“พ่อแม่ไม่สั่งสอน” ปัญหาใหญ่ของเด็กไทย ในวันที่ “พ่อแม่” ไม่มีเวลาเลี้ยงดู!
จากข่าวความกดดัน ความเครียด ของเด็กในวัยเรียนหลายคนในช่วงหลัง ๆ ที่บางคนอาจเกิดภาวะซึมเศร้าถึงขั้นตัดสินใจกระทำการบางอย่างที่ไม่มีใครอยากได้ยิน ทำให้มีการตั้งคำถามเกิดขึ้นมากมายเพื่อหาต้นเหตุที่แท้จริงว่า อะไรกันแน่คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้เด็ก ๆ หลายคนต้องพบภาวะเช่นนี้
ไล่เรียงตั้งแต่ระบบการศึกษา, สภาพสังคม, สภาพแวดล้อม, เศรษฐกิจ, ค่านิยม ฯลฯ ที่ล้วนมีสัดส่วนก่อให้เกิดภาวะกดดันขึ้นได้ทั้งสิ้น แต่…ปัจจัยที่ถูกสังคมตั้งคำถามมากที่สุด คือตัวพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง ที่ควรจะต้องมีเวลาดูแลเด็ก ๆ เหล่านี้อย่างใกล้ชิด หากแต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ต้องยอมรับว่ามีผู้ปกครองหลายส่วนจริง ๆ ที่นอกจากส่งเสียให้ลูก ๆ เติบโตไปตามระยะเวลาของชีวิต พวกเขาก็แทบไม่รู้เลยว่า เด็ก ๆ เหล่านั้น ต้องพบเจอกับเรื่องราวอะไรบ้างในชีวิตประจำวัน
วันนี้เราลองยกตัวอย่าง ‘ปัญหา’ และ ‘ความจำเป็น’ หลายอย่างที่เกิดขึ้น ทำให้พ่อแม่หลายคนไม่สามารถทำหน้าที่ในการดูแลลูก ๆ อย่างใกล้ชิดได้ด้วยตัวเอง เพราะก่อนจะเริ่มการแก้ปัญหาที่ถูกต้อง การเข้าใจไปถึงสาเหตุรอบข้างให้ชัดที่สุดคือสิ่งจำเป็นที่มักจะถูกมองข้ามไปเสมอ
ปัจจัยสำคัญที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ คือรายได้เฉลี่ยต่อครัวเรือนที่แทบจะเท่ากับค่าเฉลี่ยรายจ่ายในแต่ละเดือน จากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ประจำปี 2560 พบว่า ครัวเรือนทั่วประเทศมีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 26,946 บาท (โดยจังหวัดที่มีรายได้เฉลี่ยสูงสุดคือกรุงเทพฯ ที่เดือนละ 45,707 บาทต่อครัวเรือน และรายได้เฉลี่ยต่ำสุดคือจังหวัดเชียงรายที่เดือนละ 13,497 บาทต่อครัวเรือน
ส่วนรายจ่ายเฉลี่ยของครัวเรือนอยู่ที่เดือนละ 21,437 บาทต่อเดือน (รวมค่าอาหารเครื่องดื่ม, ค่าที่อยู่อาศัย เครื่องแต่งบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้าน, ค่าพาหนะและการเดินทาง และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ) หากคิดตามค่าเฉลี่ยกลางเพื่อคำนวนอย่างง่ายที่สุด เท่ากับว่าในแต่ละเดือน แต่ละครอบครัวจะมีเงินคงเหลือสำหรับการออม และเป็นทุนการศึกษาสำหรับลูกเพียงแค่ 5,000 บาทเท่านั้น
ซึ่งถ้าคิดจากการประเมินคร่าว ๆ (ย้ำว่าเป็นเพียงการประเมินตามตัวเลขเฉพาะกลุ่ม เพื่อง่ายต่อการคำนวนมากที่สุดเท่านั้น จากบริบทและสภาพสังคมในปัจจุบันยังมีปัจจัยในการคำนวนที่อยู่นอกเหนือกว่านี้อีกมาก) ว่าต้องใช้เงินประมาณ 2.5 ล้านบาทในการเลี้ยงดูเด็กหนึ่งคนตั้งแต่แรกเกิดไปจนจบปริญญาตรี เท่ากับว่าต้องใช้เวลาประมาณ 500 เดือนในการสะสมเงินทั้งหมด เรียกว่าแทบจะเป็นไปไม่ได้ที่รายได้จากการทำงานปกติ จะครอบคลุมรายจ่ายทั้งหมด
ทำให้หลายครอบครัวที่มีฐานะระดับปานกลาง ต้องออกไปทำงานทั้งสามี-ภรรยา รวมทั้งทำงานเสริมนอกเวลา เพื่อเสริมรายได้ จนแทบไม่มีดูแลลูกของตัวเองอย่างใกล้ชิด การส่งให้ญาติ, พี่น้อง, พี่เลี้ยงเด็ก ไปจนถึงไอแพดและโลกอินเตอร์เน็ตช่วยเลี้ยงดู เลยกลายเป็นทางเลือกที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง
หากแต่สิ่งที่ตามมาคือ พ่อแม่จะไม่สามารถติดตามได้เลยว่าสิ่งที่ ‘พี่เลี้ยง’ จำเป็นเหล่านั้นส่งมอบให้กับเด็ก ๆ ของตัวเองนั้นมีอะไรบ้าง
อีกหนึ่งปัญหาที่เป็นจุดเริ่มต้นทำให้เกิดปัญหาต่อเนื่องไปสู่ปัญหาหลักในข้อแรก จากสถิติ พบว่า มีเด็กอายุ 10-19 ปี จำนวน 666,207 คน ที่คลอดบุตรออกมาในปี 2559 ซึ่งคิดเป็น 15% ของการคลอดทั้งหมด และมีจำนวน 92.6% ที่ตั้งครรภ์โดยไม่มีการป้องกันและไม่ตั้งใจ
ซึ่งคุณพ่อและแม่ในวัยนี้ ที่ยังมีภาระรับผิดชอบในชีวิตอีกมากนี่ล่ะ ที่มีปัจจัยเสี่ยงสูงที่ต้องไปเรียน ต้องไปทำงาน จนไม่มีเวลาเลี้ยงเด็ก ๆ เหล่านั้นด้วยตัวเอง
ยังไม่นับจำนวนการตั้งครรภ์ของผู้ใหญ่ ที่ถึงแม้ว่าจะเป็นการตั้งครรภ์อย่างตั้งใจ หากแต่ไม่ทันคำนวนถึงรายรับ-รายจ่าย เมื่อมีบุตรอย่างรอบคอบ ประกอบกับค่าครองชีพและการแข่งขันด้านการศึกษาที่สูงขึ้นทุกขณะ ทำให้พ่อแม่จำนวนมากที่ตั้งใจมีลูก และต้องการให้ลูกมีชีวิตที่ดีจริง ๆ ต้องยอมทำงานอย่างหนักเพิ่มเติม จนไม่มีเวลาดูแลลูกด้วยตัวเอง จนความหวังดีกลับกลายเป็นผลลัพธ์ด้านตรงข้ามมาแทน
แต่สุดท้าย ถึงแม้จะเป็นครอบครัวที่มีรายได้สูง พ่อแม่ไม่จำเป็นต้องออกไปทำงานพร้อมกัน มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสามารถมีเวลาอยู่กับลูกได้เต็มที่ ก็ใช่ว่าจะสามารถดูแลลูก ๆ ได้อย่างที่ต้องการทั้งหมด เพราะความ ‘กว้าง’ ของโลกใบนี้ที่มากขึ้น ถึงขนาดมีคำกล่าวทำนองว่า
แค่ส่งลูกไปโรงเรียนเพียงแค่ 1 วัน ก็เหมือนว่าเขาเติบโตมากขึ้นเป็นเวลา 1 ปี และถ้าให้เขาอยู่กับอินเตอร์เน็ตโดยไม่มีการควบคุมดูแลเป็นเวลา 1 อาทิตย์ เขาจะเติบโตไปไกลกว่าพ่อแม่ชนิดที่ไม่มีทางเชื่อมต่อกันได้ทันอีกเลย
อ้างอิง
https://www.smartsme.co.th/content/101102
https://aommoney.com
Suwajjanee เราพิจารณาดูแล้ว ยุคนี้ถ้าคุณไม่พร้อมทั้งกายและใจ อย่าเพิ่งปล่อยให้มีลูกกันเลยค่ะ สังคมยุคนี้ถ้าพ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลเอาใจใส่ ก็พลาดได้ง่าย อย่าโทษเด็กซะทีเดียว ช่วงนี่เยาวชนเป็นโรคซึมเศร้ากันเยอะมาก จากคนที่รู้จัก เพื่อนๆ ลูกๆพวกเค้าก็เป็นกัน และไม่ค่อยยอมไปหาหมอ เห็นแล้วก็สงสาร เแล้วเกิดจากครอบครัวคือต้นเหตุ
19 มี.ค. 2562 เวลา 05.14 น.
Kai-Patra บางทีก็ไม่ใช่พ่อแม่ไม่มีเวลาสั่งสอนหรอกนะแต่พ่อแม่ก็เลวเลยไม่รู้จะเอาอะไรไปสอนลูกเหมือนแม่ปูกับลูกปูไง
19 มี.ค. 2562 เวลา 05.25 น.
Pol Thunya ยุคนี้สั่งสอนมันก็คงไม่จำหรอกนะ..หรืออาจสั่งสอนไม่ได้ด้วย ยุคนี้มันพึ่งแต่ จอแบนๆๆ ในมือพวกมันนั่นแหละ.......ดูที่พวกมันออกไปแว้น ดึกๆๆนั่นไง...
19 มี.ค. 2562 เวลา 05.15 น.
Yaowaluk Chotsawai น่าเป็นห่วงนะค่ะ แล้วทำอย่างไรดีละ ใครจะมาช่วยหาทางออก
หรือว่า ไม่ต้องมีลูกกันหรอก (สำหรับคนที่คิดว่าไม่พร้อม)
19 มี.ค. 2562 เวลา 05.10 น.
Rachanee ปัญหามันอยู่ที่พ่อแม่เองก็ไม่รู้อะไรดีอะไรชั่วอะไรควรไม่ควร เจอมากับตัวที่ร้านกาแฟหรูๆ4ครอบครัวนัดเจอกันกระเตงลูกมาคนละ1-2คน พ่อแม่เม้ากันสนุกสนานเด็กๆวัย4-7ขวบวิ่งพล่านทั่วร้านส่งเสียงกรี๊กสนุกมันเค้าล่ะ ลูกค้าทะยอนเช็คบิลออกกันเป็นแถวแต่พ่อแม่เด็กดูไม่รู้สึกอะไรเลยเหลือเชื่อจริงๆ
19 มี.ค. 2562 เวลา 07.03 น.
ดูทั้งหมด