โดย : ปิ่น บุตรี (pinn109@hotmail.com)
facebook Travel Unlimited / เที่ยวถึงไหนถึงกัน
สุราษฎร์ธานี เมืองนี้มีหลายฉายา
หนึ่งในนั้นคือ “เมืองร้อยเกาะ”
หนึ่งในนั้นคือ “เมืองหอยใหญ่”
และถ้าพูดถึงเกาะชื่อดังแห่งเมืองร้อยเกาะก็ต้องเป็น เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า เกาะนางยวน
และถ้าพูดถึงหอยชื่อดังแห่งเมืองหอยใหญ่ก็ต้องเป็น หอยนางรมขาวอวบตัวโตใหญ่ บางตัวโตขนาดเท่าฝ่ามือเลยทีเดียว
แต่ถ้าพูดถึง“เกาะเสร็จ” หลายคนไม่รู้จัก?!?
แต่ถ้าพูดถึง“หอยสับเค็ด” หลายคนไม่เคยกิน และไม่รู้จัก?!?
ซึ่งทั้งเกาะเสร็จและหอยสับเค็ด ตัวผมเองก็เพิ่งมีโอกาสได้รู้จักเป็นครั้งแรกจากการลงไปเยือนสุราษฎร์ฯหาล่าสุดนี้ด้วยเช่นกัน
พุมเรียง
เกาะเสร็จ ตั้งอยู่ที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี
สำหรับตำบลพุมเรียง ถือเป็นชุมชนโบราณ แหล่งอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของเมืองไทย (เคย)เป็นเส้นทางสายแพรไหมทางทะเลที่สำคัญแห่งดินแดนด้ามขวาน เป็นแหล่งผ้าไหมพุมเรียงอันสวยงามเลื่องชื่อ อีกทั้งยังเป็นถิ่นกำเนิดของท่าน“พุทธทาสภิกขุ” ปราชญ์แห่งสยามประเทศ บุคคลสำคัญของโลกที่ได้รับการยกย่องจากยูเนสโก โดยมีวัดอุบล(วัดนอก)เป็นวัดอุปสมบทของท่านอาจารย์พุทธทาส
ส่วนที่หลายคนไม่รู้ก็คือที่นี่เคยเป็นที่ตั้งของ“สวนโมกขพลาราม” หรือ “สวนโมกข์”แห่งแรก(สวนโมกข์เก่า)ของท่านอาจารย์พุทธทาสที่วัดตระพังจิก ก่อนที่ท่านจะย้ายไปสร้างสวนโมกข์ที่วัดธารน้ำไหล(สวนโมกข์ปัจจุบัน) ที่ ต.เลม็ด อ.ไชยา
นอกจากนี้พุมเรียงยังเป็นหนึ่งในแหล่งทรัพยากร“ปูม้า”สำคัญ
ที่นี่นอกจากจะมีปูม้าสดๆให้เลือกกิน เลือกซื้อแล้ว ถ้าหากใครได้มีโอกาสไปเดินในชุมชนพุมเรียง จะได้เห็นหาชีพพิเศษเป็นเอกลักษณ์นั่นก็คือ “อาชีพแกะปูม้า” ซึ่งเป็นการนำปูม้านึ่งมาแกะเปลือก แกะก้ามทิ้ง คัดเอาแต่เนื้อล้วน แบ่งเป็นเกรดเพื่อส่งให้ร้านค้าไปทำอาหาร อย่างเช่น ข้าวผัดปู ก๋วยเตี๋ยวปู ปูผัดผงกะหรี่ เป็นต้น
ด้วยความที่พุมเรียงเป็นถิ่นปูม้าอันโดดเด่น เมื่อต้นปีนี้(2560) จึงมีการสร้าง “ประติมากรรมปูม้า” ขึ้นที่ “สวนสาธารณะเฉลิมพระเกียรติแหลมโพธิ์”(บริเวณแหลมโพธิ์) เป็นประติมากรรมปูม้าขนาดใหญ่กำลังชูก้ามเด่นหรา คนสามารถเข้าไปเดินลอดตัวปูม้าได้ นับเป็นจุดถ่ายรูป เป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ที่น่าสนใจใน อ.ไชยา
