ไลฟ์สไตล์

Exercise Addiction : อะไรคือ ‘เสพติดการออกกำลังกาย’

The101.world
เผยแพร่ 12 ธ.ค. 2562 เวลา 10.00 น. • The 101 World

โตมร ศุขปรีชา เรื่อง

ภาพิมล หล่อตระกูล ภาพประกอบ

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

 

ใครๆ ก็บอกว่าให้เราลุกขึ้นมาออกกำลังกาย

การได้ออกกำลังกายเป็นเรื่องดี ไม่ว่าจะวิ่ง เดิน ปั่นจักรยาน เล่นกีฬา หรือแม้กระทั่งทำงานบ้าน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

แต่เชื่อไหมครับ ว่าในโลกที่แสนจะซับซ้อนของปัจจุบัน ผู้คนจำนวนหนึ่งกำลังเริ่ม ‘ออกกำลังกายมากเกินไป’ และเลยไกลไปกระทั่งเกิดอาการที่เรียกกันว่า ‘เสพติดการออกกำลังกาย’ หรือ Exercise Addiction กันแล้ว

ในบทความของ Lucy Fry เธอยอมรับว่าตัวเองมีอาการ ‘เสพติดการออกกำลังกาย’ ที่ว่า ทำให้เธอต้องออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน ซึ่งก็ฟังดูเป็นเรื่องที่ดี แต่ปรากฏว่าการออกกำลังกายนั้นกลายมา ‘ครอบงำ’ และ ‘ควบคุม’ ชีวิตของเธอ จนเธอทำอย่างอื่นได้น้อยลง และส่งผลเสียต่อทั้งความสัมพันธ์และหน้าที่การงานต่างๆ

ที่จริงการเสพติดการออกกำลังกายไม่ได้เป็นเรื่องใหม่มาก เพราะนับตั้งแต่เกิด Fitness Boom เป็นคลื่นแห่งการออกกำลังกายลูกแรกในยุค 1970s (โดยเฉพาะในแคลิฟอร์เนีย) ก็เริ่มพบว่าคนจำนวนหนึ่งมีอาการเสพติดการออกกำลังกายกันแล้ว โดยอาการที่ว่ามีอาทิ หมกมุ่นอยู่กับการออกกำลังกาย ออกกำลังกายไม่หยุดหย่อน แม้ว่าจะก่อให้เกิดอาการบาดเจ็บกับร่างกาย แต่ก็ไม่หยุดเล่นหยุดซ้อม

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

ที่ร้ายกาจไปกว่านั้นก็คือ ถึงแม้ตัวเองจะอยากหยุดก็หยุดไม่ได้ เพราะเกิดแรงเร้าเรียกร้องภายในทำให้อยากลุกไปออกกำลังกายตลอดเวลา โดยรู้ทั้งรู้ว่าตอนนี้กล้ามเนื้อกำลังฉีกขาดอยู่ หรือว่าต้องไปทำกิจธุระบางอย่าง โดยเฉพาะการทำงาน ทว่าก็พร้อมโดดงานไปออกกำลังกายเสมอ เรียกว่าเกิด compulsive engagement หรือคล้ายถูก ‘บังคับ’ ให้ต้องออกกำลังกาย

พอเป็นเช่นนี้ สุดท้ายคนที่เสพติดการออกกำลังกายก็ต้อง ‘แอบ’ ไปออกกำลังกาย คือต้องออกกำลังกายแบบลับๆ ไม่ให้ใครรู้ ซึ่งตรงนี้แหละครับที่ทำให้รู้แน่ชัดว่าคนคนนั้นกำลังเข้าสู่ภาวะเสพติดแล้ว

คำถามก็คือ แล้วอะไรทำให้คนเราเสพติดการออกกำลังกายได้?

คำตอบไม่ง่ายเลย มีสมมติฐานในเรื่องนี้มากมาย สมมติฐานอย่างหนึ่งเป็นเรื่องทางกาย นั่นคือการออกกำลังกายทำให้ร่างกายของเราหลั่งสารเคมีในสมองที่ทำให้เกิดความสุข ได้แก่เอ็นดอร์ฟินและโดปามีน ซึ่งทั้งคู่เป็นสารสื่อประสาทที่จะหลั่งออกมาในหลายโอกาส เช่น มีเซ็กซ์ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนที่ตัวเองรัก เวลาออกกำลังกาย หรือไม่ก็เสพยาเสพติดบางอย่างที่ไปส่งผลให้ร่างกายหลั่งสารสื่อประสาทเหล่านี้ออกมา แล้วทำให้เราเกิดความรู้สึกเป็นสุข ซึ่งคนที่ออกกำลังกายเสร็จใหม่ๆ ก็จะรู้สึกกระปรี้กระเปร่ากันทุกคนไป และทำให้เกิดคำแนะนำในผู้มีภาวะซึมเศร้าว่าควรออกกำลังกายควบคุมกันไปด้วยกับการปรึกษาแพทย์ เพราะช่วยปรับสมดุลของสารเคมีในสมองได้

