เคยเจอคน 'หิวแสง' ไหม?
คน 'หิวแสง' ต่างจาก 'คนหิว' ตรงไหน? ตรงที่สิ่งที่คนเหล่านี้หิวไม่ใช่อาหาร แต่คือความสนใจจากผู้อื่น เปรียบกับสปอตไลต์เจิดจ้า ที่คนหิวแสงมองว่าคืออาหารชั้นดี
คำว่า'หิวแสง' กลายเป็นคำฮิตติดปากชาวเน็ตไทย ใช้วิพากษ์วิจารณ์ประเภทของบุคคลในโซเชียลมีเดีย ที่มักโพสต์ข้อความสุ่มเสี่ยงโดนทัวร์ลง ไม่ว่าจะเป็นความคิดเห็นในหัวข้อต่างๆ ตั้งแต่การเมือง จนถึงเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน
'หิวแสง' ในโซเชียล เป็นอาการเกี่ยวกับสุขภาพใจ
มาร์ก เลียร์รี (Mark Leary)นักจิตวิทยาจาก Duke University ในสหรัฐอเมริกากล่าวว่า "ประโยชน์ของการเรียกร้องความสนใจทางออนไลน์มีน้อยมาก เราไม่ได้สัมผัสหรือพูดคุยกันจริงๆ ก็เป็นหนึ่งปัจจัย อีกทั้งผู้คนยังใช้เวลาส่วนมากไปกับการสร้างตัวตนปลอมๆ ทางโลกออนไลน์โดยไม่จำเป็น"
นอกจากนี้พฤติกรรมหิวแสงยังทำให้เราโฟกัสไปที่การเป็นจุดสนใจเพียงอย่างเดียว ซึ่งวิธีการคิดแบบนี้ส่งผลกระทบต่อชีวิตนอกโซเชียลมีเดีย ในบางกรณีอาจทำให้หลงลืมคนจริงๆ ที่อยู่รอบตัวไปได้ง่ายๆ
และหากปล่อยไว้นานเข้า ความรู้สึกโหยหาความสนใจอย่างการหิวแสงจะครอบงำตัวเรา ทำให้ยิ่งหมกมุ่นกับโซเชียลมีเดีย ยิ่งโพสต์มากขึ้น ยิ่งอยากโดนแสงส่องมากขึ้น ไม่มีที่สิ้นสุด
คน 'หิวแสง' หิวอะไรบ้าง?
สำรวจตัวเองและคนใกล้ตัวว่าเคยทำตัว 'หิวแสง' ในโลกออนไลน์ไหม หยิบปากกาขึ้นมาแล้วเช็กไปทีละข้อด้วยกันง่ายๆ ตามนี้เลย
- หิวโหยคำชมผ่านรูปโปรไฟล์ - ลักษณะแรกของชาวหิวแสงนั้นดูง่ายมาก โดยมากมักตั้ง 'ภาพโปรไฟล์' หรูหราอู้ฟู่ อาจมีของแบรนด์เนมมากมายในรูป โชว์ไลฟ์สไตล์แบบคนมีฐานะ บางคนอาจแต่งหน้ามากกว่าคนอื่น บางคนอาจถ่ายรูปกับรถหรูหรือไอเท็มที่บ่งชี้สถานะทางสังคม
- หิวโหยคอนเน็กชัน - นอกจากลักษณะของชาวหิวแสงที่มักโพสต์รูปภาพและข้อความต่างๆ ตลอดเวลา เพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดียของชาวหิวแสงมักมีเยอะกว่าคนทั่วไป คนพวกนี้ไม่สนใจความลึกซึ้งของความสัมพันธ์เท่าใดนัก และสามารถ 'แอด' (Add) เพื่อนเพียงเพราะอยากมีจำนวนเพื่อนเยอะๆ และต้องการเป็นคน 'ป็อบปูลาร์' เท่านั้นเลย
