ในช่วง 2 สัปดาห์เศษ ประธานาธิบดี “โดนัลด์ ทรัมป์” แห่งสหรัฐอเมริกา ลงนามในคำสั่งหลายฉบับให้ขึ้นพิกัดอัตราภาษีศุลกากรสำหรับการนำเข้าสินค้าจากหลายประเทศ เริ่มตั้งแต่การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเป็น 25% และ 10% ตามลำดับ ต่อด้วยสกัดกั้นไม่ให้จีนเข้าเทกโอเวอร์บริษัทอเมริกัน ปิดท้ายด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนเป็น 25% รวมเป็นมูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์
การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมนั้นมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา ส่วนอีก 60,000 ล้านดอลลาร์นั้นยังคงเป็นการ “เตรียมการ” เพื่อ “ตอบโต้” การละเมิดสิทธิทรัพย์สินทางปัญญาและพฤติกรรมบีบบังคับให้มีการถ่ายทอดเทคโนโลยีของจีน
ขณะนี้มีเพียงจีนเท่านั้น ที่เตรียมแผนตอบโต้การขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมของสหรัฐ โดยเล็งจะขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐหลายรายการคิดเป็นมูลค่ารวม 3,000 ล้านดอลลาร์ รวมถึงการขึ้นภาษีนำเข้าท่อเหล็ก, ผลไม้สด และไวน์ จากสหรัฐ 15% และขึ้นภาษีนำเข้าเนื้อหมู กับอะลูมิเนียมรีไซเคิลจากสหรัฐเป็น 25%
การที่มีเพียงจีนที่แสดงท่าทีตอบโต้ออกมา ไม่ได้หมายความว่าประเทศอื่นจะไม่ทำ เพียงแต่สหรัฐยังคง “ยกเว้น” ประเทศพันธมิตรหลายประเทศ รวมทั้งสหภาพยุโรป (อียู) จากการขึ้นภาษีเหล็กและอะลูมิเนียมเป็นเวลา 1 เดือน โดยทรัมป์คาดหวังว่า บรรดาพันธมิตรเหล่านั้นจะ “ยินยอม” ต่อข้อเรียกร้องเพื่อที่จะให้สหรัฐคงการยกเว้นไว้ต่อไป
อียูเองก็แสดงท่าทีชัดเจนเช่นกันว่า หากสหรัฐอเมริกาขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กและอะลูมิเนียมเมื่อใด ก็จะตอบโต้ด้วยการขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าจำนวนหนึ่งเป็น 25% อาทิ จักรยานยนต์, กางเกงยีนส์ และวิสกี้ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ในรัฐที่เป็นฐานเสียงทางการเมืองของทรัมป์ ขณะที่สหรัฐขู่จะขึ้นภาษีนำเข้ารถยนต์เป็น 25% หากอียูทำตามที่ขู่ไว้จริง
เพียงแค่จีนประเทศเดียวที่เตรียม “ทำสงครามการค้า” ตอบโต้สหรัฐก็เพียงพอต่อการทำให้ตลาดเงินทั่วโลกร่วงระนาวแล้ว เฉพาะดัชนีหุ้นอุตสาหกรรมดาวโจนส์เพียง 2 วันก็ร่วงไปเกือบ ๆ 1,150 จุด
ปัญหานั้นไม่เพียงเพราะนักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์ทุกคน การทำสงครามการค้าไม่ก่อให้เกิดผลดีต่อทุกฝ่ายเท่านั้น แต่เพราะที่ผ่านมา สหรัฐอเมริกามีบทเรียนเรื่องนี้มาแล้วหลายครั้ง
อุทาหรณ์ที่หนักหนาที่สุดเกิดขึ้นในปี 1930 เมื่อมีการเสนอกฎหมายขึ้นภาษีนำเข้าสินค้าโดยเฉลี่ยเป็นประมาณ 20% ผ่านความเห็นชอบคองเกรสออกมาบังคับใช้ เป้าหมายในเวลานั้นแต่เดิมเป็นการให้ความคุ้มครองต่อเกษตรกรอเมริกัน แต่ต่อมาขยายความคุ้มครองไปถึงอุตสาหกรรมอื่น ๆ ที่ล็อบบี้คองเกรส
ประเทศผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา แก้ปัญหาอุปสงค์ในสินค้าตัวเองหดหายไปแบบเฉียบพลันเพราะราคาที่สูงขึ้นในตลาดอเมริกันด้วยการถ้าไม่ขึ้นภาษีนำเข้าตอบโต้ก็พากันลดค่าเงินของตนเองลง