แถมปูที่นี่ยังไม่หนีหายไปไหน(เหมือนปูบางที่) เพราะมันเป็นประติมากรรมปู แต่นักท่องเที่ยวที่ไปถ่ายรูปกับปูม้าตัวนี้ก็ต้องอย่าไปทำอะไรรุนแรงกับมัน เช่น จับโยก ผลักดัน หรือพยายามปีนป่าย ไม่อย่างนั้นปูตัวนี้จะพังเร็ว ถ้าอยากให้ปูอยู่กับเรานานๆก็ต้องช่วยกันดูแลรักษา ถ้าอยากให้มันอยู่กับเรานานๆ
ขณะที่ชาวบ้านกลุ่มหนึ่งในพุมเรียงที่ตื่นตัวต่อการอนุรักษ์ทรัพยากร พวกเขาก็ได้จัดตั้ง“ธนาคารปูม้า”ขึ้น เพื่อเป็นที่รับฝากแม่ปูม้าที่มีไข่แก่ติดหน้าท้องให้มาอยู่อาศัยในกระชังในทะเลหรือในถังน้ำของโรงเรือน เพื่อดูแลให้แม่ปูวางไข่ได้สำเร็จ
จากนั้นชาวประมงจึงมารับแม่ปูม้ากลับไปปล่อยหรือไปขาย ส่วนตัวอ่อนของปูนั่นจะนำไปปล่อยกลับคืนสู่ธรรมชาติ เพื่อเพิ่มปริมาณของปูให้มากขึ้น ไม่ใช่สักแต่ว่าจับปูมากิน มาขายอย่างเดียว(เหมือนอย่างในบางพื้นที่)
พี่จรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง เล่าให้ผมฟังถึงที่มาที่ไปของการจัดตั้งธนาคารปูขึ้นในบ้านพุมเรียงว่า มาจากการที่ทรัพยากรชายฝั่งถูกทำลายโดยเฉพาะการเข้ามาจับสัตว์น้ำของคนนอกพื้นที่ที่ใช้อวนลาก อวนรุน รวมไปถึงการใช้อวนและลอบปูม้าตาถี่ ทำให้ปูม้าและสัตว์ทะเลอื่นๆมีจำนวนลดน้อยถอยลงไปมาก
ชาวชุมชนที่นี่จึงคิดหาวิธีแก้ปัญหาดังกล่าว เริ่มจากการศึกษาข้อมูล จากนั้นจึงจัดสร้างบ้านปลาขึ้นด้วยการนำไม้ไปปัก(คล้ายซั้ง)เป็นอาณาเขตให้ปลาและสัตว์น้ำอื่นๆมาอยู่อาศัย พร้อมทั้งเป็นแนวป้องกันไม่ให้อวนลาก อวนรุก รุกล้ำเข้ามา
หลังจากนั้นก็ได้มีการจัดตั้งธนาคารปูขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2550 ซึ่งวันนี้หลังการอนุรักษ์ ฟื้นฟู เห็นได้ชัดว่าที่พุมเรียงมีทรัพยากรปูม้าและสัตว์น้ำทะเลอื่นๆเพิ่มปริมาณมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านที่นี่มีรายได้เพิ่มขึ้นตามไปด้วย
และนั่นก็ทำให้เกิดการจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในชุมชนพุมเรียงตามต่อกันมา โดยมีหลายหน่วยงานเข้ามาสนับสนุน รวมไปถึงการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย(ททท.)สำนักงานสุราษฎร์ธานี ที่เข้ามาช่วยส่งเสริมประชาสัมพันธ์ให้คนภายนอกได้รู้จักกับของดีในชุมชนแห่งนี้
รู้จักเกาะเสร็จ
