ไลฟ์สไตล์

ตู้ปันสุข แบ่งทุกข์ - ศุ บุญเลี้ยง

TOP PICK TODAY
เผยแพร่ 13 พ.ค. 2563 เวลา 00.12 น. • ศุ บุญเลี้ยง

เคล้าน้ำตา ดราม่าเศรษฐศาสตร์

ตู้ปันสุข เกิดจากเจตนาของคนที่อยากจะแบ่งปันน้ำใจ ด้วยการแปรเป็นข้าวสาร อาหารแห้ง บะหมี่สำเร็จรูป ปลากระป๋อง ไข่ไก่ น้ำดื่ม ต่างๆนานาที่อยากจะกระจายให้ผู้คนซึ่งอดอยากได้มีแหล่งรับอาหาร

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทางเจ้าของแนวคิด ไม่เพียงแค่คิดจะทำเอง แต่พยายามชักชวนมวลหมู่ให้จิตสาธารณะร่วม มีการทำตัวอย่าง ถ่ายคลิปเพื่อทดสอบว่ามันดีและเป็นไปได้ บนความเชื่อว่า คนไทยไม่เห็นแก่ตัว ไม่น่ากลัวน่ากังวลอย่างที่คนคิดลบมักจะคิด

โดยมีป้ายคำขวัญติดไว้คล้ายๆกันว่า ‘หยิบไปแค่พอดี หากมีเหลือก็นำมาแบ่งปัน’

จนได้รับความสนใจและมีคนอยากจะนำไปทำต่อ ก็ด้วยความเชื่อคล้ายกันว่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คนไทยไม่ทิ้งกัน และคนไทยมีน้ำใจแบ่งปัน คนไทยมีความพอเพียง 

ผู้คนปลาบปลื้มชื่นใจได้ไม่กี่วัน ก็เห็นความโกลาหล และความไม่พึงใจเมื่อได้เห็นคนมาหยิบเอาของมากเกินจะทำใจ 

จากคนผู้โอบอ้อมอารี บัดนี้เป็นคนเอากล้องวงจรปิดมาเปิดประณามหยามเหยียดกัน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่ยกประเด็นนี้มากล่าว มิได้คิดจะต่อต้านการมีน้ำใจ และไม่ใช่ก่นด่าคนที่เขามาขนของไป

แต่มันน่าสนใจตรงที่ว่า หากคุณคิดจะแบ่งปัน จงอย่ามองโลกในแง่ร้ายเกินเหตุจนไม่กล้าแสดงน้ำใจ แต่ก็โปรดอย่าได้มองโลกสวยจนเกินไป

เราลองมาย่อสังคมกว้างใหญ่เหลือแค่ตู้ปันสุขก่อนเพื่อความเข้าใจ

สมมุติว่า นายก.เดินผ่านตู้ปันสุข เห็นปลากระป๋อง กับ มาม่า ยำยำ ไวไว

เขาก็เลยหยิบมาม่า กับปลากระป๋องไป อย่างละหนึ่ง

คุณก็บอกว่า นั่นไงตัวอย่างของคนดี ที่รู้จักเหลือให้คนอื่นบ้าง แบบนี้คุณอาจจะชอบใจ

แต่ถ้านายก.มาวันที่ 2 แล้ว ไม่มีอะไรเหลือ นายก.จะคิดอย่างไร?

สมมุติว่าโลกนี้ยังดี มีคนมาเติมเต็ม อาหารยังเหลือ 

แต่นายก.คิดขึ้นมาได้ว่า เมื่อวานเดินมาหนนึงแล้ว วันนี้เดินมาแล้ว พรุ่งนี้ก็ต้องเดินมาอีก งั้นหยิบไปเผื่อวันพรุ่งนี้กับมะรืนเลยก็แล้วกัน

นายก.จึงหยิบ มาม่า ยำยำ ไวไว กับปลากระป๋องตราสามแม่ครัวไปสามกระป๋อง คุณคิดว่านายก.รู้จักพอไหม

