ไลฟ์สไตล์

คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์

PostToday
อัพเดต 31 พ.ค. 2563 เวลา 13.50 น. • เผยแพร่ 31 พ.ค. 2563 เวลา 13.49 น. • webmaster@posttoday.com
คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน อ.เก้าเลี้ยว จ.นครสวรรค์
โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

อาจารย์ชวินทร์  chavintapoti@gmail.com 

*******************************

หากกล่าวถึงเครื่องรางของขลังจากงาช้างแกะที่มีศิลป์งดงาม ฝีมือช่างแกะยอดเยี่ยม แกะได้สวยงาม ทุกคนในวงการนักสะสมพระเครื่องและเครื่องรางมักจะนึกถึง หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และ อาจารย์เฮง ไพรวัลย์ จากอยุธยา

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ถ้าตีกรอบลงมาถึงเครื่องรางของขลังในยุคก่อนปี พ.ศ.2500 แถบนครสวรรค์ มักจะกล่าวถึงเครื่องรางเช่น สิงห์งาแกะ หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และเครื่องรางของหลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน ซึ่งว่ากันว่า ท่านยังเป็นพระอาจารย์ของหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ นครสวรรค์ อีกด้วย วันนี้มาชม คชสีห์งาแกะ หลวงพ่อเฮง วัดเขาดิน กันครับ

ขนาดของคชสีห์งาแกะชิ้นนี้ ถือว่ามีขนาดกำลังสวยงามครับ วัดขนาดได้กว้าง 3.2 เซนติเมตรและสูง 2.5 เซนติเมตร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

จุดพิจารณาของเครื่องรางที่แกะจากงาช้างนั้น หลักคิดเบื้องต้นนอกจากจดจำรูปแบบศิลป์ให้ได้แล้ว เครื่องมือในสมัยนั้นก็มีสิ่วรูปตัววี และเหล็กเซาะ ขุด แกะ สว่านมือเจาะ การแกะก็แกะทีละตัว ดังนั้นบนงาจะปรากฏร่องรอยชัดเจนตามกำลังการแกะและความชำนาญของช่าง

ไม่มีรอยแกะเซาะด้วยเครื่องมือสมัยใหม่ การเซาะด้วยมือทำอย่างละเอียดแกะทีละชิ้น การแกะลวดลายใช้มือเซาะเป็นริ้วรอยที่ระเบียบสวยงามแต่ทิ้งร่องรอยไว้เพราะเป็นการแกะด้วยมือ แกะเซาะไปในทิศทางเดียวกัน แต่น้ำหนักไม่เท่ากันเพราะเป็นการเซาะด้วยมือ

มาเริ่มพิจารณาจากด้านบนไล่ลงไป

-แผงหงอนจะลบคม เจาะรูเป็นรูกลมด้วยสว่านมือ สังเกตรูที่เจาะเป็นธรรมชาติไม่เป็นเหมือนเครื่องเจาะสมัยใหม่ น้ำหนักที่กดอาจเอียงบ้างเล็กน้อย เหมือนเราใช้สว่านทำงานฝีมือ

-แกะเซาะดวงตาโปนขึ้นมาสมส่วนเป็นธรรมชาติ

-เซาะลายด้วยมือจากดวงตาไล่ลงมาจนถึงหู สังเกตได้ว่าทั้งสองฝั่งลายคล้ายกันแต่น้ำหนักและรายละเอียดไม่เท่ากัน

-แกะใบหูและเจาะหูเป็นรูดูงดงามเสมือนจริง

-ร่องรอยการแกะลายที่ขาหน้าและขาหลัง ลายเส้นที่แกะลึกชัดเจน และลบคม

-เนื้องาแห้งเก่า จุดที่โดนสัมผัสเป็นมันเหลืองฉ่ำ

-ร่องรอยการแตกลายงา

-ในร่องที่แกะเซาะมีความเก่าเป็นธรรมชาติ

-โคนหางลักษณะกลมเจาะรูด้วยสว่านมือ

การแกะเส้นสายลายกนกมีความลึก ชัด บ่งบอกถึงฝีมือของช่างที่แกะซึ่งชำนาญ ผิวงาเก่าแห้งจัด และในซอกลึกๆที่ไม่ค่อยโดนสัมผัส จะมองเห็นความเก่าของเส้นสายที่เกิดจากการแกะ และที่สำคัญสังเกตุได้ว่าทั้งสองฝั่งลายคล้ายกันแต่น้ำหนักและรายละเอียดไม่เท่ากัน ผิวที่แห้งในส่วนที่ไม่โดนสัมผัสเห็นร่องรอยแตกระแหงของงาแกะ ซึ่งบ่งบอกถึงความเก่าได้อายุอย่างแท้จริง

