ธุรกิจ-เศรษฐกิจ

อยากให้...พนักงานรุ่นเก่า “เก๋า”ไอที ต้องทำไงดี?!?

เส้นทางเศรษฐี
อัพเดต 23 พ.ค. 2562 เวลา 09.31 น. • เผยแพร่ 23 พ.ค. 2562 เวลา 09.31 น.
เครดิตรูปโดย rawpixel.com/Freepik

อยากให้…พนักงานรุ่นเก่า  “เก๋า”ไอที ต้องทำไงดี?!?*     *

คุณณัฐวี โฆษะฐิ ผู้จัดการโครงการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา Sasin School of Management (สถาบันบัณฑิตฯ ศศินทร์ฯ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) ในฐานะผู้เชี่ยวชาญให้คำปรึกษาด้านบริหารและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน กล่าวถึง แนวทางการพัฒนา “พนักงานรุ่นเก่า”ให้ก้าวทันเทคโนโลยี ไว้ว่า ประเทศไทยกำลังเดินเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบรูณ์ ตลาดแรงงานของประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความท้าทายจากประชากรวัยแรงงานที่มีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง กำลังแรงงานรุ่นใหม่ๆ ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงานจะยิ่งหายากยิ่งขึ้นจากอัตราการเกิดที่ลดลง การพัฒนาศักยภาพและรักษาพนักงานรุ่นเก่าให้กับองค์กรไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อทดแทนกำลังแรงงานจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทว่าการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน ในหลายองค์กรประสบปัญหาพนักงานรุ่นเก่าที่ไม่ได้เกิดในยุคไอที ไม่สามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างที่องค์กรวาดหวังไว้ ไปจนถึงปัญหาการต่อต้านการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ทำให้การผลักดันองค์กรให้เดินหน้าเป็นไปอย่างไม่ราบรื่น

อย่างไรก็ดี มิใช่ว่าพนักงานรุ่นเก่าที่ไม่ได้เกิดในยุคไอทีเหล่านี้ จะไม่มีความสามารถหรือไม่มีทางที่จะทำให้พนักงานกลุ่มนี้ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีได้

คุณณัฐวี  บอกอีกว่า ในการรับมือกับความท้าทายดังกล่าว องค์กรต่างๆสามารถประยุกต์ใช้แนวทางในการจัดการท้าทายข้างต้น ได้ดังนี้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • ปรับ Mindset

การปรับ Mindset ที่ว่านี้ ไม่ใช่เรื่องของการปรับ Mindset ของพนักงานรุ่นที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลงเพียงอย่างเดียว จากประสบการณ์ของเขาเอง ที่ได้ให้คำปรึกษากับองค์กรหลายองค์กรพบว่า กลุ่มผู้บริหารและนักบริหารทรัพยากรบุคคลเองก็มี Mindset ที่ส่งผลให้การพัฒนาพนักงานกลุ่มมีอายุทำได้ยากขึ้น โดยมีความเชื่อที่อาจไม่ใช่ความจริงฝังใจอยู่ โดยเฉพาะความเชื่อที่ว่าคนอายุเยอะแล้วไม่สามารถพัฒนาให้ใช้เทคโนโลยีได้ ความเชื่อนี้ปิดกั้นให้การลงทุนในการพัฒนาศักยภาพบุคลากรเป็นไปอย่างเชื่องช้า เกิดความลังเลที่จะลงทุนพัฒนาพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งจริงๆ แล้ว หากสังเกตสังคมออนไลน์รอบตัวขณะนี้จะพบว่า ผู้สูงอายุจำนวนมากสามารถปรับตัวและใช้สื่อโซเชียลมีเดียกันไม่น้อยไปว่าเด็กรุ่นใหม่ แสดงให้เห็นว่าจริงๆ แล้วคนกลุ่มนี้มีความสามารถในการปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยีไม่น้อยเลยทีเดียว

