ปัญหารถติดนับเป็นเรื่องที่สร้างผลกระทบมากมายต่อการใช้ชีวิต ทั้งทางตรงและทางอ้อม ทั้งทำให้เสียเวลา สิ้นเปลืองพลังงาน และยังก่อให้เกิดมลพิษเพิ่มขึ้นตลอดเวลา รวมถึงส่งผลโดยตรงต่อสุขภาพจิต ทำให้เกิดความเครียดอารมณ์หงุดหงิด เรียกว่าเป็นเรื่องร้ายใกล้ตัวที่เกิดขึ้นได้กับทุกคน
ยิ่งไปกว่านั้นการนั่งขับรถนานๆ ยังทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพกาย โดยเฉพาะความเสี่ยงที่จะเป็นโรคทางกล้ามเนื้อต่างๆ เพราะด้วยสภาพการจราจรที่ติดขัด ทำให้คนที่ขับรถหลายคนต้องนั่งอยู่ท่าเดิม โดยมือจับพวงมาลัยค้างไว้นานๆ เนื่องจากจะต้องมีความตื่นตัวตลอดเวลาว่ารถจะหยุดหรือเคลื่อนตัว จึงทำให้มีโอกาสเสี่ยงเกิดโรคต่างๆ ตามมามากมาย อีกทั้งยังส่งผลไปถึงกระดูกสันหลังได้ทั้งสิ้น
3 โรคเสี่ยงที่เกิดจากการขับรถนานๆ
- โรคพังผืดทับเส้นประสาทที่ข้อมือ เกิดจากการที่ขับรถและมืออยู่ที่พวงมาลัยนานมาก ทำให้เลือดไหลเวียนไม่ดี คล้ายอาการเส้นเลือดตีบ และอาจทำให้รู้สึกชาครึ่งตัว ซึ่งถือว่าเป็นอันตราย
- โรคกล้ามเนื้อคออักเสบ การเกร็งอยู่ท่าเดิมจะทำให้เกิดอาการปวดคอ ซึ่งอาการดังกล่าวสามารถ ส่งผลต่อเนื่องไปสู่บ่า แขน และขา ทำให้เกิดอาการปวดเรื้อรัง
- หมอนรองกระดูกเสื่อม อาการจะเริ่มจากการปวดหลัง และรู้สึกเหมือนร้าวลงขาทั้ง 2 ข้าง หรือขาชา ซึ่งยังอาจทำให้เกิดอาการเอวคดตามมา
แนวทางการป้องกันโรคกล้ามเนื้อที่สามารถทำได้อย่างง่ายๆ โดยใช้ฟังก์ชันต่างๆ ของรถเป็นตัวช่วย รวมถึงการยืดเหยียดในรถ เพื่อป้องกันและบรรเทาอาการดังกล่าว
1.ปรับเบาะที่นั่งให้เหมาะกับสรีระ สิ่งที่ผู้ที่ขับรถมักลืมทำก่อนขับรถคือ การปรับเบาะให้นั่งสบายที่สุด หากที่นั่งตั้งตรงเกินไป อาจทำให้ต้องนั่งเกร็งในท่าเดิมเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดอาการทางกล้ามเนื้อได้ เพื่อป้องกันความปวดเมื่อยที่อาจเกิดขึ้น ควรปรับระยะห่างระหว่างเบาะกับพวงมาลัย ความสูงของเบาะ รวมถึงองศาที่นั่ง ให้เข้ากับสรีระร่างกายของคุณอย่างง่ายดายและลงตัว
2.สร้างบรรยากาศเพื่อลดความตึงเครียด ภาวะเครียดสะสมของกล้ามเนื้อที่ตึงตัวและหดเกร็ง ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คุณนั่งเกร็งอยู่ในท่าเดิม การเล่นเพลย์ลิสท์ที่คุณชื่นชอบ หรือปรับอุณหภูมิให้เหมาะสม ช่วยสร้างบรรยากาศที่อาจทำให้คุณบรรเทาความตึงเครียดและผ่อนคลายยิ่งขึ้น
3.ระมัดระวังการหยิบสิ่งของในรถหลายคนอาจจะชินกับการวางของใช้ส่วนตัวไว้ที่เบาะหลัง และเมื่อถึงเวลาต้องหยิบมาใช้ ก็จะเอี้ยวตัวไปหยิบด้านหลังซึ่งทำให้เกิดอาการผิดท่าและเส้นเอ็นพลิกได้
4.ใช้ฟังก์ชั่นช่วยขับขี่ นอกจากความนุ่มนวลของจุดสัมผัสต่างๆ ในห้องโดยสารที่ได้รับการออกแบบเพื่อความสะดวกสบาย ในรถรุ่นใหม่บางยี่ห้อ เช่น ฟอร์ด มีเทคโนโลยีช่วยขับขี่ที่เรียกว่า ระบบควบคุมความเร็วแบบรักษาระยะห่างอัตโนมัติ (Adaptive Cruise Control) ซึ่งจะช่วยรักษาความเร็ว และระยะห่างกับรถคันหน้าให้สม่ำเสมอ ทำให้คุณไม่ต้องใช้เท้าคาไว้ที่เบรกตลอดเวลา ลดอาการเกร็งที่อาจนำไปสู่การปวดกล้ามเนื้อและเส้นประสาทได้
5.เล่นโยคะง่ายๆ คุณอาจจะคิดว่าที่นั่งคนขับนั้นมีพื้นที่จำกัด ไม่สามารถยืดกล้ามเนื้อได้เต็มที่ แต่อันที่จริงแล้วมีท่าบริหารที่สามารถทำได้ง่ายๆ ขณะรถติด อย่างเช่น การยืดกล้ามเนื้อแขน โดนเอื้อมมือไปแตะบ่าด้านหลังและใช้มืออีกข้างดึงเข้าหาศีรษะ การผ่อนคลายกล้ามเนื้อคอ ด้วยการกดศีรษะซ้ายขวาและด้านหน้า หรือค่อยๆ หมุนคอไปรอบๆ รวมถึงการยืดกล้ามเนื้อหลังและเอว โดยค่อยๆ หันลำตัวไปจับเบาะที่นั่งคนขับและบิดเอว
ในเมื่อปัญหารถติดเป็นปัญหาเรื้อรังและแก้ไขได้ยาก ดังนั้นต้องพึงระวังและป้องกันด้วยตัวคุณเอง การดูแลรักษาร่างกายในแต่ละวันเป็นสิ่งที่สามารถปรับเปลี่ยนได้ เวลาที่ต้องขับรถในเส้นทางที่การจราจรติดจัดเป็นประจำ จึงควรสังเกตพฤติกรรมการนั่งขับรถของตนเอง และลองนำแนวทางที่แนะนำไปปรับใช้ รับรองโรคภัยเกี่ยวกับกล้ามเนื้อก็มีโอกาสเกิดขึ้นได้น้อยลง