ลายเส้นเป็นร่องที่เกิดจากการใช้ของมีคมมาแซะ เป็นรอยที่ลึกไม่สม่ำเสมอซึ่งเกิดจากน้ำหนักมือของช่างที่แกะ ในร่องที่แกะต้องไม่ใช่รอยสดใหม่ และบริเวณไหนที่ผ่านการสัมผัสบ่อย รอยคมก็จะมนหมด และสีของงาจะเปลี่ยนเป็นสีเหลืองฉ่ำหรือเป็นสีน้ำตาลเข้ม

เครื่องรางคชสีห์หลวงพ่อเฮงมีเอกลักษณ์งานศิลป์เฉพาะตัวที่สวยงามอย่างมาก และเครื่องรางงาแกะที่หลวงพ่อเฮงท่านสร้างนั้น สร้างจากงาช้างที่มีการทนสิทธิ์ในตัวเอง คือ งากำจัดและงากำจาย

งากำจัดคืองาที่ช้างตัวผู้ตกมันแทงงาหักติดกับต้นไม้ และงากำจายคือ งาที่ช้างตัวผู้ต่อสู้กันเพื่อแย่งชิงเป็นจ่าฝูง และแตกหักตกอยู่ในป่า เมื่อหลวงพ่อเฮงท่านพบขณะที่ท่านได้ธุดงค์ไปตามป่าเขา ก็จะเก็บไว้เพื่อนำมาสร้างเป็นเครื่องรางของขลังไว้ให้ลูกศิษย์ใช้บูชา ที่พบเห็นท่านจะสร้างคชสีห์มากกว่าเสือและเครื่องรางแบบอื่น พุทธคุณเด่นล้วนทางด้านแคล้วคลาด และมหานิยม กันคุณไสย

นอกจากคชสีห์งาแกะแล้ว เครื่องรางอื่นของหลวงพ่อเฮง ที่มีชื่อเสียงเช่น เสืองาแกะ , นางกวักงาแกะ , เเหวนถักพิรอด , เสื้อยันต์ ,ผ้ายันต์มงกุฎพระพุทธเจ้า เป็นต้น

จากข้อมูลของ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย จังหวัดนครสวรรค์บันทีกว่า วัดเขาดินใต้ หรือ วัดพระหน่อธรณินทร์ สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ.2373 โดยพระครูหลา เจ้าอาวาสวัดมหาโพธิ์ใต้ในสมัยนั้น วัดพระหน่อธรณินทร์ใกล้วารินคงคาราม ตั้งอยู่เลขที่ 1 บ้านเขาดินใต้ หมู่ที่ 6 ตำบลเขาดิน อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ อยู่ห่างจากตัวอำเภอเก้าเลี้ยวประมาณ 14 กิโลเมตร และห่างจากจังหวัดนครสวรรค์ประมาณ 17 กิโลเมตร

วัดนี้ได้ขึ้นทะเบียนวัดในนาม“วัดพระหน่อธรณินทร์” ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อปี พ.ศ.2387 สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย มีที่ดินตั้งวัดจำนวน 6 ไร่

วัดเขาดินใต้ หรือวัดพระหน่อธรณินทร์ ด้านหลังวัดมีภูเขาศิลาสองลูกมีทางเดินติดต่อถึงกันได้ด้านหลังเป็นบึงใหญ่ทิวทัศน์สวยงาม มองเห็นเขาหลวงแต่ไกล มีทางขึ้นเป็นบันไดนาคสวยงาม บนภูเขาทิศเหนือมีมณฑปเก่าเป็นที่ประดิษฐานรอยพระบาทจำลองสำริด จารึกด้านข้าง พ.ศ.2456 ซึ่งได้รับพระราชทานจากพระศณีพัชรินทราบรมราชินีนาถใน รัชกาลที่ 5

ส่วนด้านทิศใต้เป็นที่ตั้งเจดีย์เก่าและพระอุโบสถ ซึ่งเล่าต่อกันมาว่า สมเด็จพุฒจารย์( โต พรหมรังสี ) เคยธุดงค์จาริกแวะพักเมื่อครั้งเดินทางไปเมืองกำแพงเพชรบ้านเกิด

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมาของวัดในพระนิพนธ์ตอนหนึ่งว่า“ไล่เลียงเรื่องวัดนี้ได้ความว่าพระครูหลาอยู่ในวัดมหาโพธิมาเริ่มสร้างวัดนี้ได้ 80 ปีมาแล้ว(ในปีพ.ศ.2449) และได้ปฏิสังขรณ์วัดต่อกันมา”

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้นวัดนี้เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2449  นับถึงปัจจุบันเป็นเวลา100กว่าปีมาแล้ว แต่ก่อนที่พระองค์จะเสด็จพระราชดำเนินมาวัดเขาดินใต้ วัดนี้สร้างมาแล้ว 80 ปี ดังนั้นปัจจุบันวัดนี้จึงสร้างมานานกว่า190ปีแล้ว

วัดเขาหน่อธรณินทร์ฯ เมื่อคราวที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสต้น มีเนื้อที่กว้าง 3 เส้น ยาว 4 เส้น หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 4,800 ตารางวา คิดเป็น 12 ไร่ แต่ปัจจุบันตามที่กรมศิลปากรกำหนดและได้รับการประกาศเป็นโบราณสถาน วัดนี้มีเนื้อที่ 47 ไร่ 2 งาน 37 ตารางวา

