ไอที ธุรกิจ

บริษัทสายการบิน กำลังขาดทุนทุกราย

ลงทุนแมน
อัพเดต 15 พ.ย. 2562 เวลา 10.41 น. • เผยแพร่ 15 พ.ย. 2562 เวลา 11.40 น. • ลงทุนแมน

บริษัทสายการบิน กำลังขาดทุนทุกราย / โดย ลงทุนแมน

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา.. บริษัทสายการบินหลายแห่ง
รวมตัวกันร้องเรียนกระทรวงการคลังเพื่อให้ลดภาษีน้ำมัน
อุตสาหกรรมสายการบินหลายบริษัท กำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤต
ผลประกอบการขาดทุนทุกราย

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

เรื่องนี้มันเกิดขึ้นมาจากอะไร
แล้วมันเป็นปัญหาเรื้อรัง หรือแค่ชั่วคราว
ลงทุนแมนจะเล่าให้ฟัง

ตอนนี้ บริษัทสายการบินกำลังขาดทุนหนัก
ตั้งแต่ต้นปี หรือ 9 เดือนแรก ปี 2562

การบินไทย ขาดทุน 11,120 ล้านบาท
นกแอร์ ขาดทุน 1,615 ล้านบาท
ไทยแอร์เอเชีย ขาดทุน 417 ล้านบาท
การบินกรุงเทพ ขาดทุน 132 ล้านบาท

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่ขาดทุนขนาดนี้ น่าสนใจว่าโมเดลธุรกิจของสายการบินเป็นอย่างไร

ธุรกิจสายการบินดูเหมือนเป็นธุรกิจที่หอมหวาน
เพราะเทรนด์การเติบโตสูงในช่วงที่ผ่านมา

แต่การเติบโตไม่ได้ช่วยอะไร ถ้าเรากำหนดราคาตั๋วเองไม่ได้
เพราะราคาตั๋วของสายการบินทั่วไป
มักจะถูกกดดันจากการแข่งขันของอุตสาหกรรม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

โดยเฉพาะธุรกิจสายการบินที่ถ้าใครได้เข้ามาแล้ว บอกได้เลยว่าออกจากธุรกิจยาก
จะออกจากธุรกิจอีกทีก็ต้องล้มกันไปข้างหนึ่ง

ทำไมธุรกิจสายการบินถึงออกยาก?

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพโมเดลธุรกิจแบบง่ายๆ ดังนี้
ถ้าเราเป็นเจ้าของสายการบิน A และต้องการซื้อเครื่องบินมาให้บริการ
ส่วนใหญ่ก็จะต้องกู้เงินเพื่อมาซื้อ
ทีนี้เมื่อกู้แล้ว เราก็จะได้เครื่องบินมา
แต่ในระหว่างทาง เราก็ต้องจ่ายคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยให้กับเจ้าหนี้

ดังนั้น เราก็ต้องมาลุ้นว่าผู้โดยสารจะเต็มเครื่องบินไหม
ถ้าอยู่ในช่วงดี เครื่องเต็ม หรือเกือบเต็ม เงินที่ได้จากผู้โดยสารก็จะเพียงพอที่จะจ่ายเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย และเหลือเป็นกำไร

แต่ถ้าเครื่องดูโหรงเหรง ไม่มีผู้โดยสาร แน่นอนว่าเราจะเจอปัญหาเงินไม่พอจ่ายเงินกู้ ก็ต้องกู้จากแหล่งอื่นเพิ่มมาโปะหนี้ที่มีอยู่

ถ้าเป็นธุรกิจอื่น เช่น ร้านอาหาร หรือ ธุรกิจรับสินค้ามาขาย ก็อาจจะเลิกขายสินค้านั้น หรือปิดร้านอาหารนั้นไป ซึ่งถือว่าเสียเงินไม่มาก

แต่ผิดกับเครื่องบินที่หนึ่งลำมีมูลค่ามหาศาล เมื่อซื้อมาแล้ว ยากที่จะถอยหลัง
ดังนั้นจึงเป็นที่มาว่า สายการบินก็ต้องใช้งานเครื่องบินให้มากที่สุด เพื่อให้คุ้มค่ากับที่จ่ายเงินไป

มาถึงตอนนี้ หนทางที่สายการบินจะแก้ปัญหาเครื่องบินผู้โดยสารไม่เต็มลำก็คือ

  1. การเปลี่ยนเส้นทางบินให้ผู้โดยสารมากกว่าเดิม
  2. การปิดเส้นทาง และขายเครื่องบิน แต่ถ้าขายก็ต้องยอมรับว่า ราคาขายจะต่ำกว่าที่ซื้อมาตอนแรกมาก
  3. การลดราคาเพื่อเติมผู้โดยสารให้เต็มลำ

ยกตัวอย่าง ถ้าเรามีผู้โดยสารขึ้นเครื่อง 70% การลดราคาตั๋วในส่วน 30% ที่เหลือ จะทำให้รายได้โดยรวมมากกว่าเดิม โดยที่ต้นทุนไม่ได้เพิ่มมาก เพราะค่าน้ำมันก็เสียเท่าเดิม ค่าพนักงานก็เท่าเดิม ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ที่จ่ายก็เท่าเดิม

นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ เราเห็นโปรโมชันตั๋วเครื่องบินราคาถูกออกมาเป็นช่วงๆ ทั้งนี้ก็เพื่อเอาผู้โดยสารมาเติมอีก 30% ให้เต็มเครื่อง อย่างน้อยก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลย

แต่เมื่อมีรายหนึ่งออกมาทำโปรโมชัน มันก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะกระทบกับสายการบินรายอื่น นอกจากนั้นก็ยังมีสายการบินต่างประเทศที่มีจุดหมายบินมาประเทศไทยมาร่วมสงครามนี้อีก

