ไลฟ์สไตล์

10 ข้อคิด ปฏิบัติธรรมอย่างไรไม่ให้หลงทาง | พศิน อินทรวงค์

พศิน อินทรวงค์
เผยแพร่ 10 ก.พ. 2563 เวลา 05.39 น.

1. เราไม่ได้ปฏิบัติธรรมเพราะเราเป็นคนดี แต่เราปฏิบัติธรรมเพราะเรารู้ว่า เรายังมีความเลวอยู่ เมื่อปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะยิ่งเห็นความเลวของตัวเองมากขึ้น ถ้าปฏิบัติธรรมแล้ว เห็นแต่ความดีของตนเอง ให้สันนิฐานเอาไว้เลยว่า เรากำลังปฏิบัติธรรมแบบผิด ๆ อยู่

2. ความดีของครูบาอาจารย์ไม่ใช่ความดีของเรา แม้เราเป็นลูกศิษย์ของพระอรหันต์ ก็ใช่ว่าเราจะมีคุณธรรมเหมือนท่าน อย่านำครูบาอาจารย์มาโอ้อวดกัน เราอาจมีครูบาอาจารย์ที่ประเสริฐที่สุด แต่เราอาจจะเป็นคนที่เลวที่สุดก็ได้

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

3. สุขและทุกข์เป็นสิ่งที่ควรละทั้งคู่ เราไม่ควรหลงประเด็นว่าจะละเพียงทุกข์ แต่จะกอดสุขไว้ เพราะมันคือเหรียญสองด้าน จะเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นไปไม่ได้

4. ถ้าจะมีความรัก ก็ขอให้รักด้วยเมตตา อย่ารักด้วยตัณหาราคะ รักแบบราคะตัณหามุ่งไปที่การครอบครอง ทำให้เกิดความเห็นแก่ตัว เป็นการใช้ความรักเพื่อประโยชน์ในการเสพสุขทางตา หู จมูก ลิ้น กายเป็นสำคัญ รักในลักษณะนี้เป็นรักแบบสัตว์ไม่ใช่ความรักแบบมนุษย์ผู้เจริญ

5. ลาภ ยศ สรรเสริญ และความสุขจากกามคุณห้า สิ่งเหล่านี้มีอำนาจสูงมากที่ทำให้เกิดความหลง เมื่อเราต้องอยู่ร่วมกับสิ่งเหล่านี้ ควรอยู่ร่วมอย่างมีสติ ขาดสติเมื่อไหร่ เราย่อมตกอยู่ใต้อำนาจของโลกธรรมแปด

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

6. อย่านินทาใคร อย่าวิจารณ์ผู้อื่นในทางเสียหายหรือไม่เป็นประโยชน์ เขาเป็นอย่างไรก็เรื่องของเขา เราควรเพ่งมองความเลวของตนเอง ควรใช้เวลาไปกับการสำรวจความเลวของตนมากกว่าไปมองความไม่ดีของผู้อื่น

7. สิ่งที่สำคัญกว่าศีล คือพรหมวิหารสี่ ได้แก่เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา ถ้าเราสนใจแต่การถือศีลโดยไม่สนใจเจริญเมตตา ศีลจะกลายเป็นความดีที่ไล่กัดเรา สร้างความอึดอัดให้เรา ผู้ปฏิบัติธรรมควรยึดความเมตตาเป็นสำคัญ ผู้ใดที่มีใจอยู่ในพรหมวิหารธรรม ผู้นั้นย่อมถือศีลอยู่แล้วเป็นปกติ

8. ปฏิบัติธรรมแล้วจิตต้องเบิกบาน สติปัญญาในชีวิตต้องเพิ่มขึ้น ความอยากได้สิ่งต่างๆ ต้องลดลง สามสิ่งนี้คือเครื่องชี้วัดว่าการปฏิบัติธรรมของเราว่าได้ผลมากน้อยแค่ไหน

โฆษณา - อ่านบทความต่อด้านล่าง

9. ความขี้เกียจ คือตัวการใหญ่ที่ทำให้เราปฏิบัติธรรมไปไม่ถึงไหน ถ้าเป็นฆราวาส เมื่อปฏิบัติธรรมแล้วจะต้องขยันทำงานมากขึ้น ไม่ใช่ยิ่งปฏิบัติธรรมยิ่งขี้เกียจ ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ใช่การปฏิบัติธรรม นอกจากนี้ ยังต้องมีความขยันในเรื่องการภาวนามากขึ้นด้วย การปฏิบัติธรรมในรูปแบบยังเป็นสิ่งที่มีความสำคัญอยู่

