ไอที ธุรกิจ

หุ้นแบงก์ไทย กำลังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

ลงทุนแมน
เผยแพร่ 21 ต.ค. 2562 เวลา 11.53 น. • ลงทุนแมน

หุ้นแบงก์ไทย กำลังต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี / โดย ลงทุนแมน

ถ้าให้ธนาคารกรุงเทพเลิกกิจการในวันนี้
ขายทรัพย์สิน และชดใช้หนี้ทั้งหมดที่คงค้าง
เงินที่เหลือจะตกเป็นของผู้ถือหุ้นนำมาแบ่งกัน
ถ้าให้เงินก้อนนั้น 100 บาท
รู้หรือไม่ว่าในวันนี้ราคาหุ้นในบริษัทซื้อขายกันเพียง 76 บาท
สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เรียกว่า..
หุ้นกำลังซื้อขายกันต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี (Book Value)

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

และไม่ใช่แค่ธนาคารกรุงเทพ
ธนาคารใหญ่ทุกธนาคาร กำลังซื้อขายกันในราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี
เกิดอะไรขึ้นกับธุรกิจธนาคาร
ลงทุนแมนจะเล่าเหตุการณ์ที่น่าตื่นเต้นนี้ให้ฟัง

ถ้าเรามองข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในตอนนี้
มูลค่าบริษัทเทียบกับมูลค่าทางบัญชี (Price per Book Value) ณ วันที่ 18 ตุลาคม 2562

SCB 0.99 เท่า
BAY 0.94 เท่า
KBANK 0.93 เท่า
BBL 0.76 เท่า
KTB 0.74 เท่า

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ทุกธนาคารยักษ์ใหญ่มีราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชี

ถ้าย้อนกลับไป เราจะแปลกใจ เพราะว่าช่วงก่อนหน้านี้ บางธนาคาร เช่น KBANK และ SCB เคยซื้อขายกันสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีถึง 1.6 เท่า..

แล้วมันเกิดอะไรขึ้นกับแบงก์ในประเทศไทย ราคาถึงได้ตกลงอย่างรวดเร็ว?

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

คำตอบง่ายๆ ก็คือ ตอนนี้นักลงทุนไม่ชอบหุ้นแบงก์ และสาเหตุหลักก็คือความกังวลในอุตสาหกรรมธนาคาร

สถานการณ์ของกลุ่มธนาคาร กำลังโดนคลื่นหลายลูกเข้ามาซัดจนเมาคลื่นไปหมด

คลื่นลูกแรก สภาพเศรษฐกิจ
เศรษฐกิจของประเทศได้รับผลกระทบจากภาคอสังหาริมทรัพย์ การส่งออก การแข็งค่าของเงินบาท สงครามการค้าสหรัฐ-จีน
เมื่อเศรษฐกิจได้รับผลกระทบ ทำให้สินเชื่อที่ธนาคารปล่อยกู้ เกิดเป็นหนี้เสียมากขึ้น ต้องตั้งสำรองมากขึ้น

คลื่นลูกสอง พฤติกรรมคนที่เปลี่ยนไป
เราเข้าธนาคารครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่? แล้วเราเข้าธนาคารน้อยลงกว่าเมื่อก่อนหรือไม่?
สิ่งนี้คือคำตอบสำหรับเรื่องนี้ ในเมื่อทุกวันนี้การฝาก-ถอน-โอน เราไม่ต้องไปที่ธนาคาร ทุกคนสามารถทำได้โดยผ่านสมาร์ตโฟนของตนเอง ดังนั้นโอกาสในการนำเสนอผลิตภัณฑ์ต่างๆ ของธนาคารก็ลดลงไปด้วย

แต่อย่าลืมว่า ตอนนี้เราโอนกันในช่องทางดิจิทัลโดยปราศจากค่าธรรมเนียม ซึ่งนั่นหมายความว่าค่าธรรมเนียมที่เมื่อก่อนธนาคารเคยได้ ก็หายไปโดยที่ธนาคารเองก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น

และเมื่อคนเข้าธนาคารลดลง แต่ธนาคารยังมีต้นทุนการเปิดสาขา ทั้งค่าเช่า ค่าพนักงาน ค่าไฟ ค่ารักษาความปลอดภัยต่างๆ เหมือนเดิม ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ รายได้ชะลอ แต่ต้นทุนเท่าเดิม

เราจะไม่แปลกใจเลยว่า นับตั้งแต่นี้ต่อไป ธนาคารต่างๆ จะชะลอการขยายสาขา และจะหันไปเปิดสาขาที่มีขนาดเล็กลงแทน รวมไปถึงการทยอยลดพนักงานประจำสาขาต่างๆ ลง

คลื่นลูกที่สาม คู่แข่งที่เกิดใหม่จากอุตสาหกรรมอื่น
ตอนนี้เรามีแอปกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Wallet ต่างๆ มากมายให้เลือกใช้ ทั้ง Rabbit LINE Pay, Lazada Wallet, Grab Pay มากมายไปหมด จนทำให้คิดได้ว่าคู่แข่งธนาคารอาจไม่ใช่ธนาคารเสมอไป แต่เป็นบริษัทต่างๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมอื่นที่ใช้เทคโนโลยีในการรับฝากเงิน

ทั้งหมดนี้จึงทำให้เกิดความกังวลต่อนักลงทุนว่า
ธนาคารกำลัง “โดน DISRUPT”

ทุกอย่างโกลาหลไปหมด
แล้วธนาคารจะทำอย่างไรดี
ธนาคารกำลังโดน DISRUPT จริงหรือไม่?