  • พัฒนาอย่างมีส่วนร่วม

การพัฒนาระบบเทคโนโลยีในการทำงานควรมีวัตถุประสงค์ให้ชีวิตของคนทำงานง่ายขึ้น แต่ปัญหาที่พบในหลายองค์กรระบบที่ออกแบบขึ้นมา ขาดการมีส่วนร่วมของพนักงานที่มีประสบการณ์ในการทำงานในองค์กรมายาวนาน ทำให้ระบบไม่ครอบคลุมปัญหาที่พนักงานรุ่นเก่าเคยประสบ ทำให้เขาเหล่านั้นคิดว่าการทำแบบเดิมดีกว่า เพราะถ้าใช้ระบบที่สร้างขึ้นเป็นการแก้ปัญหาที่หนึ่ง แต่ไปสร้างปัญหาให้เกิดในอีกที่หนึ่ง เขาจึงคิดว่าเป็นระบบที่ไม่มีประโยชน์ รวมไปถึงการออกแบบ User Interface ที่ไม่รองรับสังคมสูงอายุ เช่นตัวอักษรเล็กเกินไป หรือการตัดกันของสีที่ไม่ชัดเจน ทำให้ไม่เอื้อต่อสายตาของคนทำงาน ทำให้เขาไม่สามารถทำงานได้อย่างสะดว

  • ฝึกอบรมแบบเจาะจง

ถึงแม้จะได้เกริ่นไว้แล้วว่าพนักงานรุ่นเก่าสามารถเรียนรู้การใช้เทคโนโลยีได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าเขาเหล่านั้นจะสามารถเรียนรู้ได้เร็วเท่ากับเด็กที่เกิดในยุคไอที การออกแบบหลักสูตรฝึกอบรมด้านเทคโนโลยี ควรทำความเข้าใจธรรมชาติความแตกต่างในการเรียนรู้ของพนักงานรุ่นเก่า เพื่อให้การฝึกอบรมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง
  • สร้างทีมงานต่างวัย

การผสมผสานพนักงานรุ่นเก่าและเด็กยุคไอทีเข้ามาเป็นทีมงานเดียวกัน นับเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่จะช่วยให้พนักงานรุ่นเก่า สามารถปรับใช้ระบบไอทีได้รวดเร็วขึ้น เพราะพนักงานสามารถให้ความช่วยเหลือกันได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาวัฒนธรรมองค์กรอันเกิดจากพนักงานรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่มีความแตกต่างกันมากอีกด้วย

ผู้จัดการโครงการศูนย์วิจัยและให้คำปรึกษา Sasin School of Management  บอกด้วยว่า นอกจากนี้ หากพิจารณาจากทิศทางในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ในปัจจุบันจะพบว่า มีองค์กรต่างๆ รวมถึงราชการและรัฐวิสาหกิจ มีแนวคิดที่จะขยายเวลาการเกษียณอายุออกไป มีการจ้างงานผู้สูงอายุในลักษณะ Part-time มากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถสรรหาบุคลากรที่มีมีความรู้ ทักษะ และความสามารถที่เหมาะสมได้ โดยเฉพาะในหลายๆ สายอาชีพที่ต้องใช้เวลาสั่งสมประสบการณ์ การพัฒนาศักยภาพแรงงานในกลุ่มสูงอายุ ให้มีความพร้อมในการใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ  จะทำให้ประเทศไทย มีกำลังแรงงาน ในการขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวต่อไปในยุคเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรมได้อย่างต่อเนื่อง อีกทั้งจะช่วยให้ผู้สูงอายุกลุ่มนี้มีรายได้และพึ่งพาตนเองได้อีกด้วย

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Mr ton
    เรียนตามตรง ทำงานเป็น นว คอม ทำหน้าที่อบรมแต่ละปี ยอมรับคำตำหนิจาก จนท ที่มีอายุ ว่าสอนเร็วตามไม่ทัน ผมก็อยากสอนช้าๆ นะ แต่เวลามันจำกัด แล้วใจอยากจะอัดสิ่งที่ทำมา ให้ได้เรียนเยอะๆ แต่ก็เข้าใจว่า พยายามรับกันแล้ว เพียงแต่จะอัดทีเดียวผู้ใหญ่ รับไม่ทัน บางทีก็ต้องเปลี่ยนคนสอน แต่ถ้าสอนช้า เรื่องหลังๆ พี่ๆ ต้องเอาไปลองปฏิบัติเอง ซึ่งพอสรุปได้ครับ จนท รุ่นเก๋าเก่งคอมได้เพียงแต่ต้องเพิ่มเวลาสอน ต้องสอนช้าๆ ให้ปฏิบัติได้ แล้วก็นึกใจเขาใจเรา บางทีเราเข้าอบรมที่อื่น เรางง อยากให้สอนช้าๆ เน้นๆ เหมือนกัน
    23 พ.ค. 2562 เวลา 12.35 น.
ดูทั้งหมด