วัดพระหน่อธรณินทร์ฯ จากสภาพที่มองเห็นเป็นวัดธรรมดา แต่เบื้องหลังของความธรรมดาเป็นวัดที่มีโบราณสถานและมีเรื่องราวที่เป็นตำนานเล่าสืบทอดกันมากล่าวกันว่าเป็นดินแดนอันลี้ลับและน่าอัศจรรย์ เป็นที่อยู่อาศัยของชาวลับแล

หลวงพ่อเฮง วัดเขาดินท่านเกิดปี พ.ศ. 2402 ที่บ้านมหาโพธิ์ ตำบลมหาโพธิ์ อำเภอเก้าเลี้ยว จังหวัดนครสวรรค์ โยมบิดาชื่อโยมสังข์ โยมมารดาชื่อโยมเปี่ยม พอหลวงพ่อเฮงเกิดมาครอบครัวก็มีฐานะดีขึ้นตามลำดับ โยมบิดามารดาจึงตั้งชื่อให้ว่า "เฮง"

ท่านมีนิสัยเมตตาต่อสัตว์และชอบให้ทานแก่สัตว์มาตั้งแต่วัยเด็ก ขนาดโยมบิดาให้ไปเฝ้านา ท่านเห็นนกมากินข้าวก็ยังไม่ยอมไล่ เพราะท่านถือว่าเป็นการให้ทานแก่นก ท่านเป็นคนที่รักการศึกษา เมื่อมีเวลาว่างจะไปหาหลวงพ่อทับ วัดมหาโพธิ์ ซึ่งเป็นพระเกจิอาจารย์ที่โด่งดังในสมัยนั้น เพื่อให้สอนวิชาให้ คือวิชาแพทย์แผนโบราณ คชศาสตร์และวิทยาคม

พออายุได้ 12 ปี ท่านก็ขอโยมบิดามารดา บรรพชาเป็นสามเณรที่วัดมหาโพธิ์ใต้ อยู่ได้ 4 พรรษาก็ลาสึกออกมาช่วยบิดามารดาประกอบอาชีพ พออายุครบบวชในปี พ.ศ.2423 หลวงพ่อเฮงจึงได้อุปสมบท ที่วัดมหาโพธิ์ใต้ โดยมี พระครูกิ่ม เจ้าอาวาส วัดมหาโพธิ์ใต้เป็นพระอุปัชฌาย์เมื่อบวชแล้วก็ได้ศึกษาพระธรรมวินัย ตลอดจนวิชาโหราศาสตร์ และวิทยาคม อีกมากมายจากพระครูกิ่ม ประกอบกับที่วัดมหาโพธิ์ใต้ยังเป็นแหล่งรวบรวมวิชาการและตำรา ไว้มากมาย

อีกทั้งพระอุโบสถของวัดมหาโพธิ์ใต้ ก็เป็นพระอุโบสถแบบมหาอุด ซึ่งเป็นที่ปลุกเสกเครื่องรางของขลังได้ยอดเยี่ยม และมีอายุเก่าแก่กว่า 300 ปี และวัดมหาโพธิ์ใต้ ซึ่งเป็นวัดที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำปิง จึงมีพระเกจิอาจารย์ที่ออกธุดงค์มาแวะจำวัด หลวงพ่อเฮงจึงได้รับการถ่ายทอดสรรพวิชาจากพระเกจิอาจารย์เหล่านั้นไปด้วย

ต่อมาหลวงพ่อเฮงท่านก็ได้ออกธุดงค์ไปในป่าดงดิบในพม่า เขมรและลาวหลายครั้ง และท่านก็เข้าใจธรรมชาติของสัตว์ป่าได้ดี และท่านมีวิชาที่สามารถเรียกอาการ 32 ของสัตว์ที่ตายแล้วให้มาเข้ารูปจำลองที่ได้สร้างขึ้นได้

หลังจากท่านกลับมาจากธุดงค์ ท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสปกครองวัดมหาโพธิ์ใต้ ในปี พ.ศ.2434 และได้เป็นพระกรรมวาจาจารย์ ล่างมาถึงในปี พ.ศ. 2449 ก็ได้เป็นเจ้าอาวาสปกครองถึง 2 วัด คือวัดมหาโพธิ์ใต้และวัดเขาดิน ซึ่งอยู่สองฝั่งแม่น้ำปิง

หลวงพ่อเฮงท่านเป็นพระสมถะ มีจิตเมตตา ชอบช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก ท่านโปรดที่จะฉันข้าวกับกล้วยน้ำหว้าสุกงอม กับน้ำปลาและปลาเค็ม ท่านเป็นที่รักเคารพและศรัทธาของชาวบ้านตราบจนละสังขารในเดือน 12 พ.ศ.2485 สิริอายุได้ 83 ปี พรรษาที่ 63

ดูข่าวต้นฉบับ