ปัจจุบันวัตถุอันตรายที่ใช้ในบ้านเรือนหรือทางสาธารณสุขมีการพัฒนารูปแบบและมีความหลากหลายมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการใช้ และตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค แต่ด้วยผลิตภัณฑ์เหล่านี้มีส่วนประกอบของสารเคมี การนำมาใช้จึงต้องมีความระมัดระวัง โดยผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายจะแสดงฉลากสารเคมีตามระบบ GHS (Globally Harmonized System of Classification and Labelling of Chemicals) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการสื่อสารความเป็นอันตรายของวัตถุอันตรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยผ่านรูปสัญลักษณ์แสดงความเป็นอันตราย จำนวน 9 รูปแบบ เช่น รูปเปลวไฟ รูปหัวกะโหลกและกระดูกไขว้ รูปกัดกร่อน เป็นต้น เพื่อเตือนให้ผู้ใช้ตระหนักถึงอันตรายที่อาจเกิดขึ้น และปฏิบัติตามคำแนะนำบนฉลากอย่างเคร่งครัด
หากได้รับอันตรายจากสารเคมี แนะนำให้ปฐมพยาบาลเบื้องต้น ดังนี้
* หากถูกผิวหนัง ให้ล้างผิวด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ บริเวณที่ถูกสารเคมี ถ้าเปื้อนเสื้อผ้าให้รีบถอดออกแล้วเปลี่ยนใหม่ทันที หากอาการไม่ทุเลาให้ไปพบแพทย์
* หากเข้าตา ให้ล้างตาด้วยน้ำสะอาดจำนวนมาก ๆ ทันที โดยเปิดเปลือกตาขึ้นให้น้ำไหลผ่านตาอย่างน้อย 15 นาที จนอาการระคายเคืองทะเลา หากอาการไม่ทุเลาให้ไปพบแพทย์
* หากเกิดพิษจากการสูดดม ให้รีบย้ายผู้ป่วยออกจากบริเวณที่ใช้วัตถุอันตรายไปยังบริเวณที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก
* หากรับประทานเข้าไป ห้ามทำให้อาเจียน ให้ดื่มน้ำหรือนมปริมาณมาก ๆ เพื่อเจือจางแล้วรีบนำผู้ป่วยส่งแพทย์ทันที พร้อมภาชนะบรรจุ ฉลาก หรือใบแทรกของวัตถุอันตราย
ฉะนั้น เพื่อความปลอดภัย ควรใช้ผลิตภัณฑ์วัตถุอันตรายด้วยความระมัดระวัง ใช้เท่าที่จำเป็น และใช้ให้ถูกวิธีตามคำแนะนำของแต่ละผลิตภัณฑ์อย่างเคร่งครัด
ข้อมูล อย.