“เด็กพฤติกรรมรุนแรง” ก๊อปที่บ้าน? ก๊อปสื่อ? หรือเป็นโดยกำเนิด!
10 ต.ค. ชาวเน็ตแห่แชร์คลิปเด็กประถมถูกทำร้ายในโรงเรียนโดยในคลิปเป็นเด็กผู้หญิงที่แต่งเครื่องแบบโรงเรียนเดียวกันเด็กที่โตกว่าอยู่กันเป็นกลุ่มรุมกระชากผมและดึงผมเด็กที่ดูอายุน้อยกว่าและนั่งตรงกลางวงอย่างรุนแรงเป็นเวลากว่า2 นาทีจนเด็กที่ถูกทำร้ายร้องไห้เสียงดังจึงมีเพื่อนอีกจำนวนหนึ่งเข้ามาปลอบให้เงียบ
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นที่ โรงเรียนแห่งหนึ่ง จ.พะเยา รุ่นพี่ชั้นม.2 ได้พารุ่นน้อง ป. 4 ที่เป็นออทิสติกเข้าไปในห้องเรียนโดยอ้างว่าจะถักเปียให้ แต่กลับรุมทำร้ายโดยผลัดกันกระชากผมแล้วให้เพื่อนถ่ายคลิปวิดีโอเก็บไว้ จนรุ่นน้องร้องไห้เสียงดังด้วยความเจ็บและความกลัว รุ่นพี่คนอื่นจึงพยายามเข้ามาปลอบและปิดปากไม่ให้เสียงออกไปข้างนอกแทน
หลังจากชาวเน็ตพากันกร่นด่าถึงความโหดร้ายเกินวัยที่เกิดขึ้นในคลิปแรกไปไม่นาน ญาติของเด็กหญิงที่ถูกทำร้ายได้เผยแพร่อีกคลิปที่สะเทือนใจกว่า นอกจากเด็กกลุ่มเดิมจะไม่หยุดทำร้ายแล้ว ยังเหยียบซ้ำลงไปที่หน้าอกของรุ่นน้อง แถมยังมีเด็กคนนึงเอาเท้าไปทาบปากของน้องด้วย
เชื่อว่าหลายๆ คน คงเป็นเหมือนผู้เขียนที่ในใจมีแต่ความสะเทือนใจและคำถาม เด็กอายุแค่ 14 ปีและเป็นผู้หญิงเกือบทั้งกลุ่มไปเอาพฤติกรรมที่รุนแรงขนาดนี้มาจากไหน เป็นไปได้จริงๆหรือที่ในจำนวนเด็กทั้งหมด จะไม่มีใครคิดต่างจากเพื่อนเลยหรือว่าพวกเขาควรจะหยุด สิ่งที่พวกเขากำลังทำ คือการทำร้ายร่างกายผู้อื่น
ที่เกิดขึ้นในคลิปวิดิโอก็กินเวลาไม่น้อย แถมสถานที่เกิดเหตุก็คือโรงเรียน แล้วครูผู้สอนหายไปไหน?