“จุดเหมือนที่แตกต่าง เน้นวิถีชาวบ้าน ในบรรยากาศพื้นบ้าน พร้อมทั้งมุ่งทำการท่องเที่ยวเพื่อให้เป็นเครื่องมือในการอนุรักษ์ฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเล”
พี่จรินทร์ บอกกับผมถึงแนวคิดของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง หลังจากที่อธิบายเรื่องราวเกี่ยวกับธนาคารปูเสร็จสิ้น โดยบริเวณธนาคารปูนั้นนอกจากจะเป็นที่ทำการของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง และแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับสัตว์ทะเลหายากแล้ว ก็ยังเป็นจุดลงเรือเพื่อออกเดินทางสู่“เกาะเสร็จ” ซึ่งเป็นจุดหมายสำคัญของผมกับคณะในทริปนี้
เกาะเสร็จเป็นเกาะเล็กๆบางๆ มีพื้นที่ไม่กี่ไร่ เกิดจากการทับถมกันของตะกอนทรายและตะกอนดินเลนปากแม่น้ำตาปี มีชายหาดด้านหนึ่งเป็นหาดทราย ส่วนชายหาดอีกด้านหนึ่งเป็นหาดดินเลน
ยามน้ำลงจะเกิดปรากฏการณ์สันทรายกลางทะเล ผุดโผล่ขึ้นมาเป็นแนวยาวประมาณ 4 กม. มีเนื้อที่กว้างกว่า 1,000 ไร่ ถือเป็นแนวสันทรายที่ใหญ่ที่สุดในอ่าวบ้านดอน ซึ่งบางคนเรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า“ทะเลแหวก” หรือไม่ก็เรียกว่า“สันหลังมังกร”
ชื่อเกาะเสร็จในปัจจุบันมีที่มาจากบันทึกเสด็จราชการแหลมมลายูของรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งเสด็จเมืองไชยาแล้วทอดสมอเรือพระที่นั่งที่หน้าเกาะเสร็จว่า “กระเส็ด” ที่แปลว่าสันทรายหรือดอนทราย
ขณะที่จากปากคำเล่าขานของชาวบ้านนั้นบอกว่า เกาะเสร็จมีจุดเด่นคือมีสันทรายเหมือนเกล็ดปลา เมื่อมองระยะไกลจะเห็นเป็นทรายสีขาวสะอาดตา และเมื่อพระอาทิตย์ขึ้นส่องแสงไปยังหาดทรายบริเวณเกาะเสร็จจะแลดูแปลกตาและสวยงามมาก
นอกจากนี้ชาวบ้านในแถบนี้ยังมีความเชื่อว่า ถ้าใครได้มาเกาะเสร็จ ก็จะประสบผลสำเร็จบรรลุเป้าหมาย ภาระกิจการงานลุล่วงสัมฤทธิ์ผลโดยดี รวมไปถึงประสบความสำเร็จในด้านอื่นๆด้วย
บนเกาะเสร็จจึงมีการสร้าง“ศาลพ่อตาเกาะเสร็จ” เป็นศาลเล็กๆไว้ให้ผู้ที่ขึ้นมาบนเกาะเสร็จได้เคารพสักการะ
เกาะเสร็จ แม้จะเป็นเกาะเล็กๆ แต่กลับมีความอุดมสมบูรณ์อยู่มาก เป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์น้ำทั้ง กุ้ง หอย ปู ปลา โดยเฉพาะหอยที่นี่มีเป็นจำนวนมาก รวมถึงยังมีหญ้าทะเล และมีพะยูนที่มีการสำรวจพบอยู่ประมาณ 10 ตัว
ด้วยเหตุนี้เกาะเสร็จจึงเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของ จ.สุราษฎร์ธานี เป็นแหล่งทรัพยากรของชาวบ้านในพื้นที่ที่มีการทำประมงพื้นบ้านแบบพอเพียงสืบต่อกันมาช้านาน