ยิ่งประเทศไทยเป็นฮับสายการบิน การแข่งขันของสายการบินในประเทศไทยยิ่งรุนแรง

สุดท้ายก็เป็น “สงครามทะเลเลือด” ที่ผู้ร่วมสงครามไม่มีวันได้ออก

พอเรื่องเป็นแบบนี้ สายการบินต่างๆ ก็พากันขาดทุน แม้แต่สายการบินต้นทุนต่ำเบอร์หนึ่งอย่างแอร์เอเชียก็ขาดทุนกับเขาด้วยในปีนี้

เรื่องนี้ส่งผลต่อเนื่องไปถึงราคาหุ้นของสายการบินที่ปรับตัวลดลงอย่างหนัก
ลดลงจนต่ำกว่าราคา IPO ในวันแรกเมื่อหลายปีที่แล้วเสียอีก

หุ้นนกแอร์
ราคา IPO 26.00 บาท ที่ปี 2556
ราคาปัจจุบัน 2.10 บาท
ลดลง 92%

หุ้นไทยแอร์เอเชีย
ราคา IPO บาท 3.70 บาท ที่ปี 2555
ราคาปัจจุบัน 2.26 บาท
ลดลง 39%

หุ้นการบินกรุงเทพ
ราคา IPO 25.00 บาท ที่ปี 2557
ราคาปัจจุบัน 7.10 บาท
ลดลง 72%

สรุปแล้วใครที่ซื้อหุ้น IPO สายการบินเหล่านี้มา แล้วยังถืออยู่ถึงตอนนี้ จะไม่มีใครได้กำไร
และอีกบริษัทที่ทุกคนก็รู้ว่ามีปัญหาก็คือ การบินไทย
ตอนนี้การบินไทยมีหนี้กองอยู่ที่บริษัท 245,000 ล้านบาท ในขณะที่เหลือส่วนของผู้ถือหุ้น 12,500 ล้านบาท ถ้าคิดเป็นอัตราส่วนหนี้ต่อทุน หรือ D/E ก็ประมาณ 20 เท่า

และถ้าขาดทุนด้วยอัตราเดียวกับปีนี้
ในปีหน้า ส่วนทุนของการบินไทยก็จะเหลือ 0 และต้องเพิ่มทุนอีกครั้ง
ซึ่งการบินไทยเพิ่มทุนแบบนี้มาแล้วหลายครั้ง
และคนที่ต้องรับผิดชอบจากการเพิ่มทุนมากที่สุดก็คือ
กระทรวงการคลัง ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่สุดที่ 51%

กระทรวงการคลังเป็นของรัฐบาล
ซึ่งมันก็อาจหมายถึง
“คนไทยทุกคน มีส่วนในการรับผิดชอบการขาดทุนของการบินไทยอยู่ครึ่งหนึ่งนั่นเอง”

ก็ไม่รู้ว่าเรื่องนี้จะจบลงอย่างไร
แต่ตอนนี้บอกได้เลยว่าอุตสาหกรรมนี้กำลังย่ำแย่ และต้องรอวันที่ผู้โดยสารที่จะเพิ่มขึ้นจนมากพอ พอที่จะเติมผู้โดยสารให้เต็มเครื่องบินทั้งหมด

และในวันที่ดีมานด์ของผู้โดยสารขึ้นมากพอ มันก็จะวนกลับไปเรื่องเดิมคือ สายการบินต่างๆ ก็จะแห่ไปซื้อเครื่องบินมาเพิ่ม เพื่อขยายการรองรับผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น

สุดท้ายก็จะกลับไปเป็นแบบเดิม เหมือนเป็นคำสาปของธุรกิจนี้
สงครามทะเลเลือด ที่ไม่มีวันจบ
จนกว่าผู้ทำสงครามจะไม่ไหว และหยุดหายใจไปเอง..
———————-
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
———————-

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 4
  • Nickiiiii
    ตั๋วแพงสัดอย่างการบินไทย การบริการสู้ คนอื่นไม่ได้ อีกเยอะ
    15 พ.ย. 2562 เวลา 18.51 น.
  • นาย 20
    ก็ค่า ตั๋วค่าขึ้นเครื่อง ถูกยิ่งกว่า รองเท้าอีก ก็ขาดทุนสิไอ้ เห้ ขึ้นเครื่อง ลดกระหน่ำ ถูกยิ่งกว่า รองเท้าแตะ555
    15 พ.ย. 2562 เวลา 14.53 น.
  • ศิวโรจน์ กรพัชรา
    ทุกการแข่งขันทั้งทางเชิงธุรกิจ หรือพานิช ย่อมมีคุ้ม กำไร ขาดทุน ว่าแต่จะประคองธุรกิจนั้นๆไปได้อย่างไรขึ้นอยู่กับทีมผู้บริหารแล้วละครับ เอาใจช่วยคนทำธุรกิจครับ เพราะผมก็เคยทำธุรกิจมาแล้วไปไม่รอด
    16 พ.ย. 2562 เวลา 11.38 น.
  • ชัยนรินท์(กิตติชัย)
    การบินไทยไม่เคยทำโพลล์สำรวจตัวเองทำไมคนไทยถึงไม่ใช้บริการโดยเฉพาะเครื่องในประเทศสุดท้ายเจ๊งอย่างเดียว 9 เดือนปีนี้ขาดทุนมากกว่าปีที่แล้วกว่า 7,000 ล้าน สุเมธออกไปเถอะไม่มีผลงานอะไร
    16 พ.ย. 2562 เวลา 06.29 น.
ดูทั้งหมด