กุ้งก้ามกราม นับเป็นสัตว์เศรษฐกิจสร้างอาชีพที่ดีอีกชนิดหนึ่ง ด้วยรสชาติอร่อย และราคาดีสม่ำเสมอ
ข้อมูลจากกองโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กรมประมง ระบุว่า การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สามารถทำได้ทั้งอาชีพหลักและอาชีพเสริม หากใครต้องการทำเป็นอาชีพ แต่ไม่เคยทำมาก่อนเลย แนะนำให้ทดลองเลี้ยงในปริมาณน้อยๆ ไปก่อน
แต่เหนือสิ่งอื่นใด ก่อนที่จะทดลองเลี้ยง ควรหาตลาดไว้ก่อน ว่าถ้าเลี้ยงแล้วจะไปขายใคร ขายที่ไหน ขายอย่างไร เช่น ส่งแม่ค้าในตลาด มีแผงค้าเอง หรือจะเจาะกลุ่มลูกค้าแบบใด
สำหรับผู้ที่ต้องการทดลองเลี้ยง แนะนำในพื้นที่เล็กๆ ก่อน สักประมาณครึ่งไร่ หรือ 200 ตารางวา ด้วยลูกพันธุ์ จำนวน 2-3 หมื่นตัว เลี้ยงไป 8-10 เดือน ก็จับขายได้ ซึ่งทั้งหมดนี้ ใช้เงินลงทุนราว 3-5 หมื่นบาท
โดยซึ่งสมมติว่าคิดจากราคาขาย ต่อกิโลกรัม ประมาณ 200 บาท จะมีรายได้อยู่ที่ราว 200,000 บาท เลยทีเดียว
ใครที่สนใจการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม สามารถปรึกษาหาข้อมูลได้ที่ ศูนย์วิจัยประมงน้ำจืดทุกจังหวัด หรือที่กรมประมง บางเขน กรุงเทพฯ
รายละเอียดสำหรับ การเลี้ยงกุ้งก้ามกราม จากเอกสารกรมประมง
กุ้งชนิดนี้ มีชื่อท้องถิ่นซึ่งเป็นที่รู้จักต่างๆ กัน เช่น กุ้งก้ามกราม กุ้งนาง กุ้งแห้ง กุ้งใหญ่ กุ้งหลวง กุ้งแม่น้ำ และกุ้งก้ามเลี้ยง พบกุ้งชนิดนี้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืดที่มีทางติดต่อกับทะเล และแหล่งน้ำกร่อยในบริเวณปากแม่น้ำลำคลอง ปัจจุบันนี้ กรมประมง และฟาร์มเอกชนสามารถเพาะพันธุ์กุ้มก้ามกรามได้ จึงทำให้มีผู้เลี้ยงกุ้งชนิดนี้กันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในภาคกลางของประเทศไทย เช่น จังหวัดสุพรรณบุรี พระนครศรีอยุธยา นครปฐม ราชบุรี ปทุมธานี เป็นต้น
สาเหตุที่เกษตรกรนิยมเลี้ยงกุ้งชนิดนี้ เนื่องจากเนื้อมีรสชาติดี เป็นที่ต้องการของตลาด ทำให้มีราคาค่อนข้างสูงเมื่อเปรียบเทียบกับสัตว์น้ำจืดหลายชนิด จึงเป็นอาชีพที่ทำรายได้ดีให้แก่เกษตรกร แต่การเลี้ยงกุ้งก้ามกรามให้ประสบผลสำเร็จนั้นต้องอาศัยทักษะ ความรู้ ความเข้าใจ และประสบการณ์ พร้อมทั้งการดูแลเอาใจใส่ให้ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพดี
ขั้นตอนการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม มีดังนี้