เกาะเสร็จยังเป็นจุดจอดเรือพักชั่วคราวของชาวประมงเพื่อหลบคลื่นลมมรสุม เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจของชาวบ้านทั้งในอำเภอไชยา และพื้นที่ใกล้เคียง เกาะแห่งนี้ไม่มีใครเป็นเจ้าของ แต่เป็นพื้นที่สาธารณะของชุมชนที่ใช้ร่วมกัน โดยชุมชนมีข้อตกลงร่วมกันในการอนุรักษ์ทรัพยากร
สำหรับวันนี้เกาะเสร็จมีอีกมิติใหม่ คือมิติทางการท่องเที่ยว ที่ผมกับคณะกำลังลงเรือ(จากธนาคารปู)มุ่งหน้าสู่เกาะเสร็จในอีกไม่กี่นาทีข้างหน้านี้
เกาะเสร็จ เด็ดเรื่องหอย
เกาะเสร็จ ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งแหลมโพธิ์ อ่าวบ้านดอน ประมาณ 4 กม. ใช้เวลานั่งเรือหางยาวจากชายฝั่งประมาณ 20-30 นาที
หลังลงเรือที่ธนาคารปู เรือพาเราแล่นไปในคลองใหญ่พุมเรียง ผ่านแหลมโพธิ์ ออกสู่ปากอ่าวบ้านดอน แล้วจากนั้นไม่นานก็มาถึงยังเกาะเสร็จ ซึ่งในทริปนี้เราใช้เวลานั่งเรือแค่ประมาณ 20 นาที
พลันที่ผมกระโดดลงเรือด้วยเท้าเปลือยเปล่า สิ่งแรกที่สัมผัสได้คือทรายที่นี่แม้จะมีสีไม่ขาวนวลเหมือนทะเลดังๆหลายแห่ง แต่ว่าเม็ดทรายนั้นละเอียดยิบ(อันเกิดตะกอนทราย) เป็นหาดทรายที่เนื้อแน่นนุ่มเนียนเท้า เดินเพลิน ขณะที่น้ำทะเลแม้จะสีไม่สวยแต่ก็ใสสะอาด
ส่วนที่เป็นสิ่งพิเศษสุดๆในช่วงที่ผมขึ้นมาเหยียบเกาะเสร็จก็คือ ช่วงนั้นผักบุ้งทะเลกำลังออกดอกเบ่งบานเป็นทุ่งดอกผักบุ้งทะเลน้อยๆ ซึ่งสาวๆในทริปเรานั้นย่อมไม่พลาดกับการไปถ่ายรูปคู่กับทุ่งดอกผักบุ้งทะเลเป็นที่ระลึก เพราะโอกาสที่จะเจอผักบุ้งทะเลพร้อมใจกันออกดอกเบ่งบานแบบนี้หาไม่ง่ายเลย
อย่างไรก็ดีงานนี้อย่ามัวแต่ถ่ายรูปกับดอกผักบุ้งทะเลจนลืมกิจกรรมที่ตระเตรียมไว้ นั่นก็คือ การปลูกมะพร้าว เพื่อเพิ่มไม้ยื่นต้นให้กับเกาะเสร็จไว้สำหรับเป็นที่ยึดเกาะผืนทรายชายหาดบนเกาะ
เสร็จจากการปลูกมะพร้าวแล้ว ทีนี้ก็มาถึงกิจกรรมสำคัญนั่นก็คือ “การหาหอย” ในแบบวิธีปฏิบัติของชาวบ้านที่นี่ดำรงวิถีการหาหอยเป็นอาชีพแบบพอเพียงมาช้านานนับจากอดีตถึงปัจจุบัน
สำหรับหอยเด่นๆของเกาะเสร็จที่เราจะไปหากันก็มี หอยขาว หอยตลับหรือหอยไฟไหม้ หอยรากหรือหอยปากเป็ด และหอยดาวเด่น(ของที่นี่)ที่ผมเพิ่งมีโอกาสๆได้รู้จักพบเจอเป็นครั้งแรกก็คือ “หอยสับเค็ด”
“การหาหอยของชาวบ้านที่นี่ อาศัยประสบการณ์ ความรู้ การสังเกต ความชำนาญ หอยแต่ละชนิดจะใช้เครื่องมือหาหอยที่แตกต่างกัน”
