั้งมาตรการป้องกัน วัคซีน ยาเท่าที่มีอยู่ในขณะนี้ ในอนาคตต่อไปเราจะมียาต้านไวรัสที่ดีขึ้น เช่น ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดี ช่วยรักษาอาการคนไข้ที่มีความเสี่ยงสูง

         การฉีดวัคซีน เป็นเรื่องสำคัญมาก จะเห็นได้ว่า คนที่ฉีดวัคซีนแล้ว หากติดเชื้ออาการจะรุนแรงน้อยกว่าคนที่ไม่ฉีดอย่างมาก แต่ก็ยังมีอาการหนักได้ ต่างจากคนที่ไม่ฉีดวัคซีน จะมีอาการหนักมาก ตอนนี้เราเห็นคนที่ฉีดวัคซีนเข็มเดียว แม้ติดเชื้ออาการน้อยกว่าคนที่ไม่ฉีดอย่างมาก โควิด-19 ต้องใช้หลายวิธีในการป้องกัน

         รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และ นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เปิดเผยถึงแนวทางการรับมือกับผู้ป่วยที่มีจำนวนมากเป็นหลักหมื่นว่า การระบาดระลอกแรก ระลอกที่สอง คนไข้ไม่มาก แต่มาจนถึงเดือนเม.ย.และมิ.ย.64 เจอสายพันธุ์เดลตา ระบาด ทำให้มีผู้ป่วยจำนวนมาก มีคนไข้ปอดอักเสบมากและรุนแรงจำนวนมากร้อยละ 5 ต้องรักษาในห้องไอซียู ใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้ภาคการแพทย์สาธารณสุขมีงานตึงตัว ทำให้ต้องพยายามลดจำนวนผู้ติดเชื้อ

         การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหนักทางเดินหายใจ ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ สามารถแบ่งผู้ป่วยเป็น 2 กลุ่ม

-กลุ่มผู้ป่วยอายุไม่มาก ไม่มีโรคอ้วน ไม่มีโรคเรื้อรัง ไม่เป็นโรคเบาหวาน จะอยู่ในห้องไอซียู ประมาณ7-10 วัน

-กลุ่มผู้ป่วยสูงอายุ ภูมิต้านทางผิดปกติ มีโรคเรื้อรัง  จะอยู่ในห้องไอซียูหลายวัน อาจจะต่อเนื่องตั้งแต่ 10-30 วัน และผลการรักษาไม่ดี สิ่งที่สำคัญที่สุด พยายามไม่ให้กลุ่มเสี่ยง มีอาการเจ็บป่วย เนื่องจากจะมีอาการรุนแรงและต้องเข้ารักษาในไอซียู

#โควิด19

#ยาโมโนโคลนอลแอนติบอดีค็อกเทล

ดูข่าวต้นฉบับ