นักวิชาการหลายคนเชื่อว่า การขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐหนนั้นส่งผลให้เกิดสิ่งที่รู้จักกันในเวลาต่อมาในชื่อ “เดอะ เกรต ดีเพรสชั่น” คือภาวะเศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนานที่ลามออกไปทั่วโลก
ตัวอย่างที่แสดงให้เห็นชัดว่า การตั้งกำแพงภาษีนั้นสร้างผลเสียให้เกิดขึ้นมากกว่าผลประโยชน์ที่จะได้รับก็คือ การขึ้นภาษีนำเข้าเหล็กของประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เมื่อปี 2002 ตัวเลขที่คณะกรรมการการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐอเมริกา (ยูเอสไอทีซี) แสดงให้เห็นว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสหรัฐอเมริกาลดลงเป็นมูลค่า 30.4 ล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ผู้ใช้แรงงานอเมริกันต้องตกงานประมาณ 200,000 ตำแหน่ง โดยประมาณว่า 13,000 ตำแหน่งในจำนวนนั้นอยู่ในอุตสาหกรรมผลิตเหล็กกล้า
สถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ประมาณว่า การขึ้นภาษีของบุชสร้างความเสียหายคิดเป็นมูลค่า 400,000 ดอลลาร์ต่อ1 ตำแหน่งงานที่เสียไป องค์การการค้าโลก (ดับเบิลยูทีโอ) ยังชี้ขาดในเวลาต่อมาด้วยว่า การขึ้นภาษีของบุชครั้งนั้น เป็นการกระทำละเมิดกฎการค้าระหว่างประเทศ
ดูเหมือนครั้งเดียวที่การใช้ “ไม้แข็ง” ทำนองนี้ประสบความสำเร็จคือ “การเล่นงานญี่ปุ่น” เมื่อ 3 ทศวรรษก่อน เมื่อฝ่ายบริหารของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน กดดันจนญี่ปุ่นตกลงที่จะ “ระงับการส่งออกโดยสมัครใจ” เพื่อจำกัดจำนวนรถยนต์ที่ส่งออกไปยังสหรัฐ
ทางหนึ่งนั้นเนื่องจากญี่ปุ่นไม่เพียงเป็นพันธมิตรของสหรัฐอเมริกาเท่านั้น ยังพึ่งพาทหารอเมริกันในการคุ้มครองประเทศอีกด้วย ในอีกทางหนึ่งเป็นเพราะญี่ปุ่นพบหนทางเลี่ยงปัญหาดังกล่าว ด้วยการไปปักหลักสร้างโรงงานผลิตขึ้นทางตอนใต้ของสหรัฐอเมริกาเอง
ที่น่าสนใจก็คือ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ซึ่งทำเรื่องนี้ให้กับเรแกน คือ “โรเบิร์ต ไลต์ไฮเซอร์” ซึ่งในเวลานี้ดำรงตำแหน่ง “ผู้แทนการค้า” ที่เป็นตำแหน่งสูงสุดสำหรับทำหน้าที่เจรจาการค้าของโดนัลด์ ทรัมป์
อาจเป็นเพราะกรณีนี้ ทรัมป์ ถึงได้ทวีตข้อความเอาไว้เมื่อ 2 มีนาคมที่ผ่านมาว่า “สงครามการค้า” นั้น “ดี” และ “เอาชนะได้ง่าย”
แต่ “จีน” ไม่ใช่ “ญี่ปุ่น” แน่นอน เพราะจีนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาการคุ้มครองทางการทหารจากสหรัฐ และภายในประเทศจีนก็มีแรงกดดันต่อผู้รับผิดชอบมากขึ้นเรื่อย ๆ ให้ “ตอบโต้” สหรัฐอเมริกาให้หนักพอ ๆ กัน
หากสหรัฐอเมริกาคาดหวังว่าการ “ใช้ไม้แข็ง” ครั้งนี้จะช่วยให้จีนยินดีนั่งโต๊ะเจรจาด้วยและยินยอมต่อข้อต่อรองของสหรัฐอเมริกาโดยเร็ว ก็คงเป็นความคาดหวังที่ยากจะเป็นจริงได้
แต่ที่จะเป็นจริงก็คือระหว่างการเจรจานั้น การตอบโต้ซึ่งกันและกันทางการค้าก็คงดำเนินต่อไปเรื่อย ๆ และสามารถหลุดออก
นอกการควบคุมได้โดยง่ายนักวิชาการถึงได้บอกว่า สงครามการค้านั้น นอกจากจะไม่เป็นผลดีกับใครแล้ว ยังเกิดง่ายดายมาก แต่จบยากอย่างยิ่งอีกด้วย
สงครามนี้ไม่มีวันสิ้นสุดถ้าโลกยังไม่แตก
29 มี.ค. 2561 เวลา 13.34 น.
ดูทั้งหมด