1. การเลือกสถานที่เลี้ยงกุ้งก้ามกราม
การเลือกสถานที่เลี้ยงเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งที่จะก่อให้เกิดความสำเร็จหรือล้มเหลวในการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม เพราะพื้นที่บางแห่งอาจจะไม่สามารถใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้เลย หรือบางแห่งอาจจะใช้เลี้ยงสัตว์น้ำได้แต่จะต้องมีการปรับปรุง บางแห่งอาจไม่ต้องปรับปรุงเลย สำหรับการเลือกพื้นที่เลี้ยงกุ้งก้ามกรามนั้น มีปัจจัยที่ต้องคำนึงถึง ดังนี้
1.1 คุณภาพดิน ควรเป็นดินเหนียวหรือดินร่วนสามารถเก็บกักน้ำได้ดี และคันดินไม่พังทลายง่าย ดินไม่ควรเป็นดินเปรี้ยว เพราะทำให้สภาพน้ำเป็นกรด ซึ่งไม่เหมาะในการเลี้ยงกุ้ง และอาจส่งผลทำให้กุ้งตายได้
1.2 คุณภาพน้ำ บ่อเลี้ยงกุ้งควรอยู่ใกล้แหล่งน้ำที่มีคุณภาพดี สะอาด ไม่มีมลภาวะจากโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งชุมชน และแหล่งเกษตรกรรม น้ำควรมีปริมาณมากเพียงพอตลอดทั้งปี ถ้าเป็นพื้นที่ที่มีน้ำส่งเข้าบ่อโดยไม่ต้องสูบน้ำ เช่น น้ำจากแม่น้ำลำคลอง คลองชลประทาน ก็จะเป็นการดีเพราะช่วยลดค่าใช้จ่าย
กรณีที่ไม่แน่ใจว่าคุณสมบัติของน้ำเหมาะสมหรือไม่ ควรนำไปวิเคราะห์ที่ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงหรือสถานีประมงฯ ที่อยู่ใกล้เคียง
1.3 แหล่งพันธุ์กุ้ง พื้นที่เลี้ยงควรอยู่ในบริเวณที่ไม่ห่างจากแหล่งพันธุ์กุ้ง เพราะจะช่วยให้สะดวกในการลำเลียงขนส่ง และการจัดหาพันธุ์ ซึ่งจะเป็นผลดีต่อสุขภาพกุ้งเนื่องจากกุ้งที่ผ่านการขนส่งเป็นเวลานานมักจะอ่อนแอและมีอัตรารอดต่ำ
1.4 สาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวกหลายอย่างจำเป็นมากต่อการเลี้ยงกุ้งให้ได้ผลดี เช่น ถนน ไฟฟ้า เพื่อสะดวกในการขนส่งอาหาร ผลผลิต การเตรียมอาหาร หรือการเพิ่มออกซิเจนในบ่อ
1.5 ตลาด แหล่งเลี้ยงกุ้งควรอยู่ไม่ไกลตลาดมากเกินไป เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายในการขนส่ง
2. รูปแบบของบ่อและการก่อสร้างบ่อเลี้ยง
2.1 รูปแบบบ่อเลี้ยงกุ้ง ส่วนมากนิยมทำเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เพราะสะดวกในการจัดการและการจับกุ้ง ถ้าเป็นไปได้ด้านยาวของบ่อควรอยู่ในแนวเดียวกับทิศทางลม เพื่อให้ออกซิเจนละลายน้ำได้ดี