ถ้าให้ตอบในวันนี้ก็คงไม่มีใครรู้แม้แต่ผู้บริหารของธนาคารเอง
ถ้าให้ลงทุนแมนตอบ ก็จะตอบว่าเป็นไปได้หลายทาง ขึ้นอยู่กับว่า ธนาคารจะปรับตัวเร็วแค่ไหน

ต้องดูข้อเท็จจริงกันก่อนว่า
ทุกวันนี้ถ้าถามว่าธนาคารลงทุนกับอะไรมากที่สุด คำตอบก็คือ การลงทุนในเทคโนโลยี
ถ้าไปเปิดดูงบลงทุนของธนาคารต่างๆ ก็จะรู้ว่า ธนาคารตั้งงบลงทุนในเทคโนโลยีในระดับ พันล้านบาทไปจนถึงหมื่นล้านบาท

บริษัทในประเทศไทยทั้งหมดไม่มีทางเลยที่จะลงทุนในเทคโนโลยีได้สเกลเท่ากับธนาคาร
คนไทยอาจจะยังไม่รู้ตัวว่า
บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองไทย
นั่นก็คือธนาคาร..

ธนาคารมีข้อได้เปรียบคือ มีฐานลูกค้าเดิมเป็นสิบล้านคนอยู่ในมือ และลูกค้าเหล่านี้มีการเข้าใช้บริการออนไลน์ของธนาคารเกือบทุกวันเป็นประจำอยู่แล้ว

ถ้าธนาคารสามารถเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้งานจากการ “เข้าแล้วออก” กลายเป็น “เข้าแล้วอยู่ต่อ” นั่นก็หมายถึงธนาคารสามารถมีช่องทางในการนำเสนอผลิตภัณฑ์มากขึ้น

และอีกเรื่องที่ธนาคารได้เปรียบก็คือ ธนาคารมีความน่าเชื่อถือว่าบริษัทอื่น

เราจะเห็นภาพด้วยคำถามเดียวคือ

เรากล้าฝากเงิน 1 แสนบาทใน Wallet ของ Rabbit LINE Pay, Lazada Wallet, Grab Pay หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือ “ไม่” เราก็พอจะเห็นภาพแล้วว่า e-Wallet เหล่านี้จะยังไม่สามารถมาแทนที่ธนาคารได้ในเร็วๆ นี้

ธนาคารยังมีความได้เปรียบในโมเดลเดิมของธนาคารคือ สามารถกู้เงินคนอื่นได้ถูก (ดอกเบี้ยเงินฝาก 0.5%) แล้วมาปล่อยกู้ต่อในอัตราดอกเบี้ยที่สูงกว่า และส่วนต่างนั่นก็คือกำไรของธนาคาร

บริษัทอื่นจะมาทำแบบธนาคารไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะต้องอาศัยความน่าเชื่อถือในการระดมเงินฝาก ความสามารถในการหาลูกค้า รวมไปถึงกฎระเบียบต่างๆ ที่ควบคุมโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

สรุปแล้วธนาคารน่าจะไม่ถูก DISRUPT ไปง่ายๆ
ถ้าธนาคารรู้ตัวเอง และปรับตัวให้เป็นบริษัทเทคโนโลยีได้เร็วพอ

แต่ในทางตรงกันข้าม
สำหรับธนาคารที่ไม่สนใจเทคโนโลยี
ราคาที่ต่ำกว่ามูลค่าทางบัญชีในวันนี้ อาจจะยังไม่ได้เป็นราคาที่ต่ำสุดก็เป็นได้

ดังนั้นโจทย์ในตอนนี้ ที่ผู้บริหารธนาคารต้องหาคำตอบก็คือ
ธนาคารจะสามารถเป็นบริษัทเทคโนโลยี “ได้เร็วกว่า”
บริษัทเทคโนโลยีอื่นกลายมาเป็นธนาคาร ได้อย่างไร..
———————-
Blockdit โซเชียลมีเดีย รูปแบบใหม่
http://www.blockdit.com
———————-

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 1
  • Chor
    รอสักพักมันจะกลับมาสูงกว่ามูลค่าทางบัญชีเอง เพราะมูลค่าทางบัญชีจะลดลง
    22 ต.ค. 2562 เวลา 11.38 น.
ดูทั้งหมด