การเสพติดการออกกำลังกายก็เหมือนนิยามคำว่า ‘เสพติด’ อื่นๆ นั่นแหละครับ นั่นคือพอเสพติดแล้ว การได้รับยา (หรือการออกกำลังกาย) ในปริมาณเท่าเดิมจะไม่ทำให้เกิดความพึงพอใจเท่าเดิมเสมอไป แต่ต้องเพิ่มปริมาณยา (หรือการออกกำลังกาย) ไปเรื่อยๆ (ซึ่งในกรณีนี้ก็คือการเพิ่มการหลั่งของสารสื่อประสาทในสมองนั่นเอง) ทำให้เกิดการเสพติดแบบหยุดไม่ได้

คำอธิบายเรื่องทางกายภาพนี้ฟังดูง่ายและน่าเชื่อถือ แต่ที่จริงแล้วการเสพติดการออกกำลังกายยังอาจเกิดจากสิ่งอื่นๆ เช่นสภาวะทางสังคมได้อีกด้วย ในบทความนี้ ผู้หญิงคนหนึ่งชื่อแคธเธอรีน ชรีเบอร์ (Katherine Schreiber) บอกกับ ABC News ว่า เธอเริ่มออกกำลังกายก็เพื่อต่อสู้กับประเด็นเรื่อง ‘ภาพลักษณ์ทางร่างกาย’ หรือ body image นั่นคือเธอจะรู้สึกอยู่เสมอว่าตัวเองไม่ได้มีรูปร่างที่ดีพอ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่เธอลุกขึ้นมาออกกำลังกายแล้วรู้สึกว่าร่างกายกระชับ เหมือนเธอสามารถ ‘ควบคุม’ ร่างกายของตัวเองได้ ทำให้เธอพึงพอใจ ความรู้สึกนี้ค่อยๆ แรงกล้ามากขึ้น สุดท้ายจากที่เคยออกกำลังกายในยิมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ปัจจุบันเธอออกกำลังกายวันละ 3 ครั้ง ซึ่งอาจจะมากเกินไป

คำถามถัดมาก็คือ แล้วในปัจจุบันมีคนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน นี่เป็นอีกคำถามที่ตอบได้ยากมาก เนื่องจากในทางการแพทย์ยังไม่ได้พิจารณาว่าอาการเสพติดการออกกำลังกายยังเป็นเรื่องผิดปกติหรือเป็น Disorder ดังนั้นมาตรฐานที่จะใช้วัดว่าใครมีอาการนี้หรือไม่ในแต่ละที่จึงแตกต่างกันออกไป

แต่ในงานชิ้นนี้ประเมินเอาไว้ว่า คนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายมีอยู่ราว 0.4% ของประชากร สอดคล้องกับอีกการสำรวจหนึ่งในคน 6,000 คน ในเดนมาร์ก ฮังการี สเปน สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Sports Medicine Open ประมาณเอาไว้ว่า ในประชากรทั้งหมด คนที่มีอาการนี้น่าจะอยู่ที่ราว 0.3-0.5% ส่วนในหมู่คนที่ออกกำลังกายสม่ำเสมอ (ซึ่งเป็นเรื่องดีอยู่แล้วนะครับ) น่าจะมีคนที่มีอาการนี้อยู่ราว 1.9-3.2%

โดยคนที่มีความเสี่ยงจะมีอาการเสพติดการออกกำลังกายนั้น มักจะเป็นคนที่มีความอ่อนแอทางใจบางอย่างอยู่แล้ว เช่น เป็นคนที่มีปัญหาเรื่อง ‘ภาพลักษณ์ทางกาย’ (แบบเดียวกับแคธเธอรีน ชรีเบอร์) หรือว่ามี self-esteem ต่ำ เป็นคนที่ขาดความมั่นใจ รวมถึงมีโอกาสที่จะเสพติดอะไรอื่นๆ มากอยู่แล้ว

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California บอกว่า คนที่มีอาการเสพติดการออกกำลังกายนั้น มีอยู่ 15% ที่เสพติดสิ่งอื่นๆ ด้วย ตั้งแต่บุหรี่ แอลกอฮอล์ หรือแม้กระทั่งยาเสพติดที่ผิดกฎหมาย ซึ่งฟังดูเป็นเรื่องย้อนแย้งมาก เนื่องจากคนที่ออกกำลังกายส่วนใหญ่เพื่อให้สุขภาพแข็งแรงมักจะไม่แตะต้องสิ่งเหล่านี้

นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว พบว่าคนที่เสพติดการออกกำลังกายราว 25% ยังเสพติดพฤติกรรมอื่นๆ ด้วยเช่น เสพติดเซ็กซ์ หรือเสพติดการช้อปปิ้ง เป็นต้น แสดงให้เห็นว่าตัวการออกกำลังกายเองอาจไม่ใช่ต้นเหตุทั้งหมด แต่สาเหตุอาจเกิดขึ้นได้หลายอย่างผสมกันอย่างซับซ้อน ทั้งปัจจัยทางใจของตัวคนคนนั้นเอง ปัจจัยแวดล้อมทางสังคม รวมไปถึงปัจจัยทางชีวภาพหรือร่างกายของคนคนนั้นด้วย

ที่น่าเป็นห่วงมากยิ่งขึ้นอีกขั้นหนึ่งก็คือ ในคนที่เสพติดการออกกำลังกายเพราะเริ่มต้นจากปัญหาเรื่องรูปร่างหรือ body image พบว่าคนจำนวนหนึ่งมีความผิดปกติทางการกินร่วมด้วย ซึ่งก็มีได้หลายแบบ โดยความผิดปกติทางการกินแบบหนึ่งที่พบได้มากขึ้นเรื่อยๆ คือ ออร์โธเร็กเซีย (Orthoexia) หรือบางทีก็เรียกว่า อะนอเร็กเซีย แอธลีทิกา (Anorexia athletica) ซึ่งคือการหมกมุ่นหรือเลือกกินเฉพาะ ‘อาหารสุขภาพ’ หรือไม่ก็อาหารบางประเภทเท่านั้น ที่พบได้บ่อยก็คือคนที่กินแต่โปรตีนบาร์อย่างเดียวเป็นปีๆ หรือกินเฉพาะไข่ต้ม อกไก่ ฯลฯ ด้วยเชื่อว่านั่นจะทำให้ร่างกายดูดี แข็งแรง และดูเป็นนักกีฬาขึ้นมา คนที่มีอาการออร์โธเร็กเซียมักจะรู้สึกว่าตัวเองแยกขาดจากคนอื่น (นั่นเพราะการกินเป็นเรื่องทางวัฒนธรรมสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้คนรวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน เมื่อกินไม่เหมือนคนอื่นก็ขาดปฏิสัมพันธ์ทางสังคมไปหนึ่งอย่าง) โดยการแยกขาดในที่นี้อาจหมายถึงคนเหล่านี้รู้สึกว่าตัวเอง ‘เหนือกว่า’ คนที่กินอาหารแบบอื่นๆ ได้ด้วย แต่ปัญหาก็คือ หากขาดการวางแผนโภชนาการที่ดี สุดท้ายการกินอาหารประเภทเดียวนานๆ ก็อาจส่งผลเสียต่อสุขภาพได้หลายด้าน

นอกจากนี้ยังมีอาการผิดปกติทางการกินอื่นๆ ร่วมด้วยได้อีก เช่น Exercise bulimia คือถ้าหากว่าเผลอไปกินอะไรเข้าไปเยอะหน่อย ก็อาจตอบสนองด้วยการกลับมาออกกำลังกายอย่างหนักหน่วงยาวนาน ด้วยคิดว่าจะเผาผลาญพลังงานที่กินเข้าไปให้หมด ซึ่งก็กลายเป็นวงจรป้อนกลับ ไปกระตุ้นการบังคับให้ออกกำลังกายเพิ่มมากขึ้น

อีกประเภทหนึ่งก็คือเกิดความหมกมุ่นกับบางส่วนของร่างกายที่เห็นว่าไม่สมบูรณ์แบบ (body dysmorphic disorder) ทำให้เลือกออกกำลังกายเฉพาะส่วนนั้นๆ อย่างหนัก เพื่อปรับปรุงให้สมบูรณ์แบบ แต่หากทำมากเกินไปก็อาจส่งผลร้ายได้เช่นกัน

ในบทความนี้ มีเกณฑ์อยู่ 7 ข้อ ที่ใช้พิจารณาว่าใครมีข้อบ่งชี้ว่ามีอาการเสพติดการออกกำลังกายหรือเปล่า เช่น มีความอดทน (tolerance) ต่อสิ่งต่างๆ รอบข้างน้อยลงเมื่อไม่ได้ออกกำลังกายจนถึงระดับที่เป็นปัญหาไหม มีอาการ ‘ถอน’ (withdrawal) เวลาที่ไม่ได้ออกกำลังกาย คือรู้สึกเหมือนจะลงแดงหรือเปล่า ไล่ไปถึงการใช้เวลา หรือพิจารณาความขัดแย้งกับคนรอบข้างที่ไม่ได้เป็น ‘พวกออกกำลังกาย’ หรือเปล่า ซึ่งก็สามารถพอใช้ประเมินได้ว่า แต่ละคนมีแนวโน้มเสพติดการออกกำลังกายมากน้อยแค่ไหน