2.2 ขนาดของบ่อ ปกติจะกว้างประมาณ 25-50 เมตร ส่วนความยาวขึ้นกับขนาดที่ต้องการและลักษณะภูมิประเทศ ขนาดของบ่อที่เหมาะสม ควรอยู่ระหว่าง 1-5 ไร่ ต่อบ่อ แต่ถ้ามีพื้นที่น้อย อาจจะใช้บ่อเล็กกว่านี้ได้ ส่วนบ่อที่มีขนาดใหญ่เกินไปจะทำให้ดูแลจัดการลำบาก และเมื่อเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้เกิดความเสียหายมาก การแก้ปัญหาก็ทำได้ยาก พื้นก้นบ่อต้องอัดเรียบแน่น ไม่มีสิ่งกีดขวางในการลากอวน
2.3 ความลึกของบ่อ ต่ำสุดประมาณ 1 เมตร และลึกสุดไม่เกิน 1.5 เมตร โดยมีความลาดเอียงไปยังประตูระบายน้ำออก เพื่อสะดวกในการระบายน้ำและจับกุ้ง บ่อที่ลึกเกินไปจะมีปัญหาการขาดออกซิเจนในน้ำได้ แต่ถ้าตื้นเกินไปก็จะทำให้แสงแดดส่องถึงก้นบ่อ ทำให้เกิดวัชพืชน้ำได้ง่าย และอาจทำให้อุณหภูมิของน้ำเปลี่ยนแปลงมากเกินไปในรอบวัน คันบ่อจะต้องสูงพอที่จะป้องกันน้ำท่วมในฤดูน้ำหลาก และมีความลาดชันพอประมาณ ถ้าคันบ่อลาดชันน้อยไปจะทำให้พังทลายได้ง่าย แต่ถ้ามีความลาดชันมากไปจะทำให้สิ้นเปลืองพื้นที่
2.4 ทางระบายน้ำเข้าและประตูระบายน้ำออก ควรอยู่ตรงข้ามกัน โดยอยู่ตรงส่วนปลายของด้านยาว ประตูระบายน้ำควรมีขนาดใหญ่พอเหมาะกับขนาดของบ่อเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้เร็ว และคลองระบายน้ำออกจะต้องอยู่ต่ำกว่าประตูระบายน้ำเพื่อให้สามารถระบายน้ำได้หมด
3.การเตรียมบ่อเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
ควรระบายน้ำออกจากบ่อให้แห้ง เพื่อกำจัดศัตรูกุ้ง ได้แก่ ปลา กบ เขียด เป็นต้น ถ้าไม่สามาถรระบายน้ำได้หมด ให้ใช้โล่ติ๊นสด 2-4 กิโลกรัม ต่อปริมาตรน้ำในบ่อ 100 ลูกบาศก์เมตร โดยนำโล่ติ๊นสดทุบให้ละเอียดแล้วแช่น้ำ ประมาณ 2 กิโลกรัม ต่อน้ำ 1 ปี๊บ ทิ้งไว้ 1 คืน ขยำเอาน้ำสีขาวออกหลายๆ ครั้งจนหมด แล้วนำไปสาดให้ทั่วบ่อ ทิ้งไว้ประมาณ 7 วัน
จากนั้นหว่านปูนขาวขณะดินยังเปียก กรณีที่บ่อมีเลนมากควรพลิกดินก่อนหว่านปูนขาวและตากบ่อ การตากบ่อจะช่วยให้ของเสียพวกสารอินทรีย์หมักหมมอยู่พื้นบ่อสลายตัวไป นอกจากนี้ ความร้อนจากแสงแดดและปูนขาวยังช่วยกำจัดเชื้อโรคและปรสิต รวมทั้งศัตรูกุ้งด้วย
สำหรับบริเวณที่ดินมีสภาพเป็นกรด หรือที่เรียกว่า ดินเปรี้ยว เมื่อต้องการปรับเปลี่ยนพื้นที่มาเป็นบ่อเลี้ยงกุ้ง ควรใช้ปูนขาวให้มากขึ้น ปริมาณปูนขาวที่ใช้ขึ้นอยู่กับว่าดินเป็นกรดมากน้อยแค่ไหน ซึ่งต้องวิเคราะห์ความต้องการปูนขาวของดิน โดยให้หน่วยงานราชการที่บริการการวิเคราะห์คุณสมบัติของดิน เช่น สถานีพัฒนาที่ดินช่วยวิเคราะห์ความเป็นกรดของดิน