พี่จรินทร์ อธิบาย พร้อมกับ นำอุปกรณ์สาธิตแต่ใช้ได้จริง มาให้พวกเราได้ชมพร้อมสอยวิธีการหาหอยแต่ละชนิด เริ่มจาก หอยขาว หอยตลับหรือหอยไฟไหม้ ที่มีทั้ง“คราดมือ” สำหรับผู้เฒ่าผู้แก่หรือมือใหม่ โดยให้นั่งแล้วขูดพื้นทรายเข้าหาตัว เมื่อเจอหอยเราจะสัมผัสได้ถึงความแตกต่าง จากนั้นก็ค่อยใช้มือแงะหยิบหอยขึ้นมา ส่วน“คราดที่มีด้ามจับ” จะใช้วิธีเดินถอยหลัง เป็นการทำงานถอยหลัง เดินคราดหอยไปเรื่อยๆ เมื่อเจอหอยเราจะสะดุดรู้เองก็ให้เก็บหอยขาว หอยตลับ มาใส่ถุงที่นำติดตัวมา
ส่วนหอยรากก็ให้ใช้เสียมขุด เช่นเดียวกับหอยสับเค็ด แต่ว่าต่างกันตรงในรายละเอียด โดยวิธีการจับหอยสับเค็ดจะต้องใช้เสียมขุดระหว่างรูหอย 2 รู(ต้องใช้ประสบการณ์ในการสังเกตรู) เพราะหอยสับเค็ดจะอยู่ในรูลึกลงไปในทรายประมาณ 30-50 เซ็นติเมตร
จากนั้นจึงลงมือขุดรูทราย แล้วใช้มือจับหอยในรูดึงขึ้นมา แต่ต้องทำอย่างรวดเร็ว เพราะเจ้าหอยสับเค็ดนั้นมันไวใช่ย่อย หากนักท่องเที่ยวมัวโชว์ลีลา เซลฟี่ สโลว์ไลฟ์ ต่อนยอน หอยสับเค็ดมันจะหนีแบบปูมุดลงไปในทราย ทำให้ความพยายามขุดของเรานั้นสูญเปล่า
เมื่อฟังทฤษฎีวิธีการกันไปแล้ว ต่อจากนี้ก็ได้เวลาลงมือหาหอยกันจริงๆ ซึ่งไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นกิจกรรมที่สนุกเพลิดเพลินมาก โดยหอยที่หาง่ายที่สุดก็จะเป็นหอยขาว ส่วนหอยสับเค็ดนั้น ถ้าใครขุดแล้วจับมันขึ้นมาได้นี่ มีเฮกันลั่น ทั้งคนจับและกองเชียร์
อย่างไรก็ดีนี่เป็นแค่กิจกรรมให้เราลองปฏิบัติ และได้ลองเรียนรู้ถึงวิธีการจับหอย เพื่อให้รู้ว่ากว่าจะได้หอยแต่ละชนิดมาทำเป็นอาหารให้เรากินนั้นไม่ง่ายเลย
อย่างหรอย หอยสับเค็ด
หลังได้ทดลองหาหอย(ได้หลายตัว)เป็นที่เพลิดเพลิน พวกเราก็ได้เวลาหวนคืนสู่ฝั่ง กลับมาสู่ที่ทำการของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง หรือธนาคารปู จุดขึ้น-ลง เรือของเราอีกครั้ง เพื่อหม่ำอาหารเที่ยงที่ทางชุมชนจัดเตรียมไว้ให้
สำหรับอาหารมื้อเที่ยงของวันนี้ หลังขึ้นจากเกาะเสร็จเป็นเมนูอาหารพื้นบ้านที่อร่อยหรอยแรงจริงๆ ไม่ว่าจะเป็น ปูม้านึ่งสดๆเนื้อหวานกับน้ำจิ้มรสเด็ด ต้มส้มปลากระบอก ไข่หมกรสกลมกล่อมอาหารภูมิปัญญาพื้นถิ่นคล้ายไข่ครอบที่สงขลา แกงส้มกุ้งมะละกอรสเด็ด เคยหวานและยำเคย(เคย – กุ้งตัวน้อยที่ใช้ทำกะปิ) เมนูพิเศษที่จับกันสดๆแบบทันทีทันใดตรงธนาคารปูม้านั่นแหละ