แต่กระนั้นก็ต้องบอกคุณเอาไว้ด้วยว่า อย่าเพิ่งไปจริงจังกับมันมากเกินไปนัก

ที่จริงแล้วการประเมินเรื่องนี้เป็นเรื่องยากมาก ถ้าคุณไปพบแพทย์แล้วบอกว่าจะมาตรวจว่าตัวเองเสพติดการออกกกำลังกายหรือเปล่า แพทย์จำนวนมากจะบอกว่าออกกำลังกายมากๆ นั้นดีแล้ว (ซึ่งถ้าหากเราขาดการออกกำลังกายอยู่ก็ถือว่าเป็นเรื่องดีจริงๆ) แต่ในสังคมที่ซับซ้อนมากขึ้น พบว่าแนวโน้มของการเสพติดการออกกำลังกายหรือออกกำลังกายล้นเกินเริ่มมีมากขึ้น บางคนวิเคราะห์ว่า มาจากแรงกดดันจากโซเชียลมีเดีย (ดูเหมือนโซเชียลมีเดียจะกลายเป็นผู้ร้ายได้ในแทบทุกเรื่อง) เพราะหลายคนเห็นเพื่อนๆ คนนั้นคนนี้ออกกำลังกายหนักๆ กัน เช่น ไปวิ่งมาราธอน (หรือไกลกว่านั้น) แล้วเลยแรงกระตุ้นเชิงสังคม ที่อาจส่งผลลึกลงไปถึงพฤติกรรมได้

อย่างไรก็ตาม โปรดอย่าลืมว่า คนที่เสพติดการออกกำลังกายนั้นมีอยู่แค่ราว 0.4% ของประชากรทั้งหมด คือยังไม่ถึง 1% เลย แต่คนที่ยังออกกำลังกายไม่พอ น่าจะมีมากมายมหาศาลกว่านั้นเยอะ (และอาจรวมถึงตัวเราเองด้วย) ดังนั้นจึงอย่าเพิ่งไปกลัวว่าตัวเองออกกำลังกายมากเกินไปหรือเสพติดการออกกำลังกายเลย เอาแค่ให้ลุกขึ้นมาออกกำลังกายได้สัปดาห์ละ 3-4 ครั้งยังอาจทำไม่ได้ด้วยซ้ำ

โลกชอบเหวี่ยงเราไปมาจนสุดขั้วเสมอ ดังนั้น สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการดึงตัวเองออกมาจากตัวเอง แล้วมองย้อนกลับไปให้เห็น ว่าเรากำลังใช้ชีวิตอยู่ใน ‘สมดุล’ มากน้อยแค่ไหน

นี่คือเรื่องที่พูดง่าย แต่ทำได้ยากที่สุดโดยแท้

ดูข่าวต้นฉบับ
ความเห็น 5
  • Toom
    ฉันเองก็ออกกำลังด้วยการเต้นรำวันละ 1ชม.หลังอาหารมื้อสุดท้าย ประจำเหมือนกันนะ และหลังจากนั้นก็จะไม่มีการรับประทานสิ่งใดๆอีก นอกจากน้ำสะอาด จนกว่าถึงมื้อเช้าของอีกวัน แต่ถ้าวันไหนยุ่งและไม่ว่างก็งดได้นะไม่กระวนกระวายใด
    12 ธ.ค. 2562 เวลา 11.19 น.
  • เอาที่สบายใจ@356
    ผมต้องใหหัวใจเต้น 170-190 ทุกๆวันไม่งั้นนอนไม่หลับ เสพติดไหม
    12 ธ.ค. 2562 เวลา 12.25 น.
  • Jo936
    เสพติดในสิ่งที่ดีมันมีอะไรเสียหายด้วยเหรอ ออกกำลังกายทุกวันมีแต่ผลดีๆทั้งนั้น
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 09.08 น.
  • Tiwa 😶‍🌫️18938😶‍🌫️
    ไม่ได้ออกกำลังกายรู้สึกไม่โอเคร
    13 ธ.ค. 2562 เวลา 06.20 น.
  • โอม
    แต่ยังไงก็แล้วแต่ การเสพติดการออกกำลังกาย ก็ยังมีผลเสีย น้อยกว่า เสพติดสารเคมี หรือ แอลกอฮอล์ เราจึงไม่ควร วิตกกังวลไป จน ออกกำลังกายไม่เพียงพอ ต่อสุขภาพ ครับ
    12 ธ.ค. 2562 เวลา 19.39 น.
ดูทั้งหมด