แต่โดยทั่วไปถ้าเป็นบ่อขุดใหม่และดินไม่เป็นกรดมากอัตราการใส่ปูนขาว อยู่ประมาณ 160-200 กิโลกรัม ต่อไร่ ถ้าเป็นบ่อที่เคยเลี้ยงกุ้งมาแล้วและไม่เป็นกรดมาก ใส่ปูนขาว ประมาณ 80-100 กิโลกรัม ต่อไร่ แล้วตากบ่อทิ้งไว้ 2-4 สัปดาห์ แต่ถ้าดินมีความเป็นกรดมากอาจต้องใช้ปูนขาวสูงถึง 800 กิโลกรัม ต่อไร่
4.การเตรียมน้ำสำหรับเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
หลังจากตากบ่อและใส่ปูนขาว ประมาณ 2-4 สัปดาห์ จึงเปิดน้ำลงบ่อโดยกรองด้วยอวนไนลอน หรือตะแกรงตาถี่ เพื่อป้องกันศัตรูกุ้งที่ปนมากับน้ำ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ไข่และตัวอ่อนของปลาและกบ
ถ้าน้ำจากแหล่งน้ำที่ใช้มีคุณภาพดี ไม่มีปัญหาเกี่ยวกับคุณภาพน้ำ อันเนื่องมาจากการปนเปื้อนของยาฆ่าแมลงและของเสียจากโรงงานและบ้านเรือนก็สามารถสูบน้ำเข้าบ่อได้เลย หลังจากนั้นควรกักน้ำไว้ 2-3 วัน เพื่อให้น้ำปรับสภาพเข้าสู่สภาวะสมดุลเสียก่อน แล้วจึงปล่อยกุ้งลงเลี้ยง หรืออาจจะใส่ปุ๋ยเคมี สูตร 15-15-15 ในอัตรา 3 กิโลกรัม ต่อไร่ ละลายน้ำแล้วสาดให้ทั่วบ่อ ปล่อยทิ้งไว้ 1 สัปดาห์ เพื่อให้เกิดอาหารธรรมชาติก่อนปล่อยกุ้งได้
ถ้าสีของน้ำเป็นสีเขียวอมเหลืองหรือสีน้ำตาลแสดงว่ามีอาหารธรรมชาติพวกแพลงตอนอุดมสมบูรณ์ ก่อนปล่อยกุ้ง 1-2 วัน ให้ใช้มุ้งเขียวตาถี่ลองลากอวนในบ่อดู ถ้าพบว่ามีแมลงน้ำ เช่น มวนวน มวนกรรเชียง แมลงดาสวน ตัวอ่อนแมลงปอ อยู่มาก ให้กำจัดโดยใช้สบู่กับน้ำมันเครื่อง ในสัดส่วน 2:1 ใส่ในอัตรา 1.5-2 ลิตร ต่อพื้นที่ผิวน้ำ 1 ไร่ ใส่ในช่วงเวลาที่แดดจัดและมีลมสงบ คราบน้ำมันจะปิดรูหายใจของแมลง
5. การเลือกพันธุ์กุ้งก้ามกราม
พันธุ์กุ้งก้ามกรามที่ดีควรมีการว่ายน้ำปราดเปรียว แข็งแรง ลำตัวใส และเป็นกุ้งที่คว่ำมาแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ ขึ้นไป (อายุประมาณ 25-30 วัน ขึ้นไป) และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดไม่น้อยกว่า 1-2 วัน (ถ้าปล่อยกุ้งที่พึ่งคว่ำสองสามวันมักจะมีอัตรารอดต่ำ)
6. การลำเลียงพันธุ์กุ้งก้ามกราม
การขนส่งลำเลียงในปัจจุบันนิยมใช้ถุงพลาสติก ขนาดกว้าง 14 นิ้ว ยาว 24 นิ้ว (35×60 เซนติเมตร) บรรจุน้ำ ประมาณ 2.5 ลิตร อัดออกซิเจน 3 ส่วน ต่อปริมาตรน้ำ 1 ส่วน บรรจุลูกกุ้งคว่ำประมาณ 2,000 ตัว ต่อถุง โดยนิยมขนส่งในช่วงเวลาเช้ามืดหรือเวลากลางคืน เนื่องจากอุณหภูมิอากาศไม่ร้อนจัดเกินไป
