ไลฟ์สไตล์

รู้ตัวช้า - อั๋น ภูวนาท

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 13 ก.ค. 2563 เวลา 03.16 น. • อั๋น ภูวนาท
ภาพโดย AbsolutVision / unsplash.com

 

ใครจะเชื่อว่าประเทศมหาอำนาจอย่างอเมริกาที่เป็นศูนย์รวมของสุดยอดนักเศรษฐศาสตร์ตัวแม่ของโลก ประเทศที่เคยได้ชื่อว่ายิ่งใหญ่กว่าใครในทุกๆด้าน มีจำนวนมหาเศรษฐีระดับพันล้านมากที่สุดกว่าประเทศไหนในโลก เฉพาะบริษัทในเครือ GM หรือ General Motor บริษัทเดียวก็มียอดขายมากกว่า GDP ของประเทศไทยไม่รู้กี่เท่า จะมีวันเดินทางมาถึงวันนี้ที่เศรษฐกิจพังทลายอย่างมากมายแบบนี้ แล้วยังจะมีผู้ติดเชื้อโควิดสูงที่สุด ซ้ำยังไม่มีทีท่าว่าจะดีขึ้นสักที แต่กลับยังเต็มไปด้วยท่าทีที่มั่นอกมั่นใจในตนเองเสียเต็มประดาอยู่ได้อีกแบบทุกวันนี้ได้ยังไงกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ผมมีโอกาสได้นั่งคุยเรื่องนี้กับนักวิเคราะห์ที่มีชื่อเสียงมากระดับประเทศท่านหนึ่งในรายการทีวีว่าเรื่องมันถูกปล่อยให้เกิดขึ้นจนเลยเถิดขนาดนี้ได้อย่างไร ซึ่งคำตอบที่ได้นั้นน่าสนใจดีจัง ท่านตอบว่า…

“อ๋อ… มันอยู่ที่วิธีคิดครับ คิดแบบอเมริกาเค้าคิดแบบคนรวย กว่ารู้สึกตัวว่าปัญหาจะมามันก็เลยช้า แต่คิดแบบคนจีน คนอินเดีย เค้าคิดแบบคนจน มันเลยอยู่ใกล้กับปัญหามากกว่า”

ได้ยินอาจารย์พูดอย่างนี้ เลยทำให้ผมนึกถึงเรื่องที่เคยได้ยินมาเกี่ยวกับวิธีคิดที่ต่างกันของคนในประเทศเหล่านี้ที่น่าสนใจดีอยู่เหมือนนะครับ   

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เค้าบอกว่า…

ครั้งหนึ่งในระหว่างที่อเมริกานั้นจะส่งนักบินขึ้นไปอวกาศก็เจอกับปัญหาเรื่องปากกาเขียนไม่ออกในภาวะไร้น้ำหนักขึ้นมา จึงระดมนักวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศเร่งประดิษฐ์ปากกาให้สามารถใช้เขียนในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้ ใช้เงินไปหลายสิบล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งสุดท้ายก็ประสบความสำเร็จเป็นพี่พึงพอใจอย่างดีเยี่ยม 

แต่ในปัญหาเดียวกันนี้นักบินชาติอื่นเช่นจีนเลือกที่จะใช้แค่ “ดินสอ” เขียนแทน ก็เท่านั้นเอง     

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

หรือที่โรงงานผลิตสบู่แห่งหนึ่ง  ส่งสินค้าที่ผลิตเสร็จแล้วไปถึงมือลูกค้า แต่ปรากฏว่าได้รับการร้องเรียนว่ามีปัญหาเกิดขึ้น คือบางกล่องไม่มีสบู่อยู่ข้างใน ทางโรงงานจึงระดมความคิด สำรวจเครื่องจักรว่าทำงานผิดพลาดตรงไหนและติดตั้งเครื่อง x-ray รุ่นใหม่ล่าสุดเพื่อตรวจสอบหากล่องเปล่า ใช้เงินไปหลายล้านเช่นกัน จนสามารถควบคุมปัญหาเรื่องกล่องเปล่าไม่มีสบู่ได้สำเร็จอย่างดีเยี่ยม  แต่ในปัญหาเดียวกันนี้ คนอินเดียเลือกที่จะใช้แค่พัดลมตัวใหญ่เป่าลมบนสายพาน ซึ่งถ้ามีกล่องเปล่าก็จะถูกเป่าให้ปลิวออกไป แค่นั้นเอง

“อเมริกาคิดแก้ปัญหาแบบคนรวย จีนแก้ปัญหาแบบมีคนเยอะ แต่อินเดียนี่สิที่น่าสนใจเพราะเค้าแก้ปัญหาแบบคนฉลาดจริงๆ”