และไฮไลท์ที่ทุกคนในคณะอยากลิ้มลองคือ หอยสับเค็ด ที่มีจัดมาให้ทั้งลวกจิ้มกับน้ำจิ้มซีฟู้ดรสแซ่บ และหอยสับเค็ดผัดฉ่า ที่ถือเป็นมีเด็ดกินกันไม่พอ ซึ่งทุกคนที่ร่วมโต๊ะอาหารต่างออกปากเป็นเสียงเดียวกันว่า แม่ครัวที่นี่ทำอาหารได้อร่อยเด็ดแซ่บถึงใจนัก
ครับและนี่ก็คือเสน่ห์ของกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชนเชิงอนุรักษ์ที่ พุมเรียงและเกาะเสร็จ ที่ใครอยากรู้ว่าเด็ดแค่ไหน
งานนี้ร้อยปากว่าไม่เท่ากับการไปลองสัมผัสถิ่นพุมเรียง เกาะเสร็จ หาหอยสับเค็ด กินอาหารพื้นบ้านรสอร่อย เดินหาดทรายเนื้อแน่นละเอียดยิบ
ชนิดที่ใครและใครบางคนเมื่อมาที่นี่แล้วเกิดความประทับใจ จึงอดไม่ได้ที่จะกล่าวว่า
“เกาะเสร็จ รักเหม็ดใจ”
*****************************************
เกาะเสร็จ อยู่ที่ ต.พุมเรียง อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานี ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งแหลมโพธิ์ อ่าวบ้านดอน ประมาณ 4 กม. ใช้เวลานั่งเรือหางยาวจากชายฝั่งประมาณ 20-30 นาที ค่าเหมาเรือชาวบ้าน ไป-กลับ 1,200-1,500 บาท(ขึ้นอยู่กับระยะทางและจำนวนคน แต่ไม่เกิน 10 คนต่อลำ) ค่ามัคคุเทศก์ชุมชนและผู้ช่วย 1,200 บาท ค่าอาหาร 250 บาท/คน อาหารทะเล ประมาณ 6 เมนู ตามฤดูกาล แต่สามารถสั่งเมนูพิเศษเพิ่มเติมได้อีก โฮมสเตย์มี 2 หลัง (นอน ธนาคารปู 1 หลัง) คืนละ 150 บาท
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมท่องเที่ยวพุมเรียง-เกาะเสร็จ แบบ 1 Day Trip พร้อมอาหารทะเล อาหารพื้นบ้านรสเด็ด ผู้สนใจสามารถ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ จรินทร์ เฉยเชยชม ประธานกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์บ้านพุมเรียง โทร. 08 2272 7956,09 2379 3969
และสามารถสอบถามรายละเอียดของสถานที่ท่องเที่ยว ที่พัก ร้านอาหาร การเดินทางในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เชื่อมโยงกับชุมชนพุมเรียง-เกาะเสร็จ ได้ที่ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) สำนักงานสุราษฎร์ธานี โทร. 0-7728-8817-9
* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *
สามารถส่งข้อมูลข่าวสารด้านการท่องเที่ยว-อาหารมาได้ที่ กอง บก.ข่าวท่องเที่ยว แฟกซ์ 0-2629-4467 อีเมล์ travel_astvmgr@hotmail.com