ทีนี้พอนายข.ทราบข่าว แต่แข้งขาไม่ค่อยจะดี เลยบอกนายก.ว่า ช่วยหยิบมาเผื่อด้วยได้ไหม เดินไม่ค่อยไหว ถ้าขี่มอเตอร์ไซค์ไป จะเปลืองน้ำมัน พอดีที่บ้านมีลูกสี่เมียอีกสองหมาหนึ่ง ช่วยเผื่อมาด้วยนะ

ความที่นายก.ใจดี จึงหยิบ มาม่า 5 ไวไว6 ยำยำ7 และปลากระป๋องไป 8 เพื่อเอาไปให้นายข. และพอดี เห็นตาค. นอนติดเตียงอยู่ที่บ้านก็เลยเอาไข่ไปเผื่อด้วย

นายก.เป็นคนรู้จักพอ? หรือเป็นคนมีน้ำใจ?

แถวนั้นยังมีนาย ง. ซึ่งมีนิสัยขี้ขโมยอยู่แล้ว ขนาดไปทำบุญที่วัดยังแอบเอาเงินที่เขาปักในพุ่มกฐินกลับมา บางครายังย่องไปงัดตู้บริจาคของวัดมาจ่ายค่าน้ำค่าไฟ

นางฉ.ก็เป็นคนขี้กังวล วันนี้มีกิน ไม่รู้พรุ่งนี้จะมีกินไหม เลยให้ลูกหอบเอาใส่ถุงมาตุนไว้เลยดีกว่า

แล้วโลกนี้มันมี นาย ก. นายข. นายค. นายง.กับอีกนางต่างๆมากกว่าพยัญชนะไทยทั้งหมดทั้งมวล

มีนายฮ.ผู้มีหนี้สินกำลังจะโดนยึดที่ดิน การเห็นตู้ใส่ของวางไว้ จะน่าสนใจขนาดไหน ดีไม่ดียกตู้ไปเลย

พระเทศน์ไว้ว่าพื้นที่บนศาลา ถ้าคนต้องการความสงบ นั่งอยู่ร้อยคน ต้องมีความพร้อมที่จะสงบทั้งร้อยคน ศาลานั้นจึงจะเงียบสงบ แต่ถ้ามีคนไม่พร้อมสงบสักเพียงแค่คนเดียว ส่งเสียงโวยวาย ยิ่งสองสามคนก็รับรองได้ว่า ศาลานั้นจะไม่มีทางสงบ  

ที่ยกเรื่องมากล่าวก็เพราะอยากทำความเข้าใจกับดราม่าเชิงเศรษฐศาสตร์ 

คนที่ไหนๆก็มีทั้งดีไม่ดี เห็นแก่ได้ เห็นแก่เพื่อน เสียสละ มีน้ำใจ ชอบแบ่งปัน ชอบกักตุน ไม่เกี่ยวกับว่าเป็นคนไทยคนญี่ปุ่นหรือคนอินเดีย

แม้แต่คนคนเดียวกัน บางวันก็มีน้ำใจ บางคราก็เห็นแก่ตัว ทั้งแล้งหัวใจ บางคราอยากเข้าคิว บางวันรีบๆก็อยากจะแซงคิว 

ดังนั้นเรื่อง จิตกุศล คนใจดี มีน้ำใจ จะแจกจะจ่ายอะไร จำต้องมีกติกาให้ชัดเจน เพราะเราคงไม่สามารถจะไปขอร้องให้คนมีความปกติสุขได้โดยธรรมชาติและทุกสถานการณ์

ถ้าบอกว่าหยิบเอาแค่รู้จักพอ ก็บางคนเขาพอแบบนั้น 

คนโบราณเคยบอกว่า เปลี่ยนภูเขาให้เป็นทองคำ สำหรับบางคนก็ยังไม่พอ

และที่เราว่าคนอื่นได้ว่าไม่รู้จักพอ อาจเพราะเราไม่ได้มีปัญหาชีวิตแบบเขา เขาไม่ได้มีการอบรมสั่งสอนมาแบบเรา เราไม่ได้มีทัศนะคติต่อชีวิตแบบเขา

สิ่งที่เราต้องทำและจำเป็นต้องทำคือ เราต้องกำหนดกติกา

การจัดการกับการจำกัดและกำจัด จึงเป็นสิ่งที่คู่กัน 

เราจะจำกัดอะไร กำจัดอะไร เราต้องหามาตรการมาจัดการ ไม่ใช่นึกเอาเองว่า มันน่าจะเป็นแบบนั้นนะ 