10. กิเลสคือสิ่งร้ายกาจฉลาดที่สุดในโลก ทุกสิ่งที่เรากระทำอยู่ โดยมากแล้วเป็นไปภายใต้การครอบงำของกิเลส บางครั้งกิเลสก็มาในนามความดี บางครั้งกิเลสก็มาในนามปัญญา กิเลสคือสิ่งครองโลกครองใจ มันมาทุกทิศทุกทาง ผู้ปฏิบัติธรรมไม่ควรประมาทคิดว่า “ตนเอาอยู่” ไม่เคยมีใครเอากิเลสอยู่นอกจากคนหมดกิเลส !!!

การสำรวมกายวาจาจึงเป็นสิ่งสำคัญ ถึงแม้เรายังฆ่ากิเลสไม่ได้ แต่เราก็อย่าทำให้ผู้อื่นต้องเดือดร้อนเพราะกิเลสของเรา !!!

ความเห็น 8
  • Yong
    เห็นด้วยกับบทความที่ดีมากเลยครับครอบคลุมได้หมดน่าจะสรุปว่าเราต้องการพ้นทุกข์ถึงได้สนใจศาสนาเพราะเชื่อในการตรัสรู้ธรรมของพระศาสดาสอนเรื่องการปฏิบัติดีปฏิบัติชอบตามแนวทางอริยมรรคมีองค์ 8 อันเป็นโลกุตรธรรมนำสู่มรรคผลนิพพานผู้ใดมีดวงตาเห็นธรรมด้วยเกิดสัมมาทิฏฐิเห็นแจ้งในอริยสัจ 4 ประพฤติตนอยู่ในสัมมาอาชีวะและมีความเพียรในการละกิเลสอย่างกลางหรือนิวรณ์ 5 ด้วยการปฏิบัติสัมมาสมาธิจิตใจย่อมเข้าถึงพรหมวิหารธรรมปล่อยวางไม่ยึดมั่นถือมั่นต่อสิ่งใดๆในโลกด้วยปัญญาอันยิ่งเอง
    10 ก.พ. 2563 เวลา 07.07 น.
  • กิเลส​ตัณหา​นั้น ซับซ้อน​แยบยล​มาก บางครั้ง​มาในรูปการยึดติดความดีงาม หรืออะไร ที่เรานึกว่าน่าจเป็นสิ่งดีที่สมควรทำ ต่แล้วเรากับยึดติดที่จะเสพมัน จนมันแสดงผลความเผ็ดร้อนออกมา เช่นอุตส่าห์​เมตตาเลี้ยงหมาแมวจรไว้หลายร้อยตัว แต่กับหมดตัวเพราะทำบุญ​เกินกำลัง แถวข้างบ้านยังรังเกียจกลิ่นเสียง และการรบกวนของสัตว์​ที่อุตส่าห์​เมตตารับภาระไว้ สิ่งนี้ที่ใครก็สรรเสริญ​ว่าเป็นความดี แต่ก็ให้ทุกข์​ได้ โปรดพิจารณา​
    10 ก.พ. 2563 เวลา 06.30 น.
  • ผมคิดว่าในหลักของการปฏิบัติธรรมนั้น เป้าหมายที่แท้จริงก็เพียงเพื่อที่มุ่งหวังให้ผู้ปฏิบัตินั้นได้ยึดอยู่ในหลักของความถูกต้องและอยู่ในศีลและธรรมที่เป็นหลักสำคัญครับ.
    10 ก.พ. 2563 เวลา 07.36 น.
  • กุเกลียดมึงคนไม่ดี
    ถูกทุกข้อมาจากสติตัวเองบ่งการทั้งสิ้นหยุดหรือทำดีหรือเลวตัวเองเป็นคนกำหนด
    10 ก.พ. 2563 เวลา 06.20 น.
  • ฐิติมา
    คุณบรรลุธรรมแล้วหรอ งูๆปลาไ
    10 ก.พ. 2563 เวลา 06.24 น.
ดูทั้งหมด