ปกติผมถ่ายรายการเสร็จก็จะรีบกลับบ้านทุกที แต่วันนี้พอได้ยินเรื่องเจ๋งๆแบบนี้ เลยตัดสินใจวางข้าวของพะรุงพะรังแล้วปักหลักลงรากแก้วคุยกับอาจารย์ท่านนี้ต่ออย่างไม่มีรีรอหรือลังเล  เมื่อเห็นดังนั้น อาจารย์จึงเริ่มเล่าเรื่องความฉลาดของอินเดียซึ่งเป็นเรื่องที่เอามาจากหนังสือที่เป็นแบบเรียนของอินเดียเรื่องนึงให้ฟังต่อ ซึ่งขอบอกว่ามันน่าสนใจและน่าทึ่งอยู่ทีเดียว จนตอนฟังเสร็จอยากจะยิงพลุให้เลยเพราะไม่เข้าใจว่าคนอินเดียเค้าคิดได้ไง มันเป็นเรื่องเล่าจากหนังสือที่ชื่อว่า Indian Plays ที่เขียนโดย V. Raghunathan ที่เริ่มต้นที่….. 

“ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีเด็กคนหนึ่งเพิ่งย้ายมาจากในเมืองหลวง ซึ่งเด็กชายคนนี้ชื่อปัญญา วันหนึ่งปัญญาไปซิ้อแพะจากชาวนาคนนึงมาในราคา 1000 บาท ซึ่งชาวนารับปากว่าจะนำแพะไปส่งให้ในวันรุ่งขึ้น ครั้นพอถึงวันรุ่งขึ้น ชาวนาก็มาตามนัดแต่กลับบอกว่า “ข่าวร้ายได้เกิดขึ้นแล้ว ด้วยแพะตัวนั้นได้ตายไปเมื่อคืนนี้เอง” เด็กชายปัญญาเมื่อได้ยินจึงตอบว่า

“ไม่เป็นไร แต่ยังไงก็ขอเงินคืนแล้วกัน”

“โอ เสียใจซ้ำ 2 อีกที เพราะเงินนั้นอีนี่อาบังใช้ไปหมดแล้ว” อาบังชาวนาพูดไปอย่างเศร้าโศกเสียใจ

“งั้นเอาแพะตัวนั้นมาให้ผม” ปัญญาพูด

“จะเอาไปทำไม มันตายแล้ว” แม้จะไม่เข้าใจ แต่ชาวนาก็พิสูจน์ความบริสุทธิ์ด้วยการนำแพะที่ตายแล้วนั้นมาให้ปัญญาจริงๆ แต่ก่อนจากไป อาบังถามปัญญาว่าจะเอาเจ้าแพะที่ว่านี้ไปทำอะไรต่อไปกันแน่ ปัญญาได้แต่ยิ้มแล้วเดินจากไป พร้อมแพะไร้วิญญาณตัวนั้น โดยไม่ได้ตอบอะไร

1 เดือนผ่านไป… ชาวนาพบกับปัญญาอีกครั้ง และก็ยังคงไม่หายสงสัยว่าปัญญาเอาแพะนั้นไปทำอะไร จึงถามไป แต่ครั้งนี้ปัญญายิ้มก่อนจะตอบว่า

“อ๋อ ก็เอาแพะไปจับฉลากขายไง ทำฉลาก 500 ใบ ขายแค่ใบละ10 บาท แล้วบอกว่าใครดวงดีจับฉลากได้ก็จะได้แพะไปเลยหนึ่งตัวฟรีๆ ฉลากราคาถูกแบบนี้ ขายหมดลงในทันทีทั้งหมด ปัญญาจึงได้เงินสดๆมา 5000 บาท หักลบกับค่าต้นทุนแพะ 1000 บาทกับฉลาก1 ใบ ก็เหลือกำไรสุทธิที่ 3990 บาทไงอาบัง”

“อ้าว แล้วคนที่จับสลากได้เค้าไม่โวยวายเหรอที่แพะตัวนั้นจริงๆมันตายแล้วนะอีหนู” อาบังยังคงสงสัยหนวดกระดิกอยู่ต่อไป

“ก็โวย แต่ก็มีคนแค่คนเดียวที่จับฉลากได้เท่านั้นนี่นา และฉันก็แก้ปัญหาด้วยการขอโทษแล้วเอาเงินค่าฉลากคืนเค้าไป10 บาทเท่านั้นเอง”

ผมเงียบอึ้งไป นั่งทำหน้าตาเหมือนเข้าใจ และทำฟอร์มดีพูดออกไปว่า“อ๋อ…อ” ให้ดูเหมือนฉลาดล่วงหน้า ในระหว่างที่กำลังคิดตามไปมาอยู่อีกพักใหญ่

“โห คิดได้ไงวะเนี่ย เก่งจริง”