ซึ่งถ้าขนส่งในช่วงเวลาเช้ามืดหรือกลางคืนไม่จำเป็นต้องใช้รถห้องเย็นควบคุมอุณหภูมิก็ได้ แต่ต้องระมัดระวังความร้อนจากพื้นรถไม่ให้สัมผัสกับถุงบรรจุลูกกุ้งโดยตรง แต่ถ้าเป็นการขนส่งในเวลากลางวันเป็นเวลานานหลายชั่วโมง ควรใช้รถห้องเย็นที่ปรับอุณหภูมิภายในที่ 25 องศาเซลเซียส เพราะถ้าใช้อุณหภูมิขณะขนส่งต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส เป็นเวลานานทำให้กุ้งส่วนใหญ่ตายได้
7.การปล่อยพันธุ์กุ้งก้ามกราม
การปล่อยลูกกุ้งก้ามกรามลงบ่อ นิยมทำในเวลาที่สภาพอากาศไม่ร้อนเกินไป เช่น เวลาเช้า หรือเย็น โดยนำถุงบรรจุพันธุ์กุ้งมาแช่ในบ่อที่จะเลี้ยง ประมาณ 20 นาที เพื่อปรับอุณหภูมิของน้ำในถุงและน้ำในบ่อให้เท่ากัน แล้วเปิดปากถุงออก จากนั้นตักน้ำในบ่อมาผสมกับน้ำในถุงอย่างช้าๆ ก่อนปล่อยพันธุ์กุ้งลงบ่อ เพื่อช่วยให้กุ้งสามารถปรับตัวเข้ากับสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและมีอัตรารอดมากขึ้น
8.วิธีการเลี้ยงกุ้งก้ามกราม
วิธีที่ 1 นำลูกกุ้งที่คว่ำแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดอย่างน้อย 1-2 วัน ไปอนุบาลในบ่อดิน โดยใช้อัตราปล่อย ประมาณ 80,000-160,000 ตัว ต่อไร่ อนุบาลนานประมาณ 2-3 เดือน จึงได้กุ้งขนาด 2-5 กรัม ต่อตัว (โดยปกติการอนุบาลในระยะนี้จะมีอัตรารอดประมาณ 40-50 เปอร์เซ็นต์) หลังจากนั้น จึงย้ายไปเลี้ยงในบ่อเลี้ยงกุ้งโต โดยปล่อยในอัตรา 20,000-30,000 ตัว ต่อไร่
หลังจากเลี้ยงในบ่ออีกประมาณ 4 เดือน ก็ทยอยจับกุ้งบางส่วนที่โตได้ขนาดขายเดือนละครั้งและจับหมดทั้งบ่อเมื่อเลี้ยง 6-101 เดือนขึ้นไป วิธีนี้มีข้อดีคือ อัตรารอดจะสูง ไม่ต่ำกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากลูกกุ้งที่ผ่านการอนุบาลมาแล้วจะแข็งแรงและปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อเลี้ยงได้ดี แต่ข้อเสียคือต้องใช้แรงงานในการเคลื่อนย้ายกุ้งจากบ่ออนุบาลไปลงบ่อเลี้ยง
วิธีที่ 2 นำลูกกุ้งที่คว่ำแล้วประมาณ 1 สัปดาห์ และได้รับการปรับสภาพให้อยู่ในน้ำจืดอย่างน้อย 1-2 วัน ปล่อยลงบ่อเลี้ยงโดยตรง ในอัตราประมาณ 40,000-60,000 ตัว ต่อไร่ หลังจากนั้น ประมาณ 6-10 เดือนขึ้นไปจึงทยอยจับกุ้งที่โตได้ขนาดขายและทยอยจับเดือนละครั้ง จนเห็นว่ามีกุ้งเหลือน้อยจึงจับหมดบ่อ วิธีนี้มีข้อดีคือ ไม่ต้องใช้แรงงานในการเคลื่อนย้ายลูกกุ้ง
