ทั่วไป

‘ขนแรดแบบกลับหัว-นักการเมืองอ้วนสะท้อนคอร์รัปชัน’ คว้า อิกโนเบล

The Bangkok Insight
อัพเดต 11 ก.ย 2564 เวลา 04.17 น. • เผยแพร่ 11 ก.ย 2564 เวลา 04.14 น. • The Bangkok Insight

การเคลื่อนย้ายแรดแบบกลับหัว ส่งผลดีต่อสุขภาพของสัตว์ มากกว่าแบบตะแคง และ ระดับความอ้วนของนักการเมือง เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอัตราการคอร์รัปชันของประเทศนั้น คว้ารางวัล "อิกโนเบล" ประจำปี 2564 ไปครอง

ผลงานของทีมนักวิจัย จาก มหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ สหรัฐ เกี่ยวกับการขนย้ายแรด ในท่ากลับหัว ได้รับรางวัลอิกโนเบล สาขาการคมนาคมขนส่ง ประจำปี 2564 ไปครอง

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทีมวิจัย บอกว่า  วิธีการขนย้ายแรด แบบที่จับมัดขา หงายท้อง แล้วให้ห้อยหัว อยู่กลางอากาศนั้น นับเป็นการขนส่งที่่ดีกว่า แบบนอนตะแคง หรือนอนคว่ำ เพราะท่ากลับหัว มีการหมุนเวียนเลือด และการหายใจที่ดี ทั้งยังไม่พบความเสียหายของกระดูก และกล้ามเนื้ออีกด้วย

ส่วนท่านอนคว่ำนั้น ส่วนหน้าอกจะแนบกับกระดานที่รองรับ หรือนอนตะแคงข้าง มีการหมุนเวียนเลือด และการแลกเปลี่ยนก๊าซในปอดไม่สม่ำเสมอนัก ทั้งยังเกิดความเสียหายจากการกดทับกล้ามเนื้อและกระดูกหน้าอกด้วย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

นอกจากรางวัลสาขาการคมนาคมขนส่งที่มอบแก่ทีมวิจัยข้างต้นแล้ว ยังมีผู้ได้รับรางวัลอิกโนเบล 2564 ในสาขาอื่น ๆ อีกดังต่อไปนี้

  • สาขาชีววิทยา มอบให้แก่ ซูซาน ช็อตซ์ ผู้วิจัยการส่งเสียงแบบต่าง ๆ ที่แมวใช้สื่อสารกับคน
  • สาขานิเวศวิทยา มอบให้แก่ เลลา ซาทอรี และคณะ ผู้วิเคราะห์พันธุกรรมแบคทีเรียในเศษหมากฝรั่ง ที่ติดอยู่ตามทางเท้าของประเทศต่าง ๆ
  • สาขาเคมี มอบให้แก่ ยอร์ก วิกเคอร์ และคณะ จากผลงานวิเคราะห์สารเคมีในอากาศของโรงภาพยนตร์ เพื่อดูว่ากลิ่นที่ผู้ชมผลิตออกมา สามารถบ่งบอกถึงระดับความรุนแรงและพฤติกรรมต่อต้านสังคมในภาพยนตร์ที่กำลังฉายอยู่ได้หรือไม่
  • สาขาเศรษฐศาสตร์ มอบให้แก่ พาฟโล บลาวัตสกีย์ ซึ่งค้นพบว่าระดับความอ้วนของนักการเมือง เป็นดัชนีบ่งชี้ถึงอัตราการคอร์รัปชันของประเทศนั้น
  • สาขาการแพทย์ มอบให้แก่ ออลเซย์ เซม บูลุต และคณะ จากงานวิจัยที่พบว่าการบรรลุถึงจุดสุดยอดทางเพศ ช่วยลดอาการคัดจมูกได้ดีเทียบเท่ากับใช้ยาลดน้ำมูก
  • สาขาสันติภาพ มอบให้แก่ อีธาน เบเซริส และคณะ ซึ่งค้นพบว่าวิวัฒนาการทำให้มนุษย์สร้างหนวดเคราขึ้นมา เพื่อลดแรงกระแทกจากหมัดที่ต่อยเข้าหน้า
  • สาขาฟิสิกส์ มอบให้แก่ อะเลสซานโดร คอร์เบตตา และคณะ จากผลงานวิจัยที่ให้คำตอบว่า เหตุใดคนเดินถนนจึงไม่ชนเข้ากับคนเดินถนนด้วยกันอยู่เสมอ
  • สาขาจลนศาสตร์ มอบให้แก่ ฮิซาชิ มุราคามิ และคณะ จากผลงานวิจัยที่ให้คำตอบว่า เหตุใดคนเดินถนนจึงชนเข้ากับคนเดินถนนด้วยกันในบางครั้ง
  • สาขากีฏวิทยา มอบให้แก่ จอห์น มัลเรนเนน จูเนียร์ จากผลงานวิจัยเรื่อง "วิธีใหม่ในการควบคุมประชากรแมลงสาบบนเรือดำน้ำ"

ทั้งนี้ เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ผู้ชนะรางวัลอิกโนเบลในปีนี้ จะได้รับถ้วยรางวัลที่ต้องพิมพ์ออกมาประกอบเอง โดยใช้เครื่องพิมพ์สามมิติ รวมทั้งได้ครองเงินรางวัลที่เป็นธนบัตรปลอมมูลค่า 10 ล้านล้านดอลลาร์ซิมบับเว

อ่านข่าวเพิ่มเติม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
ดูข่าวต้นฉบับ