คนที่โดนประณามคือ "เด็ก" แต่ด้วยอายุเพียงเท่านี้พวกเขาควรอยู่ใต้การดูแลของผู้ใหญ่ตลอดเวลา ดังนั้นเรื่องที่เกิดขึ้นทั้งหมด หากจะโทษเด็กที่ทำผิดเพียงฝ่ายเดียวก็คงไม่ถูกนัก
จุดเริ่มต้นคือครอบครัวผู้ปกครองต้องแก้ไข
ฟากพ่อแม่ผู้ปกครองของเด็กที่เป็นฝ่ายทำร้ายทั้งกลุ่มนั้น ต้องรับผิดชอบแน่นอนที่ปล่อยบุตรหลานไปทำผิดกฎหมายด้วยการทำร้ายคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคู่กรณีที่อายุน้อยกว่า สภาพร่างกายและจิตใจก็ไม่สมบูรณ์ จำเป็นต้องมาทบทวนกันอย่างจริงจังว่าการเลี้ยงดูส่วนไหนที่บกพร่องถึงได้เพาะบ่มความรุนแรงระดับอาชญากรแบบนี้ขึ้นมาได้ หรือได้ทำพฤติกรรมแบบใดที่ทำให้เด็กเห็นแล้วเกิดการเลียนแบบขึ้น
เผลอๆ เด็กเหล่านี้เองก็อาจจะมีความผิดปกติทางอารมณ์ จึงมีพฤติกรรมก้าวร้าวและภูมิใจที่ได้ทำร้ายคนรอบข้าง หากปล่อยไว้โดยไม่เยียวยาย่อมจะกลายเป็นวัยรุ่นหรือผู้ใหญ่ที่ใช้ความรุนแรง ถึงตอนนั้นความเสียหายอาจจะมากเกินที่ครอบครัวจะรับมือได้ แถมยังกระทบกับสังคมด้วย เพราะกฎหมายไม่ได้คุ้มครองพวกเขาในฐานะเยาวชนอีกแล้ว
โรงเรียนและครูต้องไม่ลอยตัวเหนือความผิด
หลังจากเกิดเหตุล่าสุดผู้อำนวยการโรงเรียนได้ให้สัมภาษณ์ว่า ตนติดต่อไปยังผู้ปกครองของนักเรียนทุกคนที่อยู่ในคลิปให้เข้ามาพูดคุยกันแล้ว พร้อมให้ข้อมูลว่าเหตุเกิดในช่วงเวลาพักเที่ยง เด็กๆและครูส่วนใหญ่จะอยู่ที่โรงอาหาร กลุ่มเด็กรุ่นพี่จึงกล้าก่อเหตุและทำลงไปด้วยความคึกคะนอง พร้อมทั้งบอกว่าครอบครัวทั้งสองฝ่ายไม่ติดใจเอาความ ทั้งนี้ตนได้ทำการคาดทัณฑ์บนเด็กๆที่กระทำผิดไปแล้ว
คำถามของผู้เขียนที่อยากจะฝากไปถึงโรงเรียนและฝากไว้ใจผู้อ่านทุกคนคือ การเยียวยาเท่านี้เพียงพอหรือไม่ ?
ดูจากระดับความรุนแรงที่เด็กกลุ่มนี้ก่อแล้ว แค่ทัณฑ์บนจะห้ามปรามพวกเขาได้หรือเปล่า หลังจากเรื่องแดงไปถึงผู้ใหญ่แล้วแบบนี้ หากพวกเขาจะก่อเหตุซ้ำย่อมก็จะระวังมากขึ้น จะกลายเป็นเหยื่อจะถูกทำร้ายโดยที่ผู้ใหญ่ไม่มีทางรู้เลยหรือไม่ ทางที่ดีควรจะวางนโยบายในการดูแลความปลอดภัยในโรงเรียนโดยผู้ใหญ่ให้รัดกุมขึ้นด้วยหรือเปล่า ?