- หิวโหยคอมเมนต์เอาใจ - หลายคนคงเคยเห็นสเตตัสหรือข้อความประเภท "ฉันกำลังเศร้าอยู่นะ" บนอินเทอร์เน็ตกันบ้าง มีคำเรียกการกระทำแบบนี้ว่า 'Sadfishing' หรือการ แสร้งทำเป็นเศร้าเพื่อเรียกร้องความสนใจ พฤติกรรมแบบนี้อาจทำให้ผู้อ่านรู้สึกไม่สบายใจ หรือถูกกระตุ้นให้รู้สึกไม่ดี (Triggered) ไปด้วย มีบางกรณีที่ผู้โพสต์ทำไปเพื่อเรียกยอดไลก์หรือยอดคอมเมนต์ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านี้ส่งผลเสียต่อความเข้าใจในโรคทางใจหลายโรค เช่น โรคซึมเศร้า และอาจทำให้ผู้ป่วยจริงๆ ถูกเข้าใจผิด หากผู้โพสต์รู้สึกว่าต้องการความช่วยเหลือจริงๆ ควรหลีกเลี่ยงการโพสต์ข้อความจำพวก 'Sadfishing' ลงโซเชียลมีเดีย และปรึกษาแพทย์หรือผู้เชี่ยวชาญแทน
- หิวโหยการโจมตีผู้อื่น - ความหิวโหยการถูกจับจ้องอาจทำให้บางคนทำตัวเป็น'บุลลี่' โดยการแสดงความเห็นค้านกับคนหมู่มาก ทั้งจงใจและไม่จงใจ พูดง่ายๆ ว่าการทำตนให้ ทัวร์ลง เป็นอีกทางให้เจ้าตัวได้เจิดจ้าเฉิดฉายสมใจ แม้จะไม่ใช่ทางที่ถูกต้องเลยก็ตามที
- หิวโหยการแชร์ - คนหิวแสงมักเลือกวิธีแสดงออกอย่างโจ่งแจ้ง บางคนอาจแชร์ข้อมูลเบื้องลึกลงโซเชียลมีเดียโดยไม่กลั่นกรอง โดยใช้ฉากหน้าเป็นคนเปิดเผย อย่างการแชร์ข้อมูลความสัมพันธ์ที่อีกฝ่ายไม่ยินยอม แชร์เรื่องส่วนตัวมากๆ หรือการวิพากษ์วิจารณ์บางอย่างด้วยความรุนแรงโดยไม่จำเป็น ก็ถือเป็นวิธีแสดงออกของชาวหิวแสงอย่างหนึ่ง
'โซเชียลมีเดีย' เป็นเพียงโลกเสมือนที่ใครจะสวมบทเป็นอะไรก็ได้ จะไม่ดีกว่าหรือหากเราเลือกส่งต่อแต่พลังงานบวก และความเข้าอกเข้าใจกันในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง แทนการส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย บังคับให้ผู้อื่นหันมาสนใจตนแต่เพียงผู้เดียว
อย่าลืมว่าหิวข้าวยังอิ่มท้องได้ แต่ 'หิวแสง' โหยหาเท่าไหร่ก็ไม่มีวันอิ่ม
-
อ้างอิง
Ja ขอบคุณที่ช่วยอธิบายให้เข้าใจ เห็นคนใช้คำนี้กันแต่เราไม่รู้ว่ามันคืออะไร ตอนนี้รู้แล้ว 👌👌
24 มี.ค. 2564 เวลา 23.29 น.
J บางคนเค้าหิวแสงเพราะแสงมันทำเงินได้ครับ
24 มี.ค. 2564 เวลา 17.58 น.
JZTP หิวหงษ์ นุ่มกว่าเยอะ
24 มี.ค. 2564 เวลา 17.27 น.
"Pk6666" ทำเป็นเล่นไป ยุคที่การสร้างแบรนด์อยู่บนมือถือ หิวแสงก็เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ทำเงิน ต่างจากอดีตที่ยอดLikeเป็นเพียงแค่ความภูมิใจฉาบฉวย
24 มี.ค. 2564 เวลา 18.18 น.
คนเอามาใช่คนแรก หิวแสงมันต้องมาจากเกมroแน่นอน สมัยก่อนใครlv99maxเมื่อไรจะมีแสง คนยุคนั้นหิวแสงกันเยอะดัน99 อยากมีแสงใต้ตีนนั่งโช555
24 มี.ค. 2564 เวลา 18.38 น.
ดูทั้งหมด