แต่ข้อเสียคือ ลูกกุ้งที่ผ่านการขนส่งเป็นเวลานาน บางส่วนอาจจะอ่อนแอและตายในขณะขนส่งหรือหลังจากปล่อยลงบ่อได้ไม่นาน เนื่องจากไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมในบ่อได้ ทำให้มีอัตรารอดไม่แน่นอน และอาจมีผลเสียต่อการคำนวณปริมาณอาหารที่จะให้ แต่ถ้ามีการขนส่งที่ดีและลูกกุ้งแข็งแรง การเลี้ยงวิธีนี้โดยปกติจะมีอัตรารอดประมาณ 50-60 เปอร์เซ็นต์
ระยะเวลาการเลี้ยงและการจับ
ระยะเวลาเลี้ยงกุ้งขึ้นอยู่กับขนาดที่ตลาดต้องการ โดยทั่วไปหลังจากเลี้ยงกุ้งก้ามกรามได้ประมาณ 4-6 เดือนก็เริ่มคัดขนาดและจับกุ้งบางส่วนขายได้แล้ว และทยอยจับเดือนละครั้ง และจับทั้งหมดเมื่อเห็นว่ากุ้งเหลือน้อย (รวมระยะเวลาการเลี้ยงทั้งหมดประมาณ 8-12 เดือน)
การจับกุ้งให้ได้ผลดีควรลดระดับน้ำในบ่อเหลือประมาณ 50 เซนติเมตรแล้วใช้อวนลาก โดยใช้อวนช่องตาขนาด 4 เซนติเมตร เพื่อให้กุ้งมีขนาดเล็กหลุดรอดออกได้และลดการบอบช้ำ ที่ตีนอวนควรมีตะกั่วถ่วง สำหรับเชือกคร่าวบนเวลาลากอาจใช้ไม้ไผ่ค้ำไว้ โดยเสียบไว้กับทุ่นลอยที่ทำมาจากต้นกล้วย การจับกุ้งนิยมดำเนินการในช่วงเช้า เพราะอากาศไม่ร้อน
ผลผลิตและการคัดขนาดกุ้งก้ามกราม
ผลผลิตกุ้งก้ามกรามที่ปล่อยในอัตรา 20,000 ตัวต่อไร่ โดยใช้กุ้งที่ผ่านการอนุบาลเป็นเวลา 2-3 เดือน แล้วเลี้ยงต่อไปอีกประมาณ 6-10 เดือน จะอยู่ระหว่าง 400-500 กิโลกรัมต่อไร่ เนื่องจากกุ้งที่จับมีขนาดและลักษณะแตกต่างกัน จึงทำให้ราคากุ้งแตกต่างกันด้วย ดังนั้น จึงมีการคัดขนาดกุ้งเป็นประเภทต่างๆ ตามลำดับ ดังนี้
- ตัวผู้ขนาดใหญ่ (กุ้งขนาด 1) ขนาดน้ำหนักประมาณ 100 กรัม (10 ตัว/กิโลกรัม)
- ตัวผู้ขนาดรอง (กุ้งขนาด 2) ขนาดน้ำหนักประมาณ 70 กรัม (15 ตัว/กิโลกรัม)
- ตัวผู้ขนาดเล็ก (กุ้งขนาด 3) ขนาดน้ำหนักประมาณ 50 กรัม (20 ตัว/กิโลกรัม)
- ตัวผู้ก้ามยาวใหญ่ราคาถูกกว่ากุ้งตัวผู้ลักษณะธรรมดา
- ตัวเมียไม่มีไข่ ราคาจะดีกว่ากุ้งตัวเมียมีไข่
- ตัวเมียมีไข่
- กุ้งนิ่ม หรือกุ้งที่เพิ่งลอกคราบ
- กุ้งจิ๊กโก๋ เป็นกุ้งแคระแกร็นไม่ลอกคราบ
ติดต่อ กองพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีการประมง กรมประมง โทร. 02-5793686 และ 02-5796820
เผยแพร่ในระบบออนไลน์เป็นครั้งแรก เมื่อวันพฤหัสที่ 10 ตุลาคม พ.ศ.2562
Suk S. Limp ต้องช่วยตัวเอง..
14 ก.ค. 2564 เวลา 06.11 น.
ดูทั้งหมด