ผมหลุดปากพูดออกไปหลังเวลาผ่านไปเกือบ 5 นาที   

อาจารย์คนเดิมที่ตอนนี้เปลี่ยนเรื่องพูดไปนานแล้ว หยุดเม้าท์มอยแล้ว ค่อย ๆ หันกลับมามองหน้าผมยิ้ม ๆ ก่อนถามออกมาว่า

“ตกลงนี่อั๋นเพิ่งเข้าใจเรื่องแพะที่เล่าไปใช่ไหม”

ผมไม่ตอบอะไรแต่ยังคงพยายามทำหน้าตาฉลาด แล้วยิ้มกลับไปแหย ๆ

ได้ยินเสียงอาจารย์หัวเราะในลำคอเบา ๆ ก่อนจะพูดทิ้งท้ายพร้อมเดินออกไปว่า

“นี่แหละน้า วิธีคิดแบบคนไทย คือคิดไม่ออก คิดไม่ทัน แต่ชอบทำเป็นเข้าใจว่าฉลาดกว่าใคร”

ผมยังคงนั่งนิ่งยิ้มๆอยู่คนเดียวกับตัวเองต่อไปอีกพักใหญ่

ก่อนเริ่มเข้าใจว่า…

เฮ้ย นี่ตกลง อาจารย์ด่าผมใช่ไหม

เวร!!!

--

ติดตามบทความใหม่ ๆ จาก อั๋น ภูวนาท ได้ทุกวันจันทร์ บน LINE TODAY

ความเห็น 17
  • ผมคิดว่าถ้าเปรียบเป็นดั่งในสังคมของเราในทุกวันนี้ ไม่ว่าจะมีปัญหาอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นมา ในการมีสติและคิดพิจารณาให้รอบครอบอย่างดีแล้ว ผมเชื่อว่ายังไงก็ย่อมที่จะต้องมีแนวทางที่แก้ไขกับปัญหาที่เกิดขึ้นมาให้เป็นไปในทางที่ดีและถูกต้องได้อยู่เสมอเหมือนกันนะครับ.
    13 ก.ค. 2563 เวลา 04.15 น.
  • TibmeYrs
    นั้นทำให้ถึงมีคำที่ว่า. เจองูกับเจอแขก. จะตีอะไรก่อน?
    13 ก.ค. 2563 เวลา 11.04 น.
  • 54@ฝันดี@45
    ไม่มีใครโง่หรือใครฉลาด: ใครเก่งคิดออกหรือใครโง่คิดไม่ออก..แต่อยู่ที่ใครมีอำนาจต่อรองสูงกว่าเม่านั้นต่อให้ถูกก็ผิดได่หรือต่อให้ผิดก็ถูกได้#เจ้าของแพะไม่ได้บอกว่าสลากที่ซื้อไปจะจับได้แพะเป็นหรือแพะตาย..อาศัยเป็นเจ้าของคนคุมเกมส์นี้ก็เท่านั้น#อย่าเยอะนักเลย
    13 ก.ค. 2563 เวลา 05.58 น.
  • pongpipat
    คนที่ฟังเรื่องเล่าแบบนี้ แล้วชื่นชมว่า คนอินเดียฉลาด ก็คือคนประเภทนิยมเลื่อมใสในการทำตัวเป็นคนฉลาดแกมโกง เป็นพวกศรีธนญชัย ที่แท้จริงแล้วเป็นคนเลว ไม่สมควรได้รับการยอมรับนับถือใดๆเลย แต่กลับถูกเอามายกย่องว่าเป็นคนฉลาด กระทรวงศึกษาสมัยหนึ่งเคยใช้เป็นหนังสือให้เด็กเรียนด้วยซ้ำ คนรุ่นใหม่เลยถูกปลูกฝัง ความฉลาดแกมโกง เป็นคนเจ้าเล่ห์โดยไม่รู้ตัว ทั้งอาจารย์อละลูกศิษย์ที่เล่าเรื่องนี้ ไม่รู้ว่า เขาจะฉุกคิดได้หรือเปล่า ว่าตัวเองเป็นคนแบบนั้นหรือไม่ นิยมชื่นชมคนฉลาดแต่ขี้โกง โกหกปลิ้นปล้อน
    14 ก.ค. 2563 เวลา 21.56 น.
  • Yongyuth
    คนที่มีความสุข มักจะลืมตัว เท่ากับประมาท คือขาดสติระวังตัว มัวแต่ส่งจิตออกนอก ไม่ได้สำรวมจิต ให้สงบตั้งมั่นอยู่ภายใน เมื่อใจไม่เป็นกลาง จะทำให้ลำเอียงไปตามกิเลส คือความชอบใจ ไม่ชอบใจ กลายเป็นผู้หลงลืมสติ ระวังตัว สุดท้ายก็เห็นไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เพราะว่าขาดสติ จึงรู้สึกตัวช้า
    13 ก.ค. 2563 เวลา 11.04 น.
ดูทั้งหมด