หากทางออกของโรงเรียนยังคงเป็นการแก้ผ้าเอาหน้ารอด เรียกมาไกล่เกลี่ยให้จบเป็นครั้งๆโดยไม่มองถึงภาพรวมของปัญหาความรุนแรงระหว่างเด็กจริง ๆ เรื่องราวลักษณะนี้จะยังเกิดขึ้นซ้ำ ๆ โดยเปลี่ยนตัวละครไปเรื่อย ๆ แบบไม่ต้องสงสัย
สื่อก็มีส่วนเพาะบ่มความรุนแรง
ตัวแปรหนึ่งที่ไม่ควรมองข้ามในกรณีนี้ คือ หากเด็กไม่ได้เรียนรู้การใช้ความรุนแรงมาจากที่บ้าน "อินเตอร์เน็ตและโทรทัศน์" คือสิ่งที่พวกเขาเลียนแบบได้
นอกจากละครหลายๆ เรื่อง ที่มีฉากรุนแรงเช่น การตบตีทะเลาะวิวาท เพราะถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของเนื้อเรื่อง และเป็นความเข้มข้นในแบบที่ผู้ชมชอบ หลายปีมานี้ อีกสิ่งที่เราจะได้เห็นกันอยู่บ่อยๆ คือวาทกรรรมประกาศศักดาในโลกออนไลน์ ผู้ใหญ่ขู่จะเอาเรื่องกันในระดับอันธพาล มีคลิปวัยรุ่นชายท้าทายที่จะทำร้ายร่างกายกัน หรือแม้แต่เด็กนักเรียนหญิงตบตีกันแล้วถ่ายคลิปเก็บเอาไว้ ซึ่งจริงๆแล้วไม่ถูกต้องนัก
ในช่วงอายุของเยาวชนที่ยังพิจารณาความถูกต้องเหมาะสมด้วยตัวเองไม่ได้ทั้งหมด พวกเขาควรรู้ว่า การใช้กำลังเป็นเรื่องทีผิด คนเราควรจะได้รับการยอมรับด้วยเรื่องอื่นเช่น ความรู้ ความสามารถ ความสุภาพ ความมีน้ำใจ และเราก็ควรส่งเสริมให้เด็กได้รับความรัก ความอบอุ่นและการยอมรับในทางที่ถูก ก่อนที่เขาจะเลือกเลียนแบบพฤติกรรมรุนแรงที่เห็นจากในสื่อ เพราะในคลิปวิดิโอที่เห็น มันมีการยอมรับนับถือคนที่ใช้กำลังจนชนะอยู่เสมอ
สุดท้ายแล้วผู้ใหญ่เองจะต้องใส่ใจ สอดส่องอย่างเต็มความสามารถ เพราะถึงแม้ความสูญเสียที่เกิดกับเหยื่อในครั้งนี้ แสดงออกทางกายเป็นความฟกช้ำและอาการเจ็บหน้าอกที่น้องบอกแม่ แต่รอยร้าวข้างในใจของน้องย่อมไม่มีใครมองเห็นหรือล่วงรู้ได้ แต่ถ้าหากมีครั้งหน้าและเหยื่อเกิดอันตรายถึงชีวิตขึ้นมา การเรียกผู้ปกครองมาไกล่เกลี่ยอาจไม่ทำให้เรื่องราวจบลงแบบ "ไม่ติดใจเอาความ" แบบที่ท่านผอ.กล่าวเสมอไป
ขอบคุณข้อมูลจาก
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1672198
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1672073
https://www.khaosod.co.th/breaking-news/news_1672343
https://www.dailynews.co.th/regional/670743
https://www.thairath.co.th/content/1394397
พ.ต.หญิง วรินภร ค. ทุกอย่างรวมกัน บ้าน สิ่งแวดล้อม พ่อแม่ ครอบครัว สื่อ ข่าว สันดาน ฯลฯ
12 ต.ค. 2561 เวลา 00.35 น.
Auntie Noi อย่าโทษครอบครัวอย่างเดียว บางทีเด็กบางคนต้องการการยอมรับจากเพื่อน ก็ยอมทำพฤติกรรมชั่วร้าย
12 ต.ค. 2561 เวลา 00.15 น.
Tamm คงเป็นสันดาน ทำกับเด็กเล็กๆนี้จิตใจไม่รู้ทำด้วยอะไร ต้องโดนโทษให้หนักจะได้รู้ผิดถูก
12 ต.ค. 2561 เวลา 00.14 น.
ที่เด็กเป็นแบบนี้เพราะผู้ใหญ่ไม่ดี.
12 ต.ค. 2561 เวลา 00.22 น.
winai45 พฤติกรรมเลียนแบบล้วนๆจะโทษเด็กไม่ได้ พ่อแม่ ครู และสังคมส่วนรวมสื่อต่างๆมีส่วนต้องรับผิดชอบร่วมกัน
12 ต.ค. 2561 เวลา 00.21 น.
ดูทั้งหมด