มิฉะนั้น เราก็จะฝันลมๆแล้งๆ มองโลกสวยและรวยน้ำใจ แต่ภาพแห่งความจริงจะกลับมาถล่มให้เสียศูนย์ สิ้นศรัทธา

ร้านบุฟเฟ่ต์ หมูกะทะ เขาจึงต้องมีกติกา ว่าคิดราคาหัวละเท่าไหร่ ราคานี้รวมน้ำอัดลมไหม กินเหลือจะต้องถูกปรับเท่าใด และ เอาใส่ถุงกลับบ้านไปฝากยายไม่ได้

ดูเหมือนสมองกับหัวใจมันไม่ค่อยจะไปด้วยกัน เราจึงจะพยายามต่อต้านกติกาและมักจะบอกกันว่า เราเป็นคนไทยที่ไม่เหมือนใครในโลก

เรามักจะเชื่อว่า ในเมื่ออยากจะทำดี ย่อมดีกว่าอยู่เฉยๆ คิดมากไม่ต้องทำอะไรกันพอดี นึกอยากจะปล่อยนกก็ซื้อนกมา คิดอยากจะปล่อยปลาก็เลือกปลามา ก็อยากจะสร้างวัด ก็อยากจะช่วยเด็กกำพร้า ก็อยากจะทำดีมีน้ำใจ ทำไมต้องคิดอะไรให้ใจเศร้าหมอง

บางทีสิ่งที่เราต้องตรวจสอบให้มากกว่า ตู้ปันสุขที่เป็นและเห็นอยู่คือ

ภาษีเงินทองมากมายที่เราจ่ายไปนั้น ในที่สุดแล้วมันทำให้บ้านเมืองสังคมวัดวาที่เราอยากให้ดีขึ้นนั้น ดีจริงหรือกลายเป็นแหล่งสะสมความอยุติธรรมและความงมงายกันแน่

ติดตามบทความใหม่ ๆ จากศุ บุญเลี้ยง ได้ทุกวันพุธ บน LINE TODAY และหากสามารถอ่านบทความอื่นได้ที่เพจศุ บุญเลี้ยง

ความเห็น 20
  • Manow
    โครงการแบบนี้ไม่เหมาะกับคนไทยหรอกค่ะ เพราะคนไทยส่วมมากมักจะเห็นแก่ตัวไม่หยิบแต่พอดีหรอกค่ะนอกจากจะเอาหมดแล้วไปขายต่อนี้คือนิสัยของคนไทยที่มักชอบฉวยโอกาศ
    13 พ.ค. 2563 เวลา 08.24 น.
  • Benjamas
    มากเรื่องขนาดนั้นเก็บตู้ไปเถอะ​ ไม่มีวันอดตายในหมู่คนขยัน​ ถ้าลำบาก​จริงคนไทยไม่ปล่อยให้อดตายหลอก​บ้างที่บริจาคให้จนเป็นเศรษฐีเยอะแยะไป
    13 พ.ค. 2563 เวลา 08.36 น.
  • วัดใจคนไทยแต่ละจังหวัดว่ามีความโลภมากน้อยต่างกัน..เราช่วยกันขัดเกลาให้สังคมน่าอยู่สวยงาม..
    13 พ.ค. 2563 เวลา 08.28 น.
  • Soisuda /0986717598
    การจัดการเป็นสิ่งสำคัญ. ควรกำหนดกฎ กติกาให้ชัดเจน ทำแล้วจะได้สุขใจ อิ่มใจ ทั้งผู้ให้ และผู้รับ. เช่น หยิบได้คนละไม่เกิน....ชิ้น/อย่าง
    13 พ.ค. 2563 เวลา 08.58 น.
  • Rangsiman69
    ในเมื่อใจเรา"อยากให้"อย่าไปเสียศรัทธากับการ"กอบโกย"แค่นี้เราก็ไม่ติดอะไรแล้ว
    13 พ.ค. 2563 เวลา 08.26 